Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ 'คนมองหนัง' เว็บวิจารณ์หนังและละคร ทั้งไทยและต่างประเทศ ถึงการนำเรื่องเก่ามาทำใหม่ ในวงการละครไทย อย่างละครจักรๆ วงศ์ๆ ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษ แต่ในภาพเดิมที่ถูกฉายซ้ำ กลับมีหลายแง่มุมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างที่ผู้ชมไม่ทันสังเกต รวมถึงการล้ออำนาจโดยเจ้าเมืองที่ถูกวางให้เป็นตัวตลก เรตติ้งที่พุ่งแซงหลายๆ รายการ แต่ไม่สามารถชี้ชัดถึงความนิยมของผู้ชมได้

ละครจักรๆ วงศ์ๆ ส่วนใหญ่มาจากนิทานพื้นบ้าน ที่ถูกสืบต่อมาแบบมุขปาฐะ ซึ่งมักมีโครงเรื่องคล้ายๆ กัน เช่น การถูกเนรเทศออกจากเมือง ตัวเอกถูกใส่ร้ายป้ายสี เป็นต้น ในสมัยก่อนทำเป็นภาพยนตร์ เรียกว่า หนังจักรๆ วงศ์ๆ ใช้ฟิล์ม 16 มม. แต่ต่อมาเปลี่ยนมาเป็นการอัดวิดีโอ ที่เปลี่ยนมาออกอากาศทางโทรทัศน์ ละครที่มีชื่อเสียง เช่น สิงหไกรภพ, สังข์ทอง, จันทโครพ, แก้วหน้าม้า, ขวานฟ้าหน้าดำ, หลวิชัย-คาวี, สี่ยอดกุมาร, สุพรรณหงส์, นกกระจาบ, พระรถเมรี, นางสิบสอง, บัวแก้วบัวทอง, เกราะเพชรเจ็ดสี, ดาบเจ็ดสี มณีเจ็ดแสง, มณีนพเก้า, พิกุลทอง, โสนน้อยเรือนงาม, เทพศิลป์ อินทรจักร, กุลาแสนสวย, เกราะกายสิทธิ์, บัวแก้วจักรกรด, เทพสามฤดู, โกมินทร์, เทพสังวาลย์, ปลาบู่ทอง, โกมินทร์, อุทัยเทวี ฯลฯ

ปัจจุบัน บริษัท ดีด้า วิดีโอ โปรดักชั่น เป็นผู้ผลิตละครค่ายเดียวที่ผลิตละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ออกอากาศผ่านทางช่อง 7 โดยผลิตในนามของสามเศียร ซึ่งก่อนหน้านี้มีการแข่งขันในด้านละครจักรๆ วงศ์ๆ มีคู่แข่งทั้งหมด 7 ช่องรายการ คือสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3, สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5, สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7, สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี, สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย, สถานีโทรทัศน์ไอทีวี, สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส มักจะแข่งขันกันที่เวลา ฐานการรับชม และการออกอากาศ ในปัจจุบันนี้เหลือเพียงช่อง 7 ที่ยังคงออกอากาศอยู่ เนื่องจากช่องอื่นๆ ฐานการรับชมมีน้อย แต่ภายหลังบริษัท เพ็ญพุธ จำกัด ได้เผยแพร่โปสเตอร์ละคร 'อุทัยเทวี' ซึ่งจะออกอากาศทางช่อง 3 เร็วๆ นี้

Live อุทัยเทวีตอนจบ ที่มียอดคนดูจำนวนมาก

เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่า เทคนิคการถ่ายทำและระบบการตัดต่อทางบริษัท เพ็ญพุธ ที่มีความสมจริงมากกว่า อาจเป็นความท้าทายอีกครั้งของวงการละครจักรๆ วงศ์ๆ หลังจากที่มีเพียงบริษัทเดียวที่ยืนหลักทำละครลักษณะนี้มานาน และมีแง่มุมใดที่น่าสนใจ ประชาไทพูดคุยกับ 'คนมองหนัง' konmongnangetc.com เว็บไซต์วิจารณ์หนังและละคร ซึ่งเป็นเว็บที่วิจารณ์หนังและละครทั้งในไทยและต่างประเทศมากมาย และเผยมุมมองการวิจารณ์แบบใหม่ได้อย่างน่าสนใจในยุคปัจจุบัน ทว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือ เขาคิด เห็น หรือมองอย่างไรกับปรากฏการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เรื่องเก่าเอามาฉายซ้ำคนยังนิยม

นักวิชาการหลายท่านเคยวิเคราะห์ถึงประเด็นนี้เอาไว้ว่า “นี่เป็นจารีตในการเสพมหรสพต่างๆ ของคนไทย ตั้งแต่พวกลิเก มาถึงละครจักรๆ วงศ์ๆ และละครหลังข่าวภาคค่ำ” ตามคำอธิบายนั้น คนไทยอาจไม่ได้ต้องการความแปลกใหม่ในเชิงเรื่องราวจากมหรสพประเภทต่างๆ แต่พวกเขานิยมดูความบันเทิงที่มันเป็นเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ บ้างวิเคราะห์ว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องราว แต่สนใจตัวคนแสดงหรือดารามากกว่า คือเวลาดูหนังดูละคร พวกเขาไม่ได้สนใจว่าเรื่องราวมันจะดำเนินไปยังไง เรื่องจะจบลงอย่างไร ซึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับการวิเคราะห์แบบนั้นเสียทีเดียว

“ผมไม่แน่ใจว่าการนิยมเสพเรื่องราวบันเทิงซ้ำๆ นั้น เป็นลักษณะเฉพาะของคนไทยที่แปลกและแตกต่างจากคนในสังคมอื่นๆ จริงหรือไม่? เพราะมันก็มีงานศึกษาจำนวนไม่น้อยที่พบว่านิทานในภูมิภาคหนึ่งๆ หรือกระทั่งนิทานจากทั่วโลกนั้น มักมีโครงสร้างเรื่องราว 'ร่วม' กันอยู่ และเรื่องราวพวกนั้นจากยุคสมัยและพื้นที่ที่แตกต่างกัน มันมีลักษณะของการ 'ทำซ้ำ' กันไปมา พร้อมๆ กับการตีความหรือใส่รายละเอียด 'ใหม่ๆ' บางอย่างลงไป”

ขณะเดียวกันคนไทยอาจไม่ได้นิยมเสพความบันเทิงซ้ำๆ ด้วยเหตุผลว่าพวกเขาไม่สนใจเรื่องราว ไม่สนใจเนื้อหาสาระ เพราะการได้ดูมหรสพเรื่องเดิมๆ อาจมี 'หน้าที่' บางอย่างของมันอยู่ การดูหนัง ดูละคร ที่มีโครงเรื่องเก่าๆ ซ้ำเดิม หมายความว่าคนดูจะสามารถ 'คาดการณ์' เรื่องราวของมหรสพนั้นๆ ได้

“มองในบางแง่ การคาดการณ์เรื่องราวได้อาจแสดงให้เห็นถึงอำนาจ และการเข้าถึงความรู้ของคนดู แทนที่พวกเขาจะกลายเป็นผู้รับเรื่องราวใหม่ๆ ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่คาดไม่ถึงจากผู้ผลิตละคร ในฐานะคนที่ไม่รู้หรือแทบไม่รู้อะไรเลย”

นอกจากนี้ การคาดการณ์เรื่องราวต่างๆ ล่วงหน้าได้ ยังอาจทำให้การชมมหรสพมีรสชาติขึ้น ในกรณีของการชมละครจักรๆ วงศ์ๆ เราอาจนึกถึงภาพกลุ่มคนมาดูละครประเภทนี้หน้าจอทีวี ไปพร้อมๆ กับการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าเรื่องราวจะดำเนินอย่างไรต่อไป ใครจะรักกับใคร ใครจะอยู่ ใครจะตาย อาจก่อให้เกิดชุมชนของคนดู หรือการสื่อสารในทิศทางอื่นๆ นอกเหนือไปจากการสื่อสารทางเดียวระหว่างภาพในจอกับคนดู ที่ต้องเพ่งสมาธิในการชม ซึ่งเหตุการณ์ลักษณะนี้มีความสำคัญ แต่มักถูกมองข้ามไป

หลายครั้งละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่ชื่อเรื่องเดียวกันหรือมีโครงเรื่องเดียวกัน ถูกนำมาสร้างใน พ.ศ. ที่ต่างกัน ละครหลากหลายเวอร์ชั่นเหล่านั้นก็มีรายละเอียดเรื่องราวที่แตกต่างกันเยอะพอสมควร ชะตากรรมของตัวละครในเรื่องราวต่างเวอร์ชั่นก็แตกต่างกันไป ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือก็มี ฉะนั้น ในภาวะที่คล้ายจะ 'คาดการณ์' หรือ 'ทำนาย' ล่วงหน้าได้ของโลกละครจักรๆ วงศ์ๆ มันก็มีสิ่งที่ 'คาดการณ์' หรือ 'ทำนาย' ไม่ได้ แอบซ่อนอยู่ 

ความสมจริงอาจเป็นเป็นเรื่องเล็กที่มองข้ามได้

หากนำเอาละครจักรๆ วงศ์ๆ ของไทยไปเปรียบเทียบกับละคร หรือซีรีส์ หรือภาพยนตร์ที่มีแนวทางที่ 'ดูเหมือน' จะคล้ายคลึงกันของต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นจีน เกาหลี หรือฝรั่ง เทคนิคการถ่ายทำและคอมพิวเตอร์กราฟฟิกต่างๆ ของไทยคงสู้ไม่ได้อยู่แล้ว หรืออีกทางหนึ่ง คนทำก็อาจไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าเขาจะเข้าไปต่อสู้ในสนามดังกล่าว ดังนั้น ถ้าใครตั้งความคาดหวังว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ ควรเป็นละครแนวแฟนตาซี ถ่ายภาพล้ำๆ ที่มีซีจีเข้าขั้นมาตรฐานสากล คุณก็อาจจะผิดหวัง และไม่รู้สึกอินกับละครประเภทนี้

“ซีจีเนียนหรือไม่เนียนจึงอาจไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อกลุ่มแฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ เพราะสำหรับคนดูทีวีบางกลุ่ม ละครประเภทนี้อาจนำเสนอ 'ความสมจริง' ในแบบอื่นๆ ได้อย่างมีมิติและมีพลวัตพอสมควร โดย 'ความสมจริง' ที่ว่า ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับเทคนิคการถ่ายทำหรือเทคนิคพิเศษทางคอมพิวเตอร์มากนัก”

เมื่อช่องทางการเปิดรับที่หลากหลายดันเรตติ้งพุ่งสูง

ประเด็นนี้ไม่กล้าฟันธง แต่คิดว่ามีหลายๆ ปัจจัย ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ ซึ่งต้องคำนึงว่า ผลการวัดเรตติ้งปัจจุบัน นั้นวัดจากกลุ่มคนดูทีวี จึงเป็นไปได้ว่ากลุ่มคนดูทีวีช่วงเช้า 08.00–09.00 น. วันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งมักคาดเดากันว่าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุกับเด็กเล็กคือ กลุ่มคนที่ยังดูโทรทัศน์เป็นหลักอยู่อย่างเหนียวแน่น ท่ามกลางพัฒนาการของเทคโนโลยีปัจจุบัน ที่ทำให้คนจำนวนไม่น้อยย้ายไปรับชมภาพเคลื่อนไหวผ่านทางอุปกรณ์อื่นๆ ตั้งแต่คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต จนกระทั่งสมาร์ทโฟน ถ้าข้อสันนิษฐานนี้ถูก ก็เท่ากับว่าละครจักรๆ วงศ์ๆ คือ หนึ่งในรายการโทรทัศน์ที่ได้รับผลประโยชน์ไปอย่างค่อนข้างจะเต็มเม็ดเต็มหน่วย จากยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี

ระยะหลังๆ ทางบริษัทสามเศียรเริ่มไลฟ์ละครจักรๆ วงศ์ๆ ผ่านทางยูทูบของตัวเองอีกหนึ่งช่องทาง และหลังจากละครตอนล่าสุดออนแอร์ไม่นาน ก็มีการปล่อยคลิปละครตอนนั้นลงในยูทูบช่องเดียวกัน หลายคนเชื่อว่าละครหลังข่าวค่ำของช่องใหญ่มีเรตติ้งโดยเฉลี่ยลดลง เพราะการตัดสินใจปล่อยละครลงแพลตฟอร์มออนไลน์ในลักษณะนี้ คงต้องจับตาดูว่า ผลกระทบแบบเดียวกันจะเกิดขึ้นกับละครจักรๆ วงศ์ๆ หรือไม่?

'รูระบาย' ของเรื่องราวสื่อผ่านตัวละครเจ้าเมือง

หากอธิบายตามที่นักวิชาการวิเคราะห์ตีความเอาไว้ เรื่องราวประเภทความสัมพันธ์ทีเล่นทีจริง กึ่งมิตรกึ่งศัตรูหรือการยั่วล้อท้าทายระหว่างตัวละครในนิทานพื้นบ้านหรือละครจักรๆ วงศ์ๆ ที่มีลำดับศักดิ์ต่างกันหรือมีฐานะอำนาจต่างกัน ก็ทำหน้าที่เป็นเหมือน ‘รูระบาย’ ความตึงเครียด ความกดดันบางอย่าง ของผู้คนธรรมดาสามัญที่ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมจริงๆ ที่มีความเหลื่อมล้ำทางอำนาจค่อนข้างสูง แต่การมีรูระบายก็หมายความว่าสังคมนอกละครจักรๆ วงศ์ๆ จะได้รับการประคับประคองให้ดำรงอยู่ในสภาพเดิมต่อไป หรือถ้าจะเปลี่ยนแปลงก็จะเปลี่ยนไปทีละน้อย

“การใส่แง่มุมตลกลงไปในตัวละครที่มีอำนาจ หรือการนำเสนอภาวะความสัมพันธ์ทางอำนาจที่กลับหัวกลับหางระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อยแบบชั่วครั้งชั่วคราวในละครจักรๆ วงศ์ๆ จึงอาจไม่ได้มีนัยยะของการต่อต้านผู้มีอำนาจเสียทีเดียว แต่มีนัยยะของการพยายามหาทางอยู่ร่วมกับผู้มีอำนาจให้ได้มากกว่า ที่สำคัญต้องไม่ลืมด้วยว่านี่เป็นอารมณ์ขันและการพยายามแสวงหาหนทางประนีประนอมบางอย่าง ซึ่งวางฐานอยู่บนวิธีการมองและเข้าใจโลกของผู้คนธรรมดาสามัญเป็นหลัก แต่มันจะใช่ฉันทามติหรือปทัสถานร่วมกันของทุกฝ่ายในสังคมหรือเปล่า ไม่แน่ใจ”

เกือบ 2 ทศวรรษละครจักรๆ วงศ์ๆ มีแง่ความเปลี่ยนแปลงซ่อนอยู่

ตั้งแต่กลางทศวรรษในปี 2530 ถึงปัจจุบัน ถ้าพิจารณาเฉพาะในแง่เนื้อหาเรื่องราว รู้สึกว่าเนื้อหาของละครจักรๆ วงศ์ๆ อย่างน้อยคือผลิตโดยบริษัท สามเศียร มีพลวัตหรือความเคลื่อนไหวที่น่าตื่นเต้นพอสมควร แค่ประมาณหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาจากราวปี 2549 ถึง ปี 2560 มันก็มีองค์ประกอบใหม่ๆ น่าตื่นตาตื่นใจ ถูกสอดแทรกเข้ามาในโครงเรื่องแบบเดิมๆ ของละครจักรๆ วงศ์ๆ อยู่เป็นระยะ

เมื่อปี 2549 เกราะกายสิทธิ์ ที่เป็นอีกเวอร์ชั่นของเกราะเพชรเจ็ดสี นำเสนอหลายอย่างที่ใหม่มากๆ สำหรับแวดวงละครจักรๆ วงศ์ๆ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องแรกที่ไม่มีการขับเสภาประกอบละคร และการนำเพลงร็อกผสมดนตรีไทยเดิมมาใช้ประกอบละคร รวมทั้งการนำเสนอตัวละครจากจักรวาลอีกชนิดหนึ่ง ที่ไม่ได้เป็นจักรวาลแบบไตรภูมิหรือจักรวาลสวรรค์-โลกมนุษย์-โลกบาดาล ที่แฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ คุ้นชิน แต่พวกเขาเป็นมนุษย์จากดาวอีกดวง ชื่อ 'บุรีปลายฟ้า' ที่เข้ามามีปฏิสัมพันธ์กับตัวละครในจักรวาลจักรๆ วงศ์ๆ ดั้งเดิม

“สิ่งที่น่าประทับใจของเกราะกายสิทธิ์คือ การเบลอเลือนเส้นแบ่งของกลุ่มตัวละครประเภทต่างๆ อันเป็นการทำลายจารีตการเล่าเรื่องเดิมๆ ของละครจักรๆ วงศ์ๆ ลงอย่างน่าทึ่ง กล่าวคือ ละครเรื่องนี้มีตัวละครเทวดา ทั้งที่เป็นฝ่ายดีและไม่ดี เหนือกว่าตัวละครสองกลุ่มนี้ คือแม่มดแห่งกาลเวลาสามตน ที่ชอบปรากฏกายอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ย มากล่าวคำกลอนปริศนาทำนายอนาคต ซึ่งชะตากรรมของตัวละครทั้งสองฝ่ายล้วนตกอยู่ภายใต้คำพยากรณ์ของพวกนาง”

เกราะกายสิทธิ์คืองานของสามเศียรที่กล้าแหกจารีตของละครจักรๆ วงศ์ๆ ไปได้ไกลที่สุด น่าสนใจว่าจนกระทั่งถึงบัดนี้ ก็ยังไม่มีละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องไหนที่เดินทางไปได้ไกล ใกล้เคียงเกราะกายสิทธิ์

จันทร์สุริยคาส เวอร์ชั่นปี 2556 นอกจากตัวเรื่องดั้งเดิมจะมีความน่าสนใจอยู่แล้ว เพราะตัวละครเอกคือสามัญชนที่มีชาติกำเนิดในครอบครัวขอทาน สิ่งหนึ่งที่น่าจดจำมากๆ ในละครเรื่องนี้ก็คือ พล็อตรองที่แต่งขึ้นมาใหม่ว่าด้วยการปะทะกันระหว่างตัวละครเทวดาเกเรสององค์ที่ได้รับมอบหมายจากพระอินทร์ให้ลงมาปฏิบัติภารกิจบางอย่างบนโลกมนุษย์ แต่พวกเขากลับทำอะไรหลายอย่างเกินหน้าที่ และใช้ชีวิตเถลไถลไปเรื่อยจนเริ่มมีพฤติกรรมเป็นคนมากกว่าเทวดา กับหญ้าเขียว-หญ้าแดงพืชศักดิ์สิทธิ์ที่บำเพ็ญเพียรมานานปีจนมีอิทธิฤทธิ์กล้าแกร่ง เมื่อเห็นคู่พระเอกพี่น้องถูกกลั่นแกล้งจากเทวดาเกเร หญ้าสองสีจึงเข้าไปต่อกรกับเทวดาถึงขนาดสาปให้เทวดามีหางก็เคยมาแล้ว

แก้วหน้าม้าที่ออกอากาศระหว่างเดือนมีนาคม ปี 2558-มีนาคม ปี 2559 ซึ่งเนื้อหายืดเยื้อและไม่ต่อเนื่อง มีบทจบที่ค้างคา หรือมีลักษณะกลอนพาไป และออกทะเลไกลสุดกู่ ตามประสาละครที่ถูกเพิ่มตอนไปเรื่อยๆ รับกระแสเรตติ้งที่ขึ้นสูงจนน่าเหลือเชื่อ แต่บทตลกในช่วงแรกๆ ของละครว่าด้วยหญิงสาวชาวบ้านหน้าตาแปลกประหลาด ว่าที่ลูกสะใภ้ผู้กล้ายั่วล้อท้าทายเจ้าเมืองว่าที่พ่อสามี ก็ทำได้สนุกสนานมากๆ รวมไปถึงตัวละครที่สร้างขึ้นด้วยเทคนิคซีจีหยาบๆ อย่าง พี่อีโต้ที่กลายเป็นเครื่องครัวบ้านๆ ซึ่งสามารถป่วนปั่นระบบ ระเบียบ และฐานานุศักดิ์ของบรรดาตัวละครในเรื่องได้อย่างเพลิดเพลิน

สี่ยอดกุมาร ปี 2559 อาจไม่มีอะไรแปลกใหม่นัก แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกพูดถึงกันมากในหมู่แฟนละครจักรๆ วงศ์ๆ ก็คือ การกำหนดให้หนึ่งในสี่กุมารที่เป็นผู้หญิงซึ่งแต่งกายเป็นชาย มีบทกุ๊กกิ๊กหวานแหววกับตัวละครหญิงอีกรายอยู่เกือบครึ่งเรื่อง จนหลายคนลุ้นให้ละครเรื่องนี้เป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องแรกที่มีตัวละครเป็นเลสเบี้ยน น่าเสียดายที่ทีมผู้สร้างตัดสินใจละทิ้งปมดังกล่าวไปเสียดื้อๆ แล้วเปลี่ยนแปลงให้ตัวละครหญิงสองคนที่ควรจะรักกันกลายมาเป็นหญิงสองคนที่มีสามีร่วมกันแทน

ทั้งสี่เรื่องที่ยกมาเป็นเพียงเป็นตัวอย่างคร่าวๆ ของพลวัตของละครจักรๆ วงศ์ๆ ไทยที่ผลิตโดยค่ายสามเศียรในช่วงประมาณสิบปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจไม่ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ ในลักษณะเส้นตรง แต่ลักษณะยื้อยุดไปมา ระหว่างการพยายามจะผลักองค์ประกอบบางอย่างไปข้างหน้า และการตบดึงความก้าวหน้าให้กลับคืนมาอยู่ในรูปรอยแบบเดิมๆ ที่เกิดขึ้นให้เห็นเป็นระยะ ก็ถือเป็นเส้นทางที่น่าสนใจและน่านำมาคิดวิเคราะห์ต่ออย่างจริงจัง

เมื่อการแข่งขันกำลังเกิดขึ้นอีกครั้งในวงการละครจักรๆ วงศ์ๆ

เมื่อมองคร่าวๆ นี่คงเป็นการแข่งขันกันระหว่างสองช่องใหญ่ คือช่อง 3 และช่อง 7 หรือการแข่งกันระหว่างคนทำทีวีสองกลุ่มซึ่งเติบใหญ่มาจากพื้นฐานเดียวกัน ซึ่งช่อง 3 กำลังทำละครอุทัยเทวี ฉบับเพ็ญพุธ กับบริษัท สามเศียร ของตระกูลสังวริบุตร ที่ปักหลักทำละครจักรๆ วงศ์ๆ ลงช่อง 7 มาอย่างยาวนาน อาจดูเหมือนเป็นการวัดมือกันระหว่างสองสถานีใหญ่

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ใหม่ของวงการละครจักรๆ วงศ์ๆ เพราะเมื่อปี 2544 ค่ายเมืองละครของคุณเศรษฐา ศิระฉายา ก็เคยทำแก้วหน้าม้าลงช่อง 3 ปะทะกับแก้วหน้าม้า ช่อง 7 และเอาเข้าจริง หากอุทัยเทวีฉบับเพ็ญพุธได้ลงจอช่อง 3 ภายในปีนี้ ก็เท่ากับว่าระหว่างปี 2559-60 สถานีโทรทัศน์ดิจิตอลไทยจะผลิตอุทัยเทวีลงจอมากถึงสามเวอร์ชั่น เริ่มจากของบริษัท ไอพีเอ็ม ที่ทำลงช่องไบรท์ทีวีในปี 2559 ของสามเศียร ช่อง 7 ปี 2560 และของช่อง 3

“นี่คือจุดเด่นของนิทานพื้นบ้าน เรื่องการไม่มีผู้ถือครองลิขสิทธิ์ ที่ใครก็สามารถนำนิทานพื้นบ้านเรื่องเดียวกันมาสร้างเป็นละครพร้อมๆ กันได้ ก่อนจะแพร่ภาพออกอากาศในเวลาใกล้เคียงกัน แต่ต่างสถานีกันก็ตาม นำมาสู่จุดน่าสนใจสำหรับคนดู คือ ภายใต้โครงเรื่องแบบเดียวกัน ผู้สร้างต่างทีมจะตีความนิทานเรื่องนั้นๆ แตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน”

ถ้าพิจารณาจากภาพโปรโมทดูเหมือนอุทัยเทวีฉบับเพ็ญพุธ จะมีลักษณะภายนอกเป็นละครแฟนตาซีกลิ่นอายฝรั่ง มากกว่าละครพื้นบ้านจักรๆ วงศ์ๆ อีกข้อที่น่าคิด คือการถือกำเนิดของสถานีโทรทัศน์ดิจิตอลจำนวนมาก ร่วมด้วยการแผ่ขยายฐานคนดูของแพลตฟอร์มออนไลน์ อาจนำมาสู่คอนเทนต์แบบใหม่ๆ จำนวนหนึ่ง แต่อีกด้าน โปรแกรมที่ยืนระยะในการวัดเรตติ้งได้ดีกลับเป็นความบันเทิงที่แลดูโบราณอย่างละครจักรๆ วงศ์ๆ แถมการแข่งขันของละครแนวนี้ยังมีความเข้มข้นดุเดือดขึ้น อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงหลายปีหลัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net