Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ทุกวันนี้เมื่อเห็นใครอ้าง “ศีลธรรม” ในทางสังคมและการเมือง เรามักจะส่ายหน้าไปตามๆ กัน เพราะในความขัดแย้งทางการเมืองกว่าสิบปีมานี้มีการอ้างคำนี้กันมากเหลือเกิน แต่ผลของการอ้างศีลธรรมกลับมีแต่นำสังคมถอยหลังห่างออกไปจากความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นทุกที เมื่อเร็วๆนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็กล่าวใน “รายการศาสตร์พระราชาชา” ว่า


"เหตุที่ 80 กว่าปี ประชาธิปไตยของไทย ไม่เจริญงอกงามเท่าที่ควร จึงลุ่มๆ ดอนๆ มาโดยเฉพาะช่วง 20 ปีที่ผ่านมานั้น ผมเห็นว่าบ้านเมืองของเรานั้น ประสบกับภาวะบกพร่องทางจิตวิญญาณ หมายถึง จิตใจของคนไทยมีความบกพร่องหรือขาดภูมิคุ้มกันทางศีลธรรม เป็นเหตุให้สังคมมีปัญหา... ถ้าเรามี ประชาธิปไตย แต่ปราศจากธรรมาธิปไตย ความสงบสุขในสังคมก็จะไม่มีความยั่งยืน และที่สำคัญคือ จุดเริ่มต้น ของการปรองดอง ก็คือการทำให้สังคมมีธรรมาธิปไตย"

(ข่าว ประยุทธ์ ชี้ 80 กว่าปี ประชาธิปไตย ลุ่มๆ ดอนๆ เหตุจิตใจคนไทยบกพร่องขาดภูมิคุ้มกันทางศีลธรรม)


จริงๆ แล้ว ต่อให้เราเบื่อคำนี้มากเพียงใดเราก็หนีไม่พ้นที่จะได้ยิน หรือถ้าคิดให้ลึกแล้วมนุษย์จะหนีจากสิ่งที่เรียกว่า “ศีลธรรม” ได้หรือไม่

ทฤษฎีวิวัฒนาการสายดาร์วินบอกว่า “ศีลธรรมเกิดจากวิวัฒนาการทางธรรมชาติของมนุษย์” เมื่อสิ่งมีชีวิตในสายพันธุ์มนุษย์วิวัฒนาการมาถึงจุดที่เกิดปัญญารู้ถูกรู้ผิดได้ สำนึกผิดชอบชั่วดีก็เกิดตามมา จึงทำให้มนุษย์มีความโน้มเอียงโดยธรรมชาติที่จะตัดสินการกระทำต่างๆ ในเชิงคุณค่าว่าดี ชั่ว ถูก ผิด

ในอีกด้านหนึ่ง ศีลธรรมก็เป็นผลของ “วิวัฒนาการทางวัฒนธรรม” ได้แก่ การเกิดขึ้นของบรรทัดฐานทางศีลธรรมต่างๆ จำนวนมากในรูปของความเชื่อของชนเผ่า ประเพณี ศาสนา ปรัชญา หรือวัฒนธรรมเฉพาะของสังคมหนึ่งๆ ในช่วงเวลาที่ยาวนานของการเรียนรู้ลองผิดลองถูกของสังคมมนุษย์ได้ก่อให้เกิดบรรทัดฐานทางศีลธรรมจำนวนมาก

ภายใต้วิวัฒนาการทางวัฒนธรรมที่กินเวลายาวนานนั้นสังคมมนุษย์ย่อมเรียนรู้ที่จะ “เลือกสรร” บรรทัดฐานทางศีลธรรมที่อธิบายได้ว่ามีเหตุผล ปฏิบัติได้จริง และสอดคล้องกับวิวัฒนาการทางธรรมชาติของตัวเองเอาไว้ ขณะที่บรรทัดฐานที่ใช้ไม่ได้ย่อมถูกทิ้งหรือถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา

ด้วยเหตุนี้มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) จึงกล่าวในการบรรยายเรื่อง “วิชาการในฐานะอาชีพ” ตอนหนึ่งว่า “...อย่างไรก็ตาม วัฒนธรรมของเราก็ทำให้เราต้องตระหนักถึงสถานการณ์ดังกล่าวอย่างชัดเจนอีกครั้ง หลังจากที่ตาของเรานั้นมืดบอดมาเป็นพันปี จากการยึดติดอยู่กับความเวทนาที่รุ่งโรจน์ของศีลธรรมแบบคริสเตียนแต่เพียงอย่างเดียว”

ในยุคกลางที่กินเวลาร่วมพันปี คือยุครุ่งโรจน์ของศีลธรรมแบบคริสเตียน แต่ในความรุ่งโรจน์นั้นก็มี “ด้านมืด” อันเกิดจากศาสนจักรและอำนาจรัฐเผด็จการอ้างศาสนาและศีลธรรมเป็นเครื่องมือครอบงำกดขี่ประชาชน แรงกดดันดังกล่าวทำให้เกิดการต่อสู้เพื่อสิทธิที่จะคิดอย่างเสรีและเพื่อที่จะมีการปกครองที่ยุติธรรมในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance), ยุคสว่าง (Enlightenment) และยุคสมัยใหม่ (Modern Age)

การเปลี่ยนแปลงไปสู่การมีสิทธิที่จะคิดอย่างเสรีและมีระบบการปกครองที่ยุติธรรมมากขึ้นในยุคสมัยใหม่ ไม่ใช่เฉพาะเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ปรัชญาความคิด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่านั้น ที่สำคัญยังเกิดการเปลี่ยนแปลง “ความคิดทางศีลธรรม” ในระดับรากฐานอีกด้วย

กล่าวคือ นอกจากจะเกิดแนวคิดโลกวิสัย (secularism) ในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา ศิลปะและอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบอิงความเชื่อทางศาสนาหรือ “อำนาจของพระเจ้า” มาสู่การปกครองแบบทางโลกที่อิงอำนาจของประชาชนแล้ว ยังเกิดแนวคิดโลกวิสัยทางศีลธรรม (moral secularism) ที่ทำให้เกิดศีลธรรมทางโลก (secular morality) เป็นศีลธรรมทางสังคมแทนที่ศีลธรรมแบบศาสนา (religious morality) ซึ่งกลายเป็นศีลธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคลไป

ศีลธรรมทางโลกวางอยู่บนรากฐานที่มั่นคงของความคิดเรื่อง “เสรีภาพ” 2 ระดับ คือ เชื่อว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรี (free will) ที่จะเลือกทำสิ่งที่ถูกหรือผิดได้ และเมื่อเชื่อว่ามนุษย์มีเจตจำนงเสรีจึงเชื่อต่อไปว่ามนุษย์สามารถที่จะมี “อิสรภาพทางศีลธรรม” (moral autonomy) หมายถึง ปัจเจกแต่ละคนมีอิสระในการใช้เหตุผลของตัวเองตัดสินถูก ผิดทางศีลธรรมได้ จึงกำหนดหลักการทางศีลธรรมขึ้นเองได้ และปกครองตนเองได้ในทางศีลธรรม ไม่สักแต่ต้องคอยเชื่อฟังและทำตามคำสอนของศาสนา, อำนาจศาสนจักร อำนาจรัฐและ/หรือประเพณีทางสังคมเท่านั้นอีกต่อไป

ในสังคมไทยเราย่อมคุ้นเคยกับคำว่า “เสรีภาพต้องมีศีลธรรมกำกับ” นี่คือความคิดแบบยุคกลางย้อนหลังไปที่รัฐกับศาสนจักรไม่ได้แยกจากกัน ชนชั้นปกครองทั้งในฝ่ายรัฐและศาสนจักรต่างเห็นว่า จะปล่อยให้ผู้ใต้ปกครองมีเสรีภาพมากไม่ได้ ศีลธรรมจึงถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเสรีภาพของประชาชน นอกเหนือจากอำนาจกองกำลังและกฎหมาย

แต่กลับกันเลย ความคิดทางศีลธรรมสมัยใหม่ไม่ได้ถือว่า “เสรีภาพต้องมีศีลธรรมกำกับ” แต่ถือว่า “ต้องสามารถมีเสรีภาพก่อนจึงมีศีลธรรมได้” คือคุณต้องมี moral autonomy กำหนดตัวเองให้ทำสิ่งที่ถูกต้องและไม่ทำสิ่งที่ผิดให้ได้ก่อน คุณจึงจะมีศีลธรรมได้

ตัวอย่างเช่นการมีเสรีภาพที่ทำให้เรามีศีลธรรมได้ในทัศนะของค้านท์ (Immanuel Kant) คือ การมีอิสรภาพในการใช้เหตุผลตัดสินถูก ผิดด้วยตนเอง และกระทำสิ่งที่ถูกต้องบนการเคารพศักดิ์ศรีในตัวเองของตัวเราและคนอื่นอย่างเสมอภาค ในทัศนะของซาร์ตร์ (Jean-Paul Sartre) เราต้องใช้เสรีภาพอย่างรับผิดชอบ ขณะที่มิลล์ (John Stuart Mill) ถือว่า เราต้องใช้เสรีภาพภายในขอบเขตที่ไม่ละเมิดเสรีภาพคนอื่นและไม่ก่ออันตรายแก่คนอื่นๆ

แม้นิยาม “เสรีภาพ” ของนักปรัชญาดังกล่าว (และนักปรัชญาคนอื่นๆ ) อาจมีรายละเอียดในแง่ต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่หลักใหญ่ใจความคือความคิดเรื่องศีลธรรมในยุคสมัยใหม่ถือตรงกันว่า “ต้องมีเสรีภาพก่อนจึงมีศีลธรรมได้” ซึ่งเป็นความจริง เพราะถ้าเราถูกบังคับให้ทำความดี (เช่นถูกใครเอาปืนจี้หัวให้บริจาคเงินแก่คนอนาถา) การกระทำนั้นย่อมไม่อาจถือเป็นความดีได้ สิ่งที่จะถือเป็นความดีได้ต้องมาจากการมีเสรีภาพในการเลือกที่จะทำ หรือเกิดจากความสมัครใจของเราเอง

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่กรอบคิดทางศีลธรรมสมัยใหม่ถือว่า มนุษย์มี moral autonomy เมื่อมนุษย์มีอิสรภาพทางศีลธรรม ก็เท่ากับมีสิทธิอำนาจตัดสินถูก ผิด และปกครองตนเองได้ในทางศีลธรรม ความเชื่อนี้ย่อมเชื่อมโยงกับความเชื่อที่ว่าปัจเจกบุคคลมีสิทธิอำนาจปกครองตนเอง และมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเองในทางสังคมและการเมือง

ฉะนั้น การมองว่าเสรีภาพกับศีลธรรมแยกไม่ออกจากกัน หรือเป็นเนื้อเดียวกัน จึงทำให้ศีลธรรมสมัยใหม่เชื่อมโยงกับเสรีภาพทางความคิด, เสรีภาพแห่งมโนธรรม (freedom of conscience), เสรีภาพในการพูด, เสรีภาพในการแสดงออก, เสรีภาพทางศาสนา และเสรีภาพทางการเมือง การกระทำที่ถูกต้องบนสำนึกทางศีลธรรมสมัยใหม่หรือ secular morality จึงเป็นการกระทำบนสำนึกที่เห็นคุณค่าและปกป้องเสรีภาพด้านต่างๆ ดังกล่าวอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ศีลธรรมสมัยใหม่จึงเป็นศีลธรรมที่สนับสนุนวัฒนธรรมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน

ปัญหาของบ้านเราคือ แทนที่เราจะอ้างศีลธรรมสมัยใหม่สนับสนุนประชาธิปไตย กลับไปอ้างศีลธรรมแบบศาสนามาสนับสนุนประชาธิปไตย แต่ความหมายและประวัติศาสตร์การใช้ศีลธรรมแบบศาสนาในทางสังคมและการเมืองไม่เคยยึดโยงอยู่กับเสรีภาพ ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชน หากศีลธรรมแบบศาสนาถูกใช้เป็นเครื่องมือครอบงำของระบบอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาตลอด

ฉะนั้น เวลาอ้างธรรมะ ศีลธรรม ความดี คนดีในทางสังคมและการเมืองในบ้านเรา นอกจากจะไม่สนับสนุนประชาธิปไตยได้จริงแล้ว ยังเบลอศีลธรรมทางโลกแบบสมัยใหม่ให้ลดความสำคัญลง หรือถูกมองไม่เห็นไปเลย

ซ้ำร้ายยังไปเบลอความหมายของศีลธรรมแบบศาสนาเสียเอง คือแทนที่ศีลธรรมแบบศาสนาจะถูกส่งเสริมให้ใช้ปฏิบัติในฐานะเป็นศีลธรรมตามความเชื่อส่วนบุคคล และเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลที่จะเลือกนำมาปฏิบัติเพื่อดูแลจิตวิญญาณของตนเอง แต่ศีลธรรมแบบศาสนากลับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองในความหมายที่ตอบสนองวัฒนธรรมอำนาจนิยมทางการเมืองเสมอมา
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net