Modern Syndrome โรค-คน-เมือง เรื่ืองเดียวกัน

มองความสัมพันธ์ระหว่างเมืองและโรค ผ่านประวัติศาสตร์และโครงสร้างเมือง - ทำไมกรุงเทพฯ ถึงทำให้ไม่มีแฟน อ้วนและจน ซ้ำยังจงใจ (?) ทำให้ความเป็นพลเมืองของเราหดหาย อ่านที่นี่...
 
 
Modern Syndrome โรคสมัยใหม่ที่คนเมืองต้องเผชิญ คำคำนี้ไม่ได้มีในตำราแพทย์ แต่เป็นคำเรียกรวมๆ ของกลุ่มโรคหลายอย่างที่พบเยอะขึ้นในระยะหลังที่โลกเปลี่ยนแปลงไป พญ.ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล แพทย์วุฒิบัตรเวชศาสตร์ชะลอวัย หนึ่งในวิทยากรงานเสวนา 101 minutes at Starbucks ครั้งที่ 4 : Modern Syndrome ซึ่งจัดโดย the101.world บรรยายว่า โรคเหล่านี้ประกอบด้วย กลุ่มโรคใหญ่ๆ คือ อ้วนลงพุง หรือ Metabolic Syndrome ไม่ใช่แค่ความอ้วน แต่มาเป็นแพคเกจทั้งความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน ซึ่งคนเป็นกันเยอะขึ้นในระยะหลัง และพบในเด็กอายุน้อยลงเรื่อยๆ สัมพันธ์กับไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป ทั้งอาหาร การออกกำลังกาย การนอน และการปฏิบัติตัว
 
กลุ่มโรคที่สองคือ โรคเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อ คอ เกิดจากการใช้สมาร์ตโฟน องศาในการก้มมองจอทำให้คอต้องแบกรับน้ำหนักมากขึ้น ส่งผลต่อกล้ามเนื้อ ส่วนด้านจิตใจ มีทั้งโรคซึมเศร้า วิตกกังวล หรือโรคกลัวว่าจะตกเทรนด์ ทำให้ใช้ชีวิตไม่เป็นปกติสุข ทั้งนี้ ยังไม่นับโรคยิบย่อยอย่างตาแห้ง เพราะจ้องโทรศัพท์ทั้งวัน ผิวแห้ง เพราะมลภาวะในเมือง หรือความเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายอย่างแบคทีเรียในตัวเราที่เปลี่ยนไป ไม่เหมือนสมัยปู่ย่าตายายที่มีแบคทีเรียที่ดีกว่า

เมืองกับโรค อะไรเกิดก่อนกัน

ขณะที่ นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) มองอีกมุมว่า เมืองสมัยใหม่อาจไม่ได้นำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บ แต่โรคทำให้เกิดเมืองสมัยใหม่ก็ได้ โดยเมืองที่เป็นภาพแทนของความเจ็บป่วยนั้น เกิดมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ที่เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เทคโนโลยี ในเมือง ทำให้คนละชนบทเข้าสู่เมือง เกิดโรคในเมืองสองรูปแบบ คือทางกายและทางใจ 
 
โรคทางกาย เมื่อคนกระจุกตัวในเมือง ความหนาแน่นสูง ระยะห่างระหว่างคนต่อคนหดเล็กลง ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคที่รวดเร็วขึ้นมาก ลองนึกภาพในหนัง Les Miserables หรือ Oliver Twist ที่เมืองสกปรก ถนนแคบ คนทิ้งขยะไม่เป็นที่ แสงสว่างไม่พอ อับ ชื้น มืด รางระบายน้ำเปิด ลักษณะทางกายภาพแบบนี้ทำให้เชื้อโรคแพร่ได้เร็ว วัณโรค อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ คร่าชีวิตคนจำนวนมาก จุดนี้เองที่ชนชั้นล่างที่เข้าไม่ถึงการแพทย์ลุกขึ้นมาปฏิวัติ ก่อให้เกิดการวางผังเมืองใหม่ ปฏิรูปสาธารณสุข จัดหาน้ำประปา ฟื้นฟูทำให้เมืองถูกสุขลักษณะอนามัยขึ้นมาก
 
ส่วนโรคแบบที่สอง คือโรคทางจิตใจ นิรมลชี้ว่าา เกิดจากสังคมที่เปลี่ยนไป จากสังคมชนบทที่มีคุณค่าร่วม มีความเหนียวแน่น มีสัมพันธ์ที่เชื่อมกัน มาเป็นสังคมเมืองที่มีความเป็นปัจเจก การวางเฉย ระยะห่าง เต็มไปด้วยสิ่งเร้า นำมาซึ่งความเครียด และทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมา
 
"จริงๆ แล้ว ความเครียดทำให้มนุษย์อยู่รอด คือพอมีความเครียดแล้วเราจะตื่นตัว เช่น ไม่มีอะไรกินแล้วต้องออกไปทำมาหากิน แต่ปัญหาของเมืองปัจจุบันคือความเครียดไม่เคย Switch Off เราจะถูกกระตุ้นตลอดเวลา มีชีวิตด้วยความระแวงระวังตลอดเวลา ทำให้เกิด Mental Disorder"  

กรุงเทพฯ ทำให้ไม่มีแฟน อ้วน และจน

โฟกัสมาเฉพาะกรุงเทพฯ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) พูดถึงข้อเสียของเมืองนี้แบบติดตลกว่าทำให้ "ไม่มีแฟน อ้วน และจน" 
 
"ไม่มีแฟน"-เวลาส่วนใหญ่ถูกใช้อยู่บนท้องถนน และอยู่ในพื้นที่ส่วนตัวตลอด ทั้งบ้าน รถ หรือออฟฟิศ ทั้งยังเป็นเมืองที่แห้งแล้ง ไม่มีอะไรเจริญหูเจริญตา ไม่มีพื้นที่สาธารณะดีๆ ให้จู๋จี๋กัน จะไปจู๋จี๋ก็ต้องไปร้านแพงๆ ขนส่งมวลชนก็แน่นเกินไป 
 
"อ้วน"-พอยิ่งต้องตื่นเช้าเพื่อออกจากบ้านไปทำงานให้ทัน ก็ไม่มีเวลาเตรียมอาหารดีๆ ต้องพึ่งอาหารเค็มจัด หวานจัด จากรถเข็นข้างทางหรือร้านสะดวกซื้อ หรือจะไปออกกำลังกายก็ไม่มีพื้นที่สาธารณะใกล้บ้าน โอกาสในการรีดพลังงานส่วนเกินน้อย
 
"จน"-กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่คนมีสัดส่วนการใช้จ่ายเรื่องการเดินทางสูงที่สุดในภูมิภาค ไม่มีพื้นที่สาธารณะให้ออกกำลังกายต้องเสียเงินกับฟิตเนส มลพิษแย่ทำให้เกิดสิว ต้องเข้าคลินิกรักษา อาหารคลีนก็แพง

โครงสร้างกดความเป็นพลเมืองหด?

จากปัจเจกขยับสู่โครงสร้าง นิรมลชี้ว่า ขณะที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองขนาด 1,500 ตารางกิโลเมตร เป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่กว่าจังหวัด เพราะฉะนั้น การจัดการยากมาก ต้องการผู้ว่าฯ ที่ฉลาด โครงสร้างที่มีประสิทธิภาพสูงและมีอิสระ แต่ปรากฏว่ากลับมีผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งแค่คนเดียว ส่วนผู้อำนวยการเขต 50 เขตแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ แปลว่าพวกเขาจะตอบสนองต่อคนที่แต่งตั้ง ขณะที่ปารีสเล็กกว่ากรุงเทพฯ 15 เท่า แต่มี 20 เขต แต่ละเขตเลือกนายกเทศมนตรีของตัวเอง โดยดูที่นโยบาย ให้เข้าไปเป็นตัวแทนของเขาและต่อสู้เอาทรัพยากรมา
 
"นี่คือโครงสร้างทางการเมืองที่มันตอบสนองกับเมืองที่มีความสลับซับซ้อน" 
 
มองกลับมาที่กรุงเทพฯ "โครงสร้างของเขตเป็นความจงใจหรือเปล่าที่ทำให้คนกรุงเทพฯ อ่อนแอ ภาพฝนตกรถติดคนรอเป็นชาติ ทำอะไรไม่ได้ เล่นเฟซบุ๊ก เอาธรรมะเข้าข่ม กลับไปดูซีรีส์ ชดเชยไป เป็นความจงใจรึเปล่า ทำให้ความเป็นพลเมืองมันเหือดหาย ทำให้รู้สึกว่าทำอะไรไม่ได้ก็เลยไม่ทำ 
 
"ที่ทำได้คือส่งเสียงไป" เธอย้ำและว่า "อย่าหยุดหงุดหงิดกับเมือง เมืองที่ท่านเห็นว่ามันดีและอยากจะไป มันเริ่มต้นจากการประท้วงและไม่ยอม ไม่ยอมรับกับบริการสาธารณสุขคุณภาพต่ำ เราจ่ายภาษี เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราควรจะได้รับคือบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท