Skip to main content
sharethis

เล่าเรื่องการบริหารทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ของจักรพรรดิญี่ปุ่น รัฐธรรมนูญระบุชัดไม่มีทรัพย์สิน รับเงินจากรัฐใช้ประกอบราชกรณียกิจและครองชีพแต่ก็ยังต้องเสียภาษี กำหนดเพดานรับ-ให้บริจาคชัดเจน มีสภาเศรษฐกิจจัดสรร เพิ่ม-ลดเงินปีได้

ประชาไทพาผู้อ่านเปรียบเทียบการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ยกตัวอย่างกรณีของสเปน ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร เพื่อให้ผู้อ่านพิจารณาแนวทางอันหลากหลายและไม่ตายตัวในการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีเงื่อนไขและบริบทแตกต่างกันออกไป ตอนที่สองนำเสนอกรณีบริหารจัดการของราชสำนักญี่ปุ่น โดยข้อมูลส่วนใหญ่มีให้ดูอย่างเปิดเผยและละเอียดในเว็บไซต์ของสำนักพระราชวัง

กรณีของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่น เว็บไซต์สำนักพระราชวังหลวงญี่ปุ่น (Imperial Household Agency) ให้ข้อมูลการถือครองทรัพย์สินและการใช้จ่ายของสมเด็จพระจักรพรรดิเอาไว้อย่างละเอียด โดยระบุว่า ทรัพย์สินทั้งหมดของสำนักพระราชวังหลวงเป็นของรัฐ พระจักรพรรดิไม่มีทรัพย์สิน ค่าใช้จ่ายของสำนักพระราชวังหลวงจะได้รับการจัดสรรจากรัฐสภาหรือที่รู้จักกันอีกชื่อคือสภาไดเอทตามกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 88 โดยงบดังกล่าวจะประกอบด้วยค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพระราชวังและค่าครองชีพสำหรับพระราชวงศ์

สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ และสมเด็จพระจักรพรรดินีมิชิโกะ เมื่อครั้งต้อนรับประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อ 24 เมษายน ค.ศ. 2014 (ที่มา: แฟ้มภาพ/Wikipedia/State Department/William Ng/Public domain)

ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์คือค่าใช้จ่ายของพระจักรพรรดิและสมาชิกข้าราชบริพารฝ่ายใน (inner-court members) ของพระราชวงศ์ จำนวนค่าใช้จ่ายถูกกำหนดตามกฎหมาย ในปีงบประมาณ 2560 ค่าใช้จ่ายส่วนพระองค์มีมูลค่า 324 ล้านเยนหรือราว 97 ล้าน 4 แสนบาท

ค่าครองชีพสำหรับสมาชิกราชวงศ์ มีให้กับสมาชิกในราชวงศ์แต่ละคนโดยไม่นับรวมพระจักรพรรดิและข้าราชบริพารฝ่ายใน โดยเงินก้อนนี้จะได้รับเป็นรายปีเพื่อให้ราชวงศ์สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสมพระเกียรติตามสถานะ ฐานการคำนวณค่าครองชีพก็ถูกระบุเอาไว้ในกฎหมาย สำหรับปีงบประมาณ 2560 งบค่าครองชีพมีมูลค่า 215 ล้านเยนหรือราว 64 ล้าน 6 แสนบาท ส่วนสมาชิกราชวงศ์ที่ออกจากราชวงศ์เพื่อไปตั้งครอบครัว จะได้รับเงินจำนวนนี้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะไม่ได้รับในงบประมาณครั้งหน้า

ส่วนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับพระราชวังนั้นเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับพระราชกรณียกิจ รวมถึงพระราชพิธี งานเลี้ยงสังสรรค์ งานเลี้ยงต้อนรับในระดับรัฐและการเสด็จประพาสทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงใช้ในการบำรุงและซ่อมแซมพระราชวังและทรัพย์สินต่างๆ ในปีงบประมาณ 2560 มีมูลค่างบประมาณอยู่ที่ 5.68 พันล้านเยน หรือประมาณ 1 พัน 7 ร้อยล้านบาท

กฎเศรษฐกิจของสำนักพระราชวังหลวง มาตรา 1 ระบุว่า ทรัพย์สินที่จักรพรรดิได้รับมอบจากรัฐบาลให้ใช้งานนั้นถือเสมือนว่าเป็นการใช้งานโดยรัฐบาลภายใต้กฎหมายทรัพย์สินของแผ่นดิน และการใช้สถานที่ของสำนักพระราชวังนั้นไม่สามารถใช้หารายได้ได้ ส่วนทรัพย์สินหรือสิ่งของใดๆ ที่รัฐบาลจะให้สำนักพระราชวังหลวงใช้ จะต้องผ่านการอนุมัติจากสภาเศรษฐกิจของสำนักพระราชวังหลวง อันเป็นหน่วยงานที่ดูแลการใช้งานทรัพย์สิน และการใช้เงินของราชสำนัก ซึ่งจะกล่าวถึงในรายละเอียดภายหลัง

ในประเด็นการตามกฎหมายเศรษฐกิจของพระราชวังมาตราที่ 2 ระบุว่า การโอนถ่ายสินทรัพย์ของสำนักพระราชวังหลวงนั้นไม่สามารถกระทำได้หากสภาไดเอทไม่อนุญาต ยกเว้นเสียแต่ว่ามูลค่าจะไม่เกินเกณฑ์ที่ตั้งไว้ หรือในกรณีที่การโอนถ่ายเป็นไปตามปรกติในรูปแบบธุรกรรมส่วนบุคคล ศ.โยชิฟูมิ ทามาดะ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ได้ตอบคำถามในงานเสวนาที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในระหว่างการบรรยายสาธารณะเรื่อง “ประชาธิปไตยใต้ร่มพระบารมี: กรณีศึกษาจักรพรรดิญี่ปุ่น” เมื่อ 13 มี.ค. 2555 ใจความว่า จักรพรรดิเองก็ต้องเสียภาษีถึงแม้จะมีเงินงบประมาณรายปีให้ก็ตาม และกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดกรอบให้กับจักรพรรดิในการบริจาคและรับทรัพย์สิน (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) โดยเว็บไซต์สำนักพระราชวังหลวงได้กล่าวถึงอย่างเปิดเผยตามตารางด้านล่าง

 

 

 

 

 

เพดานการให้ในฐานะของขวัญ

เพดานการรับในฐานะของขวัญ

พระจักรพรรดิและ

ข้าราชบริพารชั้นใน

 

18 ล้านเยน (ราว 5 ล้าน 4 แสนบาท)

 

6 ล้านเยน(ราว 1 ล้าน 8 แสนบาท)

 

สมาชิกราชวงศ์ที่เป็นผู้ใหญ่

 

1.6 ล้านเยน (ราว 4 แสน 8 หมื่นบาท)

 

1.6 ล้านเยน (ราว 4 แสน 8 หมื่นบาท)

 

สมาชิกราชวงศ์ที่เป็นผู้เยาว์

 

3 แสน 5 หมื่นเยน(ราว 1 แสนบาท)

 

3 แสน 5 หมื่นเยน (ราว 1 แสนบาท)

 

 

นอกจากนั้น กฎหมายยังระบุให้มีการจัดตั้งสภาเศรษฐกิจสำนักพระราชวัง โดยสภามีอำนาจอันชอบด้วยกฎหมายที่จะเปลี่ยนมูลค่าเงินรายได้ส่วนพระองค์และค่าครองชีพสำหรับสมาชิกราชวงศ์ ให้อำนาจสมาชิกราชวงศ์ในการที่จะออกไปตั้งครอบครัวต่างหาก และมีอำนาจในการให้เงินค่าครองชีพดังกล่าวให้กับสมาชิกราชวงศ์ที่สละสถานะสมาชิกราชวงศ์เป็นรอบสุดท้าย สภาจะประชุมและตัดสินใจด้วยการโหวตหาเสียงข้างมาก แต่ถ้าสมาชิกสภามาไม่ถึง 5 คนจะไม่สามารถเปิดประชุมและตัดสินใจใดๆ

สภาประกอบไปด้วยสมาชิกสภา 8 คน ได้แก่ประธานสภาผู้แทนราษฏร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานและรองประธานสภาราชมนตรี (เทียบเท่าวุฒิสภาของไทย) นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวหน้าผู้จัดการทรัพย์สินของสำนักพระราชวังหลวงและประธานบอร์ดผู้ตรวจสอบบัญชี

นอกจากนั้นยังมีองค์สมาชิกสำรองอีก 8 ตำแหน่ง ได้แก่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2 คน สมาชิกสภาราชนตรี รัฐมนตรีประจำกระทรวง (Minister of State) รองรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงการคลัง รองหัวหน้าผู้จัดการทรัพย์สินของสำนักพระราชวังหลวง และผู้ตรวจการบอร์ดผู้ตรวจสอบบัญชี

แปลและเรียบเรียงจาก

Finances of the Imperial House, The Imperial Household Agency, Retrieved on August 13, 2017

The Constitution of Japan, Prime Minister of Japan and His Cabinet, Retrieved on August 13, 2017

The Imperial Household Economy Law of 1947, Internet Archive, Retrived on August 13, 2017

จักรพรรดิญี่ปุ่นในวัน“เบามาก” ทามาดะบรรยาย-ตอบสารพัดคำถาม, ประชาไท, March 13, 2012

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขความหมายที่แปลผิด จากคำว่า "โฆษกสภาผู้แทนราษฎร" และ "รองโฆษกสภาผู้แทนราษฎร" เป็น "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" และ "รองประธานสภาผู้แทนราษฎร" เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2560 เวลา 19.30 น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net