Skip to main content
sharethis

 

ไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญของงานวิชาการได้ แต่ก็ไม่มีใครตอบได้เหมือนกันว่าตำแหน่งของงานวิชาการอยู่ที่ไหนในสังคมไทย ปัจจุบัน งานวิชาการถึงแม้จะสำคัญแต่ก็ดูไร้อนาคต ในสภาพที่เงินเดือนอาจารย์มหาวิทยาลัยต่ำเตี้ยจนต้องพากันไปรับใช้ภาครัฐ(ประหาร) เช่น การเป็น สนช. หรือตำแหน่งอื่น ๆ งานวิชาการก็ไร้คนอ่าน วารสารวิชาการพากันปิดตัว และเด็กไทยก็ไม่อ่านหนังสือ คุณวริศ ลิขิตอนุสรณ์ บรรณาธิการวารสาร Undergrad Rewrite ผู้สามารถมองเห็นคำอธิบายของแทบทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวให้เกียรติจิบชาอภิปรายว่าด้วยทางไปของโลกวิชาการและโฆษณาหนังสือที่ทำอยู่ ในศตวรรษที่ 21 โลกแห่งความรู้จะหมุนต่อไปอย่างไร



คุณวริศครับ ทำไมเด็กไทยสมัยนี้ไม่ค่อยอ่านหนังสือ

ผมว่ามันไม่ค่อยมีความจำเป็นต้องอ่านอะไรที่เป็นตัวหนังสือ เหมือนเคยอธิบายไปในบทความหนึ่งในประชาไทนี่แหละว่ารูปแบบของการอ่านเองมันเปลี่ยนไป ถ้าเราบอกคนสมัยก่อนอ่านหนังสือมาก แต่ก็กลับเป็นหนังสือนิยายอะไรทำนองนี้ คนสมัยนี้ก็มีลักษณะการอ่านแบบดังกล่าวที่มากเช่นกัน แต่เปลี่ยนไป เป็น interactive reading (อ่านแบบตอบสนองได้) คือไปอ่านผ่านสัมผัสของการเล่นเกม มองเห็น ได้ยิน คิด ตอบโต้ ประมาณว่า มันเป็นเรื่องอะไรที่คุณจะต้องนั่งจ่อมและจ้องอ่านสิ่งที่นักเขียนเขียนออกมาเป็นตัวหนังสือ ในเมื่อสิ่งที่คุณสามารถอ่านได้ด้วยผัสสะอื่นๆ มันเกิดขึ้น และคุณสามารถมีความรู้สึกของการร่วมเขียนมันได้ด้วย

ในงานเสนอบทความวิชาการด้านมนุษยศาสตร์ของจุฬาฯ (งานนกยูง) ก็มีการนำเสนอสื่อร่วมสมัยอย่างเกม เพลง รายการทีวี ด้วยมุมมองแบบมนุษยศาสตร์แบบวรรณกรรมวิจารณ์ได้เหมือนกัน มันยังแสดงให้เห็นด้วยว่าแม้พื้นที่ที่ traditional (เป็นขนบ) พอสมควรอย่างจุฬาฯ ก็ยังแสดงความยอมรับในการอ่านรูปแบบใหม่ตรงนี้ คือคนเราไม่ได้อ่านในเชิงการสื่อสารน้อยลง แต่อ่านหนังสือน้อยลงก็อาจจะใช่ เพราะโครงสร้างพื้นฐานมันเอื้อให้เป็นแบบนั้น หนังสือจากที่เคยเป็นพระเอกก็กลายเป็นตัวเลือกหนึ่งไป


แต่คุณก็ยังสิงสู่ในแวดวงสิ่งพิมพ์นี่ครับ เห็นว่าเพิ่งจะเปิดวารสารหัวใหม่

จริงๆ มันไม่ใช่วารสาร เพราะผมคนเดียวไม่มีปัญญาทำตามวาระได้ เพียงแต่เลือกเอามาตรฐานบางตัวมาจากวารสารวิชาการเลยมีเลือดเนื้อของวารสารอยู่นิดหนึ่ง ส่วนทำไมยังมายุ่งกับสิ่งพิมพ์คือผมแอบคิดว่ายุคนี้เป็นยุคที่ความเป็นหนังสือกลายเป็นความขรึมขลังที่มากกว่ายุคก่อนๆ เพราะมันเป็นตัวแทนของปัญญาแบบเก่า แบบที่มี authority มีการส่งทอด มีอำนาจในทางการอ้างอิง ในขณะที่สื่ออื่นๆ ยังไม่ได้อยู่ในสถานะขึ้นหิ้งขนาดนั้น และในขณะที่ความเข้มข้นของเนื้อหาหนังสือก็มีความสัมพัทธ์เช่นเดียวกันกับสื่ออื่นๆ ก็เพราะเห็นแบบนี้เลยเห็นว่าการใช้ platform (พื้นที่) ของหนังสือเป็นก้าวที่ค่อนข้างจำเป็นในการค่อยๆ เคลื่อนนิยามความเป็นวิชาการครับ

เราอยากจะทำสิ่งที่ bridge ระหว่างหลายๆ อย่าง โลกเก่ากับโลกใหม่ วิชาการกับไม่ใช่ ศาสตร์กับอศาสตร์ อะไรแบบนั้น เราทั้งอยากเอาสิ่งที่ไม่เป็นวิชาการเข้าไปอยู่ในพื้นที่วิชาการ และสิ่งที่เป็นวิชาการไปอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เป็นวิชาการ ประเด็นหลักๆ คือเมื่อหนังสือมันมีอำนาจ เราก็อยากให้อำนาจทางความรู้ของคนรุ่นใหม่ๆ เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของอำนาจนั้น ในขณะเดียวกันก็เพื่อที่จะค่อยๆ ดึงมันออกในภายหลัง อะไรที่ไม่มีความเป็นตัวเล่มหรือความเป็นตาราง หรือตัวเลขมาตรฐานบางอย่างมาครอบ ผู้ใหญ่เขาไม่ค่อยฟังหรอกครับ


น่าสนใจมากครับที่คุณวริศบอกว่าอยากจะเชื่อมความเป็นวิชาการกับไม่วิชาการเข้าด้วยกัน แสดงว่าคุณวริศจะต้องมีเกณฑ์อะไรบางอย่างที่จะแยกความเป็นหรือไม่เป็นวิชาการออกจากกันได้

ผมว่าเกณฑ์ที่ว่าเนี่ยมันอยู่ที่คนอื่น คืออยู่ที่มาตรฐานวิชาการแบบมหาลัย ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI)  หรือศูนย์วิจัย หรืออะไรก็ตามที่พวกนี้ที่จะทำให้แนวคิดหนึ่งมีอำนาจในการนำไปใช้อ้างอิงจนกลายเป็นนโยบายต่างๆ ได้ ในขณะที่โลกนอกวิชาการขนบแบบนั้นก็มีความสามารถในการผลิตเนื้อหาและองค์ความรู้ไม่แพ้กัน แต่มันค่อนข้างจะถูกกีดกันออกไปจากอำนาจเพราะมันดูไม่เป็นวิชาการ เช่น ศิลปะ หรือข้อสังเกต หรือพิธีกรรมของชุมชน ผมเห็นว่าความรู้ที่จะมีพลังต่อสังคมได้มันไม่จำเป็นจะต้องผูกกับฟอร์มขนาดนั้น ความรู้อื่นๆ ที่ไม่ดูเป็นวิชาการควรจะมีเครดิตทางสังคมมากขึ้น ในแบบที่ไม่ใช่ใต้ดินใต้โต๊ะด้วย อะไรทำนองนี้ก็ควรที่จะได้รับเครดิตในการกลายเป็นนโยบายที่อย่างน้อยๆ ก็ใช้ปกครองหรือดำเนินชีวิตตัวเองได้ พูดอีกอย่างก็คือความถูกต้องของพรมแดนทางองค์ความรู้ควรจะถูกนิยามใหม่ ไม่จำเป็นจะต้องมา apa (แบบของการอ้างอิงที่เป็นที่นิยม) จุดประสงค์ สิ่งที่คาดว่าจะได้รับ เป็นวิทย์ เป็นศิลป์ และอื่นๆ

 

เรื่องตลกคือในขณะที่งานวิชาการบางชิ้นแทบจะไม่ได้นำเสนออะไรเลย แต่พอมันถูกแปะด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นวิชาการเข้ามา มันกลับถูกให้ค่ามหาศาลในทางนโยบายหรือในการได้รับทรัพยากร 

 

ฟอร์มวิชาการมันมีปัญหามากขนาดนั้นเลยหรอครับ ไม่ใช่ว่ามันถูกทำขึ้นมาเพื่อควบคุมคุณภาพ

เรื่องตลกคือในขณะที่งานวิชาการบางชิ้นแทบจะไม่ได้นำเสนออะไรเลย แต่พอมันถูกแปะด้วยภาพลักษณ์ของความเป็นวิชาการเข้ามา มันกลับถูกให้ค่ามหาศาลในทางนโยบายหรือในการได้รับทรัพยากร เอาเข้าจริงแล้วอาจจะนับความเป็นวิชาการเป็นเพียงการตกแต่งที่ทำให้แนวคิดบางตัวถูก overrate (ให้ค่ามากเกินไป) ด้วยซ้ำ คุณไปเปิดเจอร์นัลวิชาการในไทยดูก็จะเห็นเต็มไปหมดที่ไปวิจัยอะไรมาใส่ตารางวุ่นวายสุดท้ายเสนอได้แค่ โอเค ต้องปลูกฝังค่านิยม ต้องใช้สื่อ ต้องทำอะไรก็ตามที่มันทำมาตั้งนานแล้วมากขึ้น แบบนี้สำหรับผมไม่ได้เรียกว่าคิดแก้ปัญหา เรียกว่ามาบอกให้คนอื่นคิดแก้ปัญหาอีกที ผมว่ามันสิ้นเปลืองที่เราจะไปให้ค่ากับอะไรแบบนี้ เราจะเห็นว่าความเป็นวิชาการไม่สัมพันธ์โดยตรงเสียทีเดียวกับเนื้อหาที่มีความเป็นวิชาอยู่ในนั้น

และวิธีหนึ่งที่จะทำให้สิ่งที่ดูไม่เป็นวิชาการแต่มีวิชาถูกยอมรับได้ในแบบหนึ่งที่ใกล้เคียงกับวิชาการได้ ก็คือหยิบยืมความขรึมขลังแล้วตัดต่อจัดวางมันบางส่วนเท่าที่จะไม่ทำลายเนื้อหาเดิมๆ ของสิ่งที่เราตัดต่อไปใส่ก็กลายเป็นสิ่งสำคัญ เช่น ผมเอา peer review หรือการสอบทานด้วยอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในสายตรวจสอบคุณภาพบทความเอาไว้ โดยให้เป็นลักษณะของการแสดงความคิดเห็นแทนที่จะสั่งให้แก้ ในขณะที่การมานั่งสั่งให้นักเขียนทำตัวเอียง ตัวหนา วัดบรรทัด เขียนสิ่งที่คาดว่าจะได้รับ ตัดออกให้หมด และในตัวเล่มก็มีอะไรที่ไม่ใช่วิชาการเลย แต่มีความเกี่ยวข้องกันบางประการมาอยู่ข้างๆ งานวิชาการด้วยกัน ให้มันมีความหมายเท่าๆ กัน ถูกมองเป็นน้ำหนักเดียวกัน


อันนี้เท่ากับเป็นการทำให้ทุกอย่างเป็นวิชาการ เอาวิชาการไปครอบให้หมดหรือเปล่า

เปล่า มันคือการกลืนกัน ไม่ใช่กลืนเป็นวิชาการนะ แต่กลืนกันและกันกลับไปเป็นการส่งต่อทางภูมิปัญญาของมนุษย์ที่ไมไ่ด้จำกัดว่ามันคืออะไร ไม่ใช่แค่วิชาอย่างเดียว แต่มีอารมณ์ด้วย มีอย่างอื่นด้วย ซึ่งไอเดียนี้ไม่ใช่สิ่งใหม่เลย แวดวงวิชาการเองก็เปิดประตูตรงนี้มานานแล้วตั้งแต่แนวคิดพวก postmodern (หลังสมัยใหม่) ontology (ภววิทยา) หรือ affect theory/sensory turn หรือแม้แต่ในบทสนทนาทั่วๆ ไปของมานุษยวิทยา หรือคำตัดพ้อของมนุษยศาสตร์ เพียงแต่มันไม่ค่อยถูกทำให้มี credibility (ความน่าเชื่อถือ) มากไปกว่าความเป็นอินดี้ ความเป็นทางเลือก หรือความเป็นอศาสตร์ ที่ไม่สามารถเทียบเคียงได้กับศาสตร์

ที่ผมเล็งไว้คือ ถ้ามันจะเป็นทางเลือก มันควรเป็นทางเลือกที่มีความมั่นคงแข็งแรง มากพอจนวันหนึ่งไอ้พวกที่จัดตั้งอะไรเป็นทางการมากๆ ทั้งหลายไม่ค่อยมีเหตุผลให้เข้าหาและทำตามอีกต่อไป อันนี้ฝันๆ เอาไว้ ทำได้รึเปล่าไม่รู้ แต่สิ่งที่ไม่เป็นวิชาการและวิชาการชายขอบอย่างมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ก็ควรจะตระหนักว่าตัวเองมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคมได้มากขนาดไหน และไม่จำเป็นต้องตัดขาดตัวเองเข้ามุมไปนั่งตีความอยู่แต่ในสายของตัวเองและยินยอมรับความเป็นอศาสตร์หลายๆ ระดับอยู่ในมุมมืดอย่างเดียว
 

แล้วงานวิชาการ (ไทย) ตอนนี้มันเป็นอย่างไรหรือครับ มันถึงไม่สามารถเชื่อมศาสตร์กับอศาสตร์เข้าด้วยกันได้

อันที่จริงผมว่ามันก็ดีขึ้น นักวิชาการที่รู้จักหลายๆ คนก็ตระหนักตรงนี้ และมีความเคลื่อนไหวหลายๆ แบบที่พยายามพูดถึงกันอยู่ ใน school ใหญ่ๆ ด้วยนะ แต่ถ้าพูดถึงปัญหาหรอ ที่เป็นหนักๆ ตอนนี้มันเหมือนจะเป็นการสร้างคำอธิบายที่วกวนในตัวเอง อย่างแรกคือแค่เอาทุกอย่างมาแปะศัพท์วิชาเท่ากับเป็นวิชาการ แปะคำว่าย้อนแย้ง เท่ากับกูเข้าใจไม่ได้แล้ว ไม่มีอะไรต้องทำต่อแล้ว ทิ้งมันไปเลยดีกว่า สังคมไทยมัน absurd (ไร้สาระ ไม่เป็นเหตุผล) ตบมุกทีนึงแล้วก็จบกันแค่นั้น เป็นกันเยอะ เป็นแล้วเท่ด้วยไม่รู้ทำไม อย่างที่สองคือนักต่างๆ หันไปทำงานแบบนักวรรณกรรมกันหมด คือไปตีความหาความเชื่อมโยงระหว่างตัวบทหรือ intertextuality โอเค เห็นอันนี้แล้วนึกถึงนักปรัชญาคนนี้และนึกถึงวรรณกรรมเรื่องนี้ แล้วหยุดเลย จบกันแค่นี้ และอีกอย่างที่ดีดไปเลยก็คือหันไปทำงานกับสถิติ ตัวเลข และการชี้วัดที่แน่นอนไปเลย แบบหลังนี้คือสิ่งที่แหล่งทุนและอำนาจชอบใจที่จะยอมรับ แต่ประสบความล้มเหลวในฐานะเครื่องมือแห่งชีวิต

นอกจากนี้ปัญหาที่หนักแน่นกว่านั้นถูกพูดถึงไปมากแล้วโดยนักวิชาการที่เก่าแก่ อยู่ในระบบ และเห็นปัญหามาก่อนผมหลายคน คือปัญหาการเอาวิทยาศาสตร์ไปครอบการทำงานของศิลปศาสตร์จนเกิดเป็นระบบต่างๆ ที่ิพิกลพิการ อันนี้ผมไม่อยากอธิบาย มีคนอธิบายเยอะแล้ว หาอ่านง่าย แต่อยากพูดถึงการโต้กลับของศิลปศาสตร์ที่เหมือนฆ่าตัวตายซ้ำหลังจากโดนเขาทำร้าย คืองอน งอนว่าเขาด่าว่าไร้ค่าก็เลยยอมรับตัวเองว่าไร้ค่า ด้วยวาทศิลป์แนวๆ postmodern แนวๆ ช่างแม่ง แล้วมุ่งทำงานที่ตัวเองสนใจให้ดูไร้ค่าไปเลย ไม่ bridge (เชื่อม) มันกับเรื่องอื่น ทำจนพอใจแล้วหยุด เหมือนประชด ซึ่งจริงๆ แล้ว ความคิดที่ไร้ค่ามันแทบจะไม่มีอยู่เลย มีแต่ความคิดที่ไม่ถูก bridge ให้มาเจอสิ่งที่จะนิยามคุณค่าของมันได้ นักมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ที่งอน ไม่ยอมทำหน้าที่ตรงนี้ ไม่ใช่แค่กับวิทยาศาสตร์ แต่กับสังคมของตัวเอง กับโลก มันก็เลยยิ่งทำให้วิทยาศาสตร์และรัฐมีเหตุผลที่จะแยกและตัดทรัพยากรออกจากมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์มากกว่าเดิม อันนี้แค่ในเปราะที่มันเป็นวิชาการแล้วนะ ที่ไม่เป็นวิชาการยิ่งโดนหนักกว่านี้


คุณวริศชอบพูดถึงการแยกเป็นสองขั้ว สองขั้วมันเป็นปัญหายังไงครับ

เคยเห็นพวกคำคมประเภท บนโลกนี้มีคนอยู่สองประเภทไหม เออ คุณว่าจริงป่ะล่ะ แม่งโคตรไม่จริง คือระหว่างสอง หรือเหนือสอง ใต้สอง มันมีมากกว่านั้นเป็นรายละเอียดนับไม่ถ้วน การแยกเป็นสองขั้วแบบนี้ คือ วิทย์กับศิลป์ วิชาการกับไม่ใช่วิชาการ แล้วต่างคนต่างอยู่ในโลกของตัวเอง เช่น หมอเลือกที่จะตัดขาดภาวะอารมณ์และความเชื่อทางวัฒนธรรมของคนไข้ สักแต่จะเอามีดผ่าอย่างเดียว เพราะหมอมาจากสายวิทย์ คนไข้งมงาย คนไข้ไม่มีความรู้ คนไข้ต้องฟังหมอทุกอย่าง พยาบาลมึงอย่าแสดงความคิดเห็น ทุกคนฟังกู อันนี้คือหมอทำงานแบบเป็นหมออย่างเดียว เป็นวิทยาศาสตร์อย่างเดียว มันก็ไปทำลายรายละเอียดที่อยู่กึ่งๆ ซึ่งความเป็นมนุษย์และสังคมมนุษย์อยู่ตรงนั้น

ผลก็คือ คุณอาจจะทำให้คนไข้กลายเป็นอะไรคล้ายๆ โรคซึมเศร้าทั้งที่อาการทางกายหายไข้ หรือไม่ก็ผ่าเสร็จแล้วโดดออกไปฆ่าตัวตายต่อ เพราะหมอไปผ่าโดนอะไรที่มันสำคัญในทางวัฒนธรรมของเขา อะไรแบบนี้ก็เกิดขึ้นเพราะหมอแบ่งความเป็นหมอออกจากความเป็นเพื่อนมนุษย์กับคนไข้ แบ่งความเป็นวิทย์ออกจากความเป็นศิลป์ แบ่งวิทยาศาสตร์ออกจากความเป็นมนุษย์ และเชื่อไปในทางใดทางหนึ่ง ในทางกลับกัน ถ้าหมอจะเอาแต่ความเป็นมนุษย์อย่างเดียวโดยไม่จับมีดรักษาคนไข้ทางกายเลย คนไข้ก็อาจตายทั้งๆ ที่ไม่ได้อยากตายอยู่ดี


เมื่อกี๊คุณพูดถึงปัญหาของสิ่งที่ไม่เป็นวิชาการ

ใช่ ใต้การกีดกันกันเองในโลกวิชาการ ยังมีการกีดกันที่ซ้ำลงไปอีก คือการกีดกันความไม่เป็นวิชาการแบบใดแบบหนึ่งให้หลุดออกไปจากการมีส่วนร่วมทางการพัฒนาความคิด ทั้งที่ในความเป็นจริงมันมีมาตลอด แต่รูปแบบของโลกวิชาการต้องทำเป็นไม่ยอมรับมัน เพราะใส่ลงไประบบก็ไม่เชื่อ อาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษาก็ไม่กล้าตรวจ สมมติคุณจะทำเรื่องอารมณ์ขัน มันเป็นไปไม่ได้ที่คุณจะเข้าใจอารมณ์ขันโดยไม่ดูสิ่งที่เป็นวัฒนธรรม และในขณะเดียวกันก็เป็นไปไม่ได้ที่จะปฏิเสธวิทยาศาสตร์ที่พูดเกี่ยวกับชีววิทยา เคมี และสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดอารมณ์ขัน และเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่เข้าไปยุ่งกับสิ่งที่ดูไม่เป็นวิชาการ แต่ถ้าคุณทำงานของคุณให้ครอบคลุมสิ่งเหล่านี้ คุณก็จะไม่มีอาจารย์กล้าตรวจให้ เพราะระบบ discipline (ขนบ) หรือการแบ่งสายมันไม่ยอมรับ

เช่นถ้าคุณไปศึกษาร่างทรงคนหนึ่ง คุณเกิดเริ่มเชื่อขึ้นมาว่าเขาเป็นอะไรมากกว่าอาการทางจิต มีปัจจัยทางร่างกายของเขาเปลี่ยนไป คุณเริ่มอัดคำอธิบายของร่างทรงมาพิจารณา แล้วคุณก็พบว่าตัวเองจำเป็นต้องอธิบายคำอธิบายนั้นซ้ำอีกทีด้วยเทพทางวิชาการคือนักปรัชญา แพทย์ จิตแพทย์ต่างๆ นานา เสียงของร่างทรงคนนั้นไม่สามารถอธิบายตัวเองให้กรรมการสอบวิทยานิพนธ์ของคุณฟังได้ ไม่มีใครสามารถคิดถึงคำพูดของเขาในฐานะคำอธิบายที่อธิบายตัวเองเสร็จสรรพแล้วได้ มันต้องถูกความเป็นวิชาการอธิบายทับ ทั้งที่เราก็ไม่อาจมั่นใจได้เลยว่าคำอธิบายทับนั้นจะอธิบายได้ดีกว่าคำอธิบายตัวเองของเขา หรือข้อค้นพบร่วมกันระหว่างคุณกับเขาได้อย่างไร

 

ปัญหาโดยทั่วไปซึ่งมีคนพยายามแก้มานานแล้ว จึงเกิดเป็นสหวิทยาการขึ้น แต่สหวิทยาการก็มีปัญหาอีกว่า พอทิ้งระยะไปสักพัก สหวิทยาการก็จะสถาปนาความเป็นศาสตร์ของตัวเองขึ้นมา อย่างที่เราเห็นกันว่ามันได้เละเทะไปแล้วในนิเทศศาสตร์ที่มีขนบเป็นของตัวเอง ซึ่งมันเคยเป็นสหวิทยาการมาก่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าจะทำงานในแนวนิเทศ สามารถอ้างถึงแต่จากงานในนิเทศก็ได้ แล้วคุณไปเช็ควารสารนิเทศศาสตร์หลายๆ หัวได้เลย แทบไม่มีความคิดอะไรที่มีพลังให้อ่านมานานแล้ว 

 

เป็นปัญหาโดยทั่วไปเลยหรอครับ

ปัญหาโดยทั่วไปซึ่งมีคนพยายามแก้มานานแล้ว จึงเกิดเป็นสหวิทยาการขึ้น แต่สหวิทยาการก็มีปัญหาอีกว่า พอทิ้งระยะไปสักพัก สหวิทยาการก็จะสถาปนาความเป็นศาสตร์ของตัวเองขึ้นมา อย่างที่เราเห็นกันว่ามันได้เละเทะไปแล้วในนิเทศศาสตร์ที่มีขนบเป็นของตัวเอง ซึ่งมันเคยเป็นสหวิทยาการมาก่อน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าจะทำงานในแนวนิเทศ สามารถอ้างถึงแต่จากงานในนิเทศก็ได้ แล้วคุณไปเช็ควารสารนิเทศศาสตร์หลายๆ หัวได้เลย แทบไม่มีความคิดอะไรที่มีพลังให้อ่านมานานแล้ว ในอีกทางหนึ่ง สื่อปัจจุบันที่พยายามย่อยความเป็นวิชาการให้เข้าใจง่ายก็กลายเป็น oversimplification คือทำให้กลับมากลายเป็นความง่าย ความสบายใจกับสิ่งเดิมที่รู้อยู่แล้ว ไม่ได้ให้รายละเอียดที่จะทำให้เห็นโอกาสและปัญหาใหม่ กลายเป็นสื่อที่น่าเชื่อถือมากขึ้นสำหรับผู้เสพเท่านั้น ที่ผมพยายามทำเนี่ยก็เป็นความทะเยอทะยานที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดเหล่านี้ คือการสร้างสะพานระหว่างสิ่งต่างๆ มากกว่าจะกลายสิ่งหนึ่งให้กลายเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ผมอยากทำให้ทุกสิ่งเกื้อกูลคุณค่าในตัวมันเองขึ้นมาได้บนเครือข่ายของความรู้ที่ไม่เป็นวงปิด แต่จะแก้ได้หรือเปล่าอันนี้ก็ไม่รู้นะ และหนังสือที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี่ก็ไม่ใช่คำตอบเดียว หรืออาจจะไม่ใช่คำตอบเลย ถึงยังพูดว่ามันเป็นแค่ความทะเยอทะยาน
 

เมื่อต้นการสนทนาคุณก็บอกว่าหนังสือนี่คนรุ่นใหม่ไม่ตำเป็นต้องอ่านแล้ว คุณไม่กลัวว่างานของคุณ จะโดนมองว่าแก่และไม่มีใครอ่านหรือครับ

เอาตรงๆ ตอนแรกก็กะจะทำให้ผู้ใหญ่ดูว่านี่คือโลกวิชาการที่คนรุ่นกูจะเอานะ กูไม่เอาแบบเดิมแล้ว แล้วก็จะค่อยๆ เปลี่ยนทิศไป แต่มันก็กลับมีคนรุ่นใหม่ๆ จองเข้ามาอยู่ ผมเอาเนื้อหาไปแอบเล่าให้ใครฟังเขาก็สนใจกัน คือมันก็ยังมีคนอ่านของมันอยู่โดยที่เขาไม่ต้องรู้ว่านี่คือกูกำลังซื้อหนังสือวิชาการหรืออะไร แต่นั่นไม่ใช่เรื่องหลักเท่าไหร่ ความสำคัญที่มันต้องกลายเป็นหนังสือก็คืออำนาจในการกลายเป็นเอกสารอ้างอิงที่ใช้พูดคุยกับอำนาจอื่นๆ ส่วนในทางความเป็นสื่อผมมองเป็นประเด็นรอง เมื่อมันออกมาเป็นหนังสือ คนรุ่นใหม่ๆ จะมองว่ามันขรึมขลัง ในขณะที่คนรุ่นเก่าๆ จะมองว่ามันเป็นความแปลกใหม่ที่เข้ามาในพื้นที่ความขรึมขลังของเขา และมันก็มีนักเขียนที่ส่งงานมาลงที่นี่สามารถเอาประวัติไปใช้ต่อยอดชีวิตตัวเองในทางวิชาการในโลกของผู้ใหญ่ได้แล้ว ซึ่งหมายความว่ามันก็เป็นทางเลือกทางวิชาการที่ใช้งานในทางอำนาจได้พอสมควร (ยังไม่นับว่ามันจะไปถึงการส่งพลังต่อสังคมไหม) แต่ในความใช้งานได้นั้น เราได้ตัดรายละเอียดอื่นๆ ที่กดทับการแสดงออกทางวิชาการออกไป จากที่ก่อนหน้านี้จะใช้งานได้ต้อง conform (ทำตาม) เขาทุกอย่าง อันนี้เราก็ทำให้มันเป็นพื้นที่ที่เจ้าของงานเขียนได้เป็นเจ้าของงานตัวเองมากขึ้น

ประโยชน์ตรงนี้คือสิ่งที่ผมเล็งเอาไว้มากกว่าแค่อยากทำหนังสือ ถัดมาคือผมก็มีความพยายามที่ทำให้มันออกไปมากกว่าความเป็นหนังสือเล่มอยู่ เพราะในอนาคตผมก็อยากจะให้วีดีโอ กลิ่น เสียง และสิ่งอื่นๆ จากผัสสะอื่นๆ มันใช้อ้างอิงได้เท่าตัวอักษรด้วย มันไม่สมเหตุสมผลเท่าไหร่ถ้ามนุษย์เรามีผัสสะได้มากมายหลายประเภท มันตลกที่เราเขียนวิจารณ์หนังเป็นตัวหนังสือ แทนที่จะกดหยุดเป็นจังหวะแล้วพูดถึงหนังทีละจังหวะ ส่งแบบนี้อาจเป็นงานวิจารณ์หนังที่ละเอียดกว่าแบบตัวหนังสือได้เลย แต่ credibility มันกลับไม่ได้มีเท่างานวิจารณ์ที่เป็นตัวหนังสือ เราอนุญาตให้สื่อที่เป็นตัวอักษรเป็นหัวหอกของโลกวิชาการอย่างเดียว ทั้งที่มนุษย์เราทำได้มากกว่านั้นมาตั้งนานแล้ว ส่วนนี้ก็กำลังค่อยๆ คิด ค่อยๆ ทำอยู่ ส่วนยอดขาย หรือคนจะมองว่าใหม่เก่า ผมก็ค่อนข้างพร้อมรับชะตากรรม หนังสือน่ะครับ ได้ต้นทุนคืนก็ฉลองได้แล้วมั้ง


ก่อนหน้านี้มีจุดหนึ่งที่คุณวริศพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวิชาการกับการวางนโยบาย คุณคิดว่าเป็นพันธะหน้าที่หรือเปล่าที่งานวิชาการ รวมถึงที่คุณกำลังจะสร้างด้วยนั้น จะต้องตอบสนองอะไรบางอย่างที่จะใช้เป็นรูปธรรมได้จริง

ใช่ครับ ในที่นี้งานวิชาการแบบ entertainment ก็มีส่วนในความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย วิชาการที่เรียกว่าหอคอยงาช้างที่จริงก็ไม่ได้อยู่บนหอคอยมาตั้งแต่ต้น เพียงแต่ความเชื่อมโยงของมันต่อสังคมอาจจะมองเห็นได้ยากหน่อย ผมอยากทำให้มันตอแหลน้อยลง แล้วส่งผลต่อสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น วันดีคืนดีงานปรัชญาอ่านไม่รู้เรื่องก็อาจเข้าไปแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างที่ Casper Brunn Jensen (นักวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับวิธีวิทยาและกระบวนทัศน์แบบภววิทยา และมีส่วนที่สำคัญในเทรนด์วิชาการ Ontological Turn) ได้ทำไว้กับงานวิจัยของเขาที่ไปมองเรื่องโครงสร้างพื้นฐานของน้ำที่พนมเปญ Casperทำได้แบบนั้นเพราะผมก็ตามว่าแกก็เขียนงานหอคอยงาช้างมาเป็นปีๆ เป็นพื้นฐานให้ตัวเองลงวิจัยภาคสนามอย่างอิสระได้อย่างสมเหตุสมผล ทีนี้บ้านเรานี่งานหอคอยงาช้างดีๆ มันก็มีแต่มันยังไม่มีคน bridge หรือสร้างสะพานจากหอคอยงาช้างตรงนั้นสู่สังคม นี่ผมไม่ได้จะมาด่านักวิชาการหอคอยงาช้างอะไรอีก ผมแค่จะมาบอกว่ามันต้องมีคน bridge เพิ่มขึ้น แล้วผมก็จะดีใจมากถ้านักวิชาการหอคอยงาช้าง bridge งานของตัวเองได้


สะพานที่คุณวริศจะสร้าง คุณวริศหมายถึงจะเชื่อมตัวหลักวิชากับเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ถูกมองเป็นหลักวิชา หรือคุณวริศหมายถึงจะเชื่อมตัวคนในและนอกวงวิชาการเข้าด้วยกันครับ

ทั้งหมดครับ


แล้วทีนี้คนนอกวงวิชาการที่คุณวริศพูดนี่ ส่วนนึงก็คงหมายถึง policy maker คุณว่าหนังสือของคุณจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ขนาดนั้นเลยหรือครับ

ไม่ได้ หนังสือเล่มนั้นทำไม่ได้ แต่ทีนี้เวลานโยบายหรือการโยกย้ายทรัพยากรต่างๆ มันเกิดขึ้น นอกจากอำนาจแบบหนักแบบที่คุณเอาปืนไปจ่อหัวเขาจนได้มาแล้ว มันยังมีอำนาจในทางองค์ความรู้ที่มีอำนาจขึ้นมาได้ด้วยการอ้างถึงกันไปมาไม่จบสิ้น แต่เครือข่ายของการอ้างองค์ความรู้เก่าๆ เป็นสิ่งที่ผมไม่เชื่อเท่าไหร่ เพราะอ้างแต่ source เดิมๆ นั้น มันถึงได้วกวนกันอยู่กับข้อจำกัดแบบเดิมเหล่านั้น ผมต้องการที่จะสร้างเครือข่ายองค์ความรู้ชุดใหม่ที่ใช้ในการอ้างอิงต่อกันได้ผ่านฐานความคิดของคนรุ่นหลังๆ กันเองที่ทำหน้าที่เลือกใช้บางส่วนของคนรุ่นก่อนมา ทีนี้เวลาจะขยับเคลื่อนไหวเรื่องใดๆ เราก็จะอ้างอิงเครือข่ายงานเหล่านี้ที่สนับสนุนต่อวัฒนธรรมต่างๆ ที่มันกลั่นออกมาจากสมองของคนรุ่นหลังมากกว่าคนรุ่นเก่า กลายเป็นกระดูกสันหลังที่แข็งแรงของคนรุ่นหลังเองที่สร้างพื้นฐานทางความคิดของตัวเองใหม่ ซึ่งหนังสืออาจจะได้ทำหน้าที่ตรงนั้น วิธีคิดแบบนี้เป็นที่มาของชื่อศูนย์วิจัย Newground (ศูนย์วิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมคนรุ่นใหม่ ที่เกิดจากความร่วมมือของหลายเครือข่ายเยาวชน อยู่ระหว่างการจัดตั้งมีวัตถุประสงค์ผลิตงานวิจัยเพื่อนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตที่ดีขึ้น และทบทวนเกี่ยวกับวัฒณธรรมของคนรุ่นใหม่โดยไม่จำกัดขนบวิธีวิจัย)  กล่าวคือถ้าไปเริ่มอ้างจากงานเก่าที่สร้างขึ้นมาในพื้นที่เวลาเก่าๆ ซะเยอะเกินไป มันก็จะไม่พ้นการวกกลับไปเจอปัญหาคล้ายเดิมนับครั้งไม่ถ้วน หรือมองปัญหาไม่เห็นด้วยซ้ำ แต่ถ้าเริ่มใหม่ตั้งแต่ฐาน มันอาจจะมีความเป็นไปได้ใหม่รอเราอยู่


คุณวริศมองเป็นเกมส์ยาวมากเลยนะครับ แล้วในระยะสั้นเช่นการที่เราอยู่ภายใต้สภาพการเมืองอย่างนี้ คิดว่าสิ่งที่คุณกำลังทำจะนำมาซึ่งผลอย่างไรได้บ้างครับ

ผมหมดหวังกับตรงนั้น และค่อนข้างดูถูกสติปัญญากับกำลังของตัวเองที่จะแก้ปัญหาที่ยากขนาดนั้น ปัญหาโลกวิชาการที่ผมคลุกคลีอยู่ค่อนข้างที่จะมีความเป็นไปได้ว่าจะอยู่กับเรามาก่อนและต่อไปไม่ว่าเราจะมีรัฐบาลแบบไหน ผมไม่ได้ปฏิเสธว่าสภาพการเมืองทุกวันนี้ไม่ใช่ปัญหาหรือไม่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาเรื่ององค์ความรู้ หรือทุกๆ อย่าง มันย่อมมีความเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างที่เห็น แต่ผมมีข้อจำกัดอื่นๆ รวมถึงขอบเขตความกล้าหาญของผมอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่ามันก็มีส่วนอื่นที่ปรับเปลี่ยน แก้ไข เยียวยาได้เป็นการเมืองในอีกระดับหนึ่ง ผมทราบว่าปัญหาเรื่ององค์ความรู้ในทำนองเดียวกันนี้มันเป็นปัญหาร่วมในภูมิภาคของเรา มากกว่าแค่ในประเทศด้วย จากที่ทั้งมองทั้งทำมาในระยะสั้นๆ ปัญหาที่ร่ายมาทั้งหมดในบทสนทนานี้มันมีจุดร่วมที่น่าจะใช้เปลี่ยงแปลงอะไรได้จากมุมความสัมพันธ์ภายในภูมิภาค นี่เป็นทางที่ผมพอจะทำได้ และทำอยู่ กับส่วนอื่นๆ คงได้เพียงแต่เป็นกำลังใจให้ครับ

 

 

เกี่ยวกับ Undergrad Rewrite: facebook.com/undergradrewrite/
สำหรับ เขียนใหม่: ไม่รู้ ยังไม่ได้ทำ เพจยังไม่ได้เปิด กรุณารอติดตามชมต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net