Skip to main content
sharethis

สหภาพแรงงาน ขสมก. คัดค้านและให้ทบทวนเส้นทางปฏิรูปทั้งหมด ชี้ไม่เกิดประโยชน์ประชาชน -  รฟท. ปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟรุ่นใหม่ เฉลี่ย 100-200 บาทต่อที่นั่ง สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง ขณะที่เรือด่วนเจ้าพระยา-คลองแสนแสบ ขึ้นค่าโดยสาร 1 บาท 17 ส.ค.นี้

เมื่อวันที่ 16 ส.ค.ที่ผ่านมา วีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สหภาพแรงงานฯ ขสมก. ได้แถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องคัดค้านการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารให้กับสมาชิก พนักงาน และประชาชนผู้ใช้บริการทราบ เนื่องจากไม่เห็นด้วย ต้องการคัดค้านและให้ทบทวนเส้นทางปฏิรูปทั้งหมด เพราะมองว่าไม่เกิดประโยชน์ประชาชนที่ใช้บริการ เนื่องจากเส้นทางเดินรถบางเส้นทางยาวเกินความจำเป็น และซ้ำซ้อนมากกว่าเดิม ทั้งนี้การเปลี่ยนชื่อและสายการเดินรถเป็นภาษาอังกฤษทำให้ประชาชนเกิดความสับสน การปฏิรูปเส้นทางในครั้งนี้ขาดการมีส่วนร่วมจากองค์กรผู้ปฏิบัติงาน และประชาชนผู้ใช้บริการไม่มีการศึกษาผลดี-เสีย หรือรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะของพนักงาน และผู้ใช้บริการทุกภาคส่วน ขาดการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจในการปรับเปลี่ยนเส้นทางเดินรถโดยสาร 

วีระพงษ์ กล่าวต่อว่า รวมทั้งเส้นทางบางเส้นทางไม่สอดคล้องต่อความต้องการของประชาชน ไม่ได้ศึกษาข้อมูลข้อเท็จจริง สถานที่จอดรถต้นทางปลายทาง เส้นทางบางเส้นทางรถเมล์ไม่สามารถนำรถเข้าวิ่งรับส่งผู้โดยสารได้ บางพื้นที่ถนนแคบไม่มีที่จอดรถ และไม่สามารถกลับรถได้อย่างสะดวก ทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยต่อผู้ใช้รถใช้ถนน สหภาพแรงงานฯ มองว่าการปฏิรูปเส้นทางครั้งนี้เป็นการยุบเขตการเดินรถจากเดิม 8 เขต เหลือ 4 เขต และเส้นทางต่างๆ ที่อยู่บริเวณโซนที่ถูกยุบ เขตการเดินรถนั้น จะให้เอกชนดำเนินการจัดหารถเมล์วิ่งแทน ขสมก. อาจเป็นการปฏิรูปเส้นทางเพื่อรองรับกลุ่มทุนเอกชนเข้ามาผูกขาด เส้นทางเดินรถในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นการแปรรูป ขสมก. และยุบเขตการเดินรถ
 
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ขสมก. กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ สหภาพแรงงานฯ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนหลังจากที่ได้ทดลองเดินรถ 8 เส้นทางปฏิรูปใหม่ ในวันที่ 15 ส.ค. 60 ที่ผ่านมาเป็นวันแรก ส่วนใหญ่ประชาชนร้องเรียนเรื่องความสับสนในการใช้บริการในแต่ละเส้นทาง อย่างไรก็ตามจากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ สหภาพแรงงานฯ นิ่งนอนใจไม่ได้ ภายในสัปดาห์หน้าจะเตรียมยื่นทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมและ สนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก และเพื่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ให้ทบทวนการปฏิรูปเส้นทางเดินรถโดยสารในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
 

รฟท.ปรับค่าโดยสาร 100-200 บาท เริ่ม 21 ส.ค.นี้

วันเดียวกัน ทนงศักดิ์ พงษ์ประเสริฐ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการเดินรถการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เปิดเผยว่าในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ รฟท. จะปรับขึ้นค่าโดยสารรถไฟรุ่นใหม่จำนวน 115 คัน ใน 4 เส้นทางที่เปิดให้บริการคือ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ , กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี , กรุงเทพฯ-หนองคาย และกรุงเทพฯ-หาดใหญ่ เฉลี่ย 100-200 บาทต่อที่นั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริงของการให้บริการที่ทันสมัย พร้อมเชื่อว่าไม่กระทบต่อผู้โดยสารแน่นอน เนื่องจากผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มเฉพาะและมีกำลังซื้อ สำหรับรถโดยสารรุ่นใหม่ที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2559 ได้จัดเก็บค่าโดยสารในอัตราโปรโมชั่นมาถึงปัจจุบันคือ รถนอนปรับอากาศชั้น 1 มีอัตราค่าโดยสาร 1,120-1,594 บาทต่อเที่ยว และรถนอนปรับอากาศชั้น 2 มีอัตราค่าโดยสารระหว่าง 731-945 บาทต่อเที่ยว

ทนงศักดิ์ กล่าวว่า รถไฟรุ่นใหม่ได้รับการตอบรับจากผู้ใช้บริการ โดยมีอัตราบรรทุกในฤดูท่องเที่ยวสูงถึงร้อยละ 85-90 ซึ่ง รฟท. มีแผนที่จะขยายเส้นทางการให้บริการเพิ่มอีกใน 3 ปี หลังจากการก่อสร้างทางคู่แล้วเสร็จ เพราะจะทำให้สามารถเพิ่มความถี่ในการโดยสารได้

เรือด่วนเจ้าพระยา-คลองแสนแสบ ขึ้นค่าโดยสาร 1 บาท 17 ส.ค.นี้

รายงานข่าวระบุด้วยว่า 17 ส.ค.นี้  กรมเจ้าท่าได้ประกาศปรับปรุงอัตราค่าโดยสารเรือประจำทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยให้เรือด่วนเจ้าพระยาและเรือคลองแสนแสบปรับขึ้นค่าโดยสารเพิ่มขึ้น 1 บาทต่อคนต่อเที่ยว ส่วนเรือโดยสารข้ามฟากเพิ่มขึ้น 50 สตางค์ต่อคนต่อเที่ยว เนื่องจากราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

 
เรียบเรียงจาก ไทยพีบีเอส เดลินิวส์ และ Voice TV
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net