ถก 1 ปีประชามติ (2): ความ ‘พลาด’ ฝ่ายไม่รับร่างฯ ผลกระทบบัตรทอง ชายแดนใต้และแรงงาน

มั่นใจในเครือข่าย-ปัญญาชนเกินไป คาดไว้แล้ว รธน.ฉบับใหม่กดสิทธิเสรีภาพ บัตรทองครอบคลุมน้อยลง ปฏิรูปเสมอภาคไม่จริงจัง ราชการมีอำนาจมากขึ้น ปัจจัยการศึกษา-ศาสนาทำ 3 จ.ชายแดนใต้ไม่รับ ความขัดแย้ง ความรุนแรงบอบช้ำสะสมยังเป็นปัญหาหลัก ย้ำต้องมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนแม้แต่กลุ่มติดอาวุธ 3 ปีรัฐประหารแรงงานมีแต่ทรงกับทรุด เงินหายาก คาดเลือกตั้งเป็นหมันถ้าไม่เป็นตามเกม คสช.

เมื่อ 13 ส.ค. 2560 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) จัดงานเสวนา “เหลียวหลังแลหน้าประเทศไทย: 1 ปีหลังประชามติ” ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ ชั้น 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) โดยเชิญวิทยากรมาร่วมเสวนา ได้แก่ ผศ.ปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิมันต์ โรม สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อารีฟีน โสะ สมาชิกสหพันธ์นิสิตนักศึกษา นักเรียน และเยาวชนปาตานีหรือ PerMAS กรรณิกา กิจติเวชกุล สมาชิกกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และสุนทร บุญยอด สมาชิกสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ดำเนินรายการโดย ปกรณ์ อารีกุล

‘อนุสรณ์’ ชำแหละความพลาดฝ่ายไม่รับร่างฯ เผยมั่นใจเครือข่าย ปัญญาชนเกินไป

อนุสรณ์กล่าวว่า มาอยู่ตรงงานเสวนานี้เหมือนรวมพลคนอกหัก แต่ขณะเดียวกันที่เราอกหักไม่ใช่เป็นเพราะคุณสมบัติไม่ถึง แต่พ่อแม่ของเจ้าสาวและเจ้าบ่าวไม่ได้วางกติกาที่แฟร์มาตั้งแต่ต้น ไม่ยุติธรรมกับเรา รวมทั้งยังคิดว่าเรายังประเมินตนเองได้ไม่ถูกต้อง ตั้งแต่แรกสุด สิ่งที่ประเมินพลาดคือการทำรณรงค์ที่เชื่อมั่นว่าได้เครือข่ายภาคประชาสังคมมากมายทั่วประเทศและพรรคที่มีฐานเสียงกว้างจะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเหมือนพวกเรา แต่ผลที่ออกมาไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ มันคล้ายว่าจะยังไม่มีฐานมวลชนที่กว้างพอ ทั้งยังมีการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน จากรณรงค์ให้โหวตไม่รับกลับเข้าใจว่าให้โหวตรับ ในส่วนพรรคการเมืองก็ยังขาดความหนักแน่น ติดกับดักเรื่องความมืดมน สับสนในกรณีที่รัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ถ้าผ่านไปก็จะมีขั้นตอน เลยพบว่านักเลือกตั้งทั้งหลายจึงเลือกรับร่างรัฐธรรมนูญ นักการเมืองยังไม่มีฉันทามติร่วมกับพรรคและเลือกที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งเร็วๆ ตามเงื่อนไขของประชามติ

อีกข้อที่เสนอพลาดคือ เราประเมินการใช้เหตุผลในการตัดสินใจของปัญญาชนอาจจะสูงเกินไป หลังประชามติผ่านไปผมเคยไปคุยกับอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ว่า กลุ่มวิศวกรจำนวนมาก โดยเฉพาะพวกที่สังกัดสถาบันศึกษาโหวตรับร่างฯ เพราะมีมาตราหนึ่งที่ปลดแอกการออกแบบหลักสูตรการสอนที่ต้องอิงกับสภาวิชาชีพ แสดงให้เห็นว่า กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญมีการคิดโจทย์ที่ละเอียด มีความพยายามสอดโจทย์จำเพาะของกลุ่มวิชาชีพบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มที่มีปากเสียงและมีพลังในสังคม พอดีผมทำงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ศึกษากลุ่มคนตั้งแต่เสื้อเหลืองยัน กปปส. ไปสัมภาษณ์คนใต้ คนกรุงเทพ และคนใต้ที่มาอยู่ที่กรุงเทพฯ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ต่อให้ตัว คสช พาประเทศจะลงเหวแล้ว แต่คนจำนวนมากก็ให้โอกาส คสช. ทำงานต่อ ญาติผมเองสมัยที่ตอนนั้นราคายาง 3-4 กก. 100 บาท คุณสุเทพเขาไปบวชอยู่วัดใกล้ๆ ญาติผมนอกจากจะเดินทางมากรุงเทพเพื่อร่วมชุมนุมกับ กปปส. แล้ว ยังไปหาคุณสุเทพที่วัดแล้วเอาเงินไปบริจาคใส่ย่ามพระสุเทพอีกทั้งๆ ที่ตอนนั้นพระสุเทพแก้ไขอะไรไม่ได้เลย มันจึงมีอีกหลายเรื่องที่เราจำเป็นจะต้องเข้าใจ ลำพังเฉพาะแค่กลยุทธที่มันไม่เป็นธรรมมันไม่มากพอ  

ถ้าซื้อหวยก็ถูก คาดไว้แล้ว รธน.ฉบับใหม่กดปราบสิทธิเสรีภาพ

อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ท่ามกลางการประเมินพลาดก็พบว่า เราก็ประเมินถูกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่คัดค้านคืออะไร แล้วจะออกมาในสภาพไหนก่อนจะประกาศใช้ เราคิดถูกว่ารัฐธรรมนูญใหม่นำความมั่นคงของรัฐมาเป็นสรณะ ส่วนสิทธิเสรีภาพประชาชนเป็นไม้ประดับ ที่ผ่านมาจึงไม่น่าประหลาดใจที่สิทธิเสรีภาพประชาชนถูกลิดรอนไปมาก ถูกจับกุมคุมขังดำเนินคดี กระบวนการยุติธรรมตามปรกติก็ถูกละเมิดไปหมด และโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับอนุม้ติให้ดำเนินการผ่าน ม.44 ไม่ได้รับการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม เราพบว่าพื้นที่การเคลื่อนไหวหดแคบลงทุกที เราเห็นความพยายามของ คสช. ในการกดปราบนักเคลืื่อนไหว และกระชับพื้นที่ให้แคบลงเรื่อยๆ จนมหาวิทยาลัยและบุคลากรทางการศึกษาที่เหมือนจะเป็นที่มั่นสุดท้ายก็ถูกกระชับพื้นที่เข้ามา ในหลายสถานศึกษามีการห้ามเชิญวิทยากรบางคน มีการกำหนดเนื้อหาการศึกษาให้มีเนื้อหาการเชิดชูสถาบันทหาร ประโยชน์ของกองทัพ และล่าสุดก็มีการใช้ ม.44 ให้ตั้งคนนอกเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยได้ ล่าสุดเมื่อวานทราบว่า มีหมายเรียกจากตำรวจให้อาจารย์ที่เป็นแกนในการจัดงานไทยศึกษาที่ จ.เชียงใหม่ในข้อหาการจัดงานวิชาการโดยไม่ขออนุญาตกองทัพในพื้นที่ ยิ่งถ้าในอนาคตมีทหารเป็นอธิการบดี เราท่านก็คงไม่ได้เห็นบรรยากาศการเสวนาอย่างนี้

อนุสรณ์คิดว่า รัฐกับสังคมในแง่หนึ่งพอจะแยกกันได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องหนุนเกื้อกัน รัฐที่ไม่มีฐานทางสังคม ปฏิเสธเสียงคนส่วนใหญ่จะไม่มั่นคงถาวรอย่างที่คิด และจะมีสิ่งที่เรียกว่าหายนะรออยู่ สิ่งที่อยากเรียกร้องคือ ให้คนในรัฐเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่าจะใช้อำนาจกดปราบคนอย่างไรก็ได้ อยากให้คนที่มีอำนาจเปลี่ยนแนวทางเสียใหม่ให้มารับฟังเสียงของประชาชนเพื่อสร้างสังคมที่จะไปด้วยกัน แบ่งปันอำนาจและผลประโยชน์เท่าเทียมกัน สังคมที่คนหนึ่งได้ไปแทบทั้งหมดอีกส่วนแทบจะไม่ได้อะไรเป็นสังคมที่อยู่ไม่ได้ และจะไปสู่หายนะที่สุด

รธน. ฉบับใหม่กระทบบัตรทอง ครอบคลุมน้อยลง ปฏิรูปเสมอภาคไม่จริงจัง ฝ่ายราชการมีอำนาจมากขึ้น

กรรณิการ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่านโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นมรดกชิ้นหนึ่ง แทบจะเป็นชิ้นสุดท้ายของระบอบประชาธิปไตยด้วยซ้ำ นอกจากจะมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นยังผ่านกระบวนการเข้าชื่ออีก 5 หมื่นรายชื่อ ตลอดระยะเวลา 15 ปี ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าสร้างประโยชน์ในฐานะการลงทุนทางสังคมที่คุ้มค่า เพราะมันทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการที่คนมีสุขภาพแข็งแรงและไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วย งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าตลอดเวลา 15 ปี มีครอบครัวที่ไม่ล้มละลายจากค่าใช้จ่ายจากการเจ็บป่วยถึง 8 หมื่นครอบครัว ในช่วงรณรงค์ร่างรัฐธรรมนูญก็มีการทำวิดีโอมาบรรยาย มาตรา 47 มันเขียนว่า บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิ์ได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ ที่ต่างกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ที่ระบุว่า บุคคลมีสิทธิ์เสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐาน แต่คำว่าเสมอกันได้หายไป จะเอาแค่ผู้อยากไร้ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 258 หมวดปฏิรูปที่บอกว่าจะทำให้ 3 กองทุนรักษาพยาบาลให้มีความเท่าเทียมกัน แต่ตั้งแต่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 มาก็ไม่มีการแก้ไขอะไร เรื่องการรับสวัสดิการของผู้สูงอายุ และเรื่องสิทธิการได้รับการคุ้มครองจากการถูกทำร้ายของสตรีและคนในครอบครัวและสิทธิการได้รับสวัสดิการคนชราจากรัฐได้หายไปจากรัฐธรรมนูญปี 2560 ถ้าหายไปแบบนี้แล้วบอกว่ามีมาตราหนึ่งในส่วนปฏิรูปจะเก็บไว้ให้เท่าเทียมกันมากขึ้นมันก็ไม่ใช่ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพจึงไม่สามารถรับรัฐธรรมนูญชุดนี้ได้ ก็โหวตโนไป

หลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ก็มีความพยายามปรับโครงสร้างในบอร์ดสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่เพิ่มบทบาทให้กระทรวงสาธารณสุข แต่หลังจากที่พวกเราค้านอย่างหนักพวกเขาก็ถอยไปนิดหน่อย เรื่องของสัดส่วนในบอร์ดที่สมดุลอยู่แล้ว แต่กลับเพิ่มตัวแทนผู้บริการมา 7 คน ทำให้สัดส่วนเสียไปซึงส่งผลต่อการต่อรอง พอเราค้านเขาก็บอกจะให้เหลือ 2 คน ก็ไม่ได้ เพราะไม่เช่นนั้นก็้ต้องเพิ่มสัดส่วนของประชาชนอีก 2 คนด้วย และยังตัดทิ้งการมีส่วนร่วมของประชาชน ตัดองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ออกไปเพราะว่าใกล้จะยุบหน่วยงานแล้ว ยังมีเรื่องการแยกเงินเดือนค่าหัวบัตรทอง 3,200 บาทต่อหัวนั้นรวมเงินเดือนข้าราชการอยู่ด้วย ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอยากให้โรงพยาบาลที่ดูแลประชาชนเยอะได้รับงบเยอะ เพื่อเอางบดังกล่าวไปจัดหาบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติม แต่ถ้าแยกเงินเดือนออกมาก็จะทำให้โรงพยาบาลเพิ่มบุคลากรได้โดยไม่อิงกับความต้องการ เกิดการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มโรงพยาบาลอำเภอ ศูนย์แพทย์ชุมชนจะได้รับงบน้อยลง แต่โรงพยาบาลทั่วไปตามจังหวัดจะได้เงินเยอะขึ้น ภาคอีสานจะเป็นภาคที่ได้รับผลกระทบมากสุด ในขณะที่รอบๆ กรุงเทพฯ จะมีบุคลากรแพทย์กระจุกตัวอยู่ สิ่งนี้สร้างความเหลื่อมล้ำเพราะว่ารัฐบาลมองคนไม่เท่ากัน คุณมองว่าคนอยู่ต่างจังหวัดหรือไกลหน่อยก็ไม่ต้องดูแลก็ได้ซึ่งมันไม่ถูกต้อง

ในเรื่องซื้อยา ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา สปสช ไม่ได้ซื้อยาทุกตัว ซื้อเฉพาะยาที่มีราคาแพงผ่านกระบวนการต่อรอง ซึ่งทำให้ประหยัดงบไปได้ถึงปีละ 5,000 ล้านบาท หมายความว่าทำให้บริษัทยาขาดทุนกำไร ไม่ได้ขาดทุนแต่ขาดทุนกำไรในปริมาณเงินดังกล่าว แต่ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้นและต่อเนื่อง พวกยาต้านไวรัส ยาล้างไตหรือยาที่ใช้กับโรคมะเร็ง แต่พอมีรัฐประหารก็มีการตั้ง คตร. มาตรวจ แต่ก็ไม่พบการทุจริต แต่ก็โดนบอกกลับมาว่าสิ่งที่ สปสช ทำไม่ใช่หน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งที่ที่ผ่านมาก็ให้เข้า ครม. ในแต่ละครั้ง แต่ในครั้งล่าสุด สตง. บอกว่า สปสช. จัดซื้อยาปี 2561 ที่จะหมดเดือน ก.ย. ต่อเดือน ต.ค. ไม่ได้ และให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดทำ แต่ทางกระทรวงฯ ก็บอกว่าทำไม่ทัน ให้ สปสช. ทำ แต่ทางสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็บอกว่าไม่ได้ ดิฉันก็ไม่รู้ว่า สตง. คิดอย่างไร ทำไมต้องทำให้ยุ่งยาก แล้วใครจะได้ประโยชน์ บริษัทยาหรือเปล่า เพราะวิธีดังกล่าวทำลายกระบวนการต่อรองราคา และยังสร้างระบบที่จะทำให้สูญเสียจากการโอนเงินและการจัดส่งยา การผ่าทางตันที่พวกเราเห็นก็คือการแก้กฎหมายให้ สปสช. ซื้อยาระดับประเทศที่มีราคาแพงในบางรายการได้ นอกจากนั้น ถ้าระบบหลักประกันสุขภาพไม่ได้ทำหน้าที่ได้ดีอย่างเดิมก็คือผู้ที่ซื้อหุ้นธุรกิจประกันชีวิตและประกันสุขภาพ ตอนนี้ราคาหุ้นในธุรกิจดังกล่าวมีราคาน้อยกว่าราคาอยู่ในจุดสูงสุดอยู่เกือบร้อยละ 50 พวกนี้กำลังเฮเลย บอกว่าหลักประกันสุขภาพ 30 บาทรักษาทุกโรคไม่มีคุณภาพ ทำโรงพยาบาลเจ๊ง เดี๋ยวรัฐบาลก็ต้องแก้ปัญหาด้วยการให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพแล้วนำไปลดหย่อนภาษี พวกเราก็เตรียมซื้อหุ้นกันได้เลย

กรรณิการ์ทิ้งท้ายว่า อยากบอกว่าเราเห็นร่องรอยถากถางของคณะทหารและชนชั้นนำและคนรวยและข้าราชการให้สิทธิหมดไป ให้เหลือไว้เพียงสังคมสงเคราะห์ หรือพูดอีกอย่างคือเป็นสิทธิคนอนาถา ถ้ามีการเลือกตั้งก็อยากให้พรรคการเมืองดึงคำว่าเสมอกันกลับมา แต่ก่อนจะถึงวันนั้นเราจะทำอะไรได้บ้าง จะไม่คุยกับรัฐบาลเผด็จการเลยก็ไม่ได้

ปัจจัยการศึกษา-ศาสนาทำ 3 จ.ชายแดนใต้ไม่รับ แต่ความขัดแย้ง ความรุนแรงบอบช้ำสะสมยังเป็นปัญหาหลัก

อนุสรณ์ระบุว่า กรณี 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่โหวตไม่รับสูง ประเด็นที่ค้นพบคือ 2 มาตรา ได้แก่ ม.54 ที่ว่าด้วยการสนับสนุนการศึกษาขั้นพื้นฐานจากเดิมสนับสนุนในระดับ ม.1-ม.6 เป็นการขยับลงมาเป็นระดับอนุบาล ทำให้ส่วน ม.ปลายไม่ได้รับการสนับสนุน ซึ่งมีผลกับโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามที่เดิมที่เป็นโรงเรียนปอเนาะแล้วเปลี่ยนสถานะเป็นโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามแล้วเอาหลักสูตรของราชการไปใช้ โดยได้รับเงินอุดหนุนเรื่อยมา  แต่ ม.54 จะทำให้ขาดเงินสนับสนุนไป เมื่อเป็นประเด็นขึ้นมาก็เกิดการเคลื่อนไหว หัวหน้า คสช. กลับใช้ ม.44 ว่าให้ขยายเวลาสนับสนุนให้จนถึง ม.6 แต่มันไม่ได้ตามรัฐธรรมนูญ กลายเป็นได้จากคำสั่งของหัวหน้า คสช. ซึ่งตรงนี้ก็มีประเด็นเรื่องความจริงใจ ทำไมถึงไม่ระบุในรัฐธรรมนูย ถ้าใช้ ม.44 แล้วคุณหมดอำนาจไปจะเกิดอะไรขึ้น ประเด็นที่สองเป็นประเด็นทางศาสนา ในม. 67 ที่เดิมที่ระบุว่ารัฐมีหน้าที่สนับสนุนศาสนาพุทธและศาสนาอื่น แต่ตอนนี้มีความจำเพาะขึ้นมาว่าต้องสนับสนุนศาสนาพุทธนิกายเถรวาท เรื่องนี้จะส่งผลกับสิ่งที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ และกลุ่มศาสนาพุทธกลุ่มอื่นด้วย แต่ในพื้นที่ 3 จังหวัดเป็นประเด็นเพราะคนส่วนมากเป็นมุสลิม แต่เดิมก็อยู่ร่วมไทยพุทธได้ แต่หลังเกิดความไม่สงบก็มีแนวโน้มที่จะหยิบยกเรื่องพุทธ เรื่องวัด มาใช้มากขึ้น บางวัดถูกใช้เป็นค่ายทหารชั่วคราว ขณะเดียวกันมีการเรียกร้องการติดอาวุธให้กับพระ พอกฎหมายนี้ผ่านไปแล้ว การอุดหนุนดังกล่าวผ่านข้ออ้างทางพุทธศาสนาจะทำให้เกิดอะไร แล้วกรณีของครูสอนศาสนา ผู้บริหารมัสยิดที่ได้รับค่าตอบแทนประจำเดือน แต่พอมาเขียนแบบนั้นก็เกิดข้อสงสัยว่าแล้วเงินค่าตอบแทนจะได้อยู่หรือเปล่า ด้วยกฎหมายสองข้อดังกล่าวจึงทำให้เกิดการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพราะเกิดผลกระทบในด้านการศึกษาและศาสนา

อารีฟีน กล่าวว่า ประชามติที่ฝ่ายไม่รับร่างในปัตตานีชนะขึ้นมาเพราะเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาการศึกษาหรือความเหนือกว่าของศาสนาพุทธเป็นปัจจัยประกอบ แต่ก็เป็นเพียงปัจจัยส่วนหนึ่ง ถ้าดูบรรยากาศทางการเมืองก็จะพบว่าพื้นที่ทางการเมืองถูกกดทับมาตลอด 3 ปี  รวมถึงก่อนหน้านั้นก็ด้วย รากเหง้าปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่คือการสะสมความบอบช้ำผ่านการต่อสู้มานาน ในวันที่ 13 ส.ค. จะครบรอบการสูญหายของหะยีสุหลง นักเคลื่อนไหว นักกิจกรรมและนักคิดที่มีอิทธิพลของคนปาตานี(พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) อย่างมากและถูกทำให้หายตัวไปเมื่อ 63 ปีที่แล้ว ซึ่งก็มีการ จากนั้นเกิดการต่อสู้ระลอกใหม่หลังการหายตัวไปของหะยีสุหลงก็มีการต่อสู้เคลื่อนไหวแบบใหม่ขึ้นมาด้วยการจัดตั้งกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่มหลังแนวทางต่อสู้แบบสันติวิธีสามารถสรุปได้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผลกับการรณรงค์ของนักกิจกรรมหรือกลุ่มทางการเมืองให้เลือกโหวตไม่รับ แต่รากเหง้าปัญหาที่สำคัญคือการสะสมความบอบช้ำผ่านการต่อสู้ การถูกเหยียบย่ำศักดิ์ศรีจากรัฐไทยมาโดยตลอด เมื่อประชามติและเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมันยึดโยงอยู่กับอำนาจทหารแล้วพวกเราก็สรุปแนวทางที่จะเลือกได้ง่ายโดยไม่ต้องรณรงค์ ผมก็เชื่อว่า พ่อแม่พี่น้องในภูมิภาคอื่นก็สัมผัสถึงอำนาจมาจากทหารที่มาเหยียบย่ำเรา ตลอด 3 ปีก็ได้สร้างความบอบช้้ำให้สังคมไทยในระดับหนึ่ง

ทางออกอยู่ที่โครงสร้างการเมือง ต้องมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนแม้แต่กลุ่มติดอาวุธ วันนี้ชนะกันเด็ดขาดไม่ได้แล้ว

สมาชิกกลุ่ม PerMAS ระบุว่า ทางออกสำคัญอยู่ที่โครงสร้างทางการเมืองของรัฐไทยที่เป็นปัญหาร่วมกันอยู่ ในส่วนประชามติก็มีการรณรงค์ แต่ว่าอีกส่วนที่ละเลยไม่ได้คือปฏิบัติการทหารหรือการใช้กำลังในพื้นที่ก็มีการสื่อสารมาอย่างต่อเนื่อง เช่นปฏิบัติการระเบิดปูพรมของกลุ่มขบวนการทั้งพื้นที่ชายแดนใต้ คืนก่อนวันแม่ก็มีปฏิบัติการ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง แม้แต่คืนหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็มีการสื่อสารด้วยกำลังด้วยการระเบิดเสาไฟฟ้าทั่วภูมิภาค ผมก็อยากให้พวกเราเก็บปัจจัยการต่อสู้ระหว่างกลุ่มขบวนการและรัฐไทยมาพิจารณาด้วย เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพิจารณาว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ ปฏิบัติการการสื่อสารด้วยกำลังทหารของกลุ่มขบวนการที่ต่อสู้กับรัฐไทยมาอย่างยาวนาน ทุกครั้งที่ีมีการเปลี่ยนแปลงอำนาจในกรุงเทพฯ หรือต้องการสื่อสารอะไรบางอย่างก็จะมีความพยายามในการสื่อสารดังกล่าว การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เช่นกัน คือการลงลายลักษณ์อักษรของอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานีก็ยืนยันว่ามีส่วนคาบเกี่ยวโดยตรงกับพื้นที่ปาตานี ขบวนการก็มีกระบวนการปฏิเสธอำนาจดังกล่าวเพื่อสื่อสารกับสังคมไทยและสังคมโลกว่าเรายังมีตัวตน

ตลอด 13 ปีที่ผ่านมาบรรยากาศเช่นว่าเกิดขึ้นโดยตลอด และการสวนกลับของรัฐไทยก็ทำด้วยการลงไปจัดการกับคนที่คิดว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการ มีการประกาศกฎอัยการศึก ใช้การทหารนำการเมืองลิดรอนสิทธิมนุษยชนอย่างยาวนาน ทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมทั้งพื้นที่ โดยเฉพาะพ่อแม่พี่น้องที่อยู่ภาคกลาง อีสาน เหนือ ก็ได้รับผลกระทบกับนโยบายนี้โดยตรงในด้านเงินภาษีที่จ่ายลงไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ปีละเป็นหมื่นล้าน ถ้าพูดจากมุมมองนักกิจกรรม ก็ยังไม่เห็นว่าจะส่งผลให้เกิดแนวโน้มไปในทางที่ดี เพราะวันนี้การทหารนำการเมืองไม่น่าจะทำให้เกิดการแสวงหาทางออกด้วยการเมืองเลย การจัดการผู้ที่เห็นต่างโดยรัฐก็ยังทำได้อยู่ มีการจับกุมคุมขัง วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดยังคงมีอยู่ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่นั้นเกิดจากฝ่ายใด 13 ปีที่ผ่านมาก็ยังอยู่ในวังวนเดิมๆ คือไม่สามารถสร้างกระบวนการสันติภาพที่สามารถดึงทุกภาคส่วนที่มีพลังให้เข้ามาแก้ปัญหา หรือการสร้างความเข้าใจกับสังคมไทยที่เข้าใจว่าทหารมีความชอบธรรมในการจัดการพื้นที่ การแสวงหาทางออกอย่างรวดเร็วและเร่งด่วนคงยังไ่ม่เกิดขึ้นในเร็ววัน ปัญหาที่เกิดขึ้น ถึงแม้รัฐไทยจะมีความเป็นประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน แม้แต่ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่มาจากการเลือกตั้งมีรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนเป็นส่วนร่วมในการออกแบบ แต่การจัดการในพื้นที่ยังเหมือนเดิม ยังคงใช้ทหารนำการเมืองอยู่ แม้จะมีกระบวนการสันติภาพที่มีการพูดคุยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์แต่ก็ไม่มีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ทางออกวันนี้คือการให้ประชาชน ประชาสังคมมีพื้นที่ในการพูดคุย แสดงออกและกำหนดอนาคตทางการเมือง รวมถึงกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบด้วยที่ถือเป็นหนึ่งในผู้กำหนดอนาคตทางการเมืองว่าเขาจะเปลี่ยนพลรบให้สร้างอนาคตทางการเมืองในทิศทางไหน อยากให้สันติภาพยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด

อารีฟีนทิ้งท้ายว่า 13 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่า รัฐไทยและขบวนการเอาชนะกันเด็ดขาดไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต่างคนกวาดล้างกันไม่ได้ ทางออกสำคัญที่สุดคือเปิดพื้นที่ทางการเมืองเพื่อหาทางออก ให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองให้มากที่สุด ทุกวันนี้อุดมการณ์ปลดปล่อยเอกราชมีอยู่จริงและค้ำจุนการต่อสู้อยู่ คำถามคือ จะรับมือและอยู่ร่วมกันอ่ยางไรกับชุดอุดมการณ์เช่นนี้ เครื่องมือที่สากลใช้กันก็คือประชามติ ในปาตานี้ การลงประชามติเพื่อกำหนดอนาคตจึงเป็นสิ่่งสำคัญมาก

3 ปีรัฐประหารแรงงานมีแต่ทรงกับทรุด เงินหายาก คาดเลือกตั้งเป็นหมันถ้าไม่เป็นตามเกม คสช.

สุนทร กล่าวว่า สภาพแรงงานไทยนั้นต้องยอมรับว่ามีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ จากการทำงานในวงการแรงงาน ผมภูมิใจอย่างหนึ่งตั้งแต่ประยุทธ์เข้ามา คือมีส่วนหนึ่งให้เรียกร้องเอาเผด็จการออกมาแล้วมาเหยียบหัวพวกผม แต่ตอนนี้พิสูจน์แล้วว่าไม่สามารถชุมนุมหน้าโรงงานได้แล้ว แค่ยื่นขออนุญาตชุมนุมก็มีทหารมาแล้ว การเรียกร้องแต่ละครั้งตลอด 3 ปีที่ผ่านมาพบว่า ไม่มีโรงงานไหนที่นัดหยุดงานประท้วง แม้จะยื่นข้อเรียกร้องกับรัฐยังไม่กล้าเลยเพราะกลัวนายจ้างจะปิดโรงงาน ชุมนุมไม่ได้ สภาพปัจจุบันทั้งก่อนและหลังประชามติ สภาศูนย์กลางแรงงานมี 4 อุตสาหกรรมด้วยกันคือ รถยนตร์ อิเลคโทรนิกส์ อาหารและสิ่งทอ พบว่า 4 อุตสาหกรรมดังกล่าวการจ้างงานไม่เพิ่มขึ้นแต่ประการใด มีแต่ลด โอทีไม่เพิ่ม ปัจจุบันเงินไม่พอ โบนัสก็น้อยลง ทีนี้คนงานเป็นพวกชอบวัตถุ เงินเดือนเยอะก็ผ่อนเยอะ อาศัยทำโอทีเยอะ แต่ปัจจุบันเงินไม่พอ โบนัสก็น้อยลง การเพิ่มค่าจ้างลดลง ในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติที่ตรวจอัตราการว่างงานในปี 2557 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เป็น 3.5 และ 4 ข้อมูลล่าสุดว่างงานแล้วร้อยละ 2.1 เคยเดินทางไปสอบถามคนในชนบทพบว่า ยอดขายสินค้าได้น้อยลง พ่อค้าขายของไม่ได้เพราะชาวนาขายข้าวได้ราคาน้อย ส่วนที่ภาคใต้ก็ยังหยอกคนในครอบครัวที่สนับสนุนการรัฐประหารว่า ปัจจุบันราคายางเป็นอย่างไรบ้าง

ในกลุ่มพวกเราวิเคราะห์ว่า ตราบใดที่รัฐบาล คสช. ไม่ชนะการเลือกตั้งในคราวหน้า หรือไม่เป็นไปตามกติกาที่วางไว้ เข้ามาสู่อำนาจไม่ได้ การเลือกตั้งก็จะถูกผลัดออกไป ในตอนนี้ รัฐบาลถังแตก จาก พ.ร.บ. ประกันสังคมที่มีมาตั้งแต่ปี 2533 อยู่มาจนบัดนี้จะมีการแก้ไขอีกรอบ โดยเพิ่มอายุผู้ชราภาพจาก 55 ปี เป็น 60 ปี เหตุผลคือไม่มีเงินทั้งที่รัฐบาลไม่เคยออกเงินให้ แล้วยังขยายฐานคำนวณในการคิดอีกโดยเพิ่มค่าเฉลี่ยจาก 5 ปีย้อนหลังเป็น 10 ปีย้อนหลัง พอตัวหารจำนวนปีมากขึ้น สิทธิประโยชน์ที่ได้ก็ลดลง สุดท้ายก็คิดว่า สถานการณ์แรงงานก็มีแต่ทรงกับทรุด และจะว่างงานมากขึ้นอีกแน่นอน

สุนทรขอถือโอกาสเรียกร้องกับประชาชนว่า เมื่อเราชุมนุมไม่ได้ก็ไม่ได้หมายความว่าชุจะทำอะไรไม่ได้เลย ขอเรียกร้องไปยังทุกท่านว่าเราก็มีกลุ่มของเรา ลองจับกลุ่มแล้วศึกษา ทำความเข้าใจ ขยายกลุ่มไปเรื่อยๆ ถ้าพี่น้องและขบวนการประชาชนมีกลุ่มในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ แล้วอำนาจอธิปไตยจะเป็นของประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท