Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


“การต่อสู้ทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยม เริ่มจากการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธในเหตุการณ์กบฎบวรเดช มาสู่การต่อสู้ในเชิงการเมืองวัฒนธรรม ด้วยการพยายามลบความทรงจำของสังคม และอธิบายความหมายของเหตุการณ์ในปี 2475 เสียใหม่ เพื่อค้ำจุนอำนาจทางการเมืองของฝ่ายตน ผ่านการผลิตงานเขียนในรูปของสารคดี บทความ บันทึกความทรงจำ และนวนิยาย

ปัจจุบันวิธีการต่อสู้ของพวกเขา วิวัฒนาการมาถึงขั้นสูงสุด ด้วยการขโมยหมุดคณะราษฎร นับว่าเจริญขึ้นเรื่อยๆ”

เครดิต: มิตรสหายท่านหนึ่ง

 คำกล่าวข้างต้นนี้เปรียบเหมือนบทสรุปวิชาประวัติศาสตร์การเมืองไทยอย่างย่อ  สั้น  กระชับ  และได้ใจความ  โดยย่อเรื่องจากอดีตมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างเห็นภาพ  ซึ่งผู้รู้ทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวไว้ว่า  ผู้มีอำนาจรัฐมักทำให้ประชาชนหลงลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต  และมอมเมาประชาชนผ่านการโฆษณาชวนเชื่อ  รวมทั้งผลิตซ้ำวาทกรรมเพื่อให้จดจำเหตุการณ์บางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ปกครองเท่านั้น

ภาพข่าวจากทีวีและสื่อออนไลน์ได้แสดงให้เห็นถึงหยาดน้ำตาของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง  ผู้เป็นเจ้าของวันเกิดในวันที่ 21 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา  ซึ่งควรจะเป็นวันครบรอบปีที่ 50 ที่มีแต่ความสุขสนุกสนานพร้อมทั้งได้รับคำอวยพรจากคนรอบข้าง  แต่กลับกลายเป็นบรรยากาศงานเลี้ยงที่มีเสียงหัวเราะปนคราบน้ำตา  จะมีใครรู้บ้างว่า  ข้างในจิตใจของผู้หญิงคนหนึ่งกำลังคิดใคร่ครวญกับปัญหาอุปสรรคที่รออยู่เบื้องหน้าอย่างไร  ถัดมาอีก 3 วัน  ก็คือ  วันที่ 24 มิถุนายน 2560  ซึ่งก็เป็นวันครบรอบปีที่ 85  ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475  อีกเช่นกัน  ซึ่งปัจจุบันคนส่วนใหญ่หลงลืมไปและไม่ได้ให้ความสำคัญกับวันที่ทรงคุณค่าเช่นนี้มากนัก

หลังจากมีการไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยนัดสุดท้ายในคดีรับจำนำข้าว  และรอวันฟังคำตัดสินในวันที่ 25 สิงหาคม 2560 นั้น  โฉมหน้าการเมืองไทยหลังจากนี้จะเป็นเช่นใดและลงเอยอย่างไร  กูรูผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองยังไม่กล้าฟันธง  เพราะเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาได้  สุดท้ายแล้วผลลัพธ์จะเป็นไปตามธงที่ตั้งไว้หรือไม่  คงจะมีแต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเท่านั้นที่ล่วงรู้เหตุการณ์ล่วงหน้า  ถัดจากนี้แล้วฝ่ายประชาชนจะอยู่ในสภาพเช่นใดในการศึกครั้งนี้  สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปเช่นไร  คงมีหลายแนวทางให้จินตนาการนึกคิด  ดังเช่น

1. การเมืองภาคประชาชนจะถูกตัดสัมพันธ์จากพรรคการเมือง  ซึ่งจะทำให้พลังการเคลื่อนไหวทางการเมืองลดลง  และถูกผลักออกไปจากศูนย์กลางอำนาจรัฐอย่างค่อยเป็นค่อยไป  สมมติว่าปีหน้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้น  ตัวแทนของประชาชนที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปนั่งในสภาผู้แทนราษฎรก็หาได้มีอำนาจการบริหารจัดการอย่างเต็มที่ไม่  มือที่มองไม่เห็นและผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญจะยังคงเข้ามากำกับบทบาทและแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลเพื่อให้แน่ใจได้ว่า  อำนาจการตัดสินใจและผลประโยชน์จากนโยบายเศรษฐกิจสาธารณะจะยังคงตกอยู่กับฝ่ายตนมิเสื่อมคลาย  เสียงเรียกร้องจากประชาชนจะกลายเป็นเสียงนก เสียงกา เหมือนเช่นในอดีตที่ผ่านมา  เสียงที่แผ่วเบานั้นจะถูกกลบด้วยเสียงของสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการสรรหาจำนวน 250 คน  หรืออาจจะกล่าวได้ว่า  อำนาจการต่อรองของประชาชนถูกดึงกลับไปอยู่ในมือของฝ่ายอนุรักษ์นิยมอีกครั้งหนึ่ง  และครั้งนี้จะไม่มีทางปล่อยอำนาจให้หลุดมืออีกเป็นแน่

2. พรรคการเมืองจะอ่อนแอลงจากผลพวงการรัฐประหาร 2 ครั้งหลังสุด  โดยพรรคการเมืองขนาดใหญ่จะถูกกัดเซาะและบ่อนทำลายจากกลอุบายที่ซ่อนไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2560 และกฎหมายลูกอีก 10 ฉบับที่กำลังจะตามมา  ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่ซ่อนเข็มพิษไว้ทิ่มแทงพรรคการเมืองขนาดใหญ่  ดั่งเช่นวิธีการนับคะแนนที่บังคับให้พรรคที่ได้จำนวน ส.ส. เขตมาก จะได้จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อน้อยกว่าที่ควรจะเป็น  เป็นต้น  กฎหมายพิสดารเช่นนี้จะยกความสำคัญให้พรรคการเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กกลับมามีบทบาทเป็นตัวแปรในการจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง  เหมือนอดีตก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งในช่วงเวลานั้นเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบและมีนายกรัฐมนตรีมาจากคนนอก  ส่วนคณะรัฐมนตรีจะเกิดจากผลลัพธ์ทางสูตรคณิตศาสตร์ทางการเมือง  ตำแหน่งรัฐมนตรีจะได้มาจากการต่อรองโดยการรวบรวมเสียงสนับสนุนของ ส.ส. แต่ละกลุ่มก๊วน และเกิดภาวะที่รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ  ทำให้ยากต่อการผลักดันโครงการขนาดใหญ่  รวมถึงการวางนโยบายพัฒนาประเทศในระยะยาวอีกด้วย  อายุรัฐบาลจะสั้นเพียงแค่ 1-2 ปีเท่านั้น  หลังจากนั้นก็ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่  วนไปวนมาเป็นวงจรอุบาทว์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด  นี่คงเป็นการเสียโอกาสครั้งสำคัญของประเทศที่ต้องถอยหลังลงคลองอีกครั้ง  ซึ่งต้นทุนของเวลาก็ประเมินค่ามิได้เช่นกัน

3. รัฐราชการจะมีขนาดใหญ่ขึ้น  จากการเพิ่มขึ้นของหน่วยงานรัฐรวมทั้งกฎระเบียบข้อบังคับที่เพิ่มอำนาจให้เจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาควบคุมดูแลกิจวัตรประชาชนมากขึ้น  บทบาทข้าราชการประจำหรือเทคโนแครตจะกลับมาโดดเด่นอีกครั้งในฐานะผู้จัดทำและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ  นั่นเท่ากับว่า  นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง  จะออกมาจากหน่วยงานภาครัฐที่สอดคล้องไปกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่วางเอาไว้  แต่นโยบายและแผนที่ดีนั้นต้องสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตลอดเวลา  หากแก้ไขได้ยากแล้ว  นโยบายดังกล่าวก็จะกลายเป็นสิ่งล้าสมัยเพียงชั่วข้ามคืนและจะเป็นตัวฉุดรั้งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ  ความเชื่องช้าของระบบราชการเป็นการเพิ่มต้นทุนชีวิตให้กับประชาชนอย่างชัดเจน  ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมา  นโยบายส่วนใหญ่จะสั่งการมาจากกระทรวงที่ทำงานบนหอคอยงาช้าง  โดยไม่ได้ตอบสนองความต้องการและไม่สะท้อนปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง 

4. พรรคการเมืองจะไม่กล้านำเสนอและผลักดันนโยบายหาเสียงอย่างเป็นรูปธรรม  ทำได้แค่เพียงนำแผนยุทธศาสตร์ของแต่ละกระทรวงมารวมกันเป็นนโยบายหาเสียงที่หาความโดดเด่นไม่ได้  ทุกพรรคการเมืองจะเสนอนโยบายที่คล้ายคลึงกันจนแยกกันไม่ออก  เป็นนโยบายที่สวยหรูในกระดาษแต่จับต้องไม่ได้  การแข่งขันกันสร้างนโยบายที่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบันจะไม่เกิดขึ้น  เนื่องจากเป็นการสร้างเงื่อนไขสุ่มเสี่ยงให้ฝ่ายตรงข้ามนำไปฟ้องร้องว่า  เป็นนโยบายหาเสียงที่ไม่ปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี  ซึ่งมีสิทธิ์จะถูกดำเนินคดีได้  สุดท้ายแล้วสังคมจะเสียโอกาสได้เห็นนโยบายที่สะท้อนปัญหาพื้นฐานของประชาชน  อย่างเช่น  โครงการ  30 บาทรักษาทุกโรค , กองทุนหมู่บ้าน ,  โครงการหนึ่งตำบล  หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP)  เป็นต้น

5. กลุ่มทุนรายใหญ่ดั่งเดิมที่สนิทแนบแน่นกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมจะขยายธุรกิจและสร้างอำนาจผูกขาดตลาดได้ตามกฎหมาย  เช่น  การสร้างอุปสรรคกีดขวางคู่แข่งรายใหม่ไม่ให้เข้ามาสู่ตลาด  รวมถึงกำจัดให้ออกไปจากเวทีการแข่งขันได้  กลุ่มทุนเหล่านี้เป็นฐานให้กับการปฏิวัติรัฐประหารมาอย่างยาวนาน  การเข้าถึงรัฐบาลเผด็จการนั้นทำได้ง่ายกว่าและเร็วกว่า  โดยปราศจากการตรวจสอบจากสื่อมวลชน  การได้มาซึ่งโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ทำได้ไม่ยาก  เพราะไม่ต้องแข่งขัน  และไม่มีเสียงคัดค้านจากภาคประชาชน  ช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมาก็ปรากฎเป็นข้อเท็จจริงที่ดีอย่างหนึ่ง  สังคมจะเห็นภาพ  การรวยกระจุก  แต่จนกระจาย  เด่นชัดยิ่งขึ้น

6. ช่องว่างความเหลื่อมล้ำของประชาชนจะถ่างออกและกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ความมั่งคั่งจะถูกจำกัดให้อยู่แต่ในเมืองหลวง  การกระจายความเจริญออกสู่ต่างจังหวัดจะมีน้อยลง  ประชาชนจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น  เกิดอุปสรรคในการค้าขายเพราะติดขัดด้วยกฎระเบียบราชการ  เช่น  การเข้มงวดต่อคนชั้นล่างแต่เอื้อประโยชน์ต่อคนชั้นสูง  การสร้างกฎระเบียบที่หยุมหยิมและบังคับใช้อย่างเข้มงวดแต่เลือกปฏิบัติ  ได้เปิดช่องและสร้างโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับผลประโยชน์ได้ง่ายขึ้น  หากเจ้าหน้าที่รัฐสามารถใช้ดุลยพินิจให้คุณและโทษได้แล้ว  คนชั้นล่างก็จะกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบอยู่ร่ำไป  เช่น  การห้ามนั่งท้ายรถกระบะ , การใช้มาตรา 44 ประกาศให้ที่ดินของชาวบ้านกลายเป็นที่ราชพัสดุเพื่อนำไปสร้างเป็นเศรษฐกิจพิเศษ  เป็นต้น  การกระจายรายได้และความมั่งคั่งจะแย่ลงในช่วงที่มีรัฐบาลเผด็จการเสมอ  ผลกระทบด้านลบทางเศรษฐกิจจะกระจายไปในวงกว้างเกินกว่าที่จะจินตนาการก็เป็นได้ 

7. ความอยุติธรรมในกระบวนการยุติธรรมจะยังคงอยู่  รวมทั้งปรากฎการณ์สองมาตรฐานก็ยังวนเวียนอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน  รัฐประหารกันยายน 2549 จวบจนถึงรัฐประหารพฤษภาคม 2557  ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้สร้างวาทกรรมขึ้นมามากมายเพื่อทำลายฝ่ายประชาธิปไตย  รวมทั้งกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่คนส่วนใหญ่สัมผัสได้ว่า  มีหลายมาตรฐานจนถึงไม่มีมาตรฐานเสียเลย  ฝ่ายหนึ่งผิดแต่อีกฝ่ายไม่เคยผิด  การตีความบทบัญญัติที่สร้างความเคลือบแคลงใจ  เกิดครหาและข้อกังขาเป็นอย่างมาก  จนกล่าวได้ว่า  เป็นปาฏิหาริย์ทางกฎหมายที่ขัดต่อหลักวิชาการทางนิติศาสตร์  เหตุการณ์เหล่านี้จะพบเห็นอยู่ในสังคมไทยเป็นปรกติ  ซึ่งในสายตาของต่างชาติแล้ว  ช่วงเวลาแห่งความทุกข์ยากและลำบากเช่นนี้กำลังจะกลายเป็นทศวรรษที่สูญเปล่าสำหรับคนไทย  เป็น 12 ปีแห่งการหยุดนิ่ง  ชะงักงัน  และผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชียที่ยากต่อการเยียวยารักษาแบบถาวร  หรืออาจจะต้องทนอยู่ในห้องไอซียูจนกว่าจะครบตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ  20 ปีก็เป็นได้

8. การปฏิรูปสถาบันกองทัพและสถาบันตุลาการยังไม่เกิดขึ้น  และจะคงอยู่ในสถานะที่จับต้องไม่ได้ต่อไป  ยกตัวอย่างเช่น  การอุบัติขึ้นของตุลาการภิวัฒน์หลังจากปี 2549  เป็นต้นมา  ทำให้กลายเป็นผู้เล่นที่สำคัญของความขัดแย้งทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  รวมทั้งการเกิดขึ้นของอภินิหารทางกฎหมายในรูปแบบต่างๆ จนทำให้สังคมแปลกใจและสงสัย  รวมทั้งตั้งคำถามถึงความเที่ยงตรงของตาชั่งแห่งความยุติธรรม  ดังนั้นการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์  วิธีคิด  เพื่อก้าวผ่านวิกฤตการณ์ความขัดแย้งในครั้งนี้จะเป็นทางออกสุดท้ายที่ดีที่สุด  ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้จะต้องระเบิดออกมาจากภายในของสถาบันเหล่านี้เองเท่านั้น  หาใช่จากภายนอกไม่

9. ความขัดแย้งของสังคมในยุคไทยแลนด์ 4.0  จะยังคงอยู่อย่างเงียบสงบภายใต้รัฐบาลเผด็จการ  และจะปะทุออกมาอีกครั้งเมื่อมีสัญญาณการเลือกตั้ง  เหตุผลสำคัญนั่นคือ  การแข็งขืนฝืนธรรมชาติทางการเมือง  โดยชนชั้นนำไม่ยอมปล่อยให้สังคมเดินหน้าตามครรลองคลองธรรมในระบอบประชาธิปไตย  จนอาจกล่าวได้ว่า  คนเหล่านี้ได้ละเลยการถอดบทเรียนความวุ่นวายทางการเมืองในอดีต  ละเลยการเข้าใจบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วในกระแสโลกาภิวัตน์  ซึ่งทำให้วิถีชีวิต  ความคิด  ความเชื่อ  ค่านิยม  ทัศนคติของประชาชนชาวรากหญ้าได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ  ท่ามกลางซากปรักหักพังของความขัดแย้งที่ยาวนานนี้  กลับเกิดสภาพการณ์ที่ย้อนแย้งในตัวเอง  ชนชั้นปกครองรวมทั้งชนชั้นกลางผู้เชื่อว่าตนเองมีความรู้และคุณธรรมแบบแนวตั้งที่ผู้อื่นปีนป่ายขึ้นมาไม่ได้  กลับมุ่งมั่นปรารถนานำระบบเจ้าขุนมูลนายกลับมาใช้อีกครั้ง  โดยยึดติดกับพิธีกรรมประดิษฐ์  รวมทั้งอัตลักษณ์ของสังคมที่เพิ่งสร้างขึ้นใหม่ด้วยอำนาจนิยม  และกระจายเข้าไปยังในวงการการศึกษา  น่าแปลกใจยิ่งนักที่ปัญญาชนคนหนุ่มสาวผู้เป็นความหวังของประเทศชาติในอดีต  ผู้เคยเรียกร้องหาเสรีภาพแห่งประชาธิปไตย  ผู้เคยต่อต้านเผด็จการทหาร  ได้กลายมาเป็นผู้ใหญ่หัวโบราณที่คร่ำครวญถึงแต่อดีต  และกลับมาเรียกร้องหาเผด็จการทหารในบั้นปลายชีวิต  การเปลี่ยนกลับไปกลับมาเช่นนี้ทำให้ยากที่จะหาเหตุผลมาอธิบายได้  ว่าเหตุใดและทำไม  เมื่ออายุมากขึ้นจึงเกิดอุปาทานหมู่ย้อนกลับไปยึดมั่นถือมั่นกับธรรมเนียมจารีตประเพณีแบบเก่าที่คร่ำครึ  หรือจะเป็นเหมือนสำนวนไทยที่ว่า  แก่เพราะกินข้าว  เฒ่าเพราะอยู่นาน  ก็เป็นได้  ซึ่งแปลได้ว่า  แก่เฒ่าเพราะอยู่นาน  แต่ไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้สังคมและลูกหลานเลย

ในที่สุดแล้วการโต้กลับของฝ่ายอนุรักษ์นิยมตามจารีต  คงจะมีชัยชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียที  หลังจากที่ปล่อยให้ฝ่ายประชาธิปไตยภาคประชาชนได้ยืนตัวตรง  ร่าเริงเบิกบาน  และยืนหยัดมาได้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ หลังการกำเนิดของรัฐธรรมนูญปี 2540  และเหตุการณ์ต่อจากนี้กำลังจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ระยะใกล้ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับคนรุ่นต่อไป  รำพันก็ขอให้ประชาชนทุกคนจงโชคดี  มีความสุข  และมีกำลังใจต่อสู้ชีวิตเพื่ออนาคตดีกว่าในวันข้างหน้า  หากแม้นหมุดหมายของคณะราษฎรได้อันตรธานหายสาปสูญไปอย่างไร้ร่องรอย  และคงไม่มีวันได้กลับคืนมาแล้วไซร้  ก็ขอให้จิตใจของเสรีชนผู้ตรากตรำทำงานหนัก  ผู้รักประชาธิปไตย  ยังคงเข้มแข็งปลอดภัยและรอวันแห่งการปลดปล่อย  ทั้งนี้เพื่อยืนยันในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน  และยืนยันในความเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยด้วยกัน



หมายเหตุ: แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 13 ตุลาคม 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net