Skip to main content
sharethis

ปรากฏการณ์ 'นีโอนาซี' หรือกลุ่มเหยียดผิวขวาจัดในอเมริกันช่วงที่ผ่านมาทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจ มีการเผยแพร่งานวิจัยเชิงจิตวิทยาพบว่ากลุ่มขวาจัดที่ใช้ความรุนแรงเหล่านี้มีบุคลิกภาพเชิงลบแบบไม่สนใจผลกระทบต่อคนอื่น หลอกใช้คนอื่น และหลงตัวเอง ขณะเดียวกันก็ทำตัวเองเป็น 'เหยื่อ' โดยให้ผู้อพยพหรือคนนอกประเทศเป็น 'แพะ'

23 ส.ค. 2560 สื่อวิทยาศาสตร์สัญชาติสหรัฐฯ ไลฟ์ไซเอนซ์และสื่อ Vox เรียบเรียงขัอมูลศาสตร์แขนงต่างๆ อย่างจิตวิทยาและข้อมูลทางสถิติเพื่อพูดถึงปรากฏการณ์ที่กลุ่มเชื้อชาตินิยมคนขาวแบบสุดโต่งออกมาประท้วงและก่อเหตุรุนแรงจนมีคนเสียชีวิตในช่วงสัปดาห์ทีแล้ว อะไรที่ทำให้กลุ่มนีโอนาซีรวมตัวกันภายใต้ "ความเกลียดชัง"

สเตฟานี ปาปาส ผู้เขียนให้สื่อไลฟ์ไซเอนซ์ระบุว่ากลุ่มนีโอนาซีเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จากการวิจัยทางสถิติจากโครงการศึกษากลุ่มหัวรุนแiงจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันพบว่าเมื่อเทียบระหว่างปี 2555 กับปี 2559 แล้ว มีกลุ่มขวาจัดหรือนีโอนาซีในอินเทอร์เน็ตเแสดงตัวออกมาจำนวนมาก วัดจากการติดตามองค์กรกลุ่มขวาจัดในทวิตเตอร์เมื่อปี 2555 มีผู้ติดตาม 3,542 ราย ในปี 2559 มีผู้ติดตามถึง 25,406 ราย เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า

อะไรเป็นแรงจูงใจของกลุ่มขวาจัดเหล่านี้ มีงานวิจัยใหม่ๆ ที่เสนอออกมาในหลายมุมมอง มีงานวิจัยหนึ่งเน้นมองเรื่องบุคลิกภาพด้านมืดสามอย่าง (ชอบหลอกใช้หาผลประโยชน์, ไม่สนใจผลกระทบต่อผู้อื่น และหลงตัวเอง) มีอยู่ในหมู่นีโอนาซีทั้งหลาย บางครั้งก็ใช้ด้านมืดเหล่านี้มาหลอกชักจูงผู้คน อย่างไรก็ตามมีงานวิจัยอื่นที่ระบุว่าพวกสุดโต่งเหล่านี้มีความต้องการมีที่ทางในกลุ่มชุมชน (belonging) ทำให้แม้กระทั่งคนที่ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นคนขาวก็เข้าร่วมกับกลุ่มเหล่านี้เพราะรู้สึกอยากได้รับการยอมรับเป็นส่วนร่วมกับชุมชน

จอห์น เฉิง ศาตราจารย์ด้านเอเชียและเอเชียอเมริกันศึกษาจากมหาวิทยาลัยบิงแฮมตันกล่าวว่า การเหยียดเชื้อชาติและความเชื่อเรื่องเชื้อชาติในตัวมันเองไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของตรรกะ อย่างน้อยก็ในเชิงวิทยาศาสตร์แบบวัตถุวิสัย เฉิงมองว่าสาเหตุที่ฝ่ายขวาจัดเป็นเช่นนี้มีสาเหตุที่มองได้ในมุมจิตวิทยาปัจเจกบุคคลและจิตวิทยารวมหมู่ "พูดอีกอย่างหนึ่งคือคนเราเชื่อในสิ่งที่ตนเองต้องการจะเชื่อ" เฉิงกล่าว

จากข้อมูลของนักวิจัยทำให้ปาปาสตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มขวาจัดเหล่านี้มาพร้อมกับความนิยมของโดนัลด์ ทรัมป์  ผู้นำพวกนีโอนาซีบางส่วนก็แสดงความชื่นชมทรัมป์ เดวิด ดุ๊ก หัวหน้ากลุ่มคูคลักซ์แคลน กลุ่มที่เคยก่อความรุนแรงกับคนผิวสีถึงขั้นพูดกล่าวหาฝ่ายต่อต้านฟาสซิสต์ว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง

กระนั้นในสหรัฐฯ ก็มีกลุ่มที่พยายามทำให้พวกเชื้อชาตินิยมคนขาวแบบสุดโต่งออกจากหนทางแบบนีโอนาซีพร้อมทั้งเรียนรู้คนเหล่านี้ไปด้วย แซมมี รังเกล ผู้ร่วมก่อคั้งกลุ่ม "ชีวิตหลังความเกลียดชัง" (Life After Hate) ที่บำบัดพวกขวาจัดเหล่านี้เปิดเผยว่ามีความเจ็บปวดทางการเมืองบางอย่างที่เป็นแรงจูงใจของพวกเขา

รังเกลเปิดเผยถึงความเปราะบางคนขาวเหล่านี้ว่า สิ่งแรกที่คนขาวนีโอนาซีไม่พอใจคือการนโยบายยืนยันสิทธิของกลุ่มคนที่ถูกกีดกันในสังคม (Affirmative action) ซึ่งคนขาวมองว่า "ไม่เป็นธรรม" สำหรับพวกเขา ประการที่สองคือพวกเขาไม่ชอบคำอย่าง "อภิสิทธิของคนขาว" ที่ทำให้พวกเขาอับอายหรือรู้สึกผิดกับการกระทำของบรรพบุรุษพวกเขา อย่างไรก็ตามการพูดถึงนโยบายยืนยันสิทธิคนด้อยโอกาสหรือเรื่องอภิสิทธิของคนขาวเป็นเรื่องปกติมากในการอภิปรายในสหรัฐฯ

รังเกลพูดถึงคนกลุ่มนี้ต่อไปว่าหลังจากที่พวกเขาเจ็บปวดจากเรื่องนี้แล้วพวกเขาก็จะหา "แพะ" รองรับความเจ็บปวดพวกนี้แทน จึงเข้าไปในเว็บของขวาจัดอย่างสตอร์มฟรอนต์ รวมถึงเชื่อคำพูดของคนที่ดูมีอิทธิพลที่กล่าวหาใส่ไฟ "พวกผู้อพยพ" นอกจากนี้ความเปราะบางของกลุ่มนีโอนาซีมาจากการที่คนพวกนี้รู้สึกขาดหายอะไรบางอย่างไปในทางอารมณ์หรือทางสังคม ทำให้การเข้าร่วมกับกลุ่มนีโอนาซีเป็นการทำให้พวกเขารู้สึกเหมืออนตัวเองได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอะไรที่ใหญ่กว่าหรือมีความหมายกว่าตัวพวกเขาเอง อย่างไรก็ตามจากการสำรวจของนักจิตวิทยา แพทริค ฟอร์ชเนอร์ พบว่าพวกขวาจัดมีจำนวนเพื่อนสนอทเท่าๆ กับคนทั่วไป พวกเขาไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่เหงาหรือโดดเดี่ยวเสมอไป

เรื่องเชื้อชาตินั้นเป็นแนวความคิดที่มีอิทธิพลในประวัติศาสตร์องสหรัฐฯ ตัวรังเกลเองเคยรอดชีวิตจากการก่อจลาจลของกลุ่มนีโอนาซีมาก่อนและเคยถูกจำคุกในช่วงต้นยุคคริสตทศวรรษ 1990s รังเกลบอกว่าเรื่องเชื้อชาติถูกนำมาอ้างใช้สร้างความเกลียดชังและความรุนแรงได้ง่าย การลดทอนความเป็นมนุษย์ของอีกเชื้อชาติหนึ่งก็ทำให้พวกนีโอนาซีเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองอยู่เหนือกว่าชาวอเมริกันคนอื่นๆ และแม้กระทั่งกับฝ่ายขวาอื่นๆ

มีงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งของมหาวิทยาลัยอาร์คันซอ มีนักจิตวิทยา แพทริค ฟอร์ชเชอร์ และอาจารย์ด้านการจัดการ นูร์ คเทลลี สำรวจกลุ่มที่เรียกตัวเองเป็น "ขวาทางเลือก" ที่จริงๆ แล้วก็คือพวกเชื้อชาตินิยมคนขาวแบบสุดโต่ง ซึ่งคนเหล่านี้เองก็นิยามไม่ได้ชัดเจนกว่าขวาทางเลือกที่ว่าเป็นแบบใด พวกเขาค้นพบอีกว่าคนกลุ่มนี้มักจะลักษณะก้าวร้าว และมีบุคลิกด้านลบมากๆ ในแง่การไม่สนใจผลกระทบที่จะเกิดกับคนอื่น ต่อต้านสังคม และขาดการเอาใจเขามาใสใจเรา

นอกจากนี้งานวิจัยเชิงจิตวิทยายังค้นพบอีกว่าขวาจัดเหล่านี้มีนิสัยพร้อมที่จะล่อลวงคนอื่นเพื่อผลประโยชน์ตัวเอง และมีความหลงตัวเองมากกว่าคนที่ไม่ใช่ขวาจัด พวกเขายังมักจะลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มอื่นๆ รวมถึงกลุ่มทางการเมืองด้วย อย่างไรก็ตามมีบางเรื่องที่พวกนิยามตนเองว่า "ขวาทางเลือก" เหล่านี้แตกต่างกัน คือบางส่วนจะเน้นกังวลเรื่องการทุจริตของรัฐบาล แต่อีกส่วนหนึ่งจะเน้นไปในแนวทางเชื้อชาตินิยมจัดมากกว่า

ฟอร์ชเชอร์กล่าวอีกว่ากลุ่มขวาจัดเหล่านี้มักจะแสดงออกในเรื่องการคุกคามคนอื่น การล่าแม่มดคนอื่นในโลกออนไลน์ (เช่นการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของคนอื่น) โดยที่กลุ่มขวาจัดรายงานพฤติกรรมแย่ๆ เหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา สิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับพฤติกรรมก้าวร้าว ฟอร์ชเชอร์จึงบอกว่าควรมีการจริงจังกับการป้องกันไม่ให้พวกขวาจัดก่อเหตุรุนแรงแบบในชาร์ล็อตต์สวิลล์อีก

ในแง่ที่ว่ากลุ่มขวาจัดพวกนี้จริงๆ แล้วเป็น "คนจน" หรือไม่ ผลการสำรวจวิจัยออกมาว่ากลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้รู้สึกเป็นห่วงกังวลอะไรทางเศรษฐกิจเลย อีกทั้งยังคงมีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจของสหรัฐฯ แต่สิ่งที่พวกเขากลัวมากกว่าคือ "กลัวว่าตัวเองจะถูกแทนที่" จากกลุ่มผู้อพยพและคนนอกประเทศ เรื่องหลังนี้ทำให้พวกเขามองตัวเองเป็น "เหยื่อ"

การจะนำกลุ่มขวาจัดออกมานั้นเป็นเรื่องยาก มีงานวิจัยพบว่าคนที่ค้นพบว่าตนเองก็ไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นคนขาวก็ยังคงเข้าร่วมกับกลุ่มเชื้อชาตินิยมคนขาวแบบสุดโต่งต่อไป เคยมีการตรวจสอบจากนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันเพื่อสังคมและพันธุศาสตร์พบว่ามีคนที่เข้าร่วมเว็บบอร์ดขวาจัดอย่างสตอร์มฟรอนต์ที่ตั้งมาตั้งแต่ปี 2539 พบว่ามีหนึ่งในสามที่รู้สึก "ผิดหวัง" เมื่อพบว่าตนเองไม่ได้มีบรรพบุรุษเป็นชาวยุโรป อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องน่าแปลกสำหรับกลุ่มที่ให้คุณค่ากับความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติพวกเขาไม่ขับไล่คนที่ไม่ได้มีเลือดบริสุทธิ์ออกจากกลุ่มแต่พยายามปฏิเสธหรือต่อต้านการทดลองนี้มากกว่า บางครั้งถึงขั้นบอกว่าการทดลองทางพันธุกรรมเช่นนี้เป็น "การสมคบคบคิดของพวกยิว" ที่ทำให้คนขาวสงสัยในบรรพบุรุษทางพันธุกรรมของตนเอง

ในอีกมุมหนึ่ง นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย แอรอน พานอฟสกี ก็ศึกษาพบว่าเว็บของพวกขวาจัดอย่างสตอร์มฟรอนต์ก็มีการสร้างความเป็นชุมชนและความรู้สึกใกล้ชิด มีการให้คำปรึกษาเรื่องการเดท เรื่องการจัดการปัญหากับครอบคัวที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับอุดมการณ์ของพวกเขาแต่ก็มีลักษณะแบบชุมชน

ทางด้านรังเกลให้คำแนะนำว่า เวลาเขาจะ "บำบัด" คนหลุ่มนี้เขาจะทำตัวให้ดูเหมือนว่า "ผมไม่ได้มาอยู่ตรงนี้เพื่อท้าทายคุณ ผมอยู่เพื่อรับฟังคุณ ผมอยู่ที่นี่เพื่อร่วมพื้นที่กับคุณ" พอถึงจุดหนึ่งแล้วรังเกลเองก็จะตั้งคำถามท้าทายความเชื่อของพวกเขาแต่ด้วยบรยากาศที่มีความเห็นใจและความจริงใจ อีกประการหนึ่งคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีการสนับสนุนทางสังคมและการเห็นคุณค่าความหมายในตัวเอง ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการมาแทนที่สิ่งที่พวกเขาได้รับจากการเข้าร่วมกับกลุ่มขวาจัดได้

เรียบเรียงจาก

Psychology of Hate: What Motivates White Supremacists?, Live Science, 17-08-2017 
https://www.livescience.com/60157-what-motivates-white-supremacists.html

Psychologists surveyed hundreds of alt-right supporters. The results are unsettling., Vox, 15-08-2017
https://www.vox.com/science-and-health/2017/8/15/16144070/psychology-alt-right

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net