ทำไมกลอน "หู" จึงเหยียดเพศ?: วิจารณ์ข้อโต้แย้งอาจารย์จรูญ หยูทอง

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ถึงอาจารย์จรูญ หยูทอง

อันที่จริงบทกวีเรื่อง "หู" อาจารย์ก็น่าจะออกมาขอโทษที่เล่นคะนองเกินไป แต่กลับเขียนข้อแก้ตัวยาวๆ ซึ่งฟังไม่ขึ้น

1. แต่ละฝ่ายมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่ตนนับถือ ทุกคนเข้าข้างฝ่ายตัวเอง อันนี้เป็น partisan mindset ความคิดแบ่งฝักฝ่าย เป็นเรื่องปกติของความขัดแย้งทางการเมือง และมันไม่มีจุดยืนที่สามที่จะตัดสินเด็ดขาดได้ว่าใครถูกหรือผิด ยกเว้นกรณีที่เป็นความชั่วร้ายอย่างการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เวลาคิดไม่ตรงกันมันจึงต้องอาศัยการอภิปรายถกเถียง แต่เสรีภาพในการอภิปรายถกเถียงก็ถูกลิดรอนไปแล้วด้วยน้ำมือของอีกฝ่ายหนึ่ง หมายความว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของอาจารย์นั้นอาจารย์พูดปกป้องได้ แต่ของคนอื่นไม่ได้ กระนั้นหรือ?

2. แน่นอนว่าคนเชื่อความคิดของตนย่อมเชื่อความคิดของตน งงมั้ยครับ และบางทีศาลก็อาจจะไม่ได้สถิตยุติธรรมเสมอไปถ้าถูกลากมายุ่งเรื่องการเมือง (ผมพูดโดยทั่วไป ไม่ได้เจาะจงนะ ผมพูดว่า "ถ้า")

3. บุคลากรสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทำเรื่องเหยียดเพศ ทำไมไม่เป็นเรื่อง ทำไมพูดคำผวนถึงโดน อันนี้เหตุผลวิบัติ เพราะอ้างว่าคนอื่นทำได้ ตัวเองก็ทำได้ เหมือนเด็กชาย ข.มาสาย ครูตำหนิ แต่เด็กชาย ข. แย้งว่า ทีเด็กชาย ก.ยังมาสายได้เลย

4. เรื่องกวีหรือศิลปะพื้นบ้าน อันนั้นเป็นการละเล่น เรื่องที่อาจารย์ยกอย่างขุนช้างขุนแผนก็ก่อนสังคมไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นร้อยปี ก่อนสมัยใหม่หรือ pre-modern เสียอีก การละเล่นเชิงวัฒนธรรมแตกต่างอย่างมากกับการเล่นคำผวนเหยียดเพศต่อนายกฯหญิงที่ถูกรัฐประหาร การเล่นคำผวนในพื้นที่สาธารณะเชิงเหยียดเพศในสังคมที่ให้ความสำคัญกับสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และภราดรภาพ ต่างจากการเล่นสนุกในเชิงวัฒนธรรม

5. สังคมนี้ไม่ใช่สังคมแห่งการเรียนรู้ ไม่เช่นนั้นอาจารย์ก็แค่ออกมาขอโทษ รับผิด ก็ได้เรียนรู้มากขึ้น ส่วนเรื่องความดีความชั่ว ใครๆก็อยากให้ลูกหลาน พวกพ้องตัวเองอยู่ดีกินดี

มันต้องการได้ ไม่มีใครตัดสินได้ว่าความปรารถนาหรือต้องการของใครดีหรือชั่ว บอกได้แค่ว่าเป็นธรรมหรือแฟร์กับคนอื่นหรือเปล่า ซึ่งเถียงกันได้ ถ้ารัฐบาลไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการที่มาจากการเป่านกหวีด

จริงๆคนเราก็ผิดพลาดกันได้ ไม่ได้มีใครสมบูรณ์แบบทุกอย่าง สำคัญที่ว่า

ขอโทษเป็นไหม ถ้าออกมาบอกว่าทำพลาดไปเพราะคุ้นเคยกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ลืมนึกว่ากำลังพูดในพื้นที่สาธารณะ ก็คงไม่เกิดกระแสต้านอะไรมากไปกว่าคำค่อนแคะ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาอีกนั่นแหละ

สังคมไทยทะเลาะกันเป็นเรื่องปกติ คำถามของอาจารย์นั้นผมเห็นด้วย เราทำลาย ทำร้ายกันทำไม เริ่มจากการทำร้ายด้วยคำพูด จากนั้นก็เริ่มแยกฝ่าย และจากนั้นก็เพิ่มความเกลียดชัง เป็นวัฏจักร

0000

[1] ส่องสังคมไทยผ่านกรณีนำ้ในหูฯของจำเลยคดีรับจำนำข้าว

จากกรณีที่จำเลยในคดีรับจำนำข้าวคนหนึ่งไม่มารับฟังการอ่านคำพิพากษาของศาลฯในวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๖๐ โดยอ้างต่อศาลผ่านทางทนายความว่า “ป่วยหนัก หน้ามืด วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรงเพราะน้ำในหูไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถมาศาลได้” ซึ่งศาลฯไม่เชื่อว่าจำเลยป่วยจริงตามอ้างเพราะไม่มีใบรับรองแพทย์ จึงออกหมายจับตัวจำเลยให้มาฟังการอานคำพิพากษาในวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๖๐ ต่อไป

ซึ่งต่อมาปรากฏความจริงว่า จำเลยคนนั้นได้หลบหนีออกจากประเทศไทยไปก่อนหน้านั้นแล้ว แต่กลับหลอกลวงสื่อมวลชนและคนทั่วโลกว่าจะออกจากบ้านในเช้าวันที่ ๒๕ สิงหาคม เวลา ๗.๓๐ น.เพื่อไปศาล ทำให้สื่อมวลชนจำนวนหนึ่งไปรอทำข่าวอยู่หน้าบ้านและหลายคนทำทีเหมือนไม่รู้ว่าจำเลยหนีไปแล้ว แต่มีบางคนน่าจะรู้แล้วเลยไม่มาศาล ส่วนฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะฝ่ายความมั่นคงกลับออกมาบอกว่าไม่รู้และยังคิดว่าจำเลยยังอยู่ในประเทศและอาจจะไปรักษาอาการป่วยอยู่ที่ไหนสักแห่ง(อันนี้ไม่รู้เขาเชื่อเช่นนั้นจริงไหมเหมือนกัน)

หลังจากนั้น หลายคนได้หยิบยกเอาเรื่อง “น้ำในหูไม่เท่ากันฯ”ของจำเลยมาล้อเลียนทางการเมืองในหลากหลายรูปแบบ ทั้งรูปภาพและคำผวน เนื้อหาสาระก็เพื่อวิพากษ์พฤติกรรมที่ไม่สง่างามของจำเลยเหมือนที่ศาลไม่เชื่อเลยออกหมายจับ แต่แทนที่คนบางกลุ่มในสังคมนี้จะคิดตามภาพและข้อเขียนเหล่านี้เกี่ยวกับประเด็นคนดีระดับอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยถูกสถาปนาเป็นวีรสตรี-นักรบประชาธิปไตยที่พร้อมจะยอมตายในสนามรบแต่กลับไม่มีสัจจะศีลธรรมขั้นพื้นฐาน ไม่รักษาคำพูดต่อสื่อมวลชน ศาลและประชาชน คนเหล่านี้กลับออกมาประณามหยามเหยียดคนที่เล่นคำผวนล้อเลียนว่าละเมิดจารีตทางเพศ มีทัศนะกดขี่ทางเพศและลามปามไปถึงบุพการีของผู้เขียน อีกทั้งยังไปไกลถึงการเคลื่อนไหวเข้าชื่อกันถอดถอนผู้เขียนออกจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ด้วยข้อหาว่าประพฤติตนเสื่อเสียเกียรติยศไม่สมศักดิ์ศรีและสร้างความเสื่อมเสียแก่วงการศิลปินแห่งชาติ

จากปรากฏการณ์และธาตุแท้ดังกล่าวข้างต้นของคนในสังคมไทยในกรณีรี้ ผมมีความเห็นและค้นพบว่า

ประการแรก สังคมไทยมีคตินิยมในเรื่องความดี-ความชั่ว ธรรมะ-อธรรมหรือพูดให้ถึงที่สุดคือ อุบาทว์-ศักดิ์สิทธิ์ แตกต่างกันสุดขั้ว กล่าวคือ ฝ่ายหนึ่งเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองเชื่อหรือให้ความนับถือศรัทธาเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิเพียงหนึ่งเดียว ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกลับมองว่าสิ่งนั้นคืออุบาทว์ พูดง่ายๆว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของฝ่ายหนึ่งกลายเป็นสิ่งอุบาทว์สำหรับอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งอยู่ตรงกันข้าม โดยไม่ได้เรียนรู้ สรุปบทเรียนว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต้องเป็นคุณมากกว่าโทษ และสิ่งที่เรียกว่าอุบาทว์ย่อมมีโทษมากกว่าคุณ ตามคติความเชื่อของบรรพบุรุษไทย

ประการที่สอง ฝักฝ่ายทางความเชื่อของคู่ขัดแย้งในสังคมไทยมีสมาชิกหลายระดับ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานทั่วไปจนถึงระดับ “สาวก”ผู้ยอมตายถวายหัวและออกมาปกป้องคนที่ตัวเองเชื่อถือ คนเหล่านี้จะฟังเฉพาะคนที่ตัวเองเชื่อและเป็นผู้นำของตนฝ่ายเดียวและเชื่อโดยสนิทใจและปฏิเสธอีกฝ่ายในทุกกรณี แม้แต่กับศาลสถิตยุติธรรม

ประการที่สาม สังคมนี้มักอ้างเรื่องสิทธิสตรี การกดขี่ทางเพศแบบลักปิดลักเปิด ไม่เสมอภาค ไม่เสมอต้อนเสมอปลาย เช่น กรณีบทกวีคำผวนถูกกล่าวหาว่าผู้เขียนมีทัศนคติกดขี่ทางเพศ จนคนกลุ่มหนึ่งทนไม่ได้ออกมาก่นประนามอย่างหยาบคายด้วยคำถ่อยสถุลภายใต้หลักการ “คนดีที่ทนต่อความหยาบคายไม่ได้” แต่คนพวกนี้กลับเฉยเมยต่อกรณีการละเมิดทางเพศของบคลากรในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่ตกเป็นข่าวอยู่ก่อนหน้านี้ เช่นเดียวกับกรณีอื่นๆที่คล้ายกันนี้อีกมากมาย(หรือเพราะกลุ่มนี้เขาสนใจเฉพาะกรณีอดีตนายกรัฐมนตรีคนนี้เท่านั้น)

ประการที่สี่ สังคมนี้ไม่เข้าใจวิถีวรรณกรรมชาวบ้านหรือวรรณกรรมท้องถิ่นที่เรียกว่าคำผวนและการ “เล่นเพลงเล่นเพศ”ในแวดวงศิลปินพื้นบ้านทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่ไม่ว่าจะเป็นเพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลำตัด หนังตะลุง โนรา ลิเก รองแง็ง ฯลฯ ล้วนเข้าลักษณะเอาเรื่องเพศมาอุปมาอุปไมยเพื่อความสนุกสนานและทั้งผู้แสดงและคนดูไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องลามกอนาจาร(หากมีศิลปะในการแต่ง) และทัศนะเกี่ยวกับผู้หญิงถ้าจะว่าไปแล้ว วรรณคดีไทยหลายเรื่องและนักเขียน-กวีไทยที่เรารู้จักกันดีหลายคนก็มีสิทธิ์ถูกกกล่าวหาว่ามีคตินิยมกดขี่ทางเพศ เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน สุนทรภู่ เป็นต้น(หรือเพราะเรื่องและคนเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้อีกเหมือนกัน)

ประการที่ห้า สังคมนี้มักเอาจริงเอาจังกับเรื่องเล่นๆ แต่ไม่สนใจเรื่องสำคัญ เรื่องใหญ่ๆที่เกี่ยวกับความเสียหาย ความเป็นความตายของชาติบ้านเมือง เช่น จะเป็นจะตายเสียให้ได้กับการเขียนคำผวนล้อเลียนอดีตนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่สนใจความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองที่คนเหล่านี้กระทำและที่สำคัญจรรยาบรรณของอดีตผู้นำชาติที่โกหกคนทั้งโลก โหกศาล สื่อมวลชนและประชาชน ซึ่งน่าจะสร้างความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองและสังคมมากกว่าหลายเท่า

ประการที่หก สังคมนี้มีทัศนคติต่อศาลว่า ถ้าตัดสินเป็นคุณกับตนและพวกก็จะบอกว่ายุติธรรมดี แต่ถ้าตัดสินให้เป็นโทษก็จะบอกว่าไม่ยุติธรรม สองมาตรฐาน เป็นศาลในระบบเผด็จการ สรุปง่ายๆว่า “ยุติธรรมหรือเป็นกลางคือเข้าข้างกู”สถานเดียวเท่านั้น เพราะ “กูและพวกกูคือความถูกต้อง” คือ “อารยะ” “ผู้มีปัญญารอบรู้” “ทันสมัย” เป็น “ประชาธิปไตย” ส่วนพวกอื่นเป็น “เผด็จการ” “สลิ่ม” “แมลงสาบ” “หยาบช้า” “สามานย์” ฯลฯ

ประการที่เจ็ด สังคมนี้เป็น “สังคมแห่งความรู้สึก”ไม่ใช่ “สังคมแห่งการเรียนรู้” เราถูกสอนให้ “เชื่อ”และให้ “จำ”ตามที่ผู้ให้กำเนิด ผู้นำ ผู้มีอำนาจต้องการมากกว่าสอนให้ “เรียนรู้”และสอนให้ “คิด” เราจึงเชื่อตามๆกันไปด้วยศรัทธามากกว่าปัญญา และที่น่าเศร้าคือเราศรัทธาในสิ่งที่ไม่น่าศรัทธา เราเจ็บแล้วไม่จำ ไม่เรียนรู้ ไม่สรุปบทเรียนของความผิดพลาดและเราไม่ให้เกียรติในความคิดต่างของกันและกัน เรารักและเกลียดกันตามที่ผู้นำที่เราศรัทธาสั่งให้รักและบอกให้เกลียดตามๆกันไป

ทางออกสำหรับสังคมแบบนี้ที่ยั่งยืนคือสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ การมีส่วนร่วมและจิตสำนึกสาธารณะ เพื่อให้คนในสังคมรู้จักเรียนรู้และแยกแยะให้ออกระหว่าง “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”กับ “อุบาทว์”หรือ “ความดี”กับ “ความชั่ว” หรือ “ธรรมะ”กับ “อธรรม” ฯลฯ ว่ามันมีเส้นแบ่งหรือดูกันที่ตรงไหน โดยไม่ต้องมีใครมาบังคับบัญชาสั่งให้เชื่อให้จำโดยไม่รู้จักคิด ในระยะเร่งด่วน เราต้องใช้กระบวนการกล่อมเกลาทางสังคม ได้แก่ สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันศาสนา สถาบันการเมืองการปกครอง สถาบันสื่อมวลชน-สันทนาการ ฯลฯ ออกมาให้ความจริงกับสมาชิกในสังคม บอกเล่าให้คนรุ่นหลังรู้ความจริง อยู่กับความจริงและยอมรับความจริงและที่สำคัญ คนที่เป็นหลักให้กับชาติบ้านเมืองต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่คนอื่น ให้เหมือนที่เวียดนามมีลุงโฮ พม่ามีอองซาน สิงคโปร์มีลีกวานยู ฯลฯ

ไม่ใช่มีแต่แบบอย่างที่ไม่ดี ไม่คู่ควรแก่การยอมรับนับถือของอนุชน ทั้งฝ่ายที่หมดอำนาจและฝ่ายที่มีอำนาจเช่นที่ผ่านมา

สุดท้ายแล้วเราต้องตอบคนไทยด้วยกันและชาวโลกให้ได้ว่า เราขัดแย้งกันเรื่องอะไร เราเกลียดกัน เราทำลายล้างกันทำไม เพราะอะไร เพื่อใครและมันจะจบลงอย่างไร.

จรูญ หยูทอง
๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๐

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท