Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

3 กันยายน 2560 เป็นวันครบรอบการเสียชีวิตครบ 16 ปี ของราชาโฟล์คซองคำเมือง คีตกวีล้านนา คีตกรของแผ่นดิน นกป่า นักรบวัฒนธรรม เพชรล้านนา ฯลฯ หลายต่อหลายคำเรียกขานเขาผู้นี้ “จรัล มโนเพ็ชร”

บทเพลงของเขาหลายต่อหลายเพลง ผลงานของเขาหลากหลายแขนง ถูกจารึกเป็นตำนานหน้าหนึ่งของวงการศิลปิน แม้ว่านักฟังเพลงทั้งหลายมักได้ยินเพลงของเขาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวบนแผ่นดินล้านนา เป็นภาษาคำเมืองอันไพเราะ ละเมียดละไมในดนตรีที่หวานหู ชวนฟัง ทว่าเขาไม่เพียงแต่งเพลงที่เกี่ยวกับล้านนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังได้สร้างสรรค์ผลงานเพลงที่เกี่ยวกับด้านอื่น ๆ ด้วย

เนื่องในวาระครบรอบ 16 ปีการจากไปของเขา ซึ่งเป็นศิลปินในดวงใจของผู้เขียน และคงเป็นศิลปินในดวงใจของใครต่อใครมากมาย ผู้เขียนจึงอยากจะกล่าวถึงบทเพลงของเขาในอีกแง่มุมที่เกี่ยวกับด้านอื่น ๆ ที่มิใช่เรื่องราวบนแผ่นดินล้านนา เพื่อเป็นการรำลึกถึงเขาผู้นี้ แม้กายจากไป แต่ฝากผลงานไว้เป็นที่ประจักษ์ ประทับใจ มิรู้ลืม

หากมองในแง่ของอาวุธทางปัญญานั้น บทเพลง บทกวี หนังสือ ถือเป็นเครื่องมือทางวัฒนธรรมที่อาจส่งผลต่อความคิด ความรู้สึกของผู้ฟังได้ไม่มากก็น้อย แม้ว่าอ้ายจรัล มโนเพ็ชร จะเขียนเพลงที่เกี่ยวกับเรื่องราวบนแผ่นดินล้านนาไว้มากมาย เป็นการติดอาวุธทางวัฒนธรรม ทางปัญญาให้ผู้ฟังได้มีความรู้เข้าใจในสังคม วัฒนธรรมล้านนามากขึ้น แต่อ้ายจรัล ก็หาได้ละเลยเรื่องราวทางสังคม การเมือง เพราะในฐานะที่เป็นศิลปิน ผู้ส่งผ่านความคิดเรื่องราว ผ่านเนื้อหาในบทเพลงนั้น อ้ายจรัลก็ได้สร้างสรรค์บทเพลงที่เกี่ยวกับการเมืองไว้ด้วย

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผลงานเพลงที่ชื่อว่า “ใบไม้ไหว” ได้ถูกประพันธ์ขึ้น ในอัลบั้มเพลงชุด “อื่อ...จา...จา” ประมาณปลายปี 2526 เนื้อเพลงบางส่วนว่าไว้ดังนี้

“...เพียงแค่มือไม่ยอมจับต้องปืน คงมีทางคืนดีกันได้
เพียงแค่ยอมยับยั้ง ชั่งจิตใจ โดยไม่หลงใหลอำนาจตน
แล้วจะโทษใคร แล้วสิ่งไหนคือเหตุผล
ตายไปทีละคน เพียงคนสองคน
ฆ่าหลายคน ฆ่ากันอีกแล้ว
หรือไม่ตกใจ ไม่หวั่นไหว ไม่ผวา
ควรหรือทำเฉยชา หรือคิดว่าเพียงแค่ใบไม้ไหว”

สิเหร่ นักเขียน นักวิจารณ์เพลง เคยสัมภาษณ์อ้ายจรัล เกี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเพลงใบไม้ไหว บทสัมภาษณ์ดังกล่าวตีพิมพ์ครั้งแรก ในหนังสือ “อื่อ...จา...จา” (เพื่อนเดินทาง กันยายน 2527) และพิมพ์ครั้งที่สองในหนังสือ “คือรางวัลแด่ความฝัน: จรัล มโนเพ็ชร” (สำนักพิมพ์ใบไม้ป่า กันยายน 2551) ซึ่งอ้ายจรัลได้สะท้อนถึงบรรยากาศของเชียงใหม่ขณะนั้น   บทบาทของศิลปินเพลง รวมถึงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า

“สภาพทั่วไปที่เชียงใหม่ มีการชุมนุมที่สวนสาธารณะ ประตูท่าแพ มีการอธิบายโจมตีรัฐบาลชุดนั้น ประชาชนต่างก็สนับสนุนกันมาก...ผมอยู่ปี 5 พอดี เริ่มศึกษาด้านการเมืองเพราะอยู่ในกลุ่มนักศึกษาที่สนใจเรื่องนี้ ผมเองอยากจะรู้เรื่องราวของการเมืองว่าเป็นอย่างไร เริ่มอ่านหนังสือเกี่ยวกับลัทธิการปกครอง การเมือง พออ่านแล้วก็เกิดความเห็นด้วย คิดว่าควรจะมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข อะไรต่อมิอะไรได้แล้ว แต่ที่ไม่เห็นด้วยก็เกี่ยวกับความรุนแรง ผมไม่ชอบความรุนแรงอย่างเด็ดขาด ทางด้านกิจกรรมที่ผมสามารถช่วยได้ ก็มีเพลง และเขียนรูป เขียนโปสเตอร์...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ช่วงเช้าวันที่ 14 ตุลาคม 2516) การประชาสัมพันธ์ที่ออกข่าว ไม่ตรงความเป็นจริง ผมรู้สึกเสียใจมาก โดยส่วนตัวแล้ว หากตัวเองสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ก็จะร่วมทำทันที เพียงรู้สึกอย่างหนึ่งว่า ฝ่ายรัฐบาลเขาทำไม่ถูก...ส่วนตัวผมเสียใจมากกับการฆ่ากันครั้งนั้น ผมนอนร้องไห้กับเพื่อน ๆ เมื่อได้ข่าวร้ายนั้น...”

นี่คือ บทบาท และความรู้สึกส่วนหนึ่งของศิลปินเพลงล้านนา ราชาโฟล์คซองคำเมืองผู้ยิ่งใหญ่ต่อเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และทำให้หลายปีต่อมา ภายหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว เขาจึงเขียนเพลง “ใบไม้ไหว” ขึ้นมา ซึ่งจากบทสัมภาษณ์เดียวกันนี้ เขายังได้แสดงความคิดเกี่ยวกับการทำเพลงที่นอกเหนือไปจากเพลงคำเมืองว่า “... ผมมีความคิดมากขึ้น คิดว่าดนตรี ไม่ใช่ทำให้เรามีความสุขเพียงอย่างเดียว แต่เนื้อหาของบทเพลง ควรมีอิทธิพลต่อผู้ฟังด้วย...” ในแง่นี้จึงถือได้ว่าบทเพลงคืออาวุธทางปัญญา คืออาวุธทางวัฒนธรรม นักรบวัฒนธรรมล้านนาผู้นี้มิเพียงแต่ติดอาวุธทางปัญญา ในเรื่องราว เรื่องเล่าเกี่ยวกับแผ่นดิน ถิ่นเหนือ แต่ได้ติดอาวุธทางปัญญาในเรื่องความคิด สังคม การเมือง ผ่านมาทางบทเพลงของเขาด้วย

ก่อนที่จะจบบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนขอนำบทกวีของราชาโฟล์คซองคำเมืองผู้นี้ ที่มีเนื้อหาแฝงความคิดทางการเมือง ที่เขาเคยแต่งไว้มานำเสนอ ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร “มติชน สุดสัปดาห์” ประจำอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม 2527 ปีที่ 7  ฉบับที่ 2339 (3/204) บทกวีนี้ชื่อว่า “เขา”

ครั้งหนึ่งเขาเคยสว่างไสว
เขาปลูกดอกไม้ทุกหนแห่ง
ครั้งหนึ่งเขาเคยแข็งแกร่ง
ผาดแผลงไม่พรั่นหวั่นใคร

ดอกไม้ที่เขาปลูกฝัง
เปล่งปลั่งสุดสวยสดใส
แต่เขาเล่าหายไปไหน
ให้ใครต่อใครอาวรณ์

บัดนี้แสงแดดแผดกล้า
อสุราเผ่นผาดสลอน
บดดินบังฟ้าเบียดบอน
ดัสกรกรีฑามากราย

ดอกไม้ที่เขาปลูกไว้
กึ่งใบเสื่อมโทรมสลาย
รอวันดินถมล้มตาย
เขาหายไปไหนไม่มา

หรือเขาไม่เคยห่วงหวง
หรือควงข้างใครอยู่หนา
หรือลืมแล้วหรือสัญญา
บุปผาร่วงโรยโหยครวญ

ทิ้งคนให้คอยชะเง้อ
ทิ้งเกลอที่เคยปลอบขวัญ
ทิ้งไฟไม่เหลือเถ้าควัน
สมควรแล้วฤา...วีรชน
 
จรัล มโนเพ็ชร

ปีนี้ ครบรอบ 16 ปี การจากไปของอ้าย แม้กายจากไปแต่ผลงานที่ฝากไว้มากมายเหลือคณา คิดถึงอ้ายจรัล มโนเพ็ชร เพชรล้านนา เสมอไป


เอกสารประกอบการเขียน
สิเหร่ (เรียบเรียง). (2551). คือรางวัลแด่ความฝัน: จรัล มโนเพ็ชร” (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ใบไม้ป่า.
 

เกี่ยวกับผู้เขียน: พงศธร นัทธีประทุม เป็นอาจารย์ผู้สอนประจำบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยรามคำแหง

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net