Skip to main content
sharethis

เฟซบุ๊กประกาศเมื่อวันที่ 28 ส.ค. 2560 ว่าพวกเขาจะปิดกั้นไม่ให้เพจที่แชร์ข่าวปลอมซ้ำๆ เป็นประจำซื้อโฆษณาได้ โดยระบุว่าเป็นหนึ่งในมาตรการสกัดกั้นไม่ให้ผู้เผยแพร่ข่าวปลอมนำไปหาประโยชน์ทางธุรกิจนอกเหนือจากมาตรการอื่นๆ ที่จะลดการเผยแพร่ข้อมูลเท็จผ่านช่องทางของพวกเขา

30 ส.ค. 2560 จากเว็บบล็อกที่เขียนโดย สัตวิค ชูกลา และเทสซา ลียงส์ ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กระบุว่า ในช่วงปีที่ผ่านมาทางเฟซบุ๊กดำเนินการในหลายขั้นตอนเพื่อลดการเผยแพร่ข่าวปลอมและเรื่องหลอกลวงในโซเชียลมีเดียของพวกเขา โดยล่าสุดพวกเขาจำกัดไม่ให้ผู้โฆษณาลงโฆษณาที่เชื่อมต่อไปยังเพจข่าวปลอมหรือเนื้อความเท็จได้

พวกเขานิยาม "ข่าวปลอม" หรือ "เนื้อความเท็จ" ที่จะถูกจำกัดการโฆษณาในที่นี้ว่าเป็นเนื้อหาที่ถูกตรวจสอบโดยองค์กรภายนอกที่ทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่าง Snopes และสำนักข่าวเอพีแล้วพบว่าเป็นเนื้อหาที่ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตามเนื้อหาที่เป็นความคิดเห็น หรือเนื้อหาที่มีความลำเอียงนั้นจะไม่ได้ถูกจัดเป็น "ข่าวปลอม" โดยอัตโนมัติ พวกเขาเน้นจัดการกับเนื้อหาที่เป็นเรื่องลวงโดยเฉพาะ ทำให้เพจที่เผยแพร่เรื่องที่ถูกติดธงว่าเป็นเนื้อหาเท็จโดย Snopes หรือเอพีซ้ำๆ หลายครั้งไม่สามารถโปรโมทเพจผ่านการซื้อโฆษณาเฟซบุ๊กได้

ชูกลาและลียงส์ระบุว่าการอัพเดทในครั้งนี้จะช่วยลดการแพร่กระจายข่าวที่เป็นเท็จ ไม่ให้เพจที่เผยแพร่ข่าวเท็จนำไปใช้หาประโยชน์ทางธุรกิจโดยอาศัยช่องทางโซเชียลมเดียของพวกเขาได้ ตัวแทนของเฟซบุ๊กระบุอีกว่าถ้าหากเพจเหล่านั้นเลิกเผยแพร่ข่าวเท็จพวกเขาก็อาจจะพิจารณาให้กลับมาซื้อโฆษณาได้อีกครั้ง

"ข่าวเท็จเป็นอันตรายต่อชุมชนของพวกเรา มันทำให้โลกนี้ได้รับข้อมูลข่าวสารน้อยลงและทำลายความน่าเชื่อถือ" ชูกลาและลียงส์ระบุในถ้อยแถลงผ่านบล็อก

ร็อบ ลีเธิร์น ผู้อำนวยการผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กเปิดเผยอีกว่าพวกเขาพยายามจัดการกับปัญหาข่าวปลอม 3 แนวทางคือ หนึ่งพยายามสกัดกั้นไม่ให้ผู้สร้างข่าวเท็จได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อชะลอการแพร่กระจายของข่าวเท็จ และทำให้ผู้ใช้งานมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจครบถ้วนเวลาเจอกับเนื้อหาที่เป็นเท็จ ซึ่งการจำกัดไม่ให้ซื้อโฆษณาดังกล่าวเป็นมาตรการในข้อแรก

อย่างไรก็ตามทางเฟซบุ๊กไม่ได้ระบุชัดเจนว่าจำนวนข่าวเท็จที่โพสต์ในเพจจำนวนเท่าใดถึงจะเรียกว่ามากหรือ "สม่ำเสมอ" ก่อนที่จะถูกปิดกั้นไม่ให้ซื้อโฆษณา ลีเธิร์นกล่าวว่าวิธีการพิจารณาไม่ได้ดูจาก "การกระทำเพียงครั้งเดียว" แต่เป็น "การเผยแพร่ข้อมูลเท็จซ้ำๆ จนเป็นแบบแผน"

เรียบเรียงจาก

Facebook says Pages that regularly share false news won’t be able to buy ads, Tech Crunch, 29-08-2017

https://techcrunch.com/2017/08/28/facebook-fake-news-ads/

Blocking Ads from Pages that Repeatedly Share False News, Facebook Newsroom, 28-08-2017

https://newsroom.fb.com/news/2017/08/blocking-ads-from-pages-that-repeatedly-share-false-news/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net