Skip to main content
sharethis

กก.บริหารประจำคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ ออกจดหมายถึงอธิการบดีขอให้มหา'ลัย เสนอข้อเท็จจริงและเรียกร้องให้ กอ.รส. จ.เชียงใหม่ ยุติการดำเนินคดีต่อบุคลากรและผู้ร่วมงาน ทั้ง 5 คน ที่ร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13

ที่มาของภาพ : เฟซบุ๊ก Pinkaew Laungaramsri

30 ส.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการบริหารประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ออกแถลงการณ์และจดหมายถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นำเสนอข้อเท็จจริงและเรียกร้องให้กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) จ.เชียงใหม่ ยุติการดำเนินคดีต่อบุคลากรและผู้ร่วมงาน ทั้ง 5 คน ที่ร่วมประชุมวิชาการนานาชาติ ไทยศึกษา ครั้งที่ 13 พร้อมยืนยันเสรีภาพทางวิชาการเกี่ยวกับงานไทยศึกษาดังกล่าว

 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา นักวิชาการและนักศึกษา 5 คน ประกอบด้วย ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 ที่ จ.เชียงใหม่เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้ต้องหาที่ 1 กับพวกคือ ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มช. และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม, ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ, ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และนลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มช. ที่ร่วมงานไทยศึกษา เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ก่อนผู้ต้องหาทั้งห้าจะปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายหลัง

โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานในครั้งนั้นว่าพ.ต.ท.อินทร แก้วนันท์ และคณะพนักงานสอบสวน สภ.ช้างเผือก แจ้งข้อหาต่อ นักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน โดยมี อังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้าร่วมรับฟังการแจ้งข้อกล่าวหา

คดีนี้ ร.ท.เอกภณ แก้วศิริ อัยการผู้ช่วยศาลมณฑลทหารบกที่ 33 จังหวัดเชียงใหม่ รับมอบอำนาจจาก พ.อ.สืบสกุล บัวระวงศ์ รองผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีต่อนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปลทั้งห้าคน ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช.

เหตุที่นำมาสู่การตั้งข้อกล่าวหา คือ เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2560 ผู้ต้องหาได้ร่วมกันติดแผ่นป้ายมีข้อความ “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ฝาผนังห้องประชุม ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ และถ่ายภาพกับแผ่นป้าย ซึ่ง พ.ต.ท.อินทร แจ้งข้อหาว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงความเห็นเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านทางการเมือง ประชาชนทั่วไปผ่านมาพบเห็นโดยง่าย และอาจนำไปเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต เพื่อให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลรับรู้รับทราบ เป็นการต่อต้าน ยุยง ปลุกปั่น หรือปลุกระดมทางการเมือง อาจก่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัฐบาลในเชิงลบ

ผู้กล่าวหาระบุว่า กรณีที่ผู้ต้องหาร่วมกันชูป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” แล้วยกมือขวาชูสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง) และถ่ายภาพประกอบ ถือเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

พนักงานสอบสวนแจ้งผู้ต้องหาทั้งห้าด้วยว่า หากผู้ต้องหาทั้งห้าสมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน และเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยอาจจะมีเงื่อนไขหรือไม่มีเงื่อนไขก็ได้ ให้ถือว่าคดีเลิกกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้ต้องหาทั้งหาให้การปฏิเสธข้อหา โดยจะยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรภายหลัง และปฏิเสธที่จะเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย พนักงานสอบสวนอนุญาตปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข แต่นัดมาพบพนักงานสอบสวนอีกครั้งวันที่ 1 ก.ย. 2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net