จิตร ภูมิศักดิ์ ในโลกของกลุ่มละคร Splashing Theater

Splashing Theater กลุ่มละครโรงเล็กวัยรุ่นเลือดใหม่ที่นำเอากลิ่นอายของไซไฟ อนิเมะญี่ปุ่น และสื่อวิดีโอมาใช้ได้อย่างกลมกลืน กับละครเรื่องล่าสุด Teenage Wasteland : Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum ละครที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก จิตร ภูมิศักดิ์

 

โปสเตอร์จากละครเรื่อง Teenage Wasteland : Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum

จิตร ภูมิศักดิ์

เขาคือใครนะ?

เราคงคุ้นกับภาพถ่ายขาวดำของชายใส่แว่นกรอบใหญ่หน้าตาจริงจัง เลาๆ ว่าเขาเขียนหนังสือเรื่อง ‘โฉมหน้าศักดินาไทย’ เขาเป็นคนแต่งเพลง ‘แสงดาวแห่งศรัทธา’ เขาเป็นนักคิด นักเขียน นักกวี นักภาษา นักปฏิวัติ กล้าคิดกล้าทำแหวกขนบสมัยนั้น และยึดมั่นในอุดมการณ์

เขาเคยถูกจับโยนบก เมื่อครั้งที่เขาเป็นสาราณียากร ให้กับหนังสือประจำปี ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะลงบทความสะท้อนปัญหาสังคม ประณามผู้เอารัดเอาเปรียบในสังคมซึ่งรวมถึงรัฐบาลด้วย รวมทั้งชี้ให้เห็นค่านิยมอันไม่ถูกต้องซึ่งผู้คนนับถือกันมานาน บทความเหล่านั้นมีทั้งที่จิตรเขียนเอง ร่วมแก้ไข หรือเพื่อน ๆ คนอื่นเขียน ผลก็คือระหว่างการพิมพ์หนังสือได้ถูกตำรวจสันติบาลอายัด และมีการ "สอบสวน" ที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย*

จิตรคือใคร?

คือเด็กวัยรุ่นเลือดร้อนที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ คือเด็กหนุ่มผู้เกลียดชังพ่อของตัวเอง ผู้แปลกแยกกับแม่และพี่สาว คือครูหนุ่มผู้มีอุดมการณ์ คือสหายร่วมรบที่เทือกเขาภูพาน คือคอมมิวนิสต์ คือคอลัมน์นิสต์ที่ใช้ชื่อ ‘มูฟวี่แมน’ คือกวีผู้เปราะบาง คือนักคิดที่ถูกประณามและจดจาร คือตำนานที่ถูกเหล่าขาน

เมื่อใครสักคนหนึ่งเป็นตำนาน นอกจากผลงานแล้ว เขาก็อยู่ไกลเกินไปสำหรับเรา

แต่ Splashing Theater กำลังพยายามพาเราไปรู้จัก ไม่ใช่เพียงแค่ผลงานหรือแนวคิดทางการเมือง แต่ลงลึกถึงบุคลิก ตัวตน อารมณ์ ความคิด ของจิตร ภูมิศักดิ์ ในรูปแบบไม่ธรรมดา แต่เป็นจิตร ภูมิศักดิ์ในแบบที่พวกเขารู้สึกและสัมผัสในแง่มุมละเอียดอ่อนและซับซ้อนมากไปกว่าแค่การเป็นนักอุดมการณ์ผู้หนักแน่น

Splashing Theater

Splashing Theater เริ่มมาจาการรวมตัวกันในชุมนุมศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกลุ่มละครโรงเล็กวัยรุ่นเลือดใหม่ที่นำเอากลิ่นอายของไซไฟ อนิเมะญี่ปุ่น และสื่อผสมอย่างวิดีโอมาใช้ได้อย่างกลมกลืน การันตีโดยรางวัลจำนวนไม่น้อย

พวกเขาเริ่มต้นด้วยละครเรื่อง Zone ในปี 2014 ตามด้วย Whaam! A Brief History of Unknown Astronaut ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของนักบินอวกาศผู้ไม่มีใครรู้จัก ในปี 2015 และ The Art of Being Right ในปีเดียวกัน The Disappearance of the Boy on a Sunday Afternoon การหายตัวไปของเด็กชายในบ่ายวันอาทิตย์ ในปี 2016 และในปีนี้ Thou Shalt Sing: A Secondary Killer’s Guide to Pull the Trigger จงขับขาน: มือสังหารชั้นรองโปรดร้องก่อนลั่นไก ก่อนจะตามมาด้วยเรื่องล่าสุดที่กำลังทำการแสดง Teenage Wasteland : Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum ซึ่งเขียนบทและกำกับโดย เฟิร์ส – ธนพนธ์ อัคควทัญญู และ แมค – ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี

Splashing Theater ไม่ได้ทำละครที่เน้นการเล่าเรื่องอย่างสมจริง แต่เป็นการเล่าเชิงนามธรรม ความคิด ความรู้สึก โดยใช้รูปแบบการแสดงละครเวที ทั้งการแสดง การเคลื่อนไหวร่างกาย การเต้น การร้อง (ในบางครั้ง) ร่วมกับสื่อผสมอย่างวิดีโอ และเพลงประกอบ - เช่นในเรื่องนี้ ที่มีตั้งแต่เพลงประกอบอนิเมะญี่ปุ่น ไปจนถึงเพลง Lithium ของ Nirvana และเพลงที่แต่งใหม่เพื่อประกอบฉาก

Teenage Wasteland : Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum

จิตร ภูมิศักดิ์ ดูเป็นชื่อที่ห่างไกลจากวัยรุ่นสมัยนี้ - และแน่นอนด้วยวัยเกือบ 25 ปี เฟิร์ส หนึ่งในผู้กำกับและเขียนบทละครเรื่องนี้ก็ยังถือเป็นวัยรุ่นคนหนึ่ง เขาเห็นด้วยที่คนสมัยนี้ดูจะไม่รู้จักจิตร

“อาจจะเคยได้ยินชื่อ แต่ไม่รู้ว่าเขาทำอะไร จากการที่ได้คุยกับเพื่อนหลาย ๆ คน คนรอบตัวก็ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่” เฟิร์สบอก

เมื่อเราถามเฟิร์สว่าทำไมต้องเป็นจิตร ภูมิศักดิ์ เขาบอกว่า ที่จริงเป็นเหตุผลส่วนตัวระดับนึง เราอ่านเรื่องเขามาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ แล้วเราประทับใจเขา เราชอบบทกวีเขา ชอบเพลงที่เขาแต่ง เราเริ่มเลือกเขาเป็น subject จากความประทับใจ มันเป็นเรื่องความประทับใจล้วน ๆ เลย เราอยากรู้ว่า ไอเดียหนึ่งอย่าง จะแตกแขนงไปได้ขนาดไหน คนแบบนี้อยู่ในบริบทนี้ จะเป็นยังไง รวมถึงตัวเราเองด้วย (ตัวตนของเฟิร์สเองก็อยู่ในละครนี้ด้วยเช่นกัน)

ใครจะนึกว่า จิตร ภูมิศักดิ์ ในโลกของ Splashing Theater จะทำเป็นละครไซไฟและโลกคู่ขนานที่เกี่ยวข้องกับ จักรวาล อวกาศ กันดั้ม โมบิลสูท ซิงกูลาริตี้ เกมส์สู้มังกร เวทย์มนตร์ที่ทำให้ลืม คืนฤดูร้อน ฐานทัพลับในวัยเด็ก ดอกเบญจมาศ ดอกไม้ไฟ สาวน้อยผู้ลืมว่าตัวเองตายอย่างไร นักศึกษาแหกคอกไม่ทำตาม ‘แทรดิชั่น’ ทำกิจกรรมทางการเมือง มูฟวี่แมนผู้หมกมุ่นอยู่ในอาณาจักรแห่งเงา โลกคู่ขนานที่ตัวละครเอกใส่แว่นตาและเกลียดพ่อของตัวเอง ฯลฯ

ละครของ Splashing Theater ไม่ใช่ละครที่เน้นเรื่องเล่า แต่คือละครของห้วงความคิด ระลอกแล้วระลอกเล่า ที่ซัดเข้าใส่คนดู เมื่อคุณคาดหวังจะเห็นเรื่องดำเนินไปแบบ 1 2 3 4 เรื่องนี้ไม่มีให้ เพราะมันจะถูกดำเนินเรื่องแบบ 1 A 2 ก B ข 3 หรือบางทีตัวละครจากแต่ละโลกก็มาคุยกันในฉากเดียว หรือเอาเข้าจริงแล้ว ถ้าเปรียบจิตรเป็นระเบิดบิ๊กแบง ทุกตัวละครก็อาจเสมือนดาวที่กำเนิดจากระเบิดนั้น เป็นเศษเสี้ยวของจิตรทั้งตัวตนและความทรงจำที่ฟื้นตื่นและมีชีวิตเป็นของตัวเองในโลกคู่ขนาน ที่เรื่องราวดำเนินไปตามองค์ประกอบและปัจจัยของโลกนั้น

ฟังดูยากจัง

แต่ถ้าคุณปล่อยใจให้เรื่องราวพาคุณไป เห็นตัวละครถกเถียง โต้ตอบ มีปฏิสัมพันธ์ เสมือนภาพจำลองความคิดของผู้คนในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย มีความคิดที่ลงรอยกันบ้าง รักกันบ้าง ปฏิเสธกันบ้าง เกลียดกันบ้าง สามัคคีกันบ้าง ไม่ไว้ใจกันบ้าง มีมิตรภาพบ้าง และโดดเดี่ยวอีกบ้าง คุณยิ่งอาจจะมีคำถามในใจ

จิตร ภูมิศักดิ์คือใคร? ในละครเรื่องนี้

ละครเรื่องนี้กำลังพยายามประกอบสร้างจิตร ภูมิศักดิ์ขึ้นมาอีกครั้งในมุมมองของพวกเขาเอง และบางทีตัวตนของพวกเขาก็ปะปนไปกับตัวตนของจิตร จิตรในโลกคู่ขนาน ในแง่มุมที่เราไม่เคยรู้จัก

เขาฝันอยากเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต เขาชอบสูบบุหรี่ - โดยเฉพาะยี่ห้อ ลัคกี้ สไตรค์ มีความรักให้กับลูกศิษย์สาวผู้ต่อมาเป็นสหายเขาที่เทือกเขาภูพานและใช้ชีวิตค่ำคืนสุดท้ายด้วยกันที่นั่นก่อนเธอจะจากเขาไป หรือความจริงเขาอาจเป็นเพียงนักแสดงที่หน้าตาเหมือนจิตร ภูมิศักดิ์ และถูกนักศึกษาผู้หมกมุ่นกับกล้องและม้วนฟิล์มจ้างให้มาแสดงในสารคดีหรือหนังหรือละครเวที หรืออาจไม่ถูกทำเป็นอะไรเลย แต่อยู่ในอาณาจักรแห่งเงาของเขาเท่านั้น

เราไม่รู้ เราไม่รู้จริงๆ หรอกว่าจิตร ภูมิศักดิ์คือใคร มีชีวิตแบบไหน และคงไม่มีวันรู้

เมื่อไม่ได้อยู่ร่วมยุคสมัยเดียวกับเขา เขาเป็นเพียงบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ไม่อาจแตะต้อง ตัวตนของเขาล่องลอยและโปร่งใสเกินกว่าใครจะมองเห็น เขาคือภาพถ่ายขาวดำใบเก่าภายใต้กรอบแว่นกลมโตนั่น คือภาพจำอย่างเดียวที่เรามี เราลืมเขาไปแล้วแสนนาน และมันไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นเรื่องปกติ 

“การลืมเป็นคำสาปของแม่มดร้าย การลืมเป็นสิ่งปกติสามัญในหมู่บ้านแห่งนี้ และการลืมคือการสะกดจิต” จิตรคนหนึ่งในละครกล่าวไว้แบบนี้

----------------------------------------------------

*ข้อมูลจากวิกิพีเดีย

Teenage Wasteland : Summer, Star and the (Lost) Chrysanthemum ทำการแสดงวันที่ 30 สิงหาคม – 3 กันยายน และ 6-10 กันยายน 2560 เวลา 19.30 น. สถานที่: Creative Industries ชั้น 2 โรงละคร M Theatre

-บัตรราคา 550 บาท

-นักเรียน นักศึกษา 350 บาท

-นักเรียน นักศึกษาที่มาเป็นหมู่คณะ จำนวน 10 คนขึ้นไป 300 บาท / ใบ

รายละเอียดเพิ่มเติมที่: อีเว้นท์เพจ หรือ เพจ Splashing theatre company

วิธีการจอง
1. แจ้งการจองผ่านหน้า event ละคร, กล่องข้อความของเพจ https://web.facebook.com/Splashingtheatreหรือ โทรศัพท์ 086-830-7060
2. โอนเงิน และแสดงหลักฐานการจองผ่านช่องทางดังกล่าว 
3. แจ้งชื่อ, วันและเวลาที่โอน, รอบที่จอง 
4. เมื่อทีมงานยืนยันการจอง สามารถรับบัตรได้หน้างาน

 

รางวัลที่ได้รับ

Whaam! (A Brief History of Unknown Astronaut) (2015)

- การแสดงยอดเยี่ยมโดยนักแสดงชาย (Best Performance by a Male Artist) IATC THAILAND DANCE AND THEATRE REVIEW 2015 The Art of Being Right (2015)

- บทการแสดงยอดเยี่ยม (Best Script of a Play, Performance, Musical) Bangkok Theatre Festival Awards 2015 โดยชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง (IATC)

The Disappearance of the Boy on a Sunday Afternoon (2016)

- ละครเวที (ละครพูด) ยอดเยี่ยม (Best Play)

- บทละครดั้งเดิมยอดเยี่ยม (Best Original Script of Play/Performance) IATC THAILAND DANCE AND THEATRE REVIEW 2016

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท