Skip to main content
sharethis

ก.แรงงานเตือนแรงงานลาวรีบต่อบัตรสีชมพู

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการตรวจสอบข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน พบว่า แรงงานลาวที่ถือบัตรชมพูมี 2 กลุ่มคือ กลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ ซึ่งบัตรจะหมดอายุในวันที่ 1 พ.ย.2560 และกลุ่มแรงงานทั่วไป บัตรหมดอายุวันที่ 31 มี.ค. 2561

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า แรงงานลาวทั้ง 2 กลุ่มนี้จะต้องเข้ารับการปรับสถานภาพเพื่อรับเอกสารรับรองบุคคล และ Work Permit Card ของทางการลาวให้แล้วเสร็จ ก่อนบัตรหมดอายุ

โดยทางการลาวกำหนดเดินทางมาปรับสถานภาพแรงงานในประเทศไทยที่ศูนย์การค้าไอทีสแควร์ หลักสี่ กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.2560 ถึงวันที่ 15 มี.ค.2561

โดยจะหยุดให้บริการวันอาทิตย์ วันหยุดนักขัตฤกษ์ตามราชการไทยและวันชาติลาว ในวันที่ 2 ธ.ค.2560 เท่านั้น จึงขอให้แรงงานลาว โดยเฉพาะกลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ รีบไปดำเนินการปรับสถานภาพให้แล้วเสร็จก่อนบัตรหมดอายุคือวันที่ 1 พ.ย.560

นายวรานนท์ ได้ย้ำว่า ศูนย์ปรับสถานภาพแรงงานลาวที่จัดตั้งในครั้งนี้ให้บริการเฉพาะกลุ่มที่ถือบัตรสีชมพู 2 กลุ่มเท่านั้นคือกลุ่มประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำกับกลุ่มแรงงานทั่วไป ซึ่งจำเป็นต้องมาดำเนินการปรับสถานภาพตามวันเวลาที่กำหนดหากไม่ได้ดำเนินการใดๆ จะต้องกลับประเทศ และกลับมาทำงานใหม่ในรูปแบบ MOU สอบถามรายละเอียดและติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือโทรศัพท์ไปที่ สายด่วน 1694

ที่มา: TNN, 27/8/2560

กลุ่มแอร์ขาดแรงงานฝีมือ กระทบส่งออก 1.8 แสนล้าน

นายอรุณ เอี่ยมสุรีย์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การส่งออกเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นในปี 2560 ตั้งเป้าขยายตัวอยู่ที่ 5-7% มูลค่าประมาณ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 180,000 ล้านบาท โดยสัดส่วนการทำตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 85-90% ขณะที่ตลาดภายในประเทศอยู่ที่ 10% ทั้งนี้ การส่งออกในปี 2561 ตั้งเป้าหมายเทียบเท่าปีนี้ โดยตลาดสำคัญอยู่ที่สหภาพยุโรป (อียู) ตะวันออกกลาง และ CLMV

“ตลาดส่งออกเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นมีการแข่งขันรุนแรง เรามีคู่แข่งสำคัญ คือ จีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 รองลงมาคือ ไทย โดยจีนเน้นตลาดสินค้าราคาถูก นอกจากนี้ยังมีปัจจัยที่กังวลมาก เรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญต่อการนำเข้า ส่งออก รวมถึงการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้า มีผลต่อการนำเข้าสินค้า เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้พึ่งพิงการส่งออกถึง 90%”

นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานฝีมือในกลุ่ม ช่างเครื่องปรับอากาศ ที่ยังขาดมาตรฐานที่ดี และส่งผลกระทบต่อการผลิตและการส่งออกจึงได้หารือร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงานจัดทำร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับช่างเครื่องปรับอากาศ ขึ้น คาดว่าจะประกาศใช้ได้กลางปี 2562 ทั้งนี้ หากมีการบังคับใช้เชื่อว่าจะทำให้อุตสาหกรรมนี้มีมาตรฐานแรงงานที่ดีขึ้น แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือได้ นอกจากนี้ ได้ร่วมกับกรมโรงงานฯ กระทรวงอุตสาหกรรม ในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพ โดยการใช้นวัตกรรมใหม่เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในการปรับลดลงของสารบางตัวใน การทำความเย็นที่ทำลายสิ่งแวดล้อม การให้ความสำคัญด้านโอโซน เป็นต้น

นายสุพพัต อ่องแสงคุณ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในภาพรวมปี 2560 ตั้งเป้าที่ 3% มูลค่า 22,735 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ตู้เย็น ตู้แช่แข็งและส่วนประกอบ ฯ ทั้งนี้ สินค้าไทยมีจุดแข็งเรื่องคุณภาพ แต่มีข้อกังวลคือการแข่งขันที่รุนแรงด้านราคา และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในระหว่างวันที่ 7-10 กันยายน 2560 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศร่วมกับ ส.อ.ท. กรมโรงงานอุตสาหกรรมจัดงาน Bangkok RHVAC 2017 และ Bangkok E&E 2017 ขึ้นที่ไบเทค บางนา โชว์นวัตกรรมสินค้าเครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็น เครื่องใช้ไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสิ่งแวดล้อม

ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคดิจิทัล 4.0 คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงาน 10,000 ราย มีผู้ร่วมแสดงสินค้า 330 บริษัท คาดว่าจะเกิดมูลค่าการค้า2,400 ล้านบาท

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 28/8/2560

ห่วง พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฯกระทบแรงงานในบ้าน

พบว่าถึงแม้จะมี กม.คุ้มครองแรงงาน แต่พวกเธอเหล่านี้ยังคงพบการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมต่อแรงงานต่างด้าว รวมไปถึงการทำงานที่ไม่มีระยะเวลาที่จำกัด และการไม่สามารถขอลาออกจากนายจ้างได้

"ลูกจ้างทำงานบ้าน" ตามนิยามของ สัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ หมายถึง หญิงหรือชายที่ทำงานในบ้านหรือรอบๆบ้านตามที่ได้รับมอบหมาย โดยได้รับค่าจ้างเป็นการตอบแทนปัจจุบันลูกจ้างทำงานบ้านทุกคนในประเทศไทยจะได้รับการคุ้มครองเพิ่มขึ้น ตามกฎหมายกระทรวงแรงงาน ฉบับที่ 14 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2555

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ให้ความเห็นว่า แม้ว่ารัฐบาลจะมีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างชาติพุทธศักราช 2560 เพื่อจัดการการทำงานของคนต่างด้าวแล้วก็ตามแต่ พรก.ฉบับดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นการควบคุมมากกว่าการเพิ่มสิทธิของแรงงานต่างด้าว

ปัจจุบันการดำเนินการอนุญาตทำงานของคนต่างด้าวที่ไม่มีเอกสารแสดงตน อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบคัดกรองความสัมพันธ์นายจ้างและลูกจ้างโดยมีระยะเวลาจนถึงวันที่ 6 กันยายน 2560 นี้

ทั้งนี้ หลังจากลูกจ้างได้จดทะเบียนขึ้นเป็นรายงานถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ในกรณีของลูกจ้าง ที่ทำงานบ้าน มีสิทธิ์ในการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน กรณีนายจ้างฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับที่ 14 พุทธศักราช 2555 เกี่ยวกับสิทธิที่เป็นตัวเงิน เช่นการไม่จ่ายค่าจ้าง ค่าการทำงานในวันหยุดเป็นต้น ซึ่งหากนายจ้างฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ก็จะมีโทษตั้งแต่ ปรับไม่เกิน 5000 บาท ถึงจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ที่มา: TNN, 28/8/2560

ขสมก. จ่อปลดกระเป๋า 2 พันคนในปี’62 จ้างออกคนละ 1 ล้าน

นายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมเกี่ยวกับแผนการจัดการบริหารหนี้สินขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. ว่า ขสมก. ได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สิน ซึ่ง ณ เดือนม.ค. 2560 มียอดรวมทั้งสิ้น 103,598.543 ล้านบาท

ทั้งนี้ ขสมก. นำเสนอทางเลือกในการแก้ปัญหานี้ออกเป็น3แนวทาง ประกอบด้วย 1. ให้รัฐรับภาระหนี้สิ้นทั้งหมด 103,598.543 ล้านบาท 2. ให้รัฐรับภาระเฉพาะหนี้สินที่เกิดมาจากนโยบายภาครัฐ วงเงินรวมทั้งสิ้น 84,898.651 ล้านบาท ซึ่งแบ่งออกเป็นงินอุดหนุนบริการสาธารณะของรัฐวิสาหกิจ (PSO) หรือเงินที่เกิดจากการตรึงราคาค่าโดยสารอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนตามนโยบายของรัฐบาล เฉลี่ยคันละ3,000 บาท/ วัน และบริการรถเมล์ฟรี เฉลี่ยคันละ 10,000 บาท/วัน ซึ่งมีจำนวน800 คัน/ปี และส่วนที่เหลืออีก 18,699.892 ล้านบาท ขสมก.จะรับภาระเอง 3. ให้รัฐรับภาระPSO ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เนื่องจากปัจจุบันขสมก. มีต้นทุนสูงกว่ารายได้ โดยรัฐจะต้องรับภาระรวม 55,798.089 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ 47,800.453 ล้านบาท ขสมก. จะเป็นผู้รับภาระ

นายพิชิตกล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นว่าแผนฟื้นฟูที่ ขสมก. นำเสนอยังขาดความชัดเจนเรื่องแนวทางแก้ปัญหาการขาดทุนที่ชัดเจน จึงขอให้ขสมก.กลับไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมให้ครบถ้วนก่อน ที่จะนำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ รวมทั้งให้ไปหาข้อสรุปเรื่องตัวเลขต้นทุนการเดินรถมาตรฐานให้ชัดเจนก่อน เนื่องจากขสมก.จะต้องนำต้นทุนดังกล่าวมาใช้เป็นตัวเลขในการคำนวนวงเงินอุดหนุนที่จะนำไปใช้ในแผนไขปันหาหนี้สินขสมก.ในอนาคต นอกจากนี้ ยังขอให้ขสมก. ปรับแก้แผนฟื้นฟูให้สอดคล้องเชื่อมโยงกับแผนยุทธศาสตร์ภายในองค์กรซึ่งจะต้องมีการรวมแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นภายในองค์กรเข้าไปด้วย

“ขสมก. จะต้องกลับไปทบทวนแผนฟื้นฟูใหม่ให้ชัดเจน เพราะแผนเดิมมีแค่หลักการ ยังไม่มีแผนปฏิบัติการหรือแอกชั่นแพลนที่ชัดเจน และต้องไปปรับให้แผน ฟื้นฟูเชื่อมโยงกับ แผนยุทธศาสตร์ภายในด้วย เพราะที่ประชุมต้องการเห็นความชัดเจนเรื่องของรายได้ในอนาคตของขสมก. ที่จะต้องแข่งขันกับเอกชนเต็มตัวหลังจากที่ปรับบทบาทใหม่ ต้องมีแผนแก้ไขปัญหาขาดทุนว่าจะทำอย่างไรบ้าง จะจัดการกับหนี้ 1.03 หมื่นล้านบาทอย่างไร โดยจะต้องนำผลสรุปเสนอที่ประชุมอีกครั้งภายใน2 เดือน โดยขสมก. จะต้องเลือกเลยว่า อยากได้แนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ แบบไหน ตามแนวทางที่ 1, 2 หรือ 3 ซึ่งบอร์ด ขสมก. จะต้องเป็นคนเลือก จากนั้นกระทรวงจะพิจารณาอีกครั้งว่าจะเห็นชอบตามนั้นหรือไม่”

นายพิชิตกล่าวถึงภาระหนี้ภาพรวมของขสมก. 103,598.543 ล้านบาท ว่า ปัจจุบันขสมก. มีภาระขาดทุนเฉลี่ยปีละ 5,000 ล้านบาท ซึ่งตามแผนฟื้นฟูที่ขสมก. นำเสนอตั้งเป้าที่จะลดภาระค่าใช้จ่ายใน 2 ส่วนคือ ลดภาระค่ามใช้จ่ายหนี้ดอกเบี้ยจ่าย 3,000 ล้านบาท ลดภาระค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงและเชื้อเพลิง 2,000 ล้านบาท โดยระบุว่าหากสามารถลดค่าใช้จ่ายซ่อมบำรุงและเชื้อเพลิงลงได้ จะลดภาระขาดทุนได้มาก และหากลดต้นทุนด้านบุคคลกรได้เพิ่มเติมอีกจะทำให้ ขสมก. เริ่มมีกระแสเงินสดที่เป็นบวก

นายยุกต์ จารุภูมิ รองผู้อำนวยการ ฝ่ายบริหาร รักษาการในตำแหน่งผอ. ขสมก.กล่าวถึงแนวทางการ ลดต้นทุนด้านบุคคลกรว่า ปัจจุบัน ขสมก.มีบุคคลกร รวม 12,900 คน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ซึ่งปัจจุบัน มีสัดส่วนพนักงานเก็บค่าโดยสาร 4.8 คน/คัน ถือว่าสูงมาก จะต้องปรับลดให้เหลือ 2.4 คน/คัน

ซึ่งตามแผนฟื้นฟูตั้งเป้าที่จะต้องปรับลดพนักงานเก็บค่าโดยสารรวม 2000 คัน ในปี 2562 เพื่อให้สอดคล้องกับระบบตั๋ว โดย ขสมก. เตรียมที่จะเสนขอจัดสรรงบประมาณปี 2561 วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการเออร์รี่พนักงานเก็บค่าโดยสารจำนวน 2,000 คน หรือเฉลี่ยคนละ 1 ล้านบาทแล้ว เบื้องต้นทราบว่ามีพนักงานจำนวนมากที่แสดงความสมัครใจพร้อมเข้าร่วมโครงการ

ที่มา: ข่าวสด, 28/8/2560

'แอร์การบินไทย' ร้องถูกเลิกจ้างเยียวยาไม่เป็นธรรม

เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นางสุธิดา สังขพงศ์ อดีตพนักงานต้อนรับสายการบินไทย (แอร์โฮสเตส) พร้อมทนายความส่วนตัว ได้เดินทางมาร้องเรียนนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หลังปฏิบัติหน้าที่ให้บริการผู้โดยสารบนเครื่องบินและเครื่องบินเกิดเกิดตกหลุมอากาศอย่างแรงทำให้กระดูกสันหลังหัก รักษา ตัว 8 เดือน ก่อนถูกเลิกจ้าง

นางสุธิดา กล่าวว่า เนื่องจากวันที่ 5 ต.ค. 2557 ตนเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของสายการบินไทย เที่ยวบินจาก จ.ขอนแก่นมาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เวลา 40 นาที ในช่วงที่เครื่องใกล้ลงซึ่งตามปกติทุกคนต้องประจำที่นั่งและรัดเข็มขัดให้เรียบร้อย ตนซึ่งปฏิบัติหน้าที่ของตัวเองเสร็จแล้วแต่มองเห็นว่าพนักงานคนอื่น ซึ่งเป็นน้องใหม่ ประสบการณ์บินยังไม่มาก ยังทำหน้าที่ตัวเองไม่เสร็จ ยังเสิร์ฟเครื่องดื่มให้ผู้โดยสายช่วงกลางเครื่อง ตนประเมินแล้วว่าไม่น่าจะเสร็จทันจึงเข้าไปช่วยทำ โดยรถเข็นน้ำเข้าไปยังจุดที่เก็บแล้วแต่เพียงระยะเวลาไม่นานเครื่องก็ตกหลุมอากาศอย่างแรงถึง 2 ครั้ง ทำให้ตนหลังกระแทก พนักงานคนอื่นๆ ต่างก็ล้มหมด เมื่อตรวจแล้วพบว่าตนกระดูกสันหลังหักต้องนอนรักษาตัวที่รพ.นาน 2 สัปดาห์ และกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านอีก 8 เดือน แพทย์สั่งห้ามยกของหนักเกิน 5 กิโลกรัม ขนาดลูกยังอุ้มไม่ได้ และแพทย์ยังบอกด้วยว่าอนาคตจะต้องมีปัญหาเรื่องกระดูกทับเส้นประสาทแน่นอน

นางสุธิดา กล่าวว่า หลังพักรักษาตัวแล้วกลับมาทำงาน อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่กลับทำงานอยู่ 4 เดือน แม้ว่าจะเป็นสายการบินสั้นๆ ภายในประเทศตนก็มีความลำบากในการทำงาน จึงได้แจ้งขอเปลี่ยนมาทำงานที่เหมาะสมแต่ปัญหาคือไม่สามารถนั่งได้นาน เมื่อกลับไปพบแพทย์อีกครั้งก็ได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนอาชีพ ขณะเดียวกันแพทย์จากสถาบันเวชศาสตร์การบิน กองทัพอากาศก็ลงความเห็นว่าสภาพจิตใจไม่พร้อมปฏิบัติงานเพราะยังมีความกลัวเมื่อเกิดเหตุการณ์คล้ายๆ กัน ทั้งนี้ ต่อมาทางสายการบินก็ได้เลิกจ้างตนโดยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เป็นเงิน 21,380 บาท ค่าชดเชยการเลิกจ้าง 10 เดือน เป็นเงิน 213,800 บาท และจ่ายเงินแทนการสูญเสียมรรถภาพร่างกาย 240,000 บาท ซึ่งไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพในภายภาคหน้า

“การยกเลิกการทำงานโดยอ้างเหตุความไม่สมบูรณ์ของร่างกายของดิฉัน ซึ่งก็มาจากการทุ่มเททำงานให้กับสายการบิน เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับเพื่อนร่วมงานและผู้โดยสาร แต่กลับไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายให้ตรงกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง” นางสุธิดา กล่าว และว่า ทางสายการบินไม่ได้มีการทำประกันอุบัติเหตุให้กับลูกเรือเลย ในขณะที่ทำประกันอุบัติเหตุให้กับนักบิน ซึ่งเรื่องนี้ก็อยากให้เห็นความสำคัญด้วยเพราะเราทำงานในพื้นที่เดียวกัน อยู่ในสภาพงานแบบเดียวกัน มีความเสี่ยงแบบเดียวกัน

ด้านทนายความส่วนตัวนางสุธิดา กล่าวว่า การคำนวณเงินต่างๆ ใช้เพียงฐานเงินเดือน 20,000 บาทเท่านั้น ไม่ได้คิดตามรายได้จริงที่ควรได้รับ ซึ่งจะอยู่ที่เดือนละ 70,000 บาท รวมเป็นเงินที่ไม่เพียงพอต่อการทำอาชีพอื่น ในขณะที่สภาพร่างกายก็ไม่สามารถทำอาชีพได้อีก ซึ่งจากการคำนวณโดยใช้รายได้ปัจจุบันคูณกับระยะเวลาการทำงานที่เหลือก่อนเกษียณอีก 19 ปีถือว่าเป็นจำนวนมากอยู่

ด้านนายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่าตนจะมอบหมายให้ฝ่ายกฎหมาย เชิญสายการบินมาหารือถึงเรื่องดังกล่าวและพิจารณาและเร่งรัดการพิจารณาให้ โดยเฉพาะเรื่องของการทำประกันอุบัติเหตุที่ควรจะมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตัวเลขผู้ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานในภาพรวมนั้นถือว่าลดลงไปมาก แต่มีบางอาชีพที่น่าห่วงเพราะยอดเกิดอุบัติเหตุเสียชีวิตสูงคือก่อสร้าง โดยเฉพาะการก่อสร้างรถไฟฟ้า เป็นต้น

ที่มา: เดลินิวส์, 28/8/2560

3 รพ.เอกชน ออกจากระบบประกันสังคม เตรียมย้ายผู้ประกันตนกว่า 3 แสนคน

นายแพทย์สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยกรณี 3 สถานพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลยันฮี กรุงเทพฯ, โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จังหวัดนนทบุรี และโรงพยาบาลศรีระยอง จังหวัดระยอง ขอออกจากการเป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการในระบบประกันสังคม ในปีหน้า 2561 แต่ผู้ประกันตน ยังไปใช้บริการรักษาพยาบาลตามสิทธิได้ ถึงปลายปีนื้

ทางประกันสังคม ให้เหตุผลการที่โรงพยาบาลออกจากระบบไม่ใช่เพราะขาดสภาพคล่อง แต่เป็นแผนธุรกิจ ของแต่ละโรงพยาบาล เช่น ต้องการเปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง หรือมีโรงพยาบาลในเครือรองรับไว้อยู่แล้ว

สำหรับทั้ง 3 โรงพยาบาลมีผู้ประกันตนรวมกว่า 3 แสนคน โดยสำนักงานประกันสังคม มีมาตรการรองรับ จัดสถานพยาบาล ทดแทนให้กับผู้ประกันตน โดยเปิดให้ผู้ประกันตนเลือกโรงพยาบาลได้ใหม่ ภายในวันที่ 31 ตุลาคมนี้ หากไม่เลือกภายในกำหนด สำนักงานประกันสังคมจะจัดสถานพยาบาลให้ อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลเดิม หรือ เป็นโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้สถานที่ทำงานมากที่สุด

ส่วนปัญหาโรงพยาบาลออกนอกระบบประกันสังคม ยอมรับว่าต้องเร่งพูดคุยกันมากขึ้น เพราะมีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ไม่เห็นด้วยกับอัตราการจ่ายเงินรายหัวของสำนักงานประกันสังคม แต่ยืนยันว่าถือว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแล้ว และมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกันตนและสถานพยาบาล

ที่มา: ch7.com, 29/8/2560

เลขาฯ ประกันสังคมชี้ให้สิทธิ์ผู้ป่วยรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้ง 3 ระยะ ไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ยันคนไข้ไม่ใช่หนูทดลองยา เป็นแนวทางมาตรฐานของประเทศ

วันที่ 28 ส.ค. นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ระยะ 3 ล่ารายชื่อผ่านโซเชียลเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในการเบิกจ่ายยารักษามะเร็งดังกล่าว เพราะกำหนดให้เบิกจ่ายในมะเร็งระยะแรกเท่านั้นว่า ในการเจ็บป่วยทุกครั้ง ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบจะได้รับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจนสิ้นสุดการรักษา ยืนยันว่าผู้ป่วยรายดังกล่าวก็ไม่ต้องจ่ายเงินรักษาเพิ่มแต่อย่างใด ซึ่งเกณฑ์ในการจ่ายยาอิมาตินิบเพื่อรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวระยะแรกเป็นแนวทางมาตรฐานของประเทศ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งและโลหิตวิทยา ร่วมกับราชวิทยาลัยฯ ร่วมกันกำหนด ไม่ใช่ สปส.กำหนด ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสิทธิ์ใดทั้งประกันสังคม บัตรทอง หรือสวัสดิการข้าราชการ ก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันทั้งหมด

"ทั้งนี้ จากการประชุมของผู้เชี่ยวชาญในการทบทวนการรักษาหลายๆ โรค รวมถึงมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรังแบบมัยอีลอยด์ เมื่อวันที่ 6 ส.ค. มีการยืนยันตามแนวทางเดิมว่ายาอิมาตินิบมีผลดีมากกว่าผลข้างเคียงกับผู้ป่วยระยะแรก แต่ในระยะที่สองและสาม พบว่าผลข้างเคียงมีมากกว่าผลดี เมื่อไม่ได้ผลยังมียาตัวอีก 2 ตัวที่สูงขึ้นไป และสิทธิประกันสังคมก็ครอบคลุมตลอดการรักษาคือ ยานิโลทินิบ และยาดาซาตินิบ ซึ่งอยู่ในบัญชียา จ.2 หากเป็นไปตามข้อบ่งชี้ในการใช้ แพทย์สามารถสั่งใช้ได้ ดังนั้นจึงเห็นว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องของราคา เพราะยาอีก 2 ตัวมีราคาแพงกว่าตัวแรก ผู้ป่วยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเช่นกัน" เลขาธิการ สปส.กล่าว

นพ.สุรเดชกล่าวว่า ข้อบ่งชี้ต่างๆ เพื่อไม่ให้คนไข้เป็นหนูลองยา โดยผู้ป่วยรายนี้ตรวจพบมะเร็งที่ รพ.พระมงกุฎเกล้า จากนั้นจึงไปรักษากับโรงพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม คือ รพ.สระแก้ว และส่งต่อมายัง รพ.รามาธิบดี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หากพิจารณาการรักษาแล้วว่าระยะที่สมควรใช้ก็สั่งจ่ายยาอิมาตินิบได้ แต่ไม่เป็นตามข้อบ่งชี้ รพ.ต้นสังกัดจะไม่สามารถเบิกเงินกับทาง สปส.ได้ หากเกิดอะไรขึ้นกับผู้ป่วย แพทย์ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ทั้งนี้ ตนไม่ทราบว่าแพทย์ทำความเข้าใจกับผู้ป่วยรายนี้อย่างไร ก่อนที่จะมีล่ารายชื่อทางโซเชียล สปส.เคยทำความเข้าใจมาแล้ว 2 ครั้ง

ที่มา: ไทยโพสต์, 29/8/2560

ระวังโดนหลอก! อย่าหลงเชื่อหางานทำต่างประเทศผ่านโซเชียลฯ 7 เดือน ถูกหลอก 317 คน

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันการไปทำงานต่างประเทศยังคงเป็นที่ต้องการของคนหางาน เพราะเชื่อว่าจะสร้างรายได้ดีให้กับคนหางาน ดังนั้นจึงเป็นช่องทางให้กลุ่มมิจฉาชีพแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ โดยอ้างว่ามีตำแหน่งงานดี รายได้ดีในต่างประเทศ และสามารถช่วยจัดส่งไปทำงานได้ เห็นได้จากเมื่อช่วงเดือนมกราคมถึงกรกฎาคมที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้รับเรื่องร้องทุกข์จากคนหางานกรณีถูกสาย/นายหน้าเถื่อนหลอกลวงถึงจำนวน 317 คน โดยจ่ายเงินให้ไปแล้วแต่ไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงาน ซึ่งผู้ถูกหลอกลวงส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคอีสานและภาคเหนือ และจากการตรวจสอบพบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของผู้ร้องทุกข์ ถูกชักชวนให้ไปทำงานต่างประเทศผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ เป็นต้น โดยผู้ถูกหลอกลวงไม่เคยพบตัวตนที่แท้จริง ไม่ทราบชื่อและนามสกุลของผู้หลอกลวง แต่ยอมโอนเงินให้เพราะเชื่อว่าเป็นงานดี รายได้ดีกว่าทำงานอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก จึงกล้าเสี่ยงจ่ายเงินให้ไป แต่สุดท้ายกลับไม่ได้รับการจัดส่งไปทำงานตามสัญญา ทั้งยังติดต่อผู้หลอกลวงไม่ได้อีกด้วย

นายวรานนท์ กล่าวอีกว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือนั้น ขณะนี้ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวน 195 คน โดยผู้ใดหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือสามารถส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3 ปีไปจนถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาทไปจนถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“จึงขอเตือนคนหางานอย่าหลงเชื่อผู้ชักชวนไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะการสมัครผ่านทางเฟซบุ๊กและไลน์ โดยยอมจ่ายเงินให้ไปทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างรอบคอบ เพราะการเปิดและปิดบัญชีกระทำได้โดยง่าย ซึ่งเมื่อคนหางานโอนเงินให้ไปแล้วก็จะปิดบัญชีหลบหนีไป เพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงและเสี่ยงต่อการถูกจับกุมดำเนินคดี ขอให้ไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน โทร.0 2245 6763 หรือสายด่วน 1694” นายวรานนท์ กล่าว

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 30/8/2560

พนักงานการท่าเรือฯ แจ้งความดำเนินคดี ดีเอสไส แถลงข่าวใส่ร้ายโกงค่าล่วงเวลา ผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เมื่อวันที่ 30 ส.ค. เวลา 10.30 น. ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) นายกฤษฎา อินทามระ ทนายความ พร้อม พนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย ร่วม 80 ราย เดินทางเข้าพบ ร.ต.อ.หญิง วลัญชรัชฎ์ คำแก่น รอง สว. (สอบสวน) กก.3 บก.ปอท. เพื่อแจ้งความดำเนินคดีกับ พ.อ.พินิจ ตั้งสกุล ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งแถลงข่าวว่า พนักงานการท่าเรือฯ โกงค่าล่วงเวลา (โอที) เมื่อวันที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา ในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

นายกฤษฎา เปิดเผยว่า วันนี้มีพนักงานการท่าเรือที่เกษียณอายุและยังทำงานอยู่เดินทางมาเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเพราะถูกกล่าวหาทุจริตค่าล่วงเวลา โดยพนักงานท่าเรือเคยได้นำหลักฐานไปฟ้องค่าล่วงเวลาศาลแรงงานกลางเนื่องจากการท่าเรือทำผิดกฎหมาย ซึ่งจริงแล้วตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ต้องเปลี่ยนค่าจ่ายล่วงเวลาจากเหมาจ่ายมาเป็นรายชั่วโมง

นายกฤษฎา กล่าวว่าพนักงานการท่าเรือที่เสียหายไปฟ้องศาลแรงงานกลางให้การท่าเรือจ่ายเงินตามกฎหมายฉบับใหม่ ซึ่งเมื่อปี 56 ศาลแรงงานกลางได้ให้การท่าเรือจ่ายเงินประมาณ 300 ล้านแก่พนักงานการท่าเรือราว 300 คนเพราะเชื่อว่ามีการทำงานจริง ทำให้พนักงานรายอื่นจึงฟ้องร้องเพราะต้องการได้เงินที่ทำงานแลกมากับหยาดเหงื่อ จากนั้น การท่าเรือกลับไปยื่นฟ้องต่อ ดีเอสไอ ว่าพนักงานการท่าเรือทำหลักฐานเท็จ จนกระทั่งส่งเรื่องไป คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

"ขณะนี้ยังมีสำนวนยื่นฟ้องอยู่ที่ศาลแรงงานกลางของพนักงานการท่าเรือฯอีกบางส่วน ซึ่งเป็นเอกสาร 420,000 หน้า นอกจากนี้ การท่าเรือยังจ้างที่ปรึกษาทนายความ วงเงิน 20 ล้านบาท เพื่อมาต่อสู้กับ พนักงานการท่าเรือฯ ซึ่งดูแล้วนำงบประมาณมาใช้ไม่สมเหตุสมผล" นายกฤษฎา กล่าว

นายระวัง อินทร์กล่อม อดีตพนักงานการท่าเรือฯ กล่าวว่า ตนต่อสู้คดีมาตั้งแต่ปี 45 ยื่นเรื่องกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทั่งปี 53 ตนกับพวกรวม 29 คนได้เงินจากฟ้องร้องการท่าเรือ จำนวน 24 ล้านบาท ต่อมา พนักงานการท่าเรือรายอื่นฟ้องร้องบ้าง เมื่อปี 56 จึงทำให้ นายกัมปนาท อิ่มแสงจันทร์ พนักงานการท่าเรือมายื่นเรื่องที่ ดีเอสไอ ซึ่งเป็นการส่งหลักฐานเพียงฝั่งเดียว และพนักงานที่เสียหายไม่ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลจึงรู้สึกไม่เป็นธรรมเพราะตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 การท่าเรือฯไม่เคยทำตามกฎหมายฉบับนี้เลย นอกจากนี้ ยังมีการบีบบังคับให้พนักงานท่าเรือถอนฟ้องไปแล้วบางส่วนเนื่องจากกลัวโดนดำเนินคดีตามกฎหมาย

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 30/8/2560

สหภาพฯ ขสมก.ร้องบอร์ดขอเงินสมทบกองทุนฯเพิ่ม

นายวีระพงษ์ วงศ์แหวน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (สร.ขสมก.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานกรรมการบริหารกิจการ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ว่าสหภาพฯได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาขสมก. และจัดสวัสดิการให้พนักงานเพิ่มเติมโดยเสนอให้จ่ายเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงานในอัตรา 12% สำหรับพนักงานที่มีอายุงานต่ำกว่า 20 ปี และในอัตรา 15% สำหรับพนักงานที่มีอายุงาน 20 ปีขึ้นไป, ขอให้เปิดโอกาสให้ พนักงานที่เจ็บป่วยจากการปฏิบัติหน้าที่เข้าโครงการเกษียณอายุ, แก้ไขปัญหาหนี้สินพนักงาน แก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในองค์กร รวมถึงให้สหภาพฯ เข้าไปมีส่วนร่วมกับการประชุมผู้บริหารขสมก

สำหรับกรณีที่ ขสมก.เตรียมขอจัดสรรงบประมาณ 2,000 ล้านบาท จากกระทรวงการคลังเพื่อใช้ในโครงการเกษียณก่อนกำหนดในส่วนของพนักงานเก็บค่าโดยสาร 2,000 คนนั้น สหภาพฯ มองว่ายังต้องใช้เวลาพิจารณา 1-2 ปี ถึงแม้ว่าจะนำระบบ E-Ticket เข้ามาใช้แต่ระยะแรกยังต้องมีพนักงานเก็บค่าโดยสารไว้เพื่ออำนวยความสะดวก อีกทั้งมองว่างบประมาณดังกล่าวมากเกินไปจึงขอให้ทบทวนอีกครั้ง

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานกรรมการบริหารขสมก.กล่าวว่า โครงการการเกษียณก่อนกำหนดของพนักงานเก็บค่าโดยสารยังคงเป็นแค่เพียงแนวคิดและกรอบประมาณการ ที่ได้วางไว้เบื้องต้นยังต้องใช้เวลาในการกำหนดหลักเกณฑ์ทั้งหมดก่อน แต่จะเสนอเป็นกรอบงบประมาณให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังรับทราบ

ที่มา: แนวหน้า, 30/8/2560

สปส.แจ้งผู้ประกันตน 3 แสนรายในโรงพยาบาลที่ถอนตัวออกจากการให้บริการผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม แจ้งเปลี่ยนย้ายโรงพยาบาลใหม่ภายใน 31ต.ค.นี้

ภายหลังจากหลังโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง ทยอยถอนตัวออกจากการให้บริการผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง และสิทธิประกันสังคม ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลถึงความแออัดที่จะเกิดขึ้นในโรงพยาบาลของรัฐ และอาจกระทบกับประชาชนสิทธิบัตรทอง 250,000 คน และผู้ประกันตนประกันสังคมกว่า 300,000 คน

โดยเรื่องนี้ทางสำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจ้งให้ผู้ประกันตนประมาณ 3 แสนคนที่ใช้สิทธิในโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง คือ โรงพยาบาลเกษมราษฎร์รัตนาธิเบศร์ , โรงพยาบาลยันฮี และโรงพยาบาลศรีระยอง ให้แจ้งเปลี่ยนโรงพยาบาลแห่งใหม่ภายในวันที่ 31 ต.ค.นี้ โดยสถานพยาบาลคู่สัญญาสปส.ที่จะให้บริการผู้ประกันตนในปี 2561 มีจำนวน 236 แห่ง เป็นของรัฐ 158 แห่งของเอกชน 78 แห่ง ซึ่งในกรุงเทพมหานครมีของรัฐ 18 แห่ง ที่ยังใช้บริการได้ และสถานพยาบาลของเอกชน อีก 27 แห่ง ส่วนในต่างจังหวัดมีโรงพยาบาลของรัฐและเอกชนให้บริการผู้ประกันตน รวม 191 แห่ง

ทั้งนี้ ข้อมูลของสำนักงานประกันสังคมในปี 2560 ระบุว่า โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการประกันสังคม มีการจำกัดจำนวนผู้ที่จะใช้สิทธิไว้ในแต่ละโรงพยาบาลบางแห่งมีผู้แจ้งขอใช้สิทธิเต็มจำนวนแล้ว อย่างโรงพยาบาลการุญเวช รัตนาธิเบศร์ , การุญเวช สุขาภิบาล 3 , เกษมราษฎร์ ฉะเชิงเทรา , วิภาราม , มิชชั่น , นวมินทร์ , กล้วยน้ำไท และหัวเฉียว

ส่วนที่มียอดใช้บริการเต็มแล้ว คือโรงพยาบาลแพทย์รังสิต , เปาโล โชคชัย 4 , เกษมราษฎร์ บางแค , นวมินทร์ 9 , ลาดพร้าว , เกษมราษฎร์ประชาชื่น และปทุมเวช

 

ที่มา: TNN24, 30/8/2560 http://www.tnnthailand.com/news_detail.php?id=147364&t=news

สปส.จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นขยายอายุเกษียณจาก55เป็น60ปี เพื่อนำข้อเสนอไปปรับปรุงให้เหมาะสม

การประชุมรับฟังความเห็นการปฏิรูประบบบำนาญประกันสังคม จัดโดยสำนักงานประกันสังคม เรื่องประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

โดยนายพนัส ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทยให้สัมภาษณ์ว่า เห็นด้วยกับการขยายอายุเกษียณ จาก 55 เป็น 60 ปี แต่ควรปรับแก้กฎหมายให้ชัดเจน เนื่องจากมองว่าแรงงานปัจจุบันมีสุขภาพแข็งแรงและศักยภาพเพียงพอ ที่จะทำงานต่อไปจนถึงอายุ 60 ปี ขณะเดียวกันเห็นด้วยกับการขยายเพดานเงินเดือนที่ใช้ในการคำนวนยอดสมทบบำนาญชราภาพ เพื่อให้เงินบำนาญของผู้ประกันตนมากขึ้นตามสัดส่วน เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในวัยหลังเกษียณในอนาคต

ด้านนางสาวอำพันธ์ ธุววิทย์ ผู้ตรวจราชการกรมสำนักงานประกันสังคม ระบุว่า เวทีรับฟังความเห็นวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่เพียงพอในอนาคตโดยไม่เป็นภาระให้กับคนรุ่นหลัง ทั้งนี้ในเวทีจะมีการเสนอแนวทางการปฏิรูปการขยายอายุการเกิดสิทธิรับบำนาญชราภาพ 4 แนวทาง ให้ผู้ประกันตนได้รับทราบ รวมถึงแนวทางการปรับสูตรค่าจ้างเฉลี่ยในการคำนวณบำนาญชราภาพ

ทั้งนี้ การจัดเวทีรับฟังความเห็นในส่วนภูมิภาคจำนวน 10 ครั้ง และจัดเวทีครั้งที่ 12 ซึ่งเป็นเวทีสุดท้าย ในวันที่ 28 พ.ย.นี้ เพื่อนำความเห็น ของผู้ร่วมประชุมทั่วประเทศ เข้าเสนอคณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์และสำนักงานประกันสังคมจะนำมาสรุปวิเคราะห์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิรูประบบบำนาญชราภาพให้มีความเหมาะสมต่อไป

ที่มา: TNN24, 31/8/2560

อ้างชื่อกระทรวงแรงงาน หลอกเด็กสมัครเรียนทำงานเรือสำราญ

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กรมการจัดหางานได้รับเบาะแสว่ามีกลุ่มมิจฉาชีพโพสต์ข้อความผ่านทาง Facebook และ Line ชักชวนคนหางานและสมาชิกที่เป็นบุคลากรทางการศึกษาให้ส่งบุตรหลานที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 – ปริญญาตรี อายุระหว่าง 21-33 ปี เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการทำงานบริการบนเรือสำราญในต่างประเทศ เป็นเวลา 6 เดือนกับโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดต่าง ๆ เช่น ตรัง สงขลา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช นครราชสีมา กำแพงเพชร เป็นต้น โดยอ้างว่าอยู่ในความควบคุมของกระทรวงแรงงาน และเมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับการบรรจุเข้าทำงานบนเรือสำราญ มีรายได้ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 34,000 - 70,000 บาทต่อเดือน ไม่รวมทิป ซึ่งจะเก็บค่าสมัครเบื้องต้น 1,000 บาท ค่าชุดยูนิฟอร์ม 8,000 บาท โดยก่อนเข้าอบรมต้องจ่าย 20,000 บาท ระหว่างเรียน 10,000 บาท และก่อนเรียนจบอีก 20,000 บาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 59,000 บาท โดยจะจัดหาที่พักให้ฟรีในระหว่างเรียน ซึ่งหากผู้ใดสนใจให้สมัครได้ตามสถานที่ต่างๆ ที่กำหนด

โรงเรียนที่ฝึกสอนหลักสูตรการทำงานบริการบนเรือสำราญในต่างประเทศดังกล่าวไม่ได้อยู่ในความควบคุมของกระทรวงแรงงานแต่อย่างใด และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เรียนต้องจ่ายลค่าที่พักเอง โดยโรงเรียนจะฝึกอบรมความรู้และทักษะการทำงานบนเรือสำราญให้เท่านั้น แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดส่งผู้เรียนไปทำงานบนเรือสำราญในต่างประเทศได้ตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด หากผู้เรียนประสงค์จะทำงานต้องไปติดต่อหาสมัครงานเอง ซึ่งไม่มีใครรับรองว่าจะได้งานทำหรือไม่ ดังนั้นจึงขอฝากเตือนพี่น้องประชาชน ขอให้ตรวจสอบและพิจารณาให้รอบคอบว่าการฝึกอบรมดังกล่าวคุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปหรือไม่เพียงใด สอบถามข้อมูลหรือแจ้งเรื่องร้องเรียน/ร้องทุกข์ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือที่กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน กรมการจัดหางาน หรือที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd หรือโทร. 0 2245 6763 หรือสายด่วน 1694

ที่มา: VoiceTV, 2/9/2560

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net