Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ผ้าทอหนึ่งผืน บอกอะไรเรามากกว่าเครื่องนุ่งห่มเพื่อซ่อนเร้นความโป๊เปือย และมากกว่าความสวยงามของลวดลาย คือเรื่องราวอันยาวนานที่ถูกเล่าขานผ่านด้ายทอ

บ้านสวาย คือหนึ่งในชุมชนทอผ้าที่มีดีมากกว่าผ้าทอ

ย้อนกลับไปในสมัยปลายยุคหินหรือยุคโลหะประมาณ 6000 ปีก่อน จากการขุดพบหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านเชียง และบ้านนาคี อ.หนองหาน จ.อุดรธานี พบเศษผ้าที่ติดกับสัมภาระเครื่องมือเครื่องใช้ พร้อมอุปกรณ์ทอผ้าชนิดต่างๆ อันเป็นสิ่งยืนยันทางประวัติศาสตร์ ถึงวัฒนธรรมการทอผ้าซึ่งมีมายาวนานมากกว่าสิบช่วงอายุคน

วัฒนธรรมการทอผ้าได้แพร่หลายไปตามดินแดนอุษาคเนย์ เครื่องนุ่งห่มแต่ละท้องถิ่น มีกระบวนการและลวดลายแตกต่างกันไป สำหรับตำบลสวาย อ.เมือง จ.สุรินทร์ คือชุมชนทอไหมที่มีชื่อเสียงของจังหวัด เพราะมากกว่าลวดลายที่หลากหลาย และสีย้อมที่รังสรรค์จากจินตนาการ คือภูมิปัญญาทอไหมอย่างภาคภูมิ ส่งต่อและสืบทอดจากรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่งจนเกิดความชำนาญ อีกทั้งเชี่ยวชาญพลิกแพลงวิธีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นใจ

การเลี้ยงไหมมีความละเอียดละอ่อนและซับซ้อนอย่างมาก กว่าตัวไหมโตเต็มวัย ความสะอาดของพื้นที่ สภาพอากาศที่ต้องถ่ายเท คือข้อคำนึงถึง เพราะอากาศที่ร้อนจัดในหน้าร้อน หนาวเหน็บในหน้าหนาว ชาวอีสานต้องเผชิญกับโรคภัยของตัวไหม บ่อยครั้งที่สภาพอากาศเป็นสาเหตุต้นๆ ที่ทำให้หนอนไหมตาย

เกือบทุกครัวเรือนของที่แห่งนี้ ประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ด้วยความไม่แน่นอนของกลไกตลาดข้าว เม็ดเงินจากผลผลิตที่มีอาจไม่เพียงพอต่อคนในครอบครัว กลุ่มสตรีทอไหมจึงรวมตัวกัน อาศัยต้นทุนจากเครื่องมือทอผ้า สร้างมูลค่าให้กับผ้าทอของกิจวัตรประจำวัน ส่งออกสู่ตลาดผ้าไหมไทย ดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้ามาเรียนรู้ ซื้อใช้ 

ตามปกติ ชาวอีสานจะเริ่มปลูกข้าว ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 3 – 4 เดือนจึงเก็บเกี่ยว เวลาว่างตรงนี้เอง ผู้หญิงจะเริ่มทอผ้าฝ้ายสำหรับสิ่งของเครื่องใช้ในปัจจัยสี่ เช่น ผ้านุ่ง ผ้าห่ม ผ้าปู เป็นต้น แต่นอกจากทอฝ้ายเพื่อข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือนแล้ว การทอไหมก็เป็นสิ่งจำเป็นด้วยเช่นกัน เพราะต้องใช้ความประณีต ระยะเวลา และความอดทนเป็นอย่างมาก ทุกกระบวนการคือความใส่ใจ และเป็นเครื่องแสดงความสามารถของหญิงอีสานอีกด้วย

ทุกครัวเรือนต้องมีกี่ทอผ้า และกี่ทอผ้าจะเป็นสมบัติส่วนตัวของผู้หญิงในบ้าน

หากเดินลัดเลาะไปตามบ้าน เราเห็น ‘กี่ทอผ้า’ ทุกครัวเรือน ในแง่หนึ่งคือ สถานที่แห่งนี้เป็นชุมชนทอผ้าใต้ถุนเรือนที่เกิดจากการอนุรักษ์วัฒนธรรมทอผ้าของชุมชนไว้ จนเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่นๆ ของจังหวัดสุรินทร์และแถบอีสานใต้ แต่อีกแง่หนึ่งคือกุศโลบายของคนเฒ่าคนแก่ เพราะนอกจากเป็นสินสอดในพิธีแต่งงานแล้ว ยังกลายเป็นเครื่องมือทำกินทำใช้ของครัวเรือนโดยไม่ต้องซื้อหาให้สิ้นเปลือง

ประเพณีการแต่งงานของบ้านสวายตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ฝ่ายชายจะเริ่มประดิษฐ์กี่ทอ สลักลวดลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว เพื่อเป็นเครื่องสมาอย่างหนึ่งที่มอบให้หญิงยอดรักในพิธีแต่งงาน ขณะเดียวกัน ฝ่ายหญิงจะเริ่มทอผ้าเป็นเครื่องนุ่งห่มทั้งผ้าฝ้าย และผ้าไหม โดยใช้กี่ทอผ้าของแม่ เพื่อมอบให้กับฝ่ายชายอันเป็นเครื่องผูกมัดความรักของทั้งสอง ลายที่หลากหลายกับความซับซ้อนของผ้าทอ คือเครื่องการันตีความเก่งกาจ และเหมาะสมแก่ชายคู่ครอง ด้วยเหตุนี้เอง ทุกบ้านจึงมีเครื่องทอเป็นสมบัติประจำบ้าน

นอกจากปัจจัยขั้นพื้นฐาน และเครื่องแสดงความพร้อมของผู้หญิง ผ้าเองก็มีบทบาทหน้าที่อย่างมากในพิธีกรรมซึ่งผลัดเปลี่ยนไปตามฤดูกาล เช่น ฤดูร้อน – เซ่นปู่ตาเปิดป่า-เปิดดง บุญข้าวจี่ บุญพะเวส สงกรานต์ และบุญผ้าป่า, ฤดูฝน – เข้าพรรษา เทศการแห่เทียน การแต่งงาน, ฤดูหนาว – บุญกฐิน ลอยกระทง บุญข้าวเปลือก บุญข้าวจี่ เป็นต้น รวมไปถึงพิธีการเกิด พิธีบวช และพิธีศพ ซึ่งจะขาดผ้าเพื่อประกอบพิธีกรรมไม่ได้เลย

 ความแนบชิดระหว่างชีวิตกับผ้าทอ แทบจะแยกกันไม่ออก

สำหรับผู้หญิงในชุมชนบ้านสวาย สืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าด้วยวิธีครูพักลักจำ ด้วยบริบทและต้นทุนที่พร้อม เด็กหญิงของทุกบ้านจะทอผ้าใช้เองเป็น และเริ่มลวดลายยากๆ ตามความชำนาญที่สั่งสมมา ไม่เพียงแค่เด็กหญิงเท่านั้น ทุกวันนี้เด็กชายที่มีความสนใจก็สามารถฝึกหัดได้เช่นกัน การทอผ้า จึงไม่ใช่เรื่องของหญิงเพียงฝ่ายเดียวสำหรับที่แห่งนี้

ปัจจุบันบ้านสวายได้กลายเป็นชุมชนทอผ้าที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสุรินทร์ ด้วยการอนุรักษ์วิถีทอผ้าใต้ถุนเรือน ประกอบกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ได้เข้ามาช่วยส่งเสริม และแก้ไขปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามมาตราฐาน จัดการตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ พัฒนาและแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ตลาดคนซื้อ จึงกลายเป็นชุมชนเข้มแข็งที่ยืนด้วยความภูมิใจในวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของตัวเอง เหนือสิ่งอื่นใดคือความร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องในชุมชน

ทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของคนในชุมชนนี้ ไม่ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นสินค้า เพราะหากเป็นเช่นนั้น เจ้าของทางวัฒนธรรมจะสูญเสียความสามารถในการควบคุมไป ในแง่หนึ่งก็ลดทอนความเป็นตัวตนของชุมชนลง แต่สำหรับบ้านสวาย จ.สุรินทร์ ได้สร้างสรรค์คุณค่าจากสิ่งที่มีทุกครัวเรือน เรียงร้อยจนเกิดเป็นลวดลายที่มีเรื่องเล่าให้ขับขานไม่รู้จบ ไม่ใช่เพราะผ้าทอกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่เป็นทุกส่วนของชีวิตพวกเขาต่างหาก

สำหรับคนในชุมชนสวาย มองว่าผ้าหนึ่งผืน ไม่ได้บอกราคาตีมูลค่า หรือดีเด่ไปกว่าความงามจากสวมใส่ แต่หากมีความหมายมากกว่า ‘ชีวิต’ ที่คนในบ้านสวายร่วมกันถักทอ เกิดเป็นลวดลายที่ยังไม่สิ้นลมหายใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net