19 แกนนำ นปช. ขึ้นศาลทหาร คดีแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ

ศาลนัดสอบคำให้การ คดี 19 แกนนำ นปช.แถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ ฝืนคำสั่ง คสช. มั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน 'ธิดา' ยันเปิดศูนย์ฯ ปรารถนาดี เพื่อออกเสียงโปร่งใสและได้รับการยอมรับ ไม่ต่างจากตรวจสอบการเลือกตั้ง

ภาพขณะ จตุพร เดินทางจากเรือนจำมาศาลทหาร ที่มาภาพ เพจ Jatuporn Prompan - จตุพร พรหมพันธุ์

5 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (5 ก.ย.60) เมื่อเวลา 9.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพฯ ศาลนัดสอบคำให้การ คดี 19 แกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ที่ 7/2557 ห้ามมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป จากกรณีที่ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวศูนย์ปราบโกงประชามติ ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2559 โดยแกนนำ นปช. 19 คน ประกอบด้วย ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช., ธิดา ถาวรเศรษฐ, จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ, นพ.เหวง โตจิราการ, ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ, ยงยุทธ ติยะไพรัช, ก่อแก้ว พิกุลทอง, วีระกานต์ มุสิกพงศ์, สงคราม กิจไพโรจน์, สมหวัง อัศราศี, ธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ์, เกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์, อารี ไกรนรา, สมชาย ใจมุ่ง, พรศักดิ์ ศรีละมุด ศักดิ์รพี พรหมชาติ และนิสิต สินธุไพร

ขณะที่ กรมราชทัณฑ์ นำตัว จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ที่อยู่ระหว่างถูกจำคุกในคดีหมิ่นประมาท อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าสั่งฆ่าประชาชน ในการปราศัยเวทีชุมนุมกลุ่ม นปช. เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา และ ยศวริศ ชูกล่อม ถูกจำคุกในคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยทั้งสองมีสีหน้ายิ้มแย้มทักทายมวลชนที่เดินทางมาให้กำลังใจประมาณ 20 คน

วิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์ นักกฎหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส) ในฐานะทนายความ แกนนำกลุ่ม นปช. กล่าวว่า วันนี้ทางศาลทหารได้นัดสอบคำให้การ แต่เนื่องจากวันนี้วันนี้ ศักดิ์รพี พรหมชาติ ไม่สบาย คาดว่าอาจจะมีการเลื่อนนัดสอบคำให้การออกไป ส่วน นิสิต สินธุไพร ยังเดินทางมาไม่ถึง แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับศาลว่าจะมีคำสั่งเช่นใด

ด้าน ธิดา ถาวรเศรษฐ แกนนำ นปช. ยืนยันว่า การเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติเป็นความปรารถนาดี เพื่อให้การออกเสียงประชามติมีความโปร่งใสและได้รับการยอมรับ ซึ่งกระบวนการที่ทำไม่ต่างจากกระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง และเป็นเพียงการแถลงข่าวอย่างเปิดเผยถึงกระบวนการทำงานของกลุ่ม ไม่ได้มีการยุแหย่ หรือให้มีการชุมนุมทางการเมืองแต่ประการใด ทั้งนี้คดีดังกล่าวเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่เปิดศูนย์ปราบโกงแล้วมีคนที่ถูกกล่าวหามากที่สุดในช่วงนี้ ทั้งแกนนำ นปช. และผู้มาร่วมงานก็ถูกกล่าวหาทั้งหมด

นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. กล่าวอ้างถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรฯ ที่มีการประชุมหลายสิบคนเช่นกัน ว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ ก่อนยืนยันว่า การเปิดศูนย์ปราบโกงของ นปช. ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นการเชิญชวนคนมาร่วมกันตรวจสอบและออกเสียงประชามติ โดยตั้งข้อสงสัยถึงมาตรฐานด้านความยุติธรรม เพราะหากไม่มีมาตรฐานแล้ว การเดินหน้าปรองดองประกาศสัญญาประชาคม จะทำให้เกิดความปรองดองได้จริงหรือไม่ 

ก่อนกล่าวถึงกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ 7 ตุลาคม 2551 ที่ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจและแก๊สน้ำตา เทียบกับ เหตุการณ์สลายการการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง พฤษภา 2553 ที่มีการใช้กำลังทหาร 3 เหล่าทัพและกระสุนจริง 2 แสนกว่านัด ว่าเป็นการกระทำสองมาตรฐาหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นประเทศนี้จะหาความยุติธรรมไม่ได้ การสมานฉันท์ปรองดองจะไม่เกิด

สำหรับการดำเนินคดีกรณีการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติ นอกจาก 19 แกนนำ นปช. แล้ว ยังมี นปช. และประชาชน ที่ร่วมเปิดศูนย์ฯ ดังกล่าวตามต่างจังหวัดหลายจังหวัด ถูกเจ้าหน้าที่รัฐใช้มาตรการต่างๆ เช่น การนำตัวเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ การดำเนินคดี เป็นต้น 

ที่มา : Voice TV และกรุงเทพธุรกิจออนไลน์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท