Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

 

ในทางการเมืองการปกครองโดยทั่วไป รัฐต่างๆต้องมีหลักการบริหารประเทศ ในทางรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ และนิติศาสตร์นั้น  นอกจากรัฐต้องใช้อำนาจที่อาศัยกฎหมายรองรับเพื่อบริหารประเทศและทำให้ประชาชนเชื่อฟังแล้ว ประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องมีรัฐบาลบริหารประเทศ มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา และจัดการนโยบายรัฐและนโยบายรัฐบาลในทางปฏิบัติให้เป็นไปตามที่แถลงไว้นั้นเป็นสำคัญ

ในอดีตที่ผ่านมา หลายประเทศประชาธิปไตยมีการประกาศใช้กลยุทธ์ระดับชาติ (National strategy) ที่ในประเทศไทยเรียกว่ายุทธศาสตร์ชาติ เพื่อเสริมนโยบายรัฐบาล เช่น มาเลเซีย อังกฤษ อินเดีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และ ไทย แต่ก็มีประเทศตามที่กล่าวถึงนี้ กลับเอายุทธศาสตร์ชาติมาเป็นหลัก แล้วทำให้นโยบายรัฐบาลเป็นรอง ดังที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศไทยปัจจุบัน เรื่องนี้ไม่ถูกหลักวิชาสักเท่าใด หากทำไปก็เสมือนเอาเรื่องเล็กมาทำเป็นเรื่องหลักหรือเรื่องใหญ่ และ เอาเรื่องหลักไปเป็นเรื่องรองหรือทำให้เป็นเรื่องสำคัญน้อยเสีย ทำไปนานๆเข้าก็จะหลงทางจัดระบบงานสับสน และไม่คุ้มค่าภาษีของประชาชนที่เอามาบริหารประเทศ เราจะแก้ไขเรื่องนี้ให้ถูกต้องได้อย่างไร?

นโยบายศาสตร์และยุทธศาสตร์ครอบคลุมและสะท้อนถึงอะไรบ้าง นักวิชาการที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง ในด้านรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์หรือการบริหารงานสาธารณะ อาทิ Woodrow Wilson ผู้ริเริ่มวางรากฐานการสร้างศาสตร์ทางการบริหารประเทศ และการส่งเสริมความไปด้วยกันของประชาธิปไตยและสันติภาพสู่ประเทศทั่วโลก Harold Lasswell ผู้นำในการพัฒนานโยบายศาสตร์ (Policy Science) และ Thomas R. Dye เจ้าพ่อของการจัดระบบองค์ความรู้ด้านนโยบายสาธารณะ ล้วนให้ความสำคัญต่อการเมืองและรัฐบาลตรงนโยบายรัฐและนโยบายรัฐบาลกันเป็นหลัก โดยสาระแห่งนโยบายจะสนองตอบเจตจำนงแห่งรัฐ (State will) ที่สะท้อนมาจากเจตจำนงในทางการเมืองของประชาชน (Political will) ซึ่งก็คือวิสัยทัศน์เชิงเป้าหมาย (Goal) โดยส่วนรวมของคนในชาติ อันเป็นภาพฝันหรือความต้องการของประชาชนในรัฐนั้นๆ ที่ทุกฝ่ายต้อง (พึง) ช่วยกันทำให้บรรลุผล ส่วนหลักวิชาด้านยุทธศาสตร์ (Strategy) นั้น เป็นเรื่องที่เน้นวิธีการ (Means) เพื่อตอบสนองเป้าหมาย คือการชนะข้าศึก ซึ่งมีฐานมาจากยุทธการทางการรบของทหารในสงคราม และต่อมาถูกเอามาใช้ในวงการธุรกิจเพื่อทำให้บริษัทสามารถแข่งขันเอาชนะคู่ต่อสู้ เสมือนการทำสงครามธุรกิจกัน ภาครัฐก็ไปหยิบเรื่องนี้มาใช้กับเขาด้วย เพราะเห็นว่าธุรกิจเอกชนเขามีหลักการและวิธีการจัดการอะไรๆใหม่ๆที่น่าสนใจ ซึ่งหากรัฐบาลเอามาปรับใช้บ้าง ก็น่าจะทำให้รัฐบาลสามารถบริหารงานสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การทำความกระจ่างในเรื่องนโยบายศาสตร์และยุทธศาสตร์อย่างเป็นพื้นฐาน ข้าพเจ้าเห็นว่า เราจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างเป็นสากล และในระดับระหว่างประเทศ มากกว่าการพิจารณาเฉพาะในบริบทสังคมไทยเท่านั้น และเพื่อไม่ซับซ้อนเกินไป เห็นว่าควรเริ่มพิจารณาจากพจนานุกรมสาธารณะฉบับสำคัญๆ ในระดับโลกนำประกอบการสาธยายความ โดยจะยึดถือพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของไทยเล่มเดียวก็ไม่ได้ แต่หากจะเอาตำราต่างๆ มาอ้างถึงด้วยก็จะละเอียดลออเกินกว่าบทความสาธารณะชิ้นนี้ พึงนำเสนอ โดยอาจต้องไปเขียนเป็นบทความวิชาการต่างหาก

พจนานุกรมเมร์เรียม-เว็บส์เตอร์ (Merriam-Webster Dictionary) ที่มีชื่อเสียงของสหรัฐอเมริกาและผลิตงานในเครือสารานุกรม Encyclopedia Britannica ของอังกฤษ ให้นิยาม Policy Science (นโยบายศาสตร์) ว่าคือ “สังคมศาสตร์ที่เป็นเรื่องของการสร้างนโยบายระดับสูง (ตามที่ใช้กันในรัฐบาลหรือธุรกิจ)” [a social science dealing with the making of high-level policy (as in a government or business)] และในพจนานุกรมฉบับเดียวกันนี้ กล่าวถึง Strategy (ยุทธศาสตร์/กลยุทธ์/ยุทธวิธี) ว่า “ก (1): ศาสตร์และศิลป์ของการใช้พลังอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังทางทหารของประเทศหรือกลุ่มประเทศ เพื่อที่จะให้การสนับสนุนอย่างสูงสุดต่อนโยบายที่ได้รับเอามาใช้ ในยามสงบหรือในยามสงคราม, (2): ศาสตร์และศิลป์ของการบัญชาการทางทหารที่กระทำต่อศัตรูในการสู้รบภายใต้เงื่อนไขที่ได้เปรียบ, ข: ความหลากหลายของหรือตัวอย่างของการใช้กลยุทธ์” [a (1) :  the science and art of employing the political, economic, psychological, and military forces of a nation or group of nations to afford the maximum support to adopted policies in peace or war (2) :  the science and art of military command exercised to meet the enemy in combat under advantageous conditions, b :  a variety of or instance of the use of strategy]

ในพจนานุกรมอ็อกฟอร์ด ได้นิยาม Policy Science ว่าหมายถึง “การศึกษาอย่างเป็นระบบถึงการจัดทำและการปฏิบัติตามนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นโยบายสังคม; สาขาวิทยาการที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรื่องนี้” (The systematic study of the making and implementation of policy, especially social policy; any of the academic disciplines which deal with this study)  และให้นิยาม Strategy ว่า หมายถึง แผนปฏิบัติการที่ถูกออกแบบขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายระยะยาวหรือโดยรวม (A plan of action designed to achieve a long-term or overall aim) และให้นิยาม Policy ว่า “แนวทางหรือหลักการของการกระทำที่เอามาใช้หรือนำเสนอโดยองค์การหรือบุคคล (A course or principle of action adopted or proposed by an organization or individual.)

พจนานุกรมแคมบริด์จ (Cambridge Dictionary) ให้นิยาม Strategy ว่าหมายถึง “แผนที่ให้รายละเอียดสำหรับการบรรลุความสำเร็จในสถานการณ์ต่างๆ เช่น สงคราม การเมือง ธุรกิจ อุตสาหกรรม หรือ กีฬา หรือทักษะของการวางแผนสำหรับสถานการณ์เหล่านั้น”  (a detailed plan for achieving success in situations suchas warpolitics, businessindustry, or sport, or the skill of planning for such situations) และให้ความหมาย Policy อันเป็นส่วนย่อยของนโยบายศาสตร์ว่า หมายถึง “ชุดความคิดหรือแผนสำหรับการจะทำอะไรในสถานการณ์หนึ่งๆ  ที่ตกลงกันมาอย่างเป็นทางการโดยกลุ่มของประชาชน องค์การธุรกิจ รัฐบาล หรือพรรคการเมือง (a set of ideas or a plan of what to do in particular situations that has been agreed to officially by a group of people, a business organization, a government, or a political party)

หากเชื่อมเอารัฐศาสตร์ (Political Science) มาเกี่ยวข้องด้วย รัฐศาสตร์ก็ยังอยู่เหนือความคิดแบบยุทธศาสตร์ และเป็นพันธมิตรกับนโยบายศาสตร์ โดยพจนานุกรมแคมบริด์จให้ความหมายกับ Political Science ว่าหมายถึง “การศึกษาว่าทำอย่างไรประชาชนจะได้มา หรือแข่งขันกันเพื่อได้มาซึ่งอำนาจ และอำนาจจะถูกใช้อย่างไรในการปกครองประเทศ) (the study of how people get or compete for power and how it is used in governing a country) โดยการใช้อำนาจของรัฐก็คือ การที่รัฐบาลเอานโยบายที่ตกลงกับประชาชนไปบริหารให้เกิดผลจริง โดยการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รัฐไปดำเนินการตามกฎหมาย และกำกับโดยรัฐบาลนั่นเอง

แต่ในประเทศไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้นิยามยุทธศาสตร์ ดังนี้

“(1) น. วิชาว่าด้วยการพัฒนาและการใช้อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังรบทางทหารตามความจำเป็นทั้งในยามสงบและยามสงคราม. (2) ว. ที่มีความสำคัญทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังรบทางทหาร ทั้งในยามสงบและยามสงคราม เช่น จุดยุทธศาสตร์.”

นับว่าเป็นการให้นิยามในสังคมไทยที่เดินตามแนวพจนานุกรมเมร์เรียม-เว็บสเตอร์อยู่มาก แต่เพิ่มเติมว่าเป็น “การพัฒนาอำนาจ.....” เข้าไปด้วย แต่ในขณะเดียวกัน กลับไม่มีคำว่า “นโยบาย” ที่ยุทธศาสตร์ต้องรับเอามาใช้หรือขึ้นต่อ อยู่ในนิยามดังกล่าว!  

ในส่วนคำว่า “นโยบาย” นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ได้นิยามว่า “น. หลักและวิธีปฏิบัติซึ่งถือเป็นแนวดำเนินการ. (ป. นย + อุปาย).” ส่วน “กลยุทธ์” พจนานุกรมฉบับนี้ ได้นิยามว่า “น. การรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม, วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่างๆ, เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้.” แต่คำว่า "นโยบายศาสตร์" ยังไม่มีคำนิยามโดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานของไทย

ในแวดวงวิชาการไทยโดยทั่วไป มีการแปล “Strategy” ว่า “ยุทธศาสตร์” หรือ “ยุทธศิลป์” และบางท่านก็เห็นว่า “Strategy” ยังแปลได้ว่า “กลยุทธ์” และ “ยุทธวิธี” หรือบางท่านก็เห็นว่า “ยุทธวิธี” ควรตรงกับคำว่า “Tactic” มากกว่า โดยกลยุทธ์เป็นเรื่องแนวคิด ส่วนยุทธวิธีเป็นเรื่องวิธีการ เป็นต้น

จากความหมายเหล่านี้ สะท้อนว่านโยบายสำคัญกว่ากลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ โดยกลยุทธ์รับใช้นโยบายและรับใช้เป้าหมายระยะยาว  และแม้พจนานุกรมอ็อกฟอร์ด จะให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อนโยบายสังคม ในการยกตัวอย่างนิยามของนโยบายศาสตร์ แต่หากเราศึกษานโยบายสังคมที่ประเทศอังกฤษเขาใช้กัน ขอบเขตของมันก็คือนโยบายแบบรัฐสวัสดิการของประเทศ อันครอบคลุมกว้างขวางข้ามหลายกระทรวง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรัฐประชาธิปไตยสมัยปัจจุบันนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ในระดับสากล กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ยังมีสถานะเป็นเพียงแนวทางและแผนปฏิบัติการที่ให้รายละเอียดเพื่อตอบสนองเป้าหมายระยะยาวหรือเป้าหมายรวม มิใช่ว่ากลยุทธ์ (หรือยุทธศาสตร์) เป็นแผนงานระยาวในตัวของมันเองโดยธรรมชาติ ดังที่มีผู้เข้าใจผิดกันอยู่ แต่นโยบายต่างหากที่เป็นเรื่องระดับบน ครอบคลุมกว้างขวาง และใกล้ชิดกับความเป็นระยะยาวของสาระและการบรรลุวัตถุประสงค์แห่งรัฐ (ดังจะกล่าวถึงในภายหลัง)

ประกอบกับนโยบายศาสตร์ครอบคลุมการบริหาร “รัฐการ” ทั้งปวง สำหรับในบทความนี้ และในระดับการบริหารการพัฒนาประเทศของรัฐประชาธิปไตยแล้ว ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า หากจะแปล “Strategy” ว่า “กลยุทธ์” จะเหมาะสมกว่าแปลว่ายุทธศาสตร์ อันสื่อไปในทางศาสตร์หรือวิทยาการแห่งความรู้ มิใช่แผนงานระดับชาติของรัฐ แต่อย่างไรก็ตาม ในข้อเขียนชิ้นนี้ก็จะใช้คำว่ากลยุทธ์เทียบเท่ายุทธศาสตร์ในฐานะแผนงานระดับชาติโดยอนุโลม และวางมันระหว่างนโยบายที่อยู่เหนือกว่า เพื่อเชื่อม “ยุทธวิธี” ปลีกย่อยที่อยู่ล่างสุด แบบ “นโยบาย – กลยุทธ์ – ยุทธวิธี” ก็จะเกิดความลงตัวในหลักตรรกะระหว่างกัน มากกว่าการทำให้สองเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือนโยบายและกลยุทธ์ (หรือยุทธศาสตร์) ซ้อนทับ คลุมเครือระหว่างกัน หรือกลับหัวกลับหางกันที่เอากลยุทธ์มาอยู่เหนือนโยบาย

การบรรลุนโยบายรัฐในทางนามธรรมที่ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใดๆ เป็นการเฉพาะ อันบ่งบอกไว้หรือแฝงอยู่ในรัฐธรรมนูญโดยทั่วไป ย่อมอาศัยนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆที่ผลัดกันเข้ามาทำหน้าที่เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในทางปฏิบัติในช่วงเวลาหนึ่งๆ และก็ยังมียุทธศาสตร์ชาติหรือกลยุทธ์ทางการบริหารปลีกย่อยอีก ในแต่ละภารกิจของรัฐ ในฐานะเครื่องมือสนับสนุนให้รัฐบาลสามารถบริหารงานเป็นไปตามนโยบายดังกล่าวนั้น ยิ่งเมื่อนโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญ หรือ นโยบาย (แห่ง) รัฐ และนโยบายรัฐบาล (อาจเรียกรวมสองประการนี้ว่า “นโยบายชาติ” หรือ “นโยบายของประเทศ”) สะท้อนเจตจำนงแห่งอำนาจอธิปไตยของประชาชน ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยด้วยแล้ว ยุทธศาสตร์ชาติของข้าราชการประจำหรือนักคิดเชิงกลยุทธ์ที่เป็นนักเหตุผลนิยม (Rationalist) หรือนักเทคโนแครทขายฝันในหน่วยงานรัฐ ดังเช่น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หน่วยงานที่ควบคุมการทำแผนพัฒนาประเทศไทยมาตลอด จะมาเหนือกว่านโยบายที่ประชาชนต้องการหรือสนับสนุน และที่สัมพันธ์กันอย่างเป็นประชาธิปไตยระหว่างนโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญกับนโยบายรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งไม่ได้

การมองอย่างถูกต้องก็คือ ต้องให้นโยบายรัฐบาลเป็นสิ่งจูงใจความตื่นตัว อย่างมีชีวิตชีวาของประชาชนในการร่วมกันสร้างชาติ ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย คือ ก่อนเลือกตั้ง ในช่วงขณะเลือกตั้ง และ หลังการเลือกตั้ง เน้นสาระของนโยบายที่เป็นเป้าหมาย และอาศัยนโยบายแขนงต่างๆ เชิงทางเลือก วิธีการ กระบวนการ และภายใต้ข้อเสนอนโยบายทั้งหลาย พรรคการเมืองก็อาจนำเสนอกลยุทธ์ หรือยุทธวิธีปลีกย่อยที่แตกออกมาสนับสนุนนโยบายสาธารณะเหล่านั้น พรรคการเมืองและรัฐบาลเอง หากได้รับการวางรากฐานหรือพัฒนาไปอย่างมีคุณภาพ ก็ย่อมสามารถวางนโยบายสาธารณะให้มีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยาว เช่น 1 – 5 ปี คือนโยบายระยะสั้น ถัดมา มากกว่า 5 – 10 ปีคือนโยบายระยะกลาง และเกินกว่า 10 ปี คือนโยบายระยะยาว เป็นต้น และเป็นจริงได้เพราะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งอย่างต่อเนื่องในระยะเวลานานกว่า 10 ปี ซึ่งก็เกิดขึ้นจริงหลายประเทศที่ประชาธิปไตยมั่นคง เช่น สิงคโปร์ภายใต้พรรคกิจประชาชนที่เป็นรัฐบาลถึงปัจจุบันต่อเนื่องมาร่วม 60 ปี สวีเดนภายใต้พรรคสังคมประชาธิปไตยที่เคยเป็นรัฐบาลต่อเนื่องร่วม 35 ปี เยอรมนีภายใต้พรรค CDU-CSU ที่เคยเป็นรัฐบาลต่อเนื่องสี่สมัย 16 ปี และอังกฤษภายใต้พรรคอนุรักษ์นิยมที่เคยเป็นรัฐบาลต่อเนื่องสามสมัย 12 ปี เป็นต้น

กิจกรรมในประเทศ ในระดับที่ต่ำกว่าความเป็นรัฐที่เป็นส่วนย่อยๆในสังคม เช่น ในบริษัทธุรกิจ หรือองค์การอื่นๆ การวิเคราะห์ทางกลยุทธ์ขององค์การ (หากอาศัยตัวแบบการวิเคราะห์ SWOT or TOWS  – Analysis ที่นิยมกันแพร่หลาย) นั้น ผลผลิตที่ได้คือ นโยบายจะถูกวางไว้ถัดจากวิสัยทัศน์ ภารกิจ และ เป้าหมาย และอยู่เหนือกลยุทธ์  โดยสอดคล้องเป็นการทั่วไปกับการให้ผู้บริหารระดับสูงกำหนดนโยบาย แล้วผู้บริหารระดับกลางและต่ำลงมาจะกำหนดกลยุทธ์และยุทธวิธี ตามนโยบายที่หน่วยเหนือตีกรอบไว้ให้ แต่ก็มีกูรูขององค์การธุรกิจจำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นที่ปรึกษารับจ้างทำแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจและองค์การ จะให้คุณค่าต่อกลยุทธ์มากกว่านโยบายขององค์การ ทั้งนี้เพราะบริษัทธุรกิจเน้นการยืดหยุ่น และเห็นว่ายุทธวิธีในการแข่งขันเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวดต่อความอยู่รอดขององค์การ และเปลี่ยนแปลงได้ง่ายกว่านโยบายที่ค่อนข้างนิ่งกว่า แต่ก็ต้องปฏิบัติตาม อย่างไรก็ตาม ในการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งมิใช่บริษัทเอกชนหรือองค์การหนึ่งๆ ข้าพเจ้าสังเกตพบว่าเมื่อกล่าวถึงสิ่งที่รัฐบาลควรทำหรือไม่ควรทำ นโยบายสาธารณะจะเป็นเรื่องที่ชาวประชาธิปไตยทั่วโลกให้เกียรติกับคำนี้ว่ายิ่งใหญ่กว่ายุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์หรือยุทธวิธีที่ใช้เสริมการบรรลุนโยบายต่างๆ ด้วยการเอาทรัพยากรต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณและบุคคลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้น หากเอาการวิเคราะห์ SWOT ไปใช้วิเคราะห์ประเทศแล้ว ก็ต้องเอาประชาธิปไตยของประชาชนไปตรวจสอบหรืออนุมัติทางเลือกยุทธศาสตร์ของประเทศจากการวิเคราะห์ดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

การที่จะเอาความรู้ทางการบริหารกลยุทธ์ขององค์การธุรกิจดังกล่าวมาใช้ในงานของรัฐบาล เพื่อทำให้เกิดยุทธศาสตร์ชาติที่มีสภาวะอันยิ่งใหญ่ เป็นหัวกระบวนแม่บทของการบริหารประเทศที่จะแผ่ปกคลุมไปทั่วประเทศ เหนือนโยบายรัฐบาลเชิงบังคับนั้น จึงนับว่าทักทึกเอามากเกินไป (Over claim) สุ่มเสี่ยงในสังคมประชาธิปไตย (และผู้มีอำนาจ ก็คงไม่เฉลียวใจว่าจะสุ่มเสี่ยงในสังคมการเมืองแบบเผด็จการเองด้วย) เพราะหลักการและวิธีการที่ได้มาซึ่งนโยบายและการบริหารนโยบายการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น มันมีอยู่แล้วในความรู้ทางนโยบายสาธารณะหรือนโยบายศาสตร์ อันเป็นความรู้แม่บทที่มีรายละเอียดปลีกย่อย อันสามารถเชื่อมโยงได้ตลอด ตั้งแต่การพัฒนานโยบายของพรรคการเมือง การใช้นโยบายหาเสียง การเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล การประกาศใช้นโยบาย การนำนโยบายไปปฏิบัติผ่านระบบแผนงานและกลไกต่างๆของรัฐ และการปรับปรุงนโยบาย รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ความเหมาะสมกว่า จึงก็คือการบูรณาการกิจกรรมเชิงยุทธศาสตร์ให้เข้ากับกระบวนการผลิตและปฏิบัติตามนโยบายของรัฐในระบอบประชาธิปไตยอย่างลงตัวให้ได้ ซึ่งสมควรอาศัยการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่องเข้าช่วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบและนำไปใช้อย่างขยายผลในโอกาสต่างๆที่จะเป็นไปได้

นอกจากนี้ หากเอาปรัชญาทางศาสตร์ มาจับแล้ว ยุทธศาสตร์ในความหมายขององค์ความรู้ที่เป็นศาสตร์จริงๆ ก็ยังอ่อนปวกเปียก ไม่มีทฤษฎีที่มีน้ำหนักและจำนวนมากพอมาใช้เป็นแม่บทแห่งความรู้ในการบริหารประเทศ สู้นโยบายศาสตร์ไม่ได้เลยเพราะมีทฤษฎีประกอบมากมายและมีความเป็นจริงเชิงประจักษ์รองรับมากกว่า คือ ในขณะที่ยุทธศาสตร์ในทางวิทยาการ (Discipline) เพื่อการบริหารประเทศ ยังไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นยุทธศาสตร์หรือศาสตร์ว่าด้วยกลยุทธ์ (Strategy science) โดยตนเองได้อย่างแท้จริง แต่สิ่งที่มีคือ ความคิดที่กะเก็ง (Speculation) ว่ากลยุทธ์ที่วิเคราะห์ได้ ควรจะถูกนำไปใช้ แต่มิได้รับรองว่าจะได้ผลจริง

หากไม่เอาความรู้ด้านยุทธศาสตร์ กลยุทธ์ และยุทธวิธี ในการทำสงครามของปรมาจารย์ที่โดดเด่น เช่น ตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ (Sun Tzu) ของซุนวู (Sun Wu) และ ตำรา “On War”  (Vom Kriege)  ของ Carl von Clausewitz ซึ่งมิใช่จะมีองค์ความรู้ว่าด้วยการบริหารการพัฒนาประเทศ (Development Administration) ที่มากพอที่ไหนมาใช้ (เพราะเน้นการศึกสงคราม และสาระการดูแลทุกข์สุขของประชาชนที่กล่าวถึงบ้างที่ดูมีคุณค่านั้น ก็ไม่พอต่อการบริหารการพัฒนาประเทศของโลกสมัยปัจจุบัน) ก็จะพึ่งพาหลักวิชาด้านตัวแบบการกำหนดนโยบายของนโยบายศาสตร์

จากนั้น ความรู้เชิงยุทธศาสตร์ของการทำสงครามจากแหล่งทางทหาร เพื่อการสร้างแผนกลยุทธ์หรือแผนยุทธศาสตร์ (หากจะเรียกตามนั้น) ไม่ว่าจะอาศัยความรู้ของนโยบายศาสตร์หรือไม่ก็ตาม ก็จะสมทบเข้ากับความรู้ทางทฤษฎีองค์การ เช่น การวิเคราะห์องค์การอย่างเป็นระบบ การอาศัยตัวแบบ SWOT หรือ TOWS การอาศัยการวิเคราะห์ความสมเหตุสมผลของทางเลือก (Rational choice) หรือทฤษฎีเกม เป็นต้น รวมทั้งแนวคิดและเทคนิคการจัดการเชิงกลยุทธ์ขององค์การธุรกิจและอุตสาหกรรม (ความรู้เหล่านี้ อาจได้จากผลงานของนักวิชาการ เช่น ของ Alfred D. Chandler, Henry Mintzberg และ Michael E. Porter เป็นต้น) ไปใช้ด้วย และมากกว่าความรู้ทางยุทธศาสตร์ของทหารเพื่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งมีการค้นคว้าวิจัยสร้างองค์ความรู้ใหม่ในระดับที่ลึกซึ้งน้อยกว่าที่ทำกันในมหาวิทยาลัยและอุตสาหกรรม

ชุดความคิดว่าด้วยยุทธศาสตร์ในฐานะเครื่องมือการทำแผนนั้น พิจารณาโดยรวบยอด แม้จะดูมลังเมลืองในทางการทหาร (และรัฐบาลทหาร คสช.ก็คงชอบมันมากเป็นพิเศษ เพราะมีนัยของการรบ) และองค์การธุรกิจ แต่เมื่อมาอยู่ในกรอบของการปกครองบ้านเมืองและการบริหารการพัฒนาประทศแล้ว มันก็เป็นเพียงลูกๆ หลานๆ ของนโยบายศาสตร์เท่านั้น เพราะกลยุทธ์แห่งชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติ (National strategy) ของประเทศประชาธิปไตยใดๆ ย่อมเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เพื่อรองรับนโยบายรัฐหรือรัฐบาลผู้บริหารประเทศที่ประกาศให้รัฐสภาและประชาชนทราบ และให้หน่วยงานของรัฐถือเอาไปปฏิบัติ อันยืนยันได้ว่านโยบายอยู่เหนือยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในทางหลักการด้วยนั่นเอง ดังจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เสนอมามากหน่อยของความคิดทางยุทธศาสตร์ ก็คือ ความรู้ในระดับเทคนิคการทำแผนกลยุทธ์/แผนยุทธศาสตร์ (Strategic plan) เท่านั้นที่ดูเด่น แต่กระบวนการที่ทำให้มันได้เกิดขึ้นและจะได้ใช้มันจริงหรือไม่ ก็เป็นเรื่องกระบวนการทางนโยบายทั้งสิ้น

ดังเช่น จะเห็นได้ว่าใน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 2560 ก็กำหนดให้การวิเคราะห์สถานการณ์ ประกอบการทำยุทธศาสตร์ชาติเป็นไปตามตัวแบบ SWOT ซึ่งนับว่ากล้าหาญ แต่ก็เสี่ยงอยู่เช่นกัน ที่เอาตัวแบบการวิเคราะห์เฉพาะแบบหนึ่งไปใส่ไว้ในกฎหมาย เพราะการจัดทำแผนกลยุทธ์หรือแผนยุทธศาสตร์สามารถอาศัยตัวแบบหรือแนวคิดการวิเคราะห์อื่นๆได้อีกมากมาย รวมทั้งกรอบคิดด้านตัวแบบนโยบาย – แม้แต่อริยสัจสี่ตามหลักพุทธศาสนาก็เอามาใช้ได้ แต่ทั้งหมดนี้ จนกระทั่งได้แผนกลยุทธ์ ก็ล้วนกระทำการภายใต้กระบวนการกำหนดหรือพัฒนานโยบายนั่นเอง ส่วนหลังจากนั้น ตั้งแต่การประกาศใช้นโยบาย การปฏิบัติ การประเมินผล และการปรับปรุงนโยบาย ก็ล้วนอยู่ในขอบข่ายของนโยบายศาสตร์ มิใช่ความรู้ทางยุทธศาสตร์ของเหล่าทหาร ที่จะใช้บริหารการพัฒนาประเทศประชาธิปไตย แต่อย่างใด

กล่าวโดยละเอียดมากขึ้นก็คือ สาระสำคัญที่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามตัวแบบ SWOT ที่นิยมกันมากในการระดมสมอง ก็จะเป็นวิสัยทัศน์ (Vision) ภารกิจ (Mission) นโยบาย (Policy) และตามมาด้วยประเด็นยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ (Strategic issues) ทางเลือกทางยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ (Strategic choices) ผ่านชุดแม่แบบ (Template) และผ่านการคิดเชิงตรรกะไข้ว (Matrix)  หลายๆแบบ ให้เอาไปเลือกประยุกต์ (อาจจะเรียกว่าจับยัดให้เข้ากับแม่แบบก็พอได้) เพื่อตอบสนองจุดแข็ง (Strength)  จุดอ่อน (Weakness) โอกาส (Opportunity) และภัยคุกคาม (Threat) ขององค์การ และจนได้แผนปฏิบัติการ (Action plan) ที่บางท่านเรียกว่าแผนกลยุทธ์ และรวมแผนกลยุทธ์หลายๆ แผน ตอบสนองประเด็นกลยุทธ์ต่างๆ เข้าเป็นแผนรวมที่เรียกว่า “แผนยุทธศาสตร์” ของหน่วยงาน โดยแม้ว่าสาระที่ได้อาจจะมีการกลับไปกลับมาของสิ่งเหล่านี้ในระหว่างกระบวนการจัดทำได้อยู่ก็ตาม ซึ่งก็เป็นกระบวนการช่วงแรกของกระบวนการนโยบาย แต่ในที่สุดอะไรหลัก อะไรรอง ระหว่างนโยบายและกลยุทธ์ หรือจะเรียกว่ายุทธศาสตร์ก็ต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ของมัน

การวิเคราะห์ SWOT หรือ TOWS จึงสมควรเรียกว่า “การวิเคราะห์องค์การเพื่อการพัฒนานโยบายและกลยุทธ์” หรือ “การวิเคราะห์องค์การเพื่อการพัฒนานโยบายและแผนกลยุทธ์” แต่นักเทคนิคในเรื่องนี้มักจะเรียกมันสั้นๆว่า “การวิเคราะห์ทางกลยุทธ์” หรือ “การวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์” อันไม่ครอบคลุมความเป็นจริงทั้งหมด และจึงถูกนำไปใช้ต่อในบริบทต่างๆ รวมทั้งในการบริหารหน่วยงานรัฐของไทย อย่างคัดสรรแบบไม่ครบถ้วนกระบวนความ กระนั้นก็ตาม ในระดับการบริหารงานของประเทศ ผู้ที่ให้น้ำหนักกับยุทธศาสตร์ชาติว่าอยู่เหนือหรือมีคุณค่ามากกว่านโยบายรัฐและนโยบายรัฐบาล ซึ่งมีความรู้อย่างเป็นองค์รวมและครบเครื่องมากกว่า ก็น่าจะผลิตผลงานที่เสี่ยงต่อการนำไปใช้ได้อย่างลงตัวในระบบการจัดการงานของกระทรวง กรม และหน่วยงานด้านแผนงานระดับชาติของรัฐ ทั้งผูกปมไปถึงอย่างอีรุงตุงนังกับอำนาจและระบบงานของรัฐสภา และองค์การอิสระบางแห่งอีกด้วย (ดังจะกล่าวถึงต่อไป)

ทั้งคำว่า Strategy ที่ไปนิยมเรียกในภาครัฐของไทยว่ายุทธศาสตร์มากกว่ากลยุทธ์ และในเอกชนธุรกิจที่นิยมเรียกว่ากลยุทธ์มากกว่ายุทธศาสตร์กันเสียนั้น โดยธรรมชาติของการจัดการเรื่องนี้ ก็ย่อมมีได้ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว (ดังตัวอย่างว่าการรบกันในทางสงคราม ที่ใช้ยุทธวิธีในการรบต่างๆนั้น ก็รู้แพ้รู้ชนะกันในเวลา 1-5, 6-10 ปี หรือ เกิน 10 ปี ก็มี) แต่ผู้คนจำนวนหนึ่ง รวมชาว คสช.เอง ก็ไปผูกยึดตายตัวว่ายุทธศาสตร์ต้องเป็นแผนหรือการคิดระยะยาวไปเสียนั่น เช่น อย่างน้อย 20 ปี ทั้งๆที่หากยุทธศาสตร์เป็นเรื่องระยะยาวเท่านั้นแล้ว ก็ต้องเขียนว่า “ยุทธศาสตร์ระยะยาว” จะเขียนว่า  “ยุทธศาสตร์” เฉยๆทำไม จนทำให้งานกลยุทธ์สำคัญที่ต้องการเวลาน้อยกว่า ถูกมองข้ามว่าไม่ใช่งานกลยุทธ์แห่งชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งหากงานชิ้นอันสำคัญหรือเป็นความเป็นความตายของหน่วยงานนั้น สามารถจะทำได้เสร็จในเวลาอันสั้น หรือก่อนเวลากำหนด จะกี่ปีก็ตาม มันก็คืองานทางกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ที่สำคัญยิ่งยวดอยู่ดี

กลยุทธ์ระดับชาติ หรือยุทธศาสตร์ชาติ (ที่เป็นการใช้คำให้เข้มขลังในภาษาไทย!) จึงไม่ใช่อะไรอื่นไกล ก็คือแนวคิด ทางเลือก หรือแนวทางที่สำคัญๆ ที่แตกย่อยจากนโยบายของรัฐหรือของรัฐบาล หรือที่อาจพัฒนาขึ้นใหม่ ผ่านกระบวนการวิเคราะห์องค์การเพื่อการพัฒนานโยบายและแผนกลยุทธ์ มาทำเฉพาะประเด็นปัญหาหรือเฉพาะจุด ที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ อย่างมีเป้าหมาย ในช่วงเวลาที่กำหนด โดยการจัดทำในรูปแผนงานนั้น ก็เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานที่จะสนับสนุนให้นโยบายเดิมหรือที่พัฒนาขึ้นใหม่ ปฏิบัติได้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง แต่มิใช่ว่ามีขึ้นแล้วจะประสบความสำเร็จเสมอไป เนื่องเพราะเรียกสิ่งที่ทำนั้นว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ”  เท่านั้น ที่ถูกกล่าวหาว่าขาดหายไปในการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาล (ทั้งๆที่ ในทุกวันนี้ ในทางที่เป็นจริง หน่วยงานรัฐทั้งหลายมิใช่เฉพาะกองทัพ ก็มีแผนกลยุทธ์และแผนยุทธ์ศาสตร์ใช้กันเกร่อไปหมด นับเป็นเวลาต่อเนื่องเกินกว่า 20 ปี โดยการสนับสนุนของรัฐบาลประชาธิปไตยและมิใช่รัฐบาลประชาธิปไตยอยู่แล้วมานมนาน และโดยมิได้เกิดจากการช่วยเหลือในการทำแผนจากทหาร แต่ทหารเองต่างหากที่เอาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกไปสอนงานการวิเคราะห์ทางยุทธศาสตร์องค์การให้กับตน) เนื่องจากปัญหาการพัฒนาประเทศก็มีมากมาย ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกที่อาจสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนต่อมัน

รัฐบาลบางประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลเผด็จการ เช่น ประเทศคอมมิวนิสต์ รัฐบาลเผด็จการทหาร และรัฐบาลที่ไม่ให้คุณค่าต่ออำนาจอธิปไตยของประชาชน (ที่อาจไม่สมบูรณ์แบบตลอดเวลาเสมอไป) มักจะคิดอะไรยาวๆแทนประชาชน โดยเชื่อว่าพวกของตนคือรัฐบาลที่รักชาติมากที่สุด ปราดเปรื่องยิ่ง และหลงตนว่าในประเทศนี้ไม่มีใครเกินข้า จึงชอบให้คนอื่นทำตามความฝันของตน ทั้งๆที่เมื่อประกาศความคิดที่เชื่อว่าใหม่หรือดีที่สุดนั้นแล้ว ความล้าหลังของความคิดนั้นก็เริ่มตามมาๆ เพราะความรู้ ข้อเท็จจริง ความเชื่อ และค่านิยมในการกำกับการตัดสินใจก็เปลี่ยนไปหรือเปลี่ยนได้เสมอ จนในที่สุดก็เป็นภาระของอนุชนรุ่นหลังที่ต้องมาแก้ปัญหาของเก่าที่คนเก่าคนแก่ผู้หลงผิดทำเอาไว้ ดังมีตัวอย่างให้เห็นมากมายสุดที่จะพรรณนา

การที่ผู้นำรัฐบาลและรัฐบาลไทยในขณะนี้ เอาเรื่องยุทธศาสตร์ชาติมาเป็นเรื่องใหญ่กว่านโยบายรัฐบาลนั้น ผู้นำการทำรัฐประหาร อ้างว่ามีบางประเทศเขาให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวกันด้วย มิใช่จะมีแต่นโยบายรัฐบาลเท่านั้น แต่ก็ไม่ได้แถลงชัดว่าประเทศที่ว่านั้น บริหารนโยบายรัฐบาลกับยุทธศาสตร์ร่วมกันอย่างไร แต่กลับย้ำว่ารัฐบาลไทยชุดก่อนๆและพรรคการเมืองบริหารประเทศอย่างไม่ถูกต้อง คือ รัฐบาลมีแต่นโยบายแต่ไม่มียุทธศาสตร์ชาติที่อยู่เหนือกว่ากำกับไว้ จึงเป็นรัฐบาลที่บกพร่องและทำให้ประเทศไทยไปไม่ถึงไหนจนทุกวันนี้ทำนองนั้น รัฐบาล คสช. จึงต้องทำให้เห็นว่าตนถูกต้องกว่าพวกพรรคการเมืองและรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจ คือ อุปโลกให้ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องสูงสุดและเป็นของกลางแบบที่ไม่ฝักใฝ่การเมือง (Non-partisan) และไม่เคยมีใช้กันในประเทศนี้ ซึ่งความคิดดังกล่าวนี้สอดคล้องกับการพยายามให้พรรคการเมืองและรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 อ่อนแอไม่มีขีดความสามารถทางนโยบายในระยะยาว จึงต้องเตรียมและกำกับไว้โดยยุทธศาสตร์ระยะยาวของรัฐบาลรัฐประหาร คสช. (บุตรของ กปปส.) เสียเอง!?

ตามหลักประชาธิปไตย พรรคการเมืองหรือรัฐบาลทั้งหลาย ต้องสามารถกำหนดนโยบายบริหารประเทศอย่างเป็นอิสระ ในทางที่สอดคล้องกับแนวนโยบายพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ และนโยบายอื่นๆที่แนวนโยบายพื้นฐานมิได้กล่าวถึงหรือกล่าวไว้ไม่เพียงพอ แต่ประชาชนต้องการหรือสนับสนุนให้มีขึ้นแบบมีส่วนร่วม และโดยความยินยอมของประชาชนส่วนใหญ่ ทั้งสามารถสนับสนุนหน่วยงานหรือคณะกรรมการชุดต่างๆ ในประเทศ ให้ออกกลยุทธ์แห่งชาติ ทั้งระดับล่าง (ระดับท้องถิ่น) ระดับกลาง (ระดับภาค) และระดับสูง (ระดับรัฐ) มาแก้ปัญหาเรื้อรัง หรือ เร่งด่วน จะใช้เวลาสั้น-ยาวนานกี่ปีก็ตามที  หรือนานเกินกว่าวาระของคณะรัฐมนตรีชุดนั้น ก็ตามแต่ เพื่อมาสนับสนุนนโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญและนโยบายรัฐบาลในด้านต่างๆ ได้เสมอ

มิใช่ว่ารัฐบาลประชาธิปไตย ไม่จำเป็นต้องใช้สมองให้คิดก้าวคิดไกลเลย เพราะนโยบายการบริหารประเทศและกลยุทธ์สนับสนุนในอนาคต ต้องเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ประเทศไทยจะอยู่ที่ระดับการพัฒนา 4.0 ตามวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมั่นคง มั่งคั่ง และ ยั่งยืน” ที่กลไกในคณะแม่น้ำห้าสายของผู้ทำรัฐประหาร ได้ใช้สติปัญญาคิดไว้ให้แล้ว!? (ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะอย่างน้อยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรีเคยแสดงวิสัยทัศน์ไว้ก่อนว่า “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง” และคำว่า “ยั่งยืน” ก็เอามาจากสหประชาชาติที่รับมาจากการริเริ่มของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิง Gro Harlem Brundtland ประเทศนอรเวย์ และใช้กันมาเกือบ 30 ปี แล้ว)

หากจะเอาหลักคิดยุทธศาสตร์มาใช้เพื่อการแข่งขันระหว่างประเทศ เสมือนว่าประเทศเป็นบริษัทแล้ว การพิจารณาความรู้และการปฏิบัติที่เป็นจริงว่าด้วยการยุทธ์ก็ต้องกระทำภายใต้เงื่อนไขความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ เพราะประเทศมิใช่บริษัทที่ผู้เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นใหญ่ จะกำหนดจากบนลงล่างว่าจะไปทางไหนก็ได้ โดยแม้ว่าจะมีพจนานุกรมบางเล่ม (แต่น้อยมาก) ผูกโยงกลยุทธ์เข้ากับการตอบสนองเป้าหมายระยะยาว ซึ่งย่อมถูกส่วนหนึ่ง แต่ก็เป็นนิยามที่สั้นเกินไป สิ่งที่ถูกต้องกว่าที่ต้องเน้นเพิ่มเป็นพิเศษคือ แผนการใหม่ที่สำคัญยิ่งยวดและมีลักษณะเป็นพิเศษต่างหาก เพื่อตอบสนองเป้าหมายที่กำหนด เพราะประเด็นสำคัญคือเป้าหมายที่ควรมองในระยะยาวนั้น ต้องการกลยุทธ์พิเศษใหม่ๆ อาจจะเป็นเชิงนวัตกรรมที่ไม่เคยทำ เพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายระยะยาว ที่แบ่งซอยเป็นช่วงๆเวลาที่เป็นไปได้ โดยกลยุทธ์จะประกาศออกมาใช้กี่ครั้งและนานเท่าใด สั้นหรือยาว ระดับสูง/กลาง/ล่าง สนับสนุนหรือสืบเนื่องกันเพียงใด ก็เป็นเรื่องของความเป็นไปได้ ตามที่เงื่อนไขหรือปัจจัยที่มากำหนด ดังตัวอย่างที่ทำในหลายประเทศ (ดังจะกล่าวต่อไป) แต่สำหรับในประเทศไทยแล้ว ยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะยาวของ คสช. จึงย่อมเป็นระเบียบวาระแห่งชาติของฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย หยิบเอามาใช้ประโยชน์เพื่อควบคุมฝ่ายประชาธิปไตยในระยะยาวนั่นต่างหาก

การมองว่าเรื่องยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว แบบที่แสดงตาม พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 สำคัญยิ่งของฝ่ายรัฐบาลปัจจุบันและผู้สนับสนุน และจะไม่วางเรื่องยุทธศาสตร์ชาตินี้ ในการบริหารประเทศเอาไว้เหนือนโยบายของพวกรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐต่างๆก็มีแผนยุทธศาสตร์ ของตนใช้กันอยู่แล้วมาอย่างยาวนาน โดยส่วนใหญ่มีระยะเวลา 5 ปี แต่ก็เรียกกันว่าแผนยุทธศาสตร์ อันแสดงว่าประเทศไทยใช้แผนยุทธศาสตร์ระยะสั้นคือไม่เกิน 5 ปี มาตลอด ก่อนที่รัฐบาล คสช. จะเข้ามาปกครองประเทศนั้น ย่อมเป็นการสุ่มเสี่ยงของรัฐเผด็จการในการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้อย่างแข็งตัวและหรือปรับปรุงได้ยาก มิใช่กลยุทธ์อันควรพิศวงหรือตื่นตาตื่นใจต่อการประสบชัยชนะในการเอาชนะปัญหาที่มีอยู่ (คือการบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ) แต่พร้อมจะปรับตัวได้ง่ายตามหลักวิชาและประสบการณ์จริง เพราะต้องผ่านโครงสร้างแห่งการบริหารและกระบวนการพิจารณาแก้ไขของคณะกรรมการแนวระบบราชการการเมืองห้าชั้น  คือ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราฎร และวุฒิสภา ที่แก้ไขไม่ได้ง่าย เพื่อควบคุมการเมืองประชาธิปไตย

ในขณะที่นโยบายรัฐบาลและนโยบายแห่งรัฐ ล้วนมาจากความเห็นชอบจากประชาชน มิใช่เพียงเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่กลไกรัฐผู้ทำไปรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน หรือให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมาประกอบพอให้เป็นไปตามที่กฎหมายระบุ  แต่หากในกระบวนการมีส่วนร่วม เน้นแนวประชาธิปไตยเชิงถกแถลง (Deliberative democracy) การตัดสินใจก็จะอยู่ในมือของคณะผู้มีอำนาจ ผู้มีตำแหน่งในสังคม หรือผู้รู้ดีกว่าในการทำแผนยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้น น้ำหนักของประชาธิปไตย เพื่อตัดสินใจให้ได้นโยบายรัฐบาลตามที่ประชาชนต้องการ และตามหลักสิทธิมนุษยชนของประชาชนในความเป็นหนึ่งคนหนึ่งเสียง อันให้คุณค่าต่อความเป็นมนุษย์แต่ละคนที่มีความเท่าเทียมกัน ก็จะหมดความหมาย กระบวนการมีส่วนร่วมตามแนวประชาธิปไตยเชิงถกแถลงในกระบวนการกำหนดนโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ก็ดี จึงต้องสนับสนุนต่อหลักการความเท่าเทียมกันของประชาชนในการลงมตินั่นเอง

ในการบริหารการพัฒนาประเทศให้ลงตัว  การทำให้กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ยืดหยุ่นจึงจำเป็นโดยตัวของมันเอง และยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่ต้องออกเป็นพระราชบัญญัติให้ดูใหญ่โตและมีสาระอันเทอะทะ ไม่เกิดความคล่องตัว และสุ่มเสี่ยง (ย้ำอีกครั้ง!) โดยอาจเปลี่ยนมาใช้คำว่า “กลยุทธ์แห่งชาติ” หรือ “กลยุทธ์ชาติ” แทน “ยุทธศาสตร์ชาติ” หรืออาจจะคงใช้คำว่า “ยุทธศาสตร์ชาติ” ก็ตาม แต่ต้องมีสถานะที่อยู่ภายใต้ธรรมาภิบาลของนโยบาย (แห่ง) รัฐและนโยบายรัฐบาล และปรับกฎหมายที่ดูแลเรื่องนี้ ให้เป็นระดับพระราชกฤษฎีกาในอำนาจที่คณะรัฐมนตรีชุดต่างๆ จะประกาศใช้หรือเปลี่ยนแปลงมันได้ง่าย รวมทั้งเพื่อทดแทนการพึ่งพาต่อระบบการวางแผนจากหน่วยงานกลางและการกำหนดยุทธศาสตร์กลางของรัฐ (เสียที) อันเป็นเผด็จการแห่งการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนาแบบหนึ่ง

ดังที่เป็นที่ประจักษ์ว่าประเทศไทยในปัจจุบัน มีระดับความสำเร็จของการพัฒนาประเทศ ด้วยสถานะเพียงแค่ประเทศรายได้ปานกลางขั้นสูง (Upper middle income country) ซึ่งขั้นสูงของรายได้ปานกลาง ก็น่าจะได้มาจากระบบการจัดการเศรษฐกิจภายใต้การดำเนินงานของรัฐบาลประชาธิปไตยทั้งสองพรรคสำคัญ คือ พรรคไทยรักไทย และพรรคประชาธิปัตย์ หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ที่นโยบายเศรษฐกิจช่วยยกระดับรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร (Per capita income) ให้โตเร็วขึ้น แต่ประเทศไทยก็ยังมีความเหลื่อมล้ำในรายได้ระหว่างกลุ่มประชาชนสูงมาก การไปได้เพียงเท่านี้ ก็เกิดขึ้นภายใต้แผนพัฒนาประเทศ 12 ฉบับที่มีมาแล้วในรอบ 56 ปี แห่งการพัฒนา (พ.ศ. 2504 – 2560) ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ผูกขาดการสร้างสรรค์ยุทธศาสตร์ชาติตลอดมานั่นเอง

ในอนาคต เราจึงควรปฏิรูปสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ให้เป็นกลไกที่มีอิทธิพลด้านการทำแผนพัฒนาประเทศน้อยลง แต่ปราดเปรื่องและกระฉับกระเฉงมากขึ้น ในการพัฒนายุทธวิธีการบริหารการพัฒนาประเทศ (National development administration) รับใช้นโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญและนโยบายของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน ก็น่าจะเป็นทางเลือกกลยุทธ์แห่งชาติที่สำคัญยิ่งกว่าในอดีต ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็จำเป็นต้องให้โอกาส และสนับสนุนให้พรรคการเมืองมีศักยภาพ ในการพัฒนาและบริหารนโยบายสาธารณะอย่างเต็มฝีเท้า (ราวกับการปฏิวัติ!) เพื่อการสร้างสรรค์และบริหารนโยบายชาติไปพร้อมกับความก้าวหน้าของประชาธิปไตย

การที่หากว่ารัฐบาลประชาธิปไตย ประกาศนโยบายหรือดำเนินการไม่สอดคล้อง อันคงหมายถึงแตกต่างไปจากยุทธศาสตร์ชาติด้วยแล้ว ก็ต้องถือว่าทำผิดกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และก็จะถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง วุฒิสมาชิก ปปช. และศาลรัฐธรรมนูญเล่นงานหรือสอบสวนเอาความผิดกันต่อไปนั้น ประเทศเราโดยชนชั้นนำหรือคณะผู้ปกครองที่เป็นอยู่ สมควรทำอะไรแบบลองผิดลองถูก โดยไม่มีหลักวิชาที่ถูกต้อง แต่เอาผู้ที่ต้องทำตามหลักกระบวนการนโยบายแบบประชาธิปไตยให้ตายกันจริงๆ มันจึงถูกต้องแล้วหรือ? (ดังจะกล่าวถึงต่อไป)

การจะพิสูจน์กันว่านโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงหรือที่รัฐบาลประกาศใช้ ขัดต่อยุทธศาสตร์ชาติ ที่กำหนดในกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ และเล่นงานพรรคการเมืองและรัฐบาล และหัวหน้าหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐ จึงเป็นเรื่องตลกร้ายของประชาธิปไตย เพราะพยายามเอาเรื่องยุทธศาสตร์ชาติมาทำให้การรัฐประหารไม่เสียของ แต่กลับเสมือนเล่นกลหลอกตาสีตาสาก็เท่านั้นเอง!

ในประเทศประชาธิปไตย การประกาศใช้กลยุทธ์แห่งชาติ (National strategy) หรือยุทธศาสตร์ชาติ มีการประกาศใช้อย่างหลากหลาย เช่น รัฐบาลประเทศมาเลเซียประกาศใช้กลยุทธ์การยกระดับรายได้และการอยู่ดีกินดีของประชาชน ตามกลยุทธ์มหาสมุทร (น่านน้ำ) สีครามแห่งชาติ (National Blue Ocean Strategy) ระหว่าง ค.ศ. 2009 – 2020 รัฐบาลอังกฤษมีกลยุทธ์แห่งชาติด้านการศึกษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่าง ค.ศ. 1997 – 2011) ภายใต้นโยบายการปฏิรูปการศึกษาระดับโรงเรียนและอุดมศึกษา รัฐบาลอินเดียประกาศใช้แผนกลยุทธ์แห่งชาติเพื่อขจัดวัณโรค ระหว่าง ค.ศ. 2017-2025 (National Strategic Plan for Tuberculosis Elimination 2017–2025) เพื่อต่อยอดการลดวัณโรคในอินเดียที่ทำมาตลอดเวลาหลายปี รัฐบาลสิงคโปร์ก็มีกลยุทธ์แห่งชาติในเรื่องการออกแบบแห่งชาติ (National design strategy) ทำอย่างสืบเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ตั้งนครรัฐ (City state) อิสระในปี 1959 เพื่อสร้างความเป็นพิเศษให้กับอาคารสถานที่และผลิตภัณฑ์ของประเทศ ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของรัฐบาล และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศกลยุทธ์ระดับสูงแห่งชาติ (National grand strategy) ในต้นคริสตศตวรรษที่ 19 หลังเกิดความขัดแย้งสามเส้าระหว่างฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ตามนโยบายต่างประเทศอย่างใหม่ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

ยกตัวอย่างในรายละเอียดมากขึ้น

  • กรณีประเทศมาเลเซีย รัฐบาลมาเลเซีย เมื่อ ค.ศ. 2009 เคยประกาศกลยุทธ์แห่งชาติที่เรียกว่า National Blue Ocean Strategy เสนอโดยศาสตราจารย์สองคน (Professor W. Chan Kim และ Professor Renée Mauborgne) ผู้เขียนหนังสือ Blue Ocean Strategy (2005/2015) ที่เสนอแนวคิดการทำกลยุทธ์ในพื้นที่ใหม่อันเน้นนวัตกรรมที่สร้างคุณค่า ไม่กระโจนเข้าสู่สมรภูมิการแข่งขัน คือรบกันจนเลือดสาดแบบทหาร แต่สงบเย็น และได้ผลกว่า - ทำนองนั้น) เพื่อทำให้ประชาชนมาเลเซียมีรายได้สูง (คือพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางที่เป็นอยู่) และมีการอยู่ดีกินดีเป็นอย่างยิ่ง ภายในปี 2020 ภายใต้นโยบายของรัฐบาล ว่าด้วย “การเปิดรับการค้า การลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากตะวันตก เพื่อพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ. 2020 (vision 2020)” แต่เวลาเหลืออีกสามปีกว่า มีแนวโน้มจะไม่เป็นไปตามฝัน
     
  • กรณีรัฐบาลอังกฤษ พบว่ากลยุทธ์แห่งชาติด้านการศึกษา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างปี 1997 – 2011) ประสบความสำเร็จยิ่ง เช่น สามารถจัดทำสื่อการฝึกอบรม กรอบการเรียนการสอนและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูง และสร้างผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพที่ฝึกฝนเป็นอย่างดีได้จำนวนมากในทั้งการเรียนการสอนและการฝึกอบรม รวมถึงผู้นำการเรียนรู้ในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษา และในภาคส่วนการศึกษาต่างๆ อย่างกว้างขวาง
     
  • กรณีรัฐบาลอินเดีย ประกาศใช้แผนกลยุทธ์แห่งชาติเพื่อขจัดวัณโรค 2017-2025 (National Strategic Plan for Tuberculosis Elimination 2017–2025) เพื่อต่อยอดการลดวัณโรคในอินเดียที่ทำมาตลอดเวลาหลายปี โดยนับจากปีนี้ไป ได้ปรับปรุงวัตถุประสงค์ให้โดดเด่น ปรับปรุงวิธีคิด และปรับโครงสร้างแนวทางการทำงาน และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการขจัดวัณโรคให้หมดไปภายในปี 2030 แต่ออกแผนกลยุทธ์แห่งชาติมาแปดปี คือ ระหว่างปี 2017-2025 ขึ้นมาก่อน แผนดังกล่าวนี้ ได้จากการเรียนรู้ความสำเร็จของแผนกลยุทธ์เรื่องนี้ที่ผ่านมา และเป็นกลยุทธ์ที่กำหนดขึ้นจากนโยบายสุขภาพ (Health policy) ในปี 2015 แนวนโยบายขององค์การอนามัยโลก (WHO) กลยุทธ์การยุติวัณโรค (End TB Strategy) เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ (UN)
     
  • กรณีรัฐบาลสิงคโปร์ พบว่ากลยุทธ์การออกแบบแห่งชาติสามารถสร้างความโดดเด่นให้กับอาคารสถานที่และผลิตภัณฑ์ของประเทศสิงคโปร์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยดำเนินการอย่างเป็นนวัตกรรม นับตั้งแต่ตั้งรัฐใหม่จากการแยกตัวออกจากประเทศมาเลเซีย เมื่อ ค.ศ. 1959 และกลายเป็นสิ่งดึงดูดใจให้ชาวโลกไปท่องเที่ยวในประเทศเล็กๆ แห่งนี้นี้กว่า 16 ล้านคน เมื่อปีกลาย
     
  • กรณีประเทศสหรัฐอเมริกา เคยออกกลยุทธ์ระดับสูงแห่งชาติ (National grand strategy) ในต้นคริสตศตวรรษที่ 19 หลังเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ด้วยเหตุที่สหรัฐอเมริกาประกาศเป็นพันธมิตรกับฝรั่งเศส สนับสนุนกษัตริย์นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte) ทำสงครามกับอังกฤษ จนอังกฤษและอเมริกามาสู้รบกันเอง แต่อเมริกาแพ้ในสงครามรบที่แคนาดา และกรุงวอชิงตันถูกทหารอังกฤษเผา ในปี 1814 บทเรียนดังกล่าวนำไปสู่การออกกลยุทธ์ระดับสูงแห่งชาติ แต่เป็นกลยุทธ์พิเศษที่งอกออกไปมากกว่าทางการทหารเท่านั้น เพื่อแก้วิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สร้างความมั่นคง ปกป้องประเทศชาติ และสร้างสันติภาพของสหรัฐอเมริกากับประเทศในยุโรป เน้นกลยุทธ์ในทวีปอเมริกาเหนือ ด้วยการชิงเคลื่อนไหวก่อนฝ่ายตรงข้ามหรือคู่แข่ง (Preemption) การตัดสินใจโดยเอาตนเองเป็นที่ตั้ง (Unilateralism) และการครองความเป็นเจ้า (Hegemony) ของสหรัฐอเมริกา เพื่อสร้างดุลอำนาจกับประเทศภาคพื้นยุโรป (อังกฤษ สเปน และฝรั่งเศส) ที่เข้าปกครองบางพื้นที่ในอเมริกาเหนือแต่เดิม ภายใต้นโยบายการต่างประเทศใหม่ที่เน้นความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อันสำคัญยิ่งของประธานาธิบดี James Monro ที่แถลงต่อรัฐสภา ใน ค.ศ. 1823 และมีผลถึงปัจจุบันนี้ ที่ว่า “กลุ่มประเทศเจ้าอำนาจยุโรปไม่ควรเข้าไปตั้งอาณานิคมในอเมริกา และอเมริกาก็จะไม่ไปทำสงครามกับประเทศเจ้าอำนาจทั้งหลายในยุโรป” ซึ่งในกาลต่อมาเรียกกันว่า “หลักการหรือลัทธิมอนโร”

ประเทศเหล่านี้ เขาทำกลยุทธ์แห่งชาติเฉพาะด้าน โดยมีทั้งเป้าหมายเชิงรูปธรรมและวิธีการไปสู่เป้าหมายแสดงให้เห็น สะท้อนการกระทำอย่างใหม่และมีนัยสำคัญเป็นพิเศษด้วย (ที่นิยามของ Strategy ตามพจนานุกรมทั้งหลาย ก็ดูจะยังไม่คลุมถึง) แต่อยู่ภายใต้นโยบายการบริหารประเทศในด้านต่างๆของรัฐบาล มิใช่การลองผิดลองถูกในเรื่องประชาธิปไตย นโยบาย และ กลยุทธ์ (ยุทธศาสตร์) ที่จะให้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งแท้ที่จริงก็คือ กลยุทธ์ที่ถูกมองว่าสำคัญ เฉพาะด้านหรือในประเด็นระดับชาติ ถูกยกขึ้นเป็นศูนย์รวมหรือแม่บทหลักของการบริหารประเทศ เป็นใหญ่กว่า หรือใช้แทนนโยบายของรัฐและของรัฐบาลประชาธิปไตยแต่อย่างใด โดยกลยุทธ์แห่งชาติของประเทศทั้งหลาย อาจได้จากการปรับปรุงการทำงานเดิมๆ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างจริงจัง การลงทุนหรือให้คุณค่ากับมันมากขึ้น หรือการสร้างกิจกรรมขึ้นใหม่อย่างเป็นพิเศษ รวมทั้งการสรุปกิจกรรมหรือแผนงานที่ทำไว้ในระยะเวลาที่ต่อเนื่อง อันสะท้อนความเข้าท่าเข้าทาง คุณค่าที่ก่อให้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่งๆ และภายใต้นโยบายหนึ่งๆ เพื่อให้เห็นเป็นบทเรียนรู้ของการทำงานอย่างเป็นกลยุทธ์แห่งชาติ โดยมิได้หมายถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติระดับกระทรวงเสมอไป ก็ได้เช่นกัน

เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในส่วนที่ผู้นำรัฐบาลไทย โดยคสช. และทีมงานชี้ว่า ที่ผ่านมา พรรคการเมืองหรือรัฐบาลประชาธิปไตยของไทย หรือในภาพรวมของประเทศก็ดี ไม่เคยมียุทธศาสตร์ชาติในระยะยาว มีแต่นโยบายระยะสั้นนั้น กล่าวอย่างเป็นกลางแล้ว  ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นการขี้ตู่ คือ ไปต่อว่าเขาทั้งๆที่ไม่เป็นจริง เพราะมีพรรคการเมืองหลายพรรค รวมทั้งพรรคเพื่อไทยที่ คสช. ไปล้มเขา ก็เคยเสนอนโยบายหรือวิสัยทัศน์ในระยะยาวมาก่อน เช่น วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020 (น่าจะดูตัวอย่างจากประเทศมาเลเซีย) สมัยการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 (ค.ศ. 2011) หรือรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ก็เคยทำนโยบายระยะยาวสมัยใหม่ที่ไม่ด้อยกว่ายุทธศาสตร์ชาติของ คสช. คือ การปฏิรูปการศึกษา ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ตาม พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ 2542 (แก้ไข พ.ศ. 2545 และ พ.ศ. 2553) เพื่อเป็นกฎหมายแม่บทสนับสนุนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ผ่านระบบการจัดการมาตรฐานและคุณภาพการศึกษา จนกระทั่งทุกวันนี้ 18 ปี แล้ว หน่วยงานต่างๆของรัฐ ก็ยังทำงานอย่างมีนัยทางยุทธศาสตร์ระยาว เพื่อขับเคลื่อนงานการศึกษาไทยไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ในส่วนนโยบายสุขภาพของประชาชนของพรรคไทยรักไทย โดยใช้โครงการ 30 บาท รักษาทุกโรค ภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นกลไกการทำงานนั้น (หลังจากกลยุทธ์แห่งชาติแบบระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนเมื่อเจ็บป่วย ถูกนำมาใช้กรุยทางไปก่อนใน พ.ศ. 2533) ในกาลต่อมา รัฐบาลทุกชุดแม้แต่ คสช.เอง ก็ได้ดำเนินการต่อเนื่องตามมา ก็นับเป็นงานเชิงยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว ด้านสุขภาพของประชาชน ที่ทำมาตั้งแต่ พ.ศ. 2544

รวมทั้งการที่ประเทศไทยได้พัฒนาประเทศตามแนวของสหประชาชาติ เช่น Millenium Development Goals (MDGs) ก็เป็นเรื่องระยะยาว 15 ปี คือ ปี 2000 – 2015 แต่เราทำได้บรรลุผลก่อนถึงเวลากำหนด รวมทั้ง Sustainable Development Goals (SDGs) ปี 2016 – 2030 ที่รัฐบาลกำลังทำตาม หรือหากจะมองแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคราวละ 5 ปี ระหว่าง พ.ศ. 2504 – 2560 ย้อนกลับไป ประเทศไทยก็ทำงานอย่างเป็นยุทธศาสตร์ชาติที่ระบบราชการเป็นใหญ่และใช้แผนพัฒนาฯต่อเนื่องกันมาอย่างยาวนานถึงเกือบ 60 ปี

ดังที่กล่าวมานี้ ก็ล้วนเป็นตัวอย่างว่าประเทศไทยและรัฐบาลไทยมียุทธศาสตร์ระยะยาวใช้กันตลอดมา จนสามารถเรียกได้ว่ายุทธศาสตร์ชาติคืองานประจำ งานประจำก็คือยุทธศาสตร์ชาติไปเสียแล้ว! ไม่ใช่ว่าจะเริ่มมียุทธศาสตร์ชาติระยะยาวใช้กันตั้งแต่เมื่อมี พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ของ คสช. เป็นต้นไป กันเสียที่ไหน!?

ฉะนั้นจึงไม่ถูกต้องเลยที่เอกสารร่างยุทธศาสตร์ชาติของทางราชการ (พฤษภาคม 2559) ระบุอย่างอคติและโมเมว่า “ประเทศไทยมิได้มีการกำหนดวิสัยทัศน์ประเทศ  เป้าหมายและยุทธศาสตร์ของประเทศในระยะยาว การบริหารราชการแผ่นดินของฝ่ายบริหาร จึงให้ความสำคัญกับนโยบายพรรคการเมืองหรือนโยบายของรัฐบาล  ซึ่งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ทำให้การดำเนินนโยบายขาดความต่อเนื่อง ถือเป็นการสูญเสียโอกาสและสิ้นเปลืองทรัพยากรของประเทศ” แต่ปัญหาที่เป็นจริง ก็คือ ระบบงานยุทธศาสตร์ชาติที่มีตลอดมายังจัดการไม่ลงตัว ระหว่างกับพลังอำนาจรัฐราชการกับพลังอำนาจประชาธิปไตยประชาชนมากกว่า

นอกจากนี้ เป้าหมายและแนวทางการบริหารประเทศไทยอย่างไม่ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์พรรคการเมือง ตามความเข้าใจและตามความพยายามทำยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล คสช.นั้น หากพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 และ ฉบับ พ.ศ. 2550 รวมทั้งฉบับ พ.ศ. 2560 เอง ก็พบในส่วนที่ว่าด้วยนโยบายของรัฐ ดังที่เราจะพบว่าแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐมีเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับแรก ขอเน้นว่าเป็นเรื่องพื้นฐาน และให้ความยืดหยุ่นต่อการที่พรรคการเมืองและรัฐบาลจะออกนโยบายสนับสนุนแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ และเสนอนโยบายอื่นๆได้อีกต่างหาก โดยไม่มีกรอบการบังคับให้นโยบายพรรคการเมืองและรัฐบาลต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามแบบที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ไปตัดคำว่า “พื้นฐาน” ออกจากคำเต็มว่า “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” เหลือเพียง “แนวนโยบายแห่งรัฐ” เท่านั้น (ความตามหมวด 6 “แนวนโยบายแห่งรัฐ” มาตรา 64 – 78) แต่กระนั้น ก็ต้องย้ำว่า ประเด็นที่เป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐหรือนโยบายแห่งรัฐก็ดี ซึ่งเป็นเป้าหมายของรัฐและรัฐบาลในการบริหารประเทศ ก็หาได้มีครบในทุกมิติของคุณภาพชีวิตประชาชนไม่ (รวมทั้งต้องพิจารณาจากสิทธิมนุษยชนของประชาชนด้วย) ซึ่งย่อมเป็นโอกาสที่พรรคการเมืองหรือประชาชนจะเสนอ หรือรัฐบาลจะประกาศใช้นโยบายในเรื่องที่ไม่มีนั้นด้วยได้

ดังนั้น “แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ” หรือ “แนวนโยบายแห่งรัฐ” ซึ่งก็คือ “นโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญ” จึงล้วนเป็นเรื่องนโยบายที่ต้องทำกันระยาว ชั่วลูกชั่วหลานหรือชั่วรัฐธรรมนูญ ไม่มีกำหนดเวลาด้วยซ้ำไป ประเทศไทยของเราอย่างน้อยนับจาก พ.ศ. 2540 ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ประกาศใช้ รัฐไทยและรัฐบาลไทย จึงมีนโยบายระยะยาวที่สำคัญอยู่แล้วอย่างแท้จริง (ไม่สำคัญจะไปปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญได้อย่างไร!?) เรื่องเหล่านี้อาจถือว่าว่ามันก็คือ ยุทธศาสตร์ชาติ หรือกล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับ พ.ศ. 2540 ก็มีฐานะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ (ในความหมายของ คสช. เอง) อยู่แล้วในตัวของมัน ที่ คสช. และพรรคพวก มองไม่เห็นโดยบริสุทธิ์ใจหรือแสร้งเป็นมองไม่เห็น แต่ประเทศไทยก็พบกับอุปสรรคในการทำตามยุทธศาสตร์ชาติเหล่านั้น เพราะเหตุของการรัฐประหารสองครั้ง คือ พ.ศ. 2549 และ 2557! (ที่หลายประเด็นเชิงนโยบายรัฐของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ยังปรากฏอยู่ใน ฉบับ พ.ศ. 2550)

ยังมีเรื่องน่าสังเกตที่สำคัญมิใช่น้อยอีกด้วยว่า การจะประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ ตาม พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 อย่างให้ความสำคัญยิ่งนั้น กลับปรากฏว่ารัฐบาล คสช. นี้ มองข้ามหรือมิได้ให้ความสำคัญต่อแนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่พึงทำให้บรรลุเป้าหมายตามหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญของตนเลย ร่วมกันไปด้วยในทางนิติสัมพันธ์ เพราะเมื่อพิจารณาดูแล้ว รัฐธรรมนูญบัญญัติในมาตรา 64  ของหมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐไว้ว่า “บทบัญญัติในหมวดนี้เป็นแนวทางให้รัฐดําเนินการตรากฎหมายและกําหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน”

แต่ในมาตรา 65 ของหมวดนี้บัญญัติไว้ว่า

“รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่าง ๆ  ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว   การจัดทํา  การกําหนดเป้าหมาย  ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย  และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ  ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ  ทั้งนี้  กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย   ยุทธศาสตร์ชาติ  เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว  ให้ใช้บังคับได้”

บทบัญญัติข้างต้น  มิได้กล่าวไว้เลยว่ายุทธศาสตร์ชาติอันสำคัญยิ่งของ คสช. คณะผลิตรัฐธรรมนูญ รัฐบาล คสช.  และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จะต้องให้เป็นไปตามหรือสอดรับกับแนวนโยบายแห่งรัฐอย่างไร ราวกับเป็นมาตราที่ล่องลอยมาจากแห่งหนใด ไม่อยู่ภายใต้บริบทแนวนโยบายแห่งรัฐ และที่มาตรานี้สังกัด ในขณะที่มาตรา 64 ก่อนหน้าก็กำหนดนำไว้แล้วว่า ให้เอาแนวนโยบายแห่งรัฐไปเป็นแนวทางในการตรากฎหมายและกําหนดนโยบาย ในการบริหารราชการแผ่นดิน

การที่มาตรา 64 และ 65 หมวด 6 แนวนโยบายแห่งรัฐ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ได้เรียงมาตราเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติ (มาตรา 65) ไว้ลำดับสองของหมวดนี้ ซึ่งย่อมหมายถึงความสำคัญลำดับสองด้วย เพราะสาระอันเข้มข้นนั้น กลับยืนอยู่คนละมุม อย่างเป็นเอกเทศ มิได้รับลูกหรือปรับตัวเข้ากับมาตรา 64 ซึ่งเป็นหัวกระบวนหลักก่อนหน้า และเชื่อมร้อยกับมาตราอื่นๆอีก 13 มาตรา ภายใต้แนวนโยบายแห่งรัฐที่บัญญัติตามมา และเมื่อพิจารณาพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ประกอบด้วยแล้ว ก็เท่ากับว่ามาตรา 65 เป็นคู่แข่ง มิใช่ผู้ช่วยของมาตรา 64 ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ไปโดยปริยาย! ความแปลกประหลาดและยุ่งเหยิงจะเกิดขึ้นก็คือ รัฐบาลในอนาคตจะต้องกำหนดนโยบายบริหารประเทศตามแนวนโยบายแห่งรัฐตามบัญญัติของมาตรา 64 แต่ไม่สามารถขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ ตามมาตรา 65 ซึ่งเป็นส่วนเล็กส่วนน้อยและมีความเป็นรูปธรรมในรายละเอียด!

ความเชื่อมโยงของ ”ยุทธศาสตร์ชาติ” กับ “แนวนโยบายแห่งรัฐ” ในพ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ที่ไม่พบ แต่นโยบายแห่งรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่ประชาชนลงประชามติรับรอง ผ่าน ก็ย่อมสะท้อนเจตจำนงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของรัฐ (= นโยบายของรัฐตามเจตจำนงของประชาชนหรือตามที่ประชาชนเห็นชอบด้วย) อันถือเป็นเป้าหมายสำคัญที่รัฐพึงต้องจัดกระทำให้บรรลุผล แต่กลับเอายุทธศาสตร์ชาติมาแทนที่นโยบายชาติหรือนโยบายรัฐเสีย นับเป็นความสับสนประการสำคัญหนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่จะทำให้เกิดปัญหาการบริหารประเทศไม่ลงตัวตามอำนาจของรัฐบาลที่มีตามมา และต้องแก้ไขกฎหมายในมาตราที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกคือ พระราชบัญญัติจึงจะขจัดปัญหาได้

การเห็นปัญหาข้างต้น กระจ่างมากขึ้น ก็เมื่อพบว่าร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ของรัฐบาล คสช. (พฤษภาคม 2559) กำหนดให้นโยบายรัฐบาลอยู่ใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และนโยบายความมั่นคงแห่งชาติ ทั้งก็ยังพิจารณาได้อีก ตามมาตราสำคัญ คือ มาตรา 5 – 7 ของพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ที่บัญญัติเชิงการรวมศูนย์ยุทธศาสตร์ชาติทุกด้านเข้ามา จัดทำเป็นแผนแม่บทแห่งชาติ แต่มีอคติ มิได้อ้างถึงนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญไว้เลยเช่นกัน ดังต่อไปนี้

มาตรา 5 “ให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทําแผนต่าง ๆ  ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน   อันจะก่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว  ตามระยะเวลาที่กําหนดไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ  ซึ่งจะต้องไม่น้อยกว่ายี่สิบปี..... และการกําหนดนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีก่อนที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดิน  การจัดทําแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ  และแผนอื่นใด  รวมตลอดทั้งการจัดทํางบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ”

มาตรา 6 “ยุทธศาสตร์ชาติอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) วิสัยทัศน์การพัฒนาประเทศ (2) เป้าหมายการพัฒนาประเทศในระยะยาว กําหนดระยะเวลาที่ต้องดําเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  และตัวชี้วัดการบรรลุเป้าหมาย (3) ยุทธศาสตร์ด้านต่าง ๆ   เป้าหมายการพัฒนาประเทศตาม  (2)  อย่างน้อยต้องมีเป้าหมายในด้านความมั่นคงของประเทศ  ด้านคุณภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน  และด้านบทบาทของรัฐที่มีต่อประชาชน” และ

มาตรา 7 บัญญัติว่า “การจัดทํายุทธศาสตร์ชาติต้องคํานึงถึงผลประโยชน์แห่งชาติ  ความต้องการ และความจําเป็นในการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และการพัฒนาที่ยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล  และเป้าหมายการปฏิรูปประเทศตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ”

ความดังกล่าว แสดงว่ายุทธศาสตร์ชาติ มิได้เป็นหัวใจสำคัญของการบริหารประเทศ ตามความต้องการพื้นฐานของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ที่พึงจะทำยุทธศาสตร์ชาติให้สอดคล้องกับแนวนโยบายแห่งรัฐ ที่รัฐธรรมนูญให้ความสำคัญไว้เป็นพิเศษ เพราะบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ (หมวด 6) และแม้จะมีการเชื่อมโยงของกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติกับการปฏิรูปประเทศในหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญ ไว้ 7 ด้าน (คือ การเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ และ ด้านอื่นๆ) (แต่เมื่อลงมือปฏิบัติจริง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 รัฐบาล คสช. ได้ประกาศการปฏิรูปจริง 11 ด้าน ตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.  2560 คือ (1) ด้านการเมือง   (2) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน (3) ด้านกฎหมาย (4) ด้านกระบวนการยุติธรรม (5) ด้านการศึกษา (6) ด้านเศรษฐกิจ (7) ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (8) ด้านสาธารณสุข (9) ด้านสื่อสารมวลชน  เทคโนโลยีสารสนเทศ (10) ด้านสังคม (11) ด้านอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกําหนด) โดยแผนปฏิรูปแต่ละด้านต้องสอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ!? จึงแสดงชัดแจ้งว่ารัฐบาล คสช. ถือเอายุทธศาสตร์ชาติที่จะกำหนดขึ้นมาต่างหาก เสมือนเป็นอภิมหานโยบายแห่งรัฐ เชื่อมโยงกับการปฏิรูประเทศ แต่ไม่เชื่อมร้อยกับแนวนโยบายแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพ  ในฐานะที่ (แนว) นโยบายแห่งรัฐก็เป็นเป้าหมายที่พึงจะทำให้เกิดกับประชาชนในระยะยาว ตามที่รัฐธรรมนูญของตนให้คุณค่าไว้! ทั้งแสดงด้วยว่ารัฐบาลชุดนี้ มิได้บูรณาการนโยบายแห่งรัฐ การปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ เข้าด้วยกันอย่างลงตัว แต่เป็นการขัดแย้งในตนเอง (Paradox) (ไม่ได้ย้อนแย้งมาจากที่ใดภายนอก) ของกรอบคิดแห่งภารกิจการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ในสมัยของตนเอง และส่งต่อไปยังรัฐบาลอื่นในอนาคต!

กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติยังกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 34 คน ถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานคณะกรรมการ มีตัวแทนคณะรัฐมนตรี (คณะรัฐบาลผู้รับผิดชอบการบริหารประเทศ) มาเป็นเพื่อนอีกเพียง 1 คน คือ รองนายกรัฐมนตรี และแม้ว่าคณะรัฐมนตรีสามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิได้เอง 17 คน ก็ตาม แต่กลับมีประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ที่เป็นตัวแทนองค์คณะด้านนิติบัญญัติที่มิใช่ฝ่ายบริหาร เข้ามามีบทบาทกำหนดนโยบายบริหารประเทศด้วยภาษายุทธศาสตร์ชาติ ทั้งยังมีผู้บัญชาการเหล่าทัพและตำรวจ และหัวหน้าหน่วยงานด้านความมั่นคงที่เป็นลูกน้องรัฐบาลมานั่งกำกับรัฐบาลอยู่เช่นกันหลายตำแหน่ง อันขัดกับหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่รัฐบาลตั้ง หรือผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นคณะรัฐมนตรีอยู่แล้ว ดังที่รัฐบาลเพิ่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 นี้ ซึ่งไม่น่าจะเรียกว่าผู้ทรงคุณวุฒิตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะเป็นนักการเมือง อาจเป็นทางออกช่วยทำให้มติคณะกรรมการยุทธศาสตร์เข้าข้างรัฐบาลได้ เมื่อเป็นเช่นนั้น คณะรัฐมนตรีก็อาจมาเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้ถึง 17 คน รัฐบาลประชาธิปไตยที่สู้หัวชนฝากับอำนาจกองทัพและฝ่ายความมั่นคง และรัฐสภา อาจทำเช่นนั้น เพราะ รัฐบาลคสช. ทำให้ดูเป็นตัวอย่างไว้หลายคน แต่นั่นก็เสมือนเป็นการบริหารประเทศแบบมีส่วนร่วมของคณะรัฐมนตรีกับตัวแทนโดยตำแหน่งจากสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา องค์การระดับชาติของภาคธุรกิจเอกชน (หลายแห่ง) และภาคประชาชน (จำนวนน้อยมากๆ) แต่ก็น่าตื่นเต้นไปอีกแบบ!

คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีนั้น แต่ย่อมไม่ได้หมายถึงอำนาจการจัดทำเท่านั้น ย่อมมีอำนาจในการวินิจฉัยสาระว่าด้วยยุทธศาสตร์ด้วย นี่จึงเป็นปัญหาใหญ่ยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นองค์คณะควบคุมรัฐบาล อย่างน้อย 20 ปี ตามระยะเวลาของยุทธศาสตร์ชาติ เท่ากับเอาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคราวละ 5 ปี 4 แผน มารวมกัน และก็สอดคล้องกับการให้สำนักงานคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รับผิดชอบงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จึงไม่ต่างอะไรกับการทำให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่สภาพัฒน์รับผิดชอบถึง 12 ฉบับ ย่างเข้า 60 ปี นั้น มาขยายเป็นแผนแม่บทยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศระยะยาวขึ้น โดยมีแผนย่อยคราวละ 5 ปี รองรับ เชื่อมกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และ 5 ปี ของรายกระทรวง และที่สำคัญโดยมีกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติออกมาบังคับใช้ยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจน

ขณะที่เดิมทีสภาพัฒน์ไม่สามารถบังคับรัฐบาล และหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้ทำตามแผนพัฒนาได้ เพียงแต่เสนอแนะรัฐบาล และกระตุ้นและขอร้องหน่วยงานรัฐให้ทำเท่านั้น แต่เท่าที่ข้าพเจ้าเคยเรียนรู้เรื่องการทำแผนของสภาพัฒน์ สภาพัฒน์เองก็ถวิลหาแนวทางยุทธศาสตร์ระยะยาวๆ และต้องการให้หน่วยงานรัฐบาลทำตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ตนจัดทำขึ้นอย่างจริงจัง การเปลี่ยนแปลงในเรื่องยุทธศาสตร์มาเป็นใหญ่ในคราวนี้ จึงเชื่อว่าน่าจะมีเสียงสะท้อนไม่มากก็น้อยจากสภาพัฒน์ ถึงปัญหาในการทำตามแผนพัฒนาของหน่วยงานในกระทรวงต่างๆที่ประกาศใช้โดยพระบรมราชโองการ แต่ไม่มีกฎหมายรองรับชัดเจนในทางบังคับให้ต้องปฏิบัติตาม   เว้นแต่กำกับกันโดยงบประมาณ แต่ในบรรยากาศของการควบคุมประชาธิปไตยปัจจุบัน มันก็เข้าทางความต้องการของฝ่ายควบคุมประชาธิปไตยให้หนุนหลังเป็นสำคัญ

ในบรรยากาศประชาธิปไตย ที่มิใช่แบบเผด็จการปัจจุบัน การตีความเพื่อวินิจฉัยความสอดคล้องหรือไม่สอดคล้อง หากไม่อ่อนไหว ก็ย่อมยุ่งยากยิ่ง หรือทั้งสองอย่าง หากไม่พึ่งสภาพัฒน์กลไกหลักอันโดดเด่นของระบบแผนงานการพัฒนาประเทศ ในการวินิจฉัยจนยุติโดยง่าย  แต่เมื่อยืดเยื้อออกไปยาวนาน จะยุติลงได้ ก็เว้นแต่รัฐบาลจะสามารถควบคุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้อย่างเบ็ดเสร็จเท่านั้น คล้ายกับที่เป็นอยู่ในช่วงเวลานี้ ซึ่งนั่นก็คือระบบเผด็จการเบ็ดเสร็จ (Totalitarianism) หรือใกล้เคียง จึงจะบริหารประเทศตามหรือไม่ตามยุทธศาสตร์ชาติไปได้อย่างราบรื่น แต่ประเทศไทยจะต้องไม่อยู่ในสภาพเช่นนั้นตลอดไป อันเสี่ยงต่อความเป็นไบ้ของประชาชนและการไม่มีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในการปกครองตนเอง

นอกจากนี้ การที่แผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติสามารถแก้ไขได้ โดยกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสองมาตราคือ มาตรา 10

“ในกรณีที่คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติเห็นว่ามีความจําเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมแผนแม่บท ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือความจําเป็นของประเทศ  ให้คณะกรรมการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ ขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการและคณะรัฐมนตรีก่อน  และเมื่อคณะกรรมการและคณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบแล้ว  จึงดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป” และ มาตรา 11 “ให้คณะกรรมการจัดให้มีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุกห้าปี หรือในกรณีที่สถานการณ์ของโลกหรือสถานการณ์ของประเทศเปลี่ยนแปลงไปจนไม่สามารถหรือไม่เหมาะสมที่จะดําเนินการตามเป้าหมายหรือยุทธศาสตร์ด้านหนึ่งด้านใดได้ หากคณะกรรมการเห็นสมควรแก้ไขเพิ่มเติมยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  ให้คณะกรรมการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อนดําเนินการ”

การแก้ไขแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติจะเป็นปัญหาหนักหน่วงของรัฐบาลประชาธิปไตย เพราะกำหนดให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่นายกรัฐมนตรีกำกับไปขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา คือ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิกร่วมกัน ฉะนั้น ไม่ว่าประเด็นแก้ไขจะมีเพียงด้านเดียว หรือหลายด้าน บางส่วน หรือทั้งหมด ก็ไม่ต่างกับการบังคับรัฐบาลประชาธิปไตยให้ไปขออนุญาตแก้ไขสาระของนโยบายรัฐบาลที่ปรากฏในรูปภาษาแบบยุทธศาสตร์ชาติ  กับองค์คณะที่ไม่มีหน้าที่ดังกล่าว ขัดกับหลักการประชาธิปไตย ทั้งๆที่โดยธรรมเนียมของการบริหารประเทศแบบระบบรัฐสภา อันมีกษัตริย์เป็นประมุขนั้น รัฐบาลเพียงแถลงนโยบายให้สภาผู้แทนราษฎรทราบก็เพียงพอแล้ว กระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ชาติ จึงดูยากยิ่งใกล้เคียงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียนี่กระไร

นอกเหนือจากปัญหาความไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของนโยบายรัฐบาล และการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐแล้ว กระบวนการแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลประชาธิปไตย ก็ย่อมจะมีปัญหามากในทางปฏิบัติด้วย เพราะเรื่องการบริหารประเทศที่กำกับไว้โดยยุทธศาสตร์ชาตินั้น ไม่อยู่ในอำนาจคณะรัฐมนตรีเสียแล้ว และเกิดสภาพอำนาจคู่ทางการบริหารประเทศ คือ คณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ หากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่เป็นคนละพวกกับคณะรัฐมนตรีไม่เอาด้วย การแก้ไขก็จะยากหรือทำไม่ได้ และหากเมื่อส่งให้รัฐสภาพิจารณา ก็ต้องมีคณะกรรมาธิการทำหน้าที่พิจารณา จึงขึ้นอยู่กับว่าใครจะตีความว่าแก้ได้หรือแก้ไม่ได้ และควรแก้ตามที่เสนอมาหรือไม่ ด้วยเหตุผลใด เพราะขึ้นอยู่กับว่าใครหรือคนกลุ่มใด เช่น ส.ส. หรือ ส.ว. เป็นผู้พิจารณา ทั้งเหล่าแม่ทัพทั้งหลาย ก็นั่งอยู่ในทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและวุฒิสมาชิก และประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสมาชิกก็ร่วมด้วย รวมถึงการดึงเอาศาลรัฐธรรมนูญให้มาพิจารณาการกระทำอันขัดต่อกฎหมายนี้เข้าไปอีกด้วย

แต่เนื่องจากทุกนโยบายและกลยุทธ์ย่อมมีทฤษฎีเบื้องหลังสนับสนุนอยู่เสมอ ฉะนั้นการตีความก็ต้องอาศัยความเป็นเหตุเป็นผลในเป้าหมาย-วิธีการ และความสัมพันธ์ของตัวแปรจากทฤษฎีใดก็ตามด้วย ใครเชื่อทฤษฎีใดก็ตีความไปตามทฤษฎีนั้น ทฤษฎีที่มีอำนาจทำนายน้อยหรือเขาไม่นิยมกันแล้ว ก็อาจถูกผู้ทรงเกียรติในตำแหน่งทางสังคมและการเมือง หรือผู้มีอำนาจทางการเมืองมากกว่าเอามาอ้างเพื่อเอาชนะกัน ขึ้นอยู่กับว่าคณะใดจะอาศัยทฤษฎีหรือความรู้ใดมายืนยัน ทั้งความผิด-ถูก และชั่ว-ดี ในทางการเมืองที่ไม่แน่ไม่นอนได้เสมอนั้น ก็อาจถูกนำมาใช้อ้างให้แก้หรือไม่ให้แก้ไขไปด้วยเช่นกัน

อีกทั้งในกรณีจะให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง ตรวจสอบความสอดคล้องของนโยบายที่พรรคการเมืองจะใช้หาเสียงกับยุทธศาสตร์ชาติที่จะประกาศใช้นั้น คณะกรรมการการเลือกตั้งก็มิใช่องค์คณะผู้รู้ทางนโยบายศาสตร์โดยสำคัญตามภารกิจแห่งกฎหมาย ตรวจวินิจฉัยเองก็สุ่มเสี่ยง หากจะใช้ผู้เชี่ยวชาญมาช่วยก็ยากที่จะไม่เกิดอคติระหว่างบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ

ในการตีความของความสอดคล้องหรือไม่สอดคล้องของการบริหารนโยบายรัฐบาลกับยุทธศาสตร์ชาติ และการแก้ไขแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาตินั้น คณะที่ชอบการเมืองแบบเผด็จการก็ตีความแบบหนึ่ง คณะที่ชอบการเมืองแบบประชาธิปไตยก็จะตีความอีกแบบหนึ่ง หรือ ผู้ที่ชอบว่าเรื่องนี้สำคัญกว่าอีกเรื่องก็อาจไม่ยอมให้กับความถูกต้องที่แท้จริงอันมีหลักฐานสนับสนุนก็ได้ ทั้งอะไรเป็นนโยบายที่เป็นเป้าหมาย อะไรเป็นยุทธศาสตร์ที่เป็นวิธีการก็จะโกลาหนได้ไม่น้อย เพราะขึ้นอยู่กับการมองว่าประเด็นนั้นๆ สังกัดอะไร และเรื่องใดเป็นใหญ่ เรื่องใดเป็นรอง

สิ่งที่น่าสะพึงกลัวที่สุดก็คือ การขัดขวางการดำเนินงานของรัฐบาลประชาธิปไตย ที่ไม่สอดคล้องกับหรือแตกต่างจากยุทธศาสตร์ โดยฝ่ายที่เป็นปรปักษ์กับประชาธิปไตยที่อาจจะมีขึ้นได้ง่ายๆ จากการบัญญัติใน พ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 ไว้ว่า

“ในกรณีที่พบว่าการดำเนินการของหน่วยงานรัฐที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์นั้น เป็นผลมาจากมติคณะรัฐมนตรี หรือเป็นการดำเนินการของคณะรัฐมนตรีโดยตรง ให้วุฒิสภาสามารถยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ดำเนินการพิจารณาให้แล้วเสร็จและมีมติภายใน 60 วันนับแต่ได้รับเรื่อง โดยให้ฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” และมาตรา 25 ที่ว่า “ในกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาพิจารณารายงานตามมาตรา 24 แล้ว เห็นว่าหน่วยงานของรัฐไม่ดําเนินการตามมาตรา  26  วรรคสอง  โดยไม่มีเหตุอันสมควร   ให้สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา  แล้วแต่กรณี  มีมติส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพิจารณา ดําเนินการกับหัวหน้าหน่วยงานของรัฐนั้น ตามหน้าที่และอํานาจ ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รับเรื่อง  และในกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล  ให้ผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหานั้นสั่งให้ผู้นั้นพักราชการหรือพักงาน  หรือสั่งให้ออก จากราชการหรือออกจากงานไว้ก่อน  หรือสั่งให้พ้นจากตําแหน่งต่อไป”

แต่ประเด็นที่ไม่พบในกฎหมายก็คือ หากยุทธศาสตร์ชาติกำหนดมาไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน ขาดความแม่นยำ เลือกปฏิบัติไปในทางที่ขัดแย้งกับสิทธิมนุษยชนของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เพ้อฝันเกินไป หรือ ทำไม่ได้เพราะสาระของยุทธศาสตร์เองที่ไม่ได้เรื่อง มิใช่ผู้ปฏิบัติเป็นผู้ผิด คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ผู้นำเสนอเรื่องนี้ต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา จะพร้อมต่อการรับผิดกันอย่างไรหรือไม่?

ประเด็นสำคัญอีกประการของการพิจารณาว่าสาระและการกระทำใด สอดคล้องหรือไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในการบริหารประเทศของรัฐบาล หรือในกรณีจะแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติได้หรือไม่นั้น ในเชิงความรู้และตำราที่จะเอามาตรวจสอบหรืออ้างอิงแล้ว ในโลกนี้ที่ขัดกันหรือมองต่างกันก็มีมาก และปลีกย่อยก็มากยิ่ง ไม่ราบรื่นคล้อยตามกันไปหมด ไม่พอที่จะเอามาประกอบการพิจารณาอย่างเป็นเอกภาพของความเห็นพ้องโดยดุษฎี เว้นแต่เรื่องที่ไม่ต้องตีความ เช่น วิทยาศาสตร์ธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์สังคมที่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ชัดเจน ศาลรัฐธรรมนูญเองก็เถอะที่ถูกกำหนดให้มาวินิจฉัยว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐหรือไม่ ก็หาใช่หน้าที่อันควรที่ต้องมายุ่งในเรืองแบบนี้เลย

เมื่อเร็วๆนี้ (15 สิงหาคม 2560) คณะรัฐมนตรีก็ได้ประกาศให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ตามพ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดําเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ซึ่งตามกฎหมายนี้ กำหนดให้แผนปฏิรูปประเทศสอดคล้องกับแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ หรือกล่าวอีกแบบหนึ่ง  ก็คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติปกคลุมอยู่เหนือหรือกำกับแผนปฏิรูปประเทศ  และให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้กํากับดูแลและสนับสนุนให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ แต่ในทางบริหาร (ตามมติคณะรัฐมนตรี 15 ส.ค. 2560 – แถลงโดยโฆษกรัฐบาล) รัฐบาล คสช. ก็ตั้งธงซ้อนให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกำกับดูแลว่าหากหน่วยใดไม่ทำตามแผนการปฏิรูปด้วย หากคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (แม้นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน) เห็นต่างกันจะทำอย่างไร เพราะเป็นไปได้ที่คณะรัฐมนตรีอาจสนับสนุนให้หน่วยงานรัฐทำแบบหนึ่ง แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต้องการอีกแบบหนึ่ง เมื่อความเห็นขัดกัน และนายกรัฐมนตรีต้องใช้อำนาจบริหารที่ตนเองมีอยู่สูงสุดตัดสินใจ หากเอาตามความต้องการของคณะรัฐมนตรี ก็จะกลายเป็นความผิดได้เพราะขัดกับความเห็นของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่กฎหมายยุทธศาสตร์รับรอง แต่มีองค์ประกอบแตกต่างจากคณะรัฐมนตรี สภาวะดังกล่าวนี้จะไม่มีปัญหากับรัฐบาล คสช. และรวมถึงหลังจากคสช.หากนายกรัฐมนตรียังคงเป็นคนปัจจุบันหรือคนของ คสช.ผู้กุมอำนาจแห่งการปราบประชาธิปไตยในปัจจุบัน

การรอดพ้นจากความไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติของนโยบายรัฐบาลก็คือ ต้องยึดการดำเนินการตามแนวนโยบายแห่งรัฐ และแสดงให้เห็นว่านโยบายรัฐบาลสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดอย่างหลวมๆเอามากๆ เช่น เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติกำหนดไปทางทิศเหนือ แต่รัฐบาลทำไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก็ต้องถือว่าสอดคล้องแล้วทำนองนั้น แต่ถ้ารัฐบาลทำสอดคล้องมากๆ คือไปทางทิศเหนือ แต่ไปไม่ถึง จ. เชียงใหม่ คือได้แค่ จ. อุตรดิตถ์ จะถือว่าไม่สอดคล้องคือไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้วยใช่หรือไม่

ความลักลั่นของการบริหารยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศของรัฐบาล คสช. ข้างต้น จึงมีประเด็นปัญหาสำคัญ คือ 1) ให้นโยบายรัฐบาลต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ในขณะที่ยุทธศาสตร์ชาติอยู่ในอำนาจของข้าราชการ ก็เท่ากับว่าแนวทางของเจ้าหน้าที่รัฐในการบริหารการพัฒนาประเทศ อยู่เหนือนโยบายของรัฐบาลประชาธิปไตย ผู้ถูกเลือกให้เป็นนายของเจ้าหน้าที่รัฐจากและแทนประชาชน 2) การแก้ไขแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติของการบริหารประเทศซึ่งควรเป็นอำนาจของรัฐบาลฝ่ายเดียวทำได้ยาก 3) ให้แผนปฏิรูปประเทศเป็นแผนภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ หรือ กล่าวอีกแบบหนึ่งก็คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติอยู่เหนือ หรือเป็นส่วนหัวของหรือประกอบด้วยแผนปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน โดยรัฐบาลต้องคล้อยตามแผนปฏิรูปและแผนยุทธศาสตร์ชาติ 4) ไม่ให้คณะรัฐมนตรีกำกับหรือสนับสนุนคณะกรรมการปฏิรูปประเทศโดยตรง แต่ให้กำกับหน่วยงานรัฐในการทำงานตามแผนปฏิรูปแทน และ 5) ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติอยู่เหนือคณะกรรมการปฏิรูประเทศแทนคณะรัฐมนตรี เพื่อให้แผนปฏิรูปสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ หาใช่สอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐและนโยบายรัฐบาลไม่ อันแสดงว่าคณะกรรมการปฏิรูปประเทศในแต่ละด้าน ก็คือ อนุกรรมการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ผลิตแผนยุทธศาสตร์ชาตินั่นเอง แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติก็ยังมีคณะกรรมการระดับอนุกรรมการของตนได้อีกอยู่แล้ว การมีคณะกรรมการหลายองค์คณะและซ้ำๆซ้อนๆอยู่ในที ย่อมต้องใช้งบประมาณแผ่นดินสูง เพื่อตอบแทนการทำงานแก่นักยุทธศาสตรต์และนักปฏิรูปแห่งชาติทั้งหลาย แต่อะไรล่ะ คือหลักประกันว่าคณะกรรมการเหล่านี้จะสร้างผลงานที่คุ้มค่ากับงบประมาณจากภาษีของประชาชน?

ฉะนั้น หากจะมีคณะกรรมการสำคัญระดับชาติเช่นนี้เพียงชุดเดียว คือ ยกเลิกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่สำคัญน้อยเสีย ให้เหลือแต่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่สำคัญและครอบคลุมกว่า โดยปรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ไปเป็นคณะกรรมการอำนวยการ หรือคณะกรรมการส่งเสริมและสนับสนุนการปฏิรูปประเทศเหนือคณะปฏิรูปแต่ละด้าน โดยให้อิสระพอสมควรต่อคณะกรรมการปฏิรูปแต่ละด้านในการทำหน้าที่ การบริหารงานนโยบายรัฐและนโยบายรัฐบาล การบริหารแผนกลยุทธ์หรือแผนการปฏิรูปประเทศของรัฐบาลชุดนี้ก็จะลงตัวมากขึ้น เพราะลดปัญหาความเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” “รัฐซ่อนรัฐ” และ “รัฐโซ้ยรัฐ” แต่หากยังเป็นไปตามแบบที่กล่าวมา ก็นับเป็นความลักลั่นที่สุดของการบริหารประเทศที่นักรบ คสช. จัดหนักแบบอำนาจนิยมให้กับรัฐบาลของตนและรัฐบาลประชาธิปไตยในอนาคต หากประชาชนผู้จ่ายภาษีส่วนใหญ่ยอมให้เป็นไปแบบนี้ ข้าพเจ้าก็อยากจะไปบวชเสียจริงๆ (เพราะพระผู้สละแล้วซึ่งโลกียสมบัติ ไม่ต้องเสียภาษี)! แต่ก็ขอชวนคิดว่า “ประชาชนจะไม่จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหารได้หรือไม่?”

การบริหารนโยบายรัฐบาล การพัฒนากลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และการอ้างการสร้างความปรองดองมาผูกสอยห้อยตามเข้ากับการปฏิรูปประเทศก็ดี ในครรลองของความเป็นวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยนั้น มีทางออกให้อยู่แล้ว ก็คือยกเลิกพ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเสีย แต่มีการจัดการกลยุทธ์แห่งชาติหรือยุทธศาสตร์ชาติแบบอื่นขึ้นมาแทน เช่น ให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศไปจัดทำข้อเสนอกลยุทธ์แห่งชาติเพื่อการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ  และโดยสำคัญที่สุดต้องให้ประชาชนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่จัดขึ้นอย่างมีคุณภาพนั่นแหละดีที่สุด ว่านโยบายใด และกลยุทธ์การปฏิรูปแห่งชาติประกอบนโยบายอันใด (หากมี) ที่เสนอโดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศต่อประชาชน พรรคการเมือง หรือพรรคการเมืองและรัฐบาลพัฒนาขึ้นมาเอง เป็นประโยชน์ที่สุด ประชาชนก็เลือกนโยบายและกลยุทธ์การปฏิรูปแห่งชาตินั้น เพื่อความอยู่รอดและรุ่งเรืองอย่างที่สุดของประเทศและประชาชน

การเลือกตั้งมิใช่หมายถึงเพียงการเปิดประตูกระบวนการประชาธิปไตยรอบใหม่เท่านั้น แต่ยังมีนัยของการให้คุณและให้โทษแก่นักการเมืองและรัฐบาล หากใครทำไว้ถูกต้อง (ความดีจะมาเป็นลูกน้อง เพราะความถูกต้องมีคุณค่าสูงกว่าแค่ทำความดี) ชาวบ้านก็จะให้ตำแหน่งคืนมา แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะถูกลงโทษคือปลดออกจากตำแหน่ง คือไม่ได้รับการเลือกตั้ง หมดสิ้นซึ่งค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ประกอบอื่นใด ที่จะได้รับต่อไป ผิดกับข้ารัฐการและนักยุทธศาสตร์ชาติ (รวมทั้งนักปฏิรูปประเทศ) ที่แม้จะทำงานไม่สำเร็จผล แต่ก็ยังอยู่ในตำแหน่งต่อไปได้ (หากไม่มีวาระ)

ขอเพียงแต่ว่าผู้มีอำนาจ หรือชนชั้นใดก็ตามแต่ที่ปฏิเสธหรือทำตนเหนือประชาธิปไตย หรืออ้างสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศหรือการเตรียมความพร้อมต่อสงครามระหว่างประเทศ ก็ต้องเลิกคิดเสียทีว่ารักชาติยิ่งกว่าใคร ประชาชนไทยส่วนใหญ่ยังโง่ คิดเองและเลือกพรรคการเมืองที่ดีไม่เป็น ใช่ประชาชนส่วนใหญ่อาจเลือกพรรคการเมืองที่ดี (ในความหมายของใครๆก็บ้างก็ไม่รู้) ไม่เป็น แต่เขารู้จากประสบการณ์ (มีนัยทางวิทยาศาสตร์ ไม่หลงอะไรตายตัว) ว่าควรจะเลือกพรรคการเมืองใดจึงจะเหมาะสมที่สุด ประเทศจึงจะวิวัฒนาการต่อไปได้ โดยไม่ต้องปฏิวัติหรือรัฐประหารเพื่อให้ได้รัฐบาลแห่งความดีแตก จนขมไปทั่ว มาบริหารประเทศ แต่ถ้ากดเขามากๆ ประชาชนที่ทนไม่ไหว เขาก็อาจจะรวมตัวกันทำปฏิวัติประชาธิปไตยประชาชน ที่ไม่เอาทหารมาปกครองขึ้นเสียเองก็เป็นได้

การพยายามสร้างความแตกต่างของรัฐบาล คสช. จากรัฐบาลอื่นในอดีต ในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นจุดขายประการสำคัญหนึ่งของอะไรๆต่างๆ ที่เขาคิดว่าทำดีกว่ารัฐบาลจากพรรคการเมืองทั้งหลายในอดีตนั้น ก็เพื่อทำให้ประชาชนพึงพอใจ ชดเชยความผิดในการยึดอำนาจ และปูทางรองรับการดำรงอำนาจอยู่ต่อไป แต่การทำแผลงๆ เช่นนี้ คือ การวางยุทธศาสตร์ชาติของชาวคสช. และแม่น้ำห้าสายที่กำหนดไว้ให้แล้ว และอยู่สูงส่งกว่านโยบายรัฐบาลจากการเลือกตั้งนั้น แม้ว่าจะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็นในการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ และทบทวนได้ทุกห้าปีหรือตามสถานการณ์อำนวย แต่การทบทวนก็น่าจะทำได้ก็โดยรัฐบาลหน้าที่จะบริหารประเทศในปี 2566 เป็นต้นไป

ยุทธศาสตร์ชาติตามกฎหมายการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งในทางที่เป็นจริงก็ควรเป็นเพียงกลยุทธ์แห่งชาติหรือรัฐกลยุทธ์ที่รับผิดชอบโดยหน่วยงานระดับชาติในเรื่องนั้นๆ กำลังมีการทดลองใช้อย่างยกขึ้นสูงและรวบยอดเพื่อเป็นแผนแม่บทแห่งชาติใช้ในระยะยาว แต่ลดทอนนโยบายรัฐบาลประชาธิปไตยในอนาคต ใกล้จะปรากฏออกมา ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า ที่คาดว่าจะมีภายในปี 2561 และแม้นว่าในกาลต่อมา หากผู้จัดทำยุทธศาสตร์ชาติจะทำการคารวะต่อแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 (อันสืบต่อมาจากแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ 2550) มาเป็นกรอบการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติในที่สุดก็ตาม แต่นั่นก็จะเป็นเรื่องตลกยิ่ง เพราะมันสะท้อนว่าแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ดูจากภายนอกว่าอาจจะมาจากการรวมแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของทุกกระทรวงเข้ามาไว้ด้วยกันในอนาคต โดยการขัดเกลาของคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ภายใต้กำกับของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ก็คือนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญในทางเนื้อหาและแนวทางของการปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลประชาธิปไตยเขาก็ทำกันอยู่แล้ว โดยกำกับให้กระทรวงต่างๆมีแผนยุทธศาสตร์ของตน เช่น แผน 5 ปี ให้สอดคล้องกับแผนส่วนกลางของประเทศ คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5 ปี ที่มีตลอดมา มิใยจะมาทำกฎหมายยุทธศาสตร์ให้วุ่นวายไปแต่ประการใด

ฉะนั้น แม้ว่าการมองแบบกลยุทธ์ระยะยาวจะเป็นเรื่องที่ดี แม้ว่ายุทธศาสตร์ก็มีได้ทั้งระยะสั้นและระยะกลางด้วย แต่ในประเทศไทยก็มีมันมานมนานแล้ว ในภาษาแผนยุทธศาสตร์ชาติของกระทรวงต่างๆ นั้น เมื่อมาแต่งองค์ทรงเครื่องเป็นแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และรัฐบาลถูกบังคับให้ต้องดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว แทนที่มันจะเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่กลับน่ากระอักกระอ่วนใจและวิตกกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อไปนี้ คือ

1) ความสอดคล้องของแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติกับแนวนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญจะมีหรือไม่และอย่างไร (ร่างที่รัฐบาลทำไว้แล้ว พ.ค. 2559 – ยังไม่มี)

2) เป้าหมายระยะยาวของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะกว้างขวางหรือเจาะจงเพียงใด (ข้อสังเกตุ คือ หากกำหนดเจาะจงมากก็เสี่ยงมหันต์ต่อความเป็นไปไม่ได้ แต่กำหนดแบบง่ายๆหรือเลือนลางเพื่อไม่มัดตัวเกินไป ก็มีปัญหาว่าการทำอะไรๆก็อาจใช้ได้ไปหมด นักอนาคตศาสตร์จะช่วยมองอนาคตภาพได้บ้าง  แต่ก็ต่อเมื่อทำงานอย่างเป็นอิสระ นอกเหนือการครอบงำของอำนาจเผด็จการใดๆ)

3) โอกาสที่สิทธิมนุษยชนของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ จะถูกนำไปใช้อ้างอิงประกอบการกำหนดเป้าหมายและบรรจุในแผนยุทธศาสตร์ชาติจะมีในเรื่องใด และเพียงใด 

4) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี จะสัมพันธ์กันอย่างเป็นพื้นฐานในทางประชาธิปไตย โดยอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมตัดสินใจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย อย่างเป็นอิสระได้หรือไม่ ในขณะที่รัฐบาล คสช. และแม่น้ำห้าสายจัดวางให้นโยบายรัฐบาลไปอยู่ชั้นล่างๆ ของยุทธศาสตร์ชาติ อย่างไม่มีสง่าราศี ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและนโยบายความมั่นคงแห่งชาติของทางทหาร

5) ภาคประชาชนและ สื่อสารมวลชนจะมีส่วนติดตามการปฏิบัติตามแผน 20 ปี และ แผนย่อย 5 ปี ของทุกกระทรวง (รวมทั้งกระทรวงกลาโหม)  อย่างเป็นอิสระและเป็นทางการได้อย่างไร โดยมิใช่การตรวจสอบติดตามที่มุ่งล้มล้างรัฐบาลประชาธิปไตยว่าทำผิดยุทธศาสตร์ชาติ

6) การปรับปรุงแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยรัฐบาลประชาธิปไตยจะทำได้จริงหรือไม่ และสุดท้าย

7) คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่กรรมการส่วนใหญ่ ประชาชนไม่ได้รับรองหรือผูกโยงกับประชาชน จะต้องรับผิดชอบอย่างไรกับความไม่เป็นผลของการดำเนินการตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ (แต่อยู่เหนือนโยบายของรัฐบาลที่ประชาชนส่วนใหญ่อนุมัติให้ดำเนินการ) อันมีสาเหตุมาจากความไม่สมบูรณ์หรือบกพร่องของตัวแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติเอง มิใช่จากการปฏิบัติของรัฐบาลหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะกว่าจะทราบผลที่ไม่เป็นไปตามเป้าหรือผลกระทบในทางลบก็อาจผ่านไปแล้วหลายๆ ปี

เมื่อยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้ คาดว่าในเดือนตุลาคมถึงปลายปี 2560 นี้ ก็จะผูกมัดยุทธศาสตร์ชาติไว้ไม่น้อยกว่า 20 ปี แต่วาระคณะรัฐมนตรีมีเพียง 4 ปี หรือไม่มีวาสนาที่จะอยู่ครบ 4 ปี หากรัฐบาลชุดใดทำยุทธศาสตร์ชาติไว้ รัฐบาลชุดใหม่มาจากพรรคการเมืองต่างมุมมองหรืออุดมการณ์หรือผลประโยชน์ ก็ต้องพยายามแก้ไขกัน แบบของใครของมันอยู่ดี ยังไม่รวมหน่วยงานด้านแผนระดับชาติของรัฐที่มีบทบาทชี้นำสำคัญว่าจะเข้าข้างใคร

ตัวกระทำเหล่านี้จะต้องการยุทธศาสตร์ที่แตกต่างกันหรือไม่เป็นเช่นเดียวกันทั้งหมด เพราะขึ้นอยู่กับการให้คุณค่าต่อเป้าหมายและวิธีการ ทั้งเป้าหมายเองก็กำหนดวิธีการ และวิธีการที่ใช้ก็จะทำให้เป้าหมายไปถึงได้เพียงใด หรือเป้าหมายอาจคล้ายกันแต่ต่างวิธีการ หรือวิธีการที่ใช้ในวันนี้ก็คือเป้าหมายในอดีตที่ย่อมเกิดขึ้นได้ ทั้งประเด็นแก้อาจจะแก้บางด้าน ไม่พร้อมกันทุกด้าน การนับอายุยุทธศาสตร์แต่ละด้าน หลังแก้และประกาศใหม่ จะนับให้ต่อเนื่องหรือไม่ต่อเนื่องอย่างไร เพราะบังคับให้กำหนดแต่ละด้านไว้ไม่น้อยกว่า 20 ปี เว้นแต่ต้องแก้พร้อมกันหมดไปโดยปริยาย ทั้งๆที่สถานการณ์แวดล้อมของยุทธศาสตร์แต่ละด้านไม่เหมือนกัน และหากรัฐบาลประชาธิปไตยจะแก้จริง ก็จะทำไม่ได้สะดวกตามที่รับปากกับประชาชนตอนหาเสียง แต่หากไม่แก้ไข นโยบายของพรรคก็ใช้ไม่ได้หรือไม่ได้เต็มที่ หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองก็อาจจะไม่กล้าคิดต่างจากยุทธศาสตร์ชาติที่ รัฐบาลคสช. ทำไว้แล้ว ก็เป็นไปได้เช่นกัน เพราะจะไม่ได้รับอนุญาตจาก กกต. ให้ใช้นโยบายนั้นหาเสียงได้ รวมทั้งกลัวความผิดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากการเอานโยบายที่อาจถูกตีความว่าภายหลังว่าไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติมาใช้

ในทางตรงกันข้ามกับการให้ยุทธศาสตร์ชาติเป็นใหญ่กว่านโยบายรัฐบาล พรรคการเมืองและผู้สมัครรับเลือกตั้งอาจนำเสนอนโยบายหรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หรือ 30 ปี ก็ไม่เสียหาย เพราะหากได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง รัฐบาลก็สามารถเริ่มแผนงาน 1-4 ปี ตามวาระไปก่อน และหากมีอำนาจเป็นรัฐบาลต่อก็ทำแผนในระยะเวลาต่อไปตามความเป็นจริงในทางปฏิบัติ ซึ่งรัฐบาลคนละชุดจะมาสานฝันระยะยาวต่อให้หรือไม่ก็ไม่เป็นไร ไม่มีกฎหมายห้ามเปลี่ยนแปลง แต่ในความเป็นจริงก็จะมีกฎหมายให้ต้องทำต่อไปจนกว่าจะแก้กฎหมาย และแก้เพื่อประโยชน์ที่ดียิ่งขึ้นของประชาชน ดังที่พบว่านโยบายเรียนฟรีของพรรคประชาธิปัตย์ที่มุ่งสร้างการผลิตกำลังคน โดยความรับผิดชอบในทางงบประมาณของรัฐมากขึ้นนั้น เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลต่อมาก็ทำต่อให้ เช่นเดียวกับนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในทุกวันนี้ก็ทำกันสืบเนื่องมากว่า 10 ปี แล้ว เสมือนยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการตอบแทนคนที่เคยเป็นกำลังแรงงานสำคัญของชาติ เพราะนโยบายศาสตร์สำคัญกว่ายุทธศาสตร์นั่นเอง ส่วนการยกเลิกนโยบายก็อาจมีบ้าง แต่นั่นก็มีความเป็นเหตุเป็นผลที่ต้องพิจารณากันไปว่าเป็นเช่นไร มิใช่ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ก็ยกเลิกนโยบายกันแบบไม่เป็นเหตุเป็นผลที่ดี และการเปลี่ยนแปลงก็ย่อมเป็นไปตามความต้องการของประชาชนหรือที่ประชาชนยินยอม

สภาพปัญหา ความวิตกกังวล และข้อสังเกตุข้างต้นเหล่านี้ ย่อมเกี่ยวโยงไปถึงการเก็บกดและดูแคลนกลไกประชาธิปไตยแบบพรรคการเมือง และบังคับให้ประชาธิปไตยประชาชนเดินตามรัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ไม่ได้ตั้งใจจะอยู่ชั่วคราวระยะสั้นเท่านั้นต่อไป แต่ผลกระทบระยะยาวก็คือ การทำลายความตื่นตัวของประชาชนตามหลักการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ การทำให้ประชาธิปไตยถ้าไม่ตายก็พิการ อาจได้ยุทธศาสตร์ที่หลงทิศผิดทาง ไม่คุ้มกับการลงทุน ลงแรง เวลา สติปัญญา และจิตใจ และได้อะไรกลับมาที่ไม่คาดคิด..... ที่เผด็จการไม่เคยพร้อมต่อการรับผิด เพราะผู้สติเฟื่องสูงสุด นิรโทษกรรมให้ตนเองไว้แล้วนั่นเอง!

กล่าวโดยสรุป ในสังคมประชาธิปไตย นโยบายรัฐ (นโยบายแห่งรัฐ) และนโยบายรัฐบาลสำคัญกว่ายุทธศาสตร์ชาติหรือกลยุทธ์แห่งชาติ เพราะนโยบายศาสตร์มีฐานความรู้ที่เป็นระบบและมีความครอบคลุมกว่าเรื่องยุทธศาสตร์และยุทธวิธีต่างๆ ที่จะนำมาใช้พัฒนาชาติหรือเสริมนโยบายรัฐ ทั้งนโยบายรัฐบาลและกลยุทธ์แห่งชาติก็เป็นส่วนของเป้าหมายและวิธีการที่ประกอบเข้าด้วยกัน แต่ต่อไปนโยบายรัฐบาล อันมีค่าเท่ากับประชามติ จะต้องถูกบังคับให้เล็ก ยิ่งใหญ่ไม่ได้ ต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอย่างสับสนนั้น ซึ่งอันที่จริง กลุ่มประชาชน พรรคการเมือง และรัฐบาลจากการเลือกตั้งเขาก็ฉลาดคิดทำกันทั้งนโยบายและยุทธศาสตร์กันได้อยู่แล้วตลอดมาในอดีต ด้วยการสื่อความหมายหรือคำแถลงด้วยข้อความต่างๆ  ที่อาจจะใช้กระบวนท่าหรือภาษาแบบนโยบาย กลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ วิสัยทัศน์ แผน และโครงการ หรืออะไรก็ตามในกระบวนการของนโยบาย ทั้งยังมีการดำเนินงานที่เป็นงานเชิงยุทธศาสตร์ชาติหรือกลยุทธ์แห่งชาติมากมาย ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลชุดต่างๆ หรือหลายชุดสืบเนื่องกันมาเป็นระยะยาวนาน หากจะวิเคราะห์ย้อนหลัง ข้าพเจ้าก็สามารถแสดงให้สาธารณะชนเห็นได้มากมาย!

ยุทธศาสตร์ชาติระยะยาวตามพ.ร.บ. การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ที่อยู่เหนือนโยบายรัฐบาลประชาธิปไตย และมิได้ขึ้นต่อหรือมีรากฐานมาจากนโยบายแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จึงกำลังเป็นตัวอย่างหนึ่งของการปราบประชาธิปไตย ภายใต้ความชุลมุนวุ่นวายทางการเมือง ความสับสนในจิตใจของประชาชนไทยระหว่างความดี-ชั่ว  คุณค่าของประชาธิปไตย ความถูก-ผิด ปัญหาและประสิทธิภาพของนักการเมืองและรัฐ ประสิทธิผลของนโยบายรัฐบาล ระหว่างข้าราชการหรือนักการเมืองใครทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนแท้จริงมากกว่ากัน รวมทั้งการสลัวของแสงประชาธิปไตย ที่แสดงถึงการกลับคืนมาแข็งแกร่งของรัฐราชการเหนือรัฐประชาธิปไตย  และการสืบทอดอำนาจปกครองของรัฐทหาร นับเป็นเรื่องเหลือเชื่อในโลกประชาธิปไตยสมัยปัจจุบัน แต่ยังมีเหลือให้ชาวต่างประเทศมาศึกษาดูงานได้จริง ก็ในประเทศไทยเป็นสำคัญ

ในทางแก้ไขปัญหา นอกจากอำนาจประชาชนจะเป็นปราการสำคัญในการยืนยันว่า นโยบายต้องมาจากการเห็นชอบของประชาชนว่าจะเป็นเช่นไรแล้ว ก็ต้องแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ เพื่อทำให้เกิดความลงตัวระหว่างนโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญ หรือแนวนโยบายแห่งรัฐตามที่ใช้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 และการกำหนดนโยบายของรัฐบาลในการกำกับยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ แสงสว่างในปลายอุโมงค์ที่ยังพอจะทำให้เห็นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ในอนาคตประการหนึ่ง ก็คือการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพียงแต่กำหนดให้เรื่องยุทธศาสตร์ชาติมีกฎหมายรองรับ โดยมิได้กำหนดให้ต้องเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเช่นนี้ จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่คณะรัฐบาลประชาธิปไตย จะสามารถปรับแก้ระดับกฎหมายให้แผนยุทธศาสตร์ชาติที่แม่น้ำห้าสาย ภายใต้การนำของคสช. มีลักษณะเป็นแผนกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ที่รับผิดชอบโดยหน่วยงานระดับชาติเฉพาะด้าน ตามกฎหมายในระดับพระราชกฤษฎีกาในกำกับของคณะรัฐมนตรีเสีย ก็เพียงพอต่อการบริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ!

ฉะนั้น จึงไม่ถูกต้องเลยที่รัฐบาลปัจจุบัน ประยุกต์ตำราผิดหรือแต่งตำราใหม่ก็ตาม กำลังทำเรื่องง่าย ให้เป็นเรื่องยากและซับซ้อน วางแนวคิดยุทธศาสตร์ที่ได้จากการสงครามและการวิเคราะหห์เชิงกลยุทธ์องค์การมาเบ่งทับเหนือนโยบายศาสตร์ และเอาเรื่องระดับกลยุทธ์แห่งชาติที่ต้องเจาะจง แต่ปรับเปลี่ยนได้สะดวกในหน่วยงานต่างๆ (เช่น ที่ปรากฏในรูปแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ตามกระทรวงต่างๆ) ในอนุมัติของรัฐบาล ไปยกระดับเป็นแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติระยะยาว 20 ปี ที่อาจไม่ใช่การกระทำแบบใหม่และสำคัญมากเป็นพิเศษ ทั้งยังมีความยุ่งยากในการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงได้ยาก โดยกำกับของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มีอำนาจซ้อนกับรัฐบาล และเอามันไปวางไว้อยู่เหนือนโยบายรัฐตามรัฐธรรมนูญและนโยบายรัฐบาลที่สะท้อนเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนให้เป็นเบี้ยล่าง

การบังคับรัฐบาลประชาธิปไตยให้บริหารประเทศตามกฎหมายการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติที่ทหารกำกับ แต่อนุญาตให้มีกฎหมายแบบนี้ได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่การออกเสียงประชามติรับรองถูกจำกัดความเปิดกว้างอย่างยิ่งนั้น ย่อมเป็นบาปหนักในทางการเมืองการปกครอง ด้วยเจตนาสร้างสภาพแวดล้อมและก่อให้เกิดสถานการณ์อ้างอิงเพื่อประโยชน์ในการอยู่ครองอำนาจต่อไป มิใช่ชะตากรรมของบ้านเมืองโดยธรรมชาติ

ขุนทหารผู้กุมอำนาจบ้านเมืองทั้งหลายเอย – โปรดลดความยึดมั่นถือมั่น ปล่อยวางอำนาจรัฐลงเสียเถิด คุณค่าของพวกท่านจะยังมีต่อไป แต่ก็เมื่อหันมาปฏิบัติตนให้ถูกต้อง เปลี่ยนยุทธศาสตร์การรบกับประชาชนไทยเสียเองของกองทัพเสียใหม่ เป็นการยอมรับอำนาจอธิปไตยของประชาชน และเข้าช่วยเหลือให้รัฐบาลประชาธิปไตยมีอิสระ ที่จะประกาศยืนยันหรือเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ ได้เสมอ เพื่อใช้มันในฐานะเครื่องมือเสริมและสนับสนุนนโยบายชาติ (นโยบายแห่งรัฐและนโยบายรัฐบาล) ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้บรรลุผลตามเป้าหมายแห่งความศิวิไลซ์ของประเทศชาติและประชาชน ย่อมจะถูกต้องและเหมาะสมที่สุด!

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net