Skip to main content
sharethis

เล่าโมเดลพลเรือนตรวจสอบกองทัพ ผู้ตรวจการกองทัพคืออะไร เปิดนิยามและประโยชน์จากองค์กรหนุนปฏิรูปกองทัพ ไม่ใช่ของใหม่ หลายประเทศมีแล้ว ตัวแบบเยอรมนี พลเรือนพิทักษ์สิทธิ์ ตรวจสอบกองทัพ ทหารร้องทุกข์ได้สารพัด อัพเดทรายงานให้ประชาชนเห็นทุกปี หันกลับมามองไทย คลอดผู้ตรวจการกองทัพใต้การเมืองลายพราง 2 ทศวรรษ ยังไม่มีคำตอบและอาจไม่มีคำถาม

ภายหลังจากสิบโทกิตติกร (สุธีรพันธุ์) เสียชีวิต เจ้าหน้าที่ทหารได้โทรแจ้งให้บุญเรือง สุธีรพันธ์ แม่ของผู้ตายทราบว่าลูกชายเสียชีวิตเพราะทนความหนาวไม่ไหว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ญาติของผู้ตายได้พยายามขอประกันตัว และขอเข้าเยี่ยมลูกที่คุกทหาร แต่กลับถูกปฏิเสธ โดยบอกเห็นเหตุผลว่าผู้ใหญ่สั่งไม่ให้ประกัน และห้ามเข้าเยี่ยม เมื่อแม่ผู้ตายได้เดินทางไปรับศพกลับพบว่ามีร่องรอยถูกทำร้ายตามร่างกาย  (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

นางมาลัยภรณ์ ให้การว่าช่วงวานนี้ (19 ส.ค.) ตนได้เดินทางไปรับบุตรชายออกจากค่ายเพื่อมาร่วมงานบุญ และมีกำหนดเดินทางกลับเข้าไปในค่ายภายในวันเดียวกัน โดยมีพ่อของเพื่อนบุตรชายเป็นผู้ไปส่ง ต่อมาเวลาประมาณ 20.00 น. มีทหารเกณฑ์รุ่นพี่ 2 คน พาบุตรชายกลับมาที่บ้านของพี่สาว ในสภาพร่างกายอ่อนเพลีย และแจ้งให้พี่สาวทราบว่า 'น้องทาโร่' ถูกซ่อม (ลงโทษทางวินัย) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

พลทหารวิเชียร เผือกสม เขาเสียชีวิตเมื่อ 5 มิ.ย. 2554 ซึ่งเป็นเวลาเพียง 2 เดือนหลังเข้ารับการฝึกในค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือค่ายปิเหล็ง จังหวัดนราธิวาส สาเหตุการเสียชีวิตมาจากการถูกทำร้ายร่างกายด้วยของแข็ง กล้ามเนื้อฉีกขาดรุนแรงจนทำให้ไตวายเฉียบพลัน ต้นเหตุของความสูญเสียเกิดจากการสั่งทำโทษของร้อยโท 1 นายร่วมกับพวกรวม 10 คน โดยบรรดาครูฝึกทหารใหม่อ้างว่าพลทหารวิเชียรถูกลงโทษเพราะหลบหนีการฝึกถึง 2 ครั้ง (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

 

ข้อความดังกล่าวเป็นตัวอย่างข่าวการเสียชีวิตอย่างเป็นปริศนาของทหาร ตลอดเวลาที่มีการบันทึกตั้งแต่ปี 2552 มีอยู่ 9 ราย การสูญเสียที่เกิดขึ้นกับกำลังพลทั้งที่ไม่ได้ไปรบทัพจับศึก และความคืบหน้าในการไต่สวนการตายจึงถือเป็นโจทย์ที่ควรค่ากับการตั้งข้อสงสัย

การเสียชีวิตไม่ว่าจะมีสาเหตุจากอะไรก็ตาม สะท้อนถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของกำลังพล ซึ่งนัยหนึ่งคือพลเมืองของรัฐไทย ผู้สื่อข่าวได้ถามอังคณา นีละไพจิตร กรรมการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ถึงเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนกับทหารด้วยทหารด้วยกันเอง อังคณาให้ความเห็นว่า กสม. เพียงได้รับแค่ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการเท่านั้น

“กสม. ได้รับทราบอย่างไม่เป็นทางการว่ามีการทรมานเกิดขึ้นโดยเฉพาะในการปรับปรุงระเบียบวินัย (ซ่อม-ผู้สื่อข่าว) จะได้รับทราบก็ต่อเมื่อมีการเสียชีวิตแล้ว” อังคณากล่าว

ด้วยเงื่อนไขที่กล่าวมาทำให้เกิดประโยคคำถามต่อสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสมในส่วนงานกองทัพที่ขาดการตรวจสอบจากหน่วยงานพลเรือน คำถามที่ว่า “ฤาโรงฝึก โรงนอน ค่ายทหารจะเป็นมุมมืดที่สิทธิมนุษยชนและสายตาของพลเรือนสอดส่องไปไม่ถึงอย่างเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมไทย” จึงเป็นคำถามที่ท้าทายทั้งสถาบันทหารในเรื่องการดูแลกำลังพลและสถาบันฝ่ายพลเรือนในการดูแลพลเรือนที่เป็นทหาร ซึ่งนัยหนึ่งยังเป็นการตอกย้ำหลักการว่าด้วย ‘พลเรือนควบคุมกองทัพ’ ตามหลักของอารยประเทศประชาธิปไตย

แนวคิดการตรวจสอบกองทัพโดยหน่วยงานพลเรือนไม่ใช่สิ่งใหม่ หลายประเทศในโลกมีการจัดตั้งหน่วยงานพลเรือนที่มีหน้าที่ตรวจสอบกองทัพ โดยเฉพาะในด้านการประพฤติปฏิบัติระหว่างกำลังพลด้วยกันแทบทุกเรื่อง ตั้งแต่คุณภาพชีวิตระหว่างประจำการ การล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการพูดจาเหยียดหยามเชื้อชาติและเพศสภาพ ภายใต้ชื่อกว้างๆ ว่า ‘ผู้ตรวจการกองทัพ (Military Ombudsman)’

รายงานพิเศษชิ้นนี้จะพาผู้อ่านไปรู้จักหลักการ นิยาม อำนาจ และหน้าที่ของผู้ตรวจการกองทัพตามกรอบขององค์กรระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการปฏิรูปกองทัพ และพาไปดูโมเดลของประเทศเยอรมนี ก่อนที่จะดึงเรื่องราวมาร้อยเรียงกับปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมืองในประเทศไทยที่ทำให้การเกิดหน่วยงานพลเรือนที่มีหน้าที่ตรวจสอบกองทัพโดยตรงยังคงถูกรายล้อมไปด้วยประโยคคำถาม

ผู้ตรวจการกองทัพคืออะไร เปิดนิยามและประโยชน์จากองค์กรปฏิรูปกองทัพระหว่างประเทศ

ศูนย์สำหรับการควบคุมกองทัพอย่างเป็นประชาธิปไตยแห่งเจนีวา หรือ Geneva Centre for Democratic Control of Armed Forces (DCAF) หน่วยงานระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นโดยสวิตเซอร์แลนด์ มีหน้าที่ในการสนับสนุน เสริมสร้างธรรมาภิบาลและการปฏิรูปในภาคความมั่นคง (Security Sector Governance - SSG and Security Sector Reform - SSR) ให้คำนิยามเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้ตรวจการกองทัพเอาไว้ดังนี้

ผู้ตรวจการกองทัพเป็นกลไกอิสระจากโครงสร้างการบังคับบัญชาของกองทัพ มีหน้าที่ตรวจสอบภาคความมั่นคงว่าดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่ตั้งคำถามกับพฤติกรรมที่เป็นการล่วงละเมิด ไม่เหมาะสม และข้อบกพร่องในทางการดำเนินงานในกองทัพ ทั้งนี้ ผู้ตรวจการกองทัพไม่มีหน้าที่ในการบังคับใช้หรือตัดสินใจนโยบายกลาโหม แต่มีหน้าที่ในการแก้ไขและสนับสนุนให้เกิดการประพฤติปฏิบัติที่เหมาะสมในภาคความมั่นคง

ประเด็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับการทำงานของผู้ตรวจการกองทัพจากเอกสารของ DCAF ระบุเอาไว้ 8 ประการ ดังนี้

-กองทัพกับสิทธิมนุษยชน

-กองทัพกับสหภาพแรงงาน

-ความยุติธรรมในหมู่ทหาร

-กองทัพกับสิทธิชนกลุ่มน้อย

-ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐสภากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

-ทหารกับสังคม

-การควบคุมภาคความมั่นคงโดยพลเรือน

-ตัวแบบองค์กรความร่วมมือระหว่างผู้ตรวจการกองทัพกับคณะเสนาธิการ

ในทางหลักการ หน้าที่รับผิดชอบและการทำงานของผู้ตรวจการกองทัพจะช่วยให้เกิดการควบคุมภาคความมั่นคงอย่างเป็นประชาธิปไตย ทำให้กองทัพเคารพหลักนิติธรรม เสริมสร้างความโปร่งใส ความน่าเชื่อถือในโครงสร้างส่วนงานกลาโหม ขับเน้นให้เกิดการแก้ไขปัญหาการดำเนินงานของทหารอย่างถูกต้อง สร้างกองทัพที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และเสริมสร้างความมั่นใจในกองทัพ ทั้งจากสาธารณชนและจากเจ้าหน้าที่กลาโหมเอง

ในความเป็นจริง ผู้ตรวจการกองทัพทั่วโลกต่างมีลักษณะการทำงาน หน้าที่รับผิดชอบ และสถานะการยอมรับไม่เท่ากัน เอกสารของ DCAF ระบุถึงตัวอย่างผู้ตรวจการกองทัพในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นแคนาดา เยอรมนี อิสราเอล ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์

ผู้ตรวจการกองทัพเยอรมนี: พลเรือนพิทักษ์สิทธิ์ ตรวจสอบกองทัพ ทหารร้องทุกข์ได้สารพัด อัพเดทรายงานให้ประชาชนเห็นทุกปี

เว็บไซต์ของรัฐสภาหรือบุนเดสทาคของเยอรมนีระบุว่า ผู้ตรวจการกองทัพแห่งรัฐสภา (The Parliamentary Commissioner for the Armed Forces) เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานและช่วยเหลือรัฐสภาในการควบคุมดูแลกองทัพ โดยการปฏิบัติหน้าที่ให้ยึดตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยผู้ตรวจการณ์ปฏิบัติหน้าที่เมื่อได้รับคำสั่งจากรัฐสภาหรือไม่ก็คณะกรรมมาธิการด้านกลาโหม และเมื่อได้รับแจ้งว่ามีการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานสมาชิกในกองทัพ

ฮานส์-ปีเตอร์ บาร์เทลส์ ผู้ตรวจการกองทัพแห่งรัฐสภาเยอรมนี (ที่มา:bundestag.de)

สถานะของผู้ตรวจการกองทัพไม่ได้เป็นทั้งสมาชิกรัฐสภาและข้าราชการ ถือเป็นตำแหน่งพิเศษภายใต้ระบบรัฐสภา ทำหน้าที่ตรวจสอบกองทัพแทนรัฐสภา ผู้ตรวจการกองทัพจะต้องดำเนินการสืบสวนและทำรายงานข้อค้นพบส่งให้รัฐสภาและต้องส่งรายงานประจำปีให้กับรัฐสภา ผู้ตรวจการกองทัพยังมีหน้าที่รับผิดชอบในด้านการปกป้องหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานผ่านการตรวจสอบกองทัพในกรณีที่มีการลิดรอนในลักษณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพการแสดงออก และสิทธิการได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่

นอกจากงานด้านการตรวจสอบแทนรัฐสภาแล้ว ผู้ตรวจการกองทัพยังมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากกำลังพลตั้งแต่ระดับพลทหารจนถึงระดับนายพลในประเด็นที่กำลังพลเห็นว่าตนได้รับการดูแลที่ไม่เป็นธรรมในทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องหน้าที่ในแต่ละวันไปจนถึงปัญหาในเรื่องสังคม ราชการ และเรื่องส่วนตัว กำลังพล ‘ทุกคน’ สามารถร้องเรียนและขอความช่วยเหลือจากผู้ตรวจการกองทัพโดยตรง

รายงานประจำปีของผู้ตรวจการกองทัพเข้าถึงได้ง่าย มีอัพโหลดอยู่ในเว็บไซต์ของผู้ตรวจการกองทัพและมีฉบับภาษาอังกฤษ ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างข้อร้องเรียนของทหารที่ผู้ตรวจการกองทัพเยอรมนีเปิดเผย ซึ่งสะท้อนถึงบรรทัดฐานการดูแลกำลังพลอย่างไม่เลือกปฏิบัติ แต่ก็ยังมีประเด็นที่เป็นปัญหา เช่น การไม่สามารถเอาผิดผู้กระทำความผิดได้เพราะข้อร้องเรียนหมดอายุความ แต่สิ่งสำคัญที่เห็นได้ชัดเจนคือพฤติการณ์การนำความเป็นไปในกองทัพ ทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นให้ปรากฎต่อสายตาประชาชน

“มีจ่าคนหนึ่งต่อย เตะ และล็อกคอเหล่าผู้ใต้บังคับบัญชาหลังไปท้าสู้กับพวกเขาเพราะต้องการทดลองท่าศิลปะการต่อสู้แบบ Krav Maga จ่าคนดังกล่าวถูกสั่งจำคุกโดยไม่ให้ยื่นอุทธรณ์ด้วยข้อหาดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ดี โดยการลงโทษดังกล่าวได้ถูกภาคทันฑ์ไป ทั้งนี้ กระบวนการพิพากษาทางวินัยได้ดำเนินการไปแล้ว”

“ในอีกกรณีหนึ่ง ร้อยโทสั่งหมวดทหารของเขาให้วิดพื้นและทำท่าลุกนั่งหลังจากเดินกลับมาจากการฝึกยิงปืน เมื่อมีทหารสองนายล้มลงด้วยความเหนื่อยล้าก็มีเพื่อนทหารจะวิ่งไปช่วยเหลือ แต่นายร้อยกลับพูดซ้ำไปซ้ำมาว่า ปล่อยมันนอนอยู่นั่นแหละ มันเป็นลมเฉยๆ ไม่ได้ตาย กระบวนการตรวจสอบวินัยได้มีขึ้นแต่ก็ถูกหยุดเอาไว้ ส่วนการกำหนดโทษก็ไม่สามารถกระทำได้ในขณะนี้เนื่องจากข้อร้องเรียนหมดอายุความตามประมวลวินัยทหารหมวด 17(2)”

“กำลังพลผู้หญิงคนหนึ่งร้องเรียนว่าครูฝึกได้แสดงความคิดเห็นแบบต่อต้านสตรีเพศหลายต่อหลายครั้ง จากการสืบสวนเรื่องนี้พบว่ามีครูฝึกคนหนึ่งแสดงออกและประพฤติตนไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้บังคับบัญชา โดยมีตัวอย่างคำพูดว่า ‘อย่างที่ฉันพูดตลอดว่า: โง่เกินกว่าจะกิน โง่เกินกว่าจะร่วมเพศด้วย แต่หลักๆ ที่ทำได้คือทำให้ทุกอย่างวุ่นวาย’ เป็นคำพูดที่สุดจะทนได้และไม่ได้เหมาะสมกับบทบาทการเป็นตัวอย่างของครูฝึกเลย”

หันกลับมามองไทย คลอดผู้ตรวจการกองทัพใต้การเมืองลายพราง 2 ทศวรรษ ยังไม่มีคำตอบและอาจไม่มีคำถาม

ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างอำนาจรัฐฝ่ายพลเรือนและกองทัพยังคงเป็นเงื่อนไขที่สร้างประโยคคำถามมากมายให้กับการมีผู้ตรวจการกองทัพในประเทศไทย จากรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่กำหนดเงื่อนไขมากมายให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ต้องอยู่ภายใต้การกำกับของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ได้ถูกแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในวาระแรกเป็นจำนวน 250 คน ในจำนวนนี้ประกอบด้วยผู้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ

(อ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตราที่ 269)

ทั้งนี้ ในแผนปฏิรูปและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ไม่มีการระบุถึงการปฏิรูปกองทัพไว้ แต่ตัวยุทธศาสตร์กลับแยกมาอยู่กับกระทรวงกลาโหมต่างหาก มิหนำซ้ำตัวคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้ง 29 คนกลับมีสัดส่วนของคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. ต่อจำนวนตัวแทนจากภาคการเมือง ธุรกิจและเกษตรกรอยู่ที่ 21 ต่อ 8 คน หมายความว่าในการโหวตทุกครั้ง ไม่มีทางเลยที่ฝ่ายการเมืองจะชนะ ทุกมติที่ออกมาจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติจะเป็นสิ่งที่ คสช. ในวันนี้ต้องการ

จึงสรุปสั้นๆ ว่า ภายใต้รัฐสภาที่ ส.ว. ถูกแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ประกอบกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ไม่กล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพบนหลักการพลเรือนมีอำนาจเหนือสถาบันทหาร และจำนวนเสียงข้างมากที่ได้รับการเลือกมาจากรัฐบาลทหาร ทำให้การจัดตั้งองค์กรพลเรือนที่ตรวจสอบกองทัพนั้นยังคงเต็มไปด้วยประโยคคำถามบนสถาปัตยกรรมทางการเมืองแบบลายพรางที่ไพร่ฟ้าชาวไทยต้องอยู่ด้วยไปอีก 20 ปี (ตามกรอบเวลา)

 

แปลและเรียบเรียงจาก

สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

Deutscher Bundestag, The Parliamentary Commissioner for the Armed Forces, Retrived data on September 6, 2017

Deutscher Bundestag, Annual Report (58th Report) Information from the Parliamentary Commissioner for the Armed Forces, January 24, 2017

DCAF Backgrounder, Military Ombudsman, May, 2005

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net