Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


มูลนิธิหญิงชายก้าวหน้า(WMP) ทำผลสำรวจการทำร้ายเรื่องความรุนแรงในครัวเรือนต่อสตรี (VAM) โดยสำรวจผู้หญิงจำนวน 1,608 คนในช่วงอายุ 17-40 พบว่า 42.2% เคยถูกสามีหรือแฟนบังคับให้มีการกระทำทางเพศโดยไม่ยินยอม 41.1% เคยถูกบังคับให้ทำแท้ง และที่เหลือเคยโดนทำร้ายร่างกายทั้งทางร่างกายและจิตใจ

UN WOMEN เปิดเผยว่าผู้หญิงประมาณ 35% หรือ 1ใน3 คนทั่วโลก เคยถูกทำร้ายทางร่างกาย หรือเคยถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ และในผลการศึกษาของบางประเทศพบว่า 70% ของผู้หญิง เคยประสบกับความรุนแรงทางร่างกายและความรุนแรงทางเพศจากแฟน คู่สมรส


ทำไมผู้หญิงถึงทนอยู่กับชายที่ทำร้ายเธอ?

ความรุนแรงภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นแฟน คู่สามี-ภรรยา มักจะไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว แต่เกิดซ้ำๆ กันหลายครั้ง จนทำให้คนนอกรู้สึกชาชินเมื่อมีคู่ชาย-หญิง ทะเลาะจนถึงขั้นทำร้ายร่างกายกัน หลายคนถึงขนาดโทษฝ่ายหญิงที่ “โง่” เอง ที่ยอมกลับไปให้ฝ่ายชายทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เรื่องเหล่านี้มันเป็นความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะนึกถึงได้

Leslie Morgan Steiner นักเขียน บล็อกเกอร์ ชาวอเมริกัน ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Crazy Love บันทึกความทรงจำของเธอที่เปิดเผยเรื่องราวของอดีตสามีผู้มีฉากหน้าอันแสนดี แต่เมื่อใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันจริงๆ เขากับทำร้ายเธอจนเกือบจะฆ่าเธอเสียด้วยซ้ำ

เรื่องเริ่มต้นเมื่อเลสลี่ย์อายุ 22 เพิ่งจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอพบกับคอนเนอร์ ชายที่เริ่มจีบเธอบนรถไฟใต้ดินในนิวยอร์ค เขาจบจากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงชั้นแนวหน้าเหมือนกับเธอ และมีหน้าที่การงานที่มั่นคงในธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งที่วอลล์สตรีท

เลสลี่ย์บอกว่าเขาฉลาด และมีอารมณ์ขัน เป็นเสมือนคนที่อ่อนโยน คอยเทิดทูนเธอและชื่นชมเธอทั้งเรื่องงานและอุปนิสัย พูดง่ายๆว่าเขารักสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับเธอและแสดงความเชื่อมั่นในตัวเธอมากในฐานะที่เป็นนักเขียนและเป็นผู้หญิง

คอนเนอร์สร้างความไว้วางใจกับเธอ ถึงขนาดเปิดเผยว่าเขาเองมีเคยมีปมในวัยเด็กที่เคยถูกพ่อเลี้ยงทำร้ายร่างกายและทารุณจนถึงขนาดต้องหยุดเรียน

อย่างไรก็ดีมันก็ไม่เคยมีลางของความรุนแรงในตัวเขาเลย จนเมื่อทั้งคู่ย้ายออกมาอยู่ด้วยกัน คอนเนอร์เริ่มแสดงความรุนแรงออกมาโดยการซื้อมาปืนมาเก็บไว้ในบ้านถึงสามกระบอก และทำร้ายร่างกายเธอครั้งแรกห้าวันก่อนการแต่งงาน คอนเนอร์บีบคอเธอจนไม่สามารถหายใจได้ และกระแทกหัวเธอกับกำแพงหลายๆครั้ง แต่เธอก็ยังแต่งงานกับเขา เพราะเธอแน่ใจว่าจะมีชีวิตอย่างมีความสุขหลังจากนี้ เพราะความที่เธอรักเขาและเขาก็รักเธอมา

ทว่าคอนเนอร์ก็เริ่มทำร้ายเธออีกสองครั้งระหว่างฮันนีมูน และตบตีเธอหนึ่งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์เป็นเวลาสองปีครึ่ง

กลับมาที่คำถามว่าเธอทนอยู่กับเขาทำไม?

เลสลีย์เล่าว่าเธอไม่รู้ว่าเขากำลังทำร้ายทารุณเธอ

“ฉันไม่รู้ว่าเขากำลังทำร้ายทารุณฉัน ถึงแม้ว่าเขาถือปืนพร้อมกระสุนจ่อที่หัวของฉัน ผลักฉันตกบันได ขู่ว่าจะฆ่าหมาที่เราเลี้ยงกัน ดึงกุญแจรถออกขณะที่ฉันขับอยู่บนทางด่วน เทผงกาแฟลงบนหัวฉันขณะที่แต่งตัวเพื่อไปสัมภาษณ์งาน ฉันไม่เคยคิดถึงการเป็นภรรยาที่จะตอบโต้สามี ในทางกลับกัน ฉันเป็นหญิงที่แข็งแกร่ง ที่หลงรักกับชายที่มีปัญหาหนัก และฉันเป็นคนเดียวในโลก ที่สามารถช่วยคอนเนอร์ เผชิญหน้าปีศาจของเขา”

ส่วนคำถามอื่นๆที่ทุกคนถามคือ ทำไมถึงไม่หนี ทั้งที่สามารถไปเมื่อไรก็ได้?

เธอบอกว่ามันเป็นคำถามที่น่าเศร้าและน่าเจ็บปวดที่สุด เพราะเหยื่อที่เคราะห์ร้าย จะรู้ถึงสิ่งที่คนปกติไม่รู้

“มันอันตรายอย่างเหลือเชื่อ ที่จะหนีจากคนที่ทารุณคุณ เพราะว่าในขั้นตอนสุดท้ายของความรุนแรงในครอบครัว คือการฆ่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย กว่า70% ของการฆาตกรรมจากความรุนแรงในครอบครัว เกิดขึ้นหลังจากที่เหยื่อสิ้นสุดความสัมพันธ์หลังจากที่เหยื่อหลุดออกมา เนื่องจากผู้ทารุณ ไม่มีอะไรที่ต้องสูญเสียอีกแล้ว”

ถึงแม้ว่าเธอจะกล้าที่จะออกมาพูดเรื่องราวอันแสนน่าเศร้าของเธอ แต่ในช่วงแรกเธอก็ยังถูกสังคม มองด้วยความไม่เข้าใจ

“เรามักจะตกเป็นเหยื่อ ของการพาดหัว ทำให้ผู้หญิงถูกทำลาย ถูกทำให้เสียหาย หรือจากการตั้งคำถามว่า ‘ทำไมต้องทนอยู่กับมัน’ เป็นอีกนัยว่ามันเป็นความผิดที่เธอทนอยู่ ประหนึ่งว่าเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย จงใจเลือกตกหลุมรักกับผู้ชายที่แสดงเจตนาที่จะทำร้าย”


สต็อกโฮล์ม ซินโดรม

เวลาพูดถึงความรุนแรงในครอบครัว สต็อกโฮล์ม ซินโดรม มักจะถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ระหว่างผู้กระทำ-เหยื่อ บ่อยครั้ง แน่นอนว่าคำนี้เกิดขึ้นที่สต็อกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน เมื่อมีหญิงสาวรายหนึ่งถูกโจรปล้นธนาคารจับไปเป็นตัวประกันเป็นเวลาหกวัน แต่สุดท้ายเธอกลับมองผู้ที่จับตัวเธอไปในแง่ดี และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนร้าย

นักอาชญาวิทยา และนักจิตวิทยา ได้อธิบาย สต็อกโฮล์ม ซินโดรม ไว้ว่า ในครั้งแรก เหยื่อจะต้องพบกับประสบการณ์อันเลวร้ายโดยไม่ทันตั้งตัว จนคิดว่าตัวเองจะต้องตายแน่ๆ

หลังจากนั้น เหยื่อก็จะได้รับการควบคุมเหมือนอย่างเด็กแรกเกิด เหยื่อจะไม่สามารถกินอาหาร พูด หรือเข้าห้องน้ำได้หากไม่ได้รับการอนุญาตจากผู้กระทำ

และเมื่อคนร้ายมอบสิ่งที่ดูเหมือนความรักความเอาใจใส่ เช่นให้ของกิน มันก็จะทำให้เกิดสภาวะ ความซาบซึ้งใจที่เราคุ้นชินแรกเริ่มเหมือนเป็นรางวัลของชีวิต

เหยื่อจะได้ประสบกับความรู้สึกอันทรงพลัง และเกิดความรู้สึกด้านบวกต่อคนร้าย พวกเขาจะปฎิเสธว่าคนร้ายนั้นคือคนที่ทำให้เขาหรือเธอตกอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ  ในจิตใจของพวกเขาจะคิดว่านี่คือคนที่จะทำให้เขาหรือเธอมีชีวิตอยู่ต่างหาก

ถึงแม้ว่า สต็อกโฮล์ม ซินโดรม จะไม่ได้ถูกบัญญัติในสารบบของอาการทางจิตอย่างเป็นทางการ แต่ก็เป็นหลักการหนึ่งในการอธิบายหลายๆสภาวะที่เกิดขึ้นได้

เจนนิเฟอร์ ไวล์ด นักจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ตบอกว่า “ตัวอย่างคลาสสิคคือการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เมื่อใครสักคน หรือโดยทั่วไปแล้วมักจะเป็นผู้หญิง เกิดความรู้สึกเรื่องการพึ่งพาอาศัยกับคู่ของเธอและใช้ชีวิตอยู่กับเขา พวกเธอจะรู้สึกเห็นอกเห็นใจมากกว่าโกรธแค้น หรือการทำร้ายทารุณเด็กก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เมื่อพ่อแม่ทำร้ายร่างกายหรือจิตใจของเด็ก เด็กก็จะรู้สึกว่าพวกเขาควรได้รับการปกป้อง ก็จะไม่พูดถึงมันหรืออาจจะโกหกเลย”

อย่างไรก็บางคนก็ไม่เชื่อเรื่องการมองว่าสิ่งนี้เป็นสภาวะทางจิตที่ควรจัดประเภท เพราะมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติของการเอาตัวรอด และมองว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่คุณจะมีความรู้สึกด้านบวกกับคนที่ทำไม่ดีกับคุณ โดยเฉพาะหากคุณได้ใช้ชีวิตอยู่กับเขา มันก็จะเกิดการสื่อสารที่มากขึ้นและทำให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ  การมองหาความเป็นมนุษย์ของคนที่ก่ออาชญากรรมจึงอาจไม่ใช่สภาวะทางจิต แต่เป็นวิถีการเอาตัวรอดของมนุษย์ต่างหาก


หนทางคือการทำลายความเงียบ

เลสลี่ย์ออกมาจากความสัมพันธ์นี้หลังจากการตบตีทารุณครั้งสุดท้ายที่ทำลายความคิดที่เธอเคยปฎิเสธ เธอคิดได้ว่าคนที่เธอรักมาก กำลังจะฆ่าเธอ ถ้าเธอปล่อยให้เขาทำ และสิ่งที่เธอทำคือการตัดสินใจออกมา และทำลายความเงียบ และท้ายที่สุด เธอขอร้องให้ทุกคนร่วมทำลายความเงียบกับเธอ เพื่อช่วยเหลือ และเยียวยาผู้เคราะห์ร้าย

ฉันต้องทำลายความเงียบลง ฉันบอกทุกคน ทั้งตำรวจ เพื่อนบ้านของฉัน เพื่อน พ่อแม่ พี่น้อง รวมทั้งคนแปลกหน้า

ขณะนี้คุณอาจจะคิดว่า มันน่าทึ่งมาก หรือ ทำไมเธอถึงได้โง่ขนาดนี้ แต่ทั้งหมดที่พูดมานี้ ฉันพูดถึงพวกคุณ ฉันมั่นใจว่าหลายๆคนขณะนี้ ผู้ที่ปัจจุบัน กำลังถูกทำร้ายทารุณ หรือเคยถูกทำร้ายทารุณเมื่อตอนเป็นเด็ก หรือเป็นผู้ทำร้ายเองก็ตาม ลูกสาวคุณอาจถูกทำร้ายทารุณอยู่ แม้กระทั่งน้องสาว หรือเพื่อนสนิทของคุณในขณะนี้ ฉันสามารถยุติเรื่องรักที่งมงายของตัวฉันเอง โดยการทำลายความเงียบ

ฉันจะยังทำลายความเงียบต่อไปทุกวัน มันเป็นวิธีของฉันที่จะช่วยผู้เคราะห์ร้ายอื่นๆ และเป็นคำขอร้องข้อสุดท้ายของฉันต่อคุณ พูดคุยกับสิ่งที่คุณได้ยินที่นี่ ความทารุณโหดร้ายจะเกิดต่อไปจากความเงียบสงบเท่านั้น คุณมีพลังพอที่จะยุติความรุนแรงในครอบครัว เพียงแค่ทำให้มันเป็นเรื่องเด่นสำคัญ เราผู้เป็นเหยื่อต้องการทุกคน เราต้องการให้ทุกคนเข้าใจ เปิดเผยเรื่องความรุนแรงในครอบครัว ด้วยการพูดคุยเกี่ยวกับมัน คุยกับลูกของคุณ เพื่อนที่ทำงานของคุณ คุยกับเพื่อนๆ และญาติพ่อแม่พี่น้อง หล่อหลอมผู้ที่หลุดพ้นจากการทารุณ ให้เป็นคนที่น่ารักและแสนวิเศษ มีอนาคตที่สดใส

จงรู้จักสัญญาณแรกๆ ของความรุนแรง เข้าไปแทรกแซงให้เป็นเรื่องราว ลดระดับมันลง แล้วแสดงหนทางให้ผู้เคราะห์ร้าย เราทุกคนสามารถร่วมกัน ทำให้บ้านเรา ครอบครัวเรา เป็นสวรรค์ที่เงียบสงบและปลอดภัย ดังที่มันควรจะเป็น

ปัจจุบันเลสลี่ย์ มีชีวิตที่สงบสุข โดยแต่งงานใหม่ มาและมีลูกด้วยกันสามคน

ในขณะนี้มีหลากหลายองค์กรและกลุ่มที่พยายามทำแคมเปญเพื่อรณรงค์ยุติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว หรือการใช้ความรุนแรงที่มีมูลเหตุจากเรื่องเพศ (Gender based violence) เช่น มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลที่รณรงค์ในแคมเปญ ‘ความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องส่วนตัว’ (http://www.wmp.or.th)

เพจ Thai consent ที่หวังลดการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่จำยอม และรณรงค์ให้เกิดแฟร์เซ็กส์ (https://www.facebook.com/thaiconsent/), SHero โปรเจ็คอิสระที่รณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัว และเปิดพื้นที่ให้เหยื่อได้ออกมาเล่าประสบการณ์ของตัวเอง (https://www.facebook.com/pg/SHeroThailand/)

 

อ้างอิง

Violence against women in Thailand, a survey, http://www.bangkokpost.com/learning/advanced/1198332/violence-against-women-in-thailand-a-survey

คลิปของ เลสลี่ย์ จาก TED Talk, https://www.youtube.com/watch?v=V1yW5IsnSjo

What is Stockholm syndrome?, http://www.bbc.com/news/magazine-22447726
 

ที่มาภาพ: pinterest.com/pin/384846730631817718/

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net