Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ แม้ผมจะรังเกียจสิ่งที่คุณพูด
แต่ก็จักปกป้องสิทธิที่จะพูดของคุณไว้ด้วยชีวิต “


ข้อความข้างบนเชื่อกันว่าเป็นของ Voltaire นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส และข้อความดังกล่าวถูกอ้างอิงเป็นหลักการพื้นฐานของ “เสรีภาพในการพูด” หรือ free speech ซึ่งหมายถึงการสื่อสารความคิดเห็นของตนเองต่อสาธารณะผ่านการพูด และรวมทั้งการเขียน หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ใดๆ ที่อยู่ในขอบเขตของการไม่ละเมิดเสรีภาพและก่ออันตรายทางกายภาพแก่คนอื่น free speech จึงเป็นเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออกที่ย่อมได้รับการคุ้มครองตามตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล

ทำไมเราจึงต้องใส่ใจต่อกรณีที่จุฬาฯ ลงโทษเนติวิทย์และเพื่อนนิสิต?

คำตอบก็เพราะว่า การแสดงออกของเนติวิทย์และเพื่อนนิสิต เป็น “การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์”  เพื่อสื่อสารความคิดเห็นของตนเองต่อสาธารณะ ฉะนั้น แม้เรื่องลงโทษนิสิตจะเป็น “เรื่องภายใน” ของจุฬาฯ แต่การใช้เสรีภาพในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ย่อมเป็นเรื่องสาธารณะ เมื่อเป็นเรื่องสาธารณะก็เป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ต้องปกป้องเสรีภาพ

เพราะเป็นเรื่องสาธารณะดังกล่าว จึงทำให้จุฬาฯ เองไม่อาจนิ่งนอนใจต่อคำถามและคำวิพากษ์วิจารณ์ จึงได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า การแสดงออกของนิสิตเป็นการแสดง “พฤติกรรมเชิงสัญลักษณ์” เมื่อพิจารณาเหตุผลสำคัญบางประการที่ปรากฏในแถลงการณ์นี้ ผมเห็นว่ามีปัญหาที่ควรตั้งคำถามและวิจารณ์ คือ

1. แถลงการณ์ระบุว่า “กลุ่มนิสิตที่ถูกลงโทษทางวินัยมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก แต่ขณะเดียวกัน ทุกชุมชนและสังคมมีสิทธิที่จะเรียกร้องมิให้การแสดงออกนั้นละเมิดสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่น”

ประเด็นที่ต้องชัดเจนก่อนคือ เมื่อยึด “หลักเสรีภาพในการแสดงออก” มาเป็นเกณฑ์ตัดสิน ย่อมเห็นได้ชัดว่า การแสดงออกของเนติวิทย์และเพื่อนนิสิตไม่มีการกระทำใดๆ ที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิเสรีภาพคนอื่น เช่นไม่มีการกีดกันใครไม่ให้เข้าร่วมพิธี ไม่ได้ขัดขวางการประกอบพิธี ฯลฯ

ส่วนข้อความในแถลงการณ์ที่ว่า “ทุกชุมชนและสังคมมีสิทธิที่จะเรียกร้องมิให้การแสดงออกนั้นละเมิดสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่น” นั้น ถ้ามีการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นจริง อย่าว่าแต่จะเรียกร้องมิให้มีการแสดงออกที่ละเมิดสิทธิและความเชื่อคนอื่นเลยครับ ต้องดำเนินการเอาผิดกับการละเมิดสิทธินั้นๆ ในทางกฎหมายได้ด้วย

แต่ในความเป็นจริง การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ของนิสิตไม่เป็นการละเมิดสิทธิใคร และจุฬาฯ ก็ไม่ได้เพียงแค่ “เรียกร้องมิให้การแสดงออกนั้นละเมิดสิทธิและความเชื่อของบุคคลอื่น” หากจุฬาฯ ได้ “ลงโทษ” นิสิตที่แสดงออกโดยชอบตามหลักสิทธิมนุษยชน ซึ่งย่อมถูกตั้งคำถามได้ว่า เป็นการลงโทษเกินกว่าเหตุหรือไม่ ในเมื่อการแสดงออกของนิสิตไม่ใช่ความผิดร้ายแรงที่เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิต ร่างกาย ทรัพย์ หรือสิทธิใดๆ ของบุคคลอื่น

2. อีกประเด็น แถลงการณ์ระบุว่า “โดยเฉพาะกระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอ่อนไหว และทำร้ายความรู้สึกของบุคคล” 

ข้อเท็จจริงคือ การแสดงออกของนิสิตไม่ใช่ไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนส่วนใหญ่ เพียงแต่พวกเขาเลือกใช้วิธีแสดงความเคารพที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่เท่านั้น ซึ่งจุฬาฯ ก็ยอมรับการถวายความเคารพด้วยการโค้งคำนับว่าเป็นสิทธิที่กระทำได้ เพียงแต่นิสิตไม่ไปโค้งคำนับในสถานที่ที่จัดไว้ให้เท่านั้น

แต่การที่พวกเขาไม่ได้ไปโค้งคำนับในสถานที่ที่จัดไว้ให้ และเดินออกมาถวายคำนับด้านหน้า ก็ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะสรุปได้ว่าการกระทำของพวกเขา “กระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอ่อนไหว และทำร้ายความรู้สึกของบุคคล” ข้อความที่ระบุในแถลงการณ์เช่นนี้สะท้อนมุมมองส่วนบุคคล มากกว่าที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างเป็นภววิสัยได้ว่าผิดหลักเสรีภาพในการแสดงออกอย่างไร

หากเนติวิทย์และเพื่อนนิสิตได้ไปฉุดกระชากลากตัวใครบางคนที่กำลังหมอบกราบให้ออกมายืนถวายคำนับด้านหน้ากับพวกตนนั่นต่างหาก จึงจะถือได้ว่าเป็นการ “ทำร้ายความรู้สึกของบุคคล” และเป็นการละเมิดสิทธิคนอื่น เพราะสามารถระบุตัวบุคคลผู้เสียหายได้

เราจะเข้าใจประเด็นนี้ ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจเหตุผลว่า ทำไมเมื่อมองตามหลักเสรีนิยมจึงไม่ควรจะมีกฎหมายหมิ่นศาสนา หรือหมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีความเชื่อของคนส่วนใหญ่ เพราะตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ได้มีการอ้างความเชื่อทางศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และประเพณีความเชื่อของคนส่วนใหญ่ละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลมาแล้วอย่างเลวร้าย

ที่สำคัญคำว่า “หมิ่นศาสนา” หรือ “หมิ่นสิ่งศักดิ์สิทธิ์” หรือ “กระทบความรู้สึก” กระทบความเชื่อ ความศรัทธาของคนส่วนใหญ่ ย่อมเป็นคำที่ “คลุมเครือ” ตีความได้ครอบจักรวาล เพราะสำหรับคนที่ยึดมั่นในศาสนา สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีความเชื่อใดๆ การกระทำหรือการแสดงออกใดๆ ที่ไม่สอดคล้องหรือแตกต่าง สวนทางกับความเชื่อของพวกเขา ก็อาจตีความว่าเป็นการ “หมิ่น” ได้ทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ข้ออ้างเรื่อง “กระทบต่อความศักดิ์สิทธิ์ ความอ่อนไหว และทำร้ายความรู้สึกของบุคคล” อย่างกว้างๆ ไม่สามารถระบุตัวบุคคลผู้เสียหายได้ว่าเขาถูกละเมิดสิทธิ หรือได้รับอันตรายทางกายภาพอย่างไร จึงมักเป็นข้ออ้างที่นำไปสู่การสร้าง “นักโทษทางความคิด” หรือนักโทษมโนธรรมสำนึกได้ง่ายๆ

แล้วทำไมเราต้องปกป้องเสรีภาพของบุคคลที่จะเสนอความคิดเห็นและแสดงออกแตกต่างจากคนอื่นๆ แม้ว่าความคิดของเขาจะขัดแย้งกับความเชื่อของคนทั้งหมดในสังคมก็ตาม นักปรัชญาเสรีนิยมอย่างมิลล์ (John Stuart Mill) ให้เหตุผลว่า เพราะเป็นไปได้ที่ความคิดเห็นที่แตกต่างจากคนอื่นทั้งหมดนั้นจะเป็นความจริง หากปิดกั้นไม่ให้เขาแสดงออก สังคมย่อมเสียโอกาสที่จะได้รับประโยชน์จากความจริงนั้น

เหตุผลของมิลล์ทำให้เรานึกถึงความเห็นของกาลิเลโอที่แตกต่างจากความเชื่อของศาสนจักรและคนส่วนใหญ่สมัยนั้น แต่ความเห็นต่างนั้นเป็นความจริง และเป็นประโยชน์ต่อโลก แต่อำนาจเผด็จการที่ปกป้องความเท็จ ด้วยการอ้างความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่สืบทอดผ่านคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ก็ได้ลงโทษทัณฑ์คนคิดต่างที่เสนอความจริงอันเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างน่าเศร้า

3. ในแถลงการณ์ของจุฬาฯ อ้างคำว่า “สิทธิเสรีภาพ” ซ้ำบ่อยมาก และอ้างในตอนท้ายว่า “แม้จุฬาฯ จะสนับสนุนความคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพในประเพณีปฏิบัติของสถาบัน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย...” 

อ่านแล้วก็เห็น “ความคลุมเครือ” ว่า จุฬาฯ สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสงออกในความหมายสากล ดังที่เข้าใจกันในแวดวงวิชาการทั่วไปหรือไม่ เพราะในทางวิชาการแล้ว เวลาเราพูดถึง “เสรีภาพในการแสดงออก” หรือ free speech ที่ได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ย่อมหมายถึง “เสรีภาพในการแสดงออกตามแนวคิดเสรีนิยม” และเสรีภาพในการแสดงออกตามแนวคิดเสรีนิยมก็ไม่อาจอ้างศรัทธา ความเชื่อ ประเพณีใดๆ มาปิดกั้น หรือเป็นเหตุเอาผิดได้ ตราบที่การใช้เสรีภาพนั้นไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพคนอื่น และไม่ก่ออันตรายแก่คนอื่น

อีกอย่าง คำว่า “เคารพ-ไม่เคารพ” สิทธิเสรีภาพคนอื่นในแถลงการณ์ของจุฬาฯ ก็เป็นคำที่คลุมเครือ เพราะการที่เราเคารพสิทธิคนอื่นไม่ได้แปลว่าเราจะแสดงออกหรือตั้งคำถามที่คนอื่นไม่ชอบ ไม่อยากฟัง หรือรังเกียจที่จะฟัง (เป็นต้น) ไม่ได้ และการแสดงความคิดเห็นใดๆ ในเชิงตั้งคำถามท้าทายความเชื่อของคนส่วนใหญ่ ที่ทำให้คนบางคนหรือคนส่วนใหญ่ไม่พอใจก็ไม่ได้แปลว่าไม่เคารพสิทธิคนอื่น (ไม่งั้นฝ่ายค้านคงอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลไม่ได้ เพราะพูดในสิ่งที่รัฐบาลไม่อยากฟัง)

ถึงที่สุดแล้ว หากเรายืนยันว่าสนับสนุนสิทธิเสรีภาพตามแนวคิดเสรีนิยม เราย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะยืนยันหลักการพื้นฐานที่ว่า “แม้ผมจะรังเกียจสิ่งที่คุณพูด แต่ก็จักปกป้องสิทธิที่จะพูดของคุณไว้ด้วยชีวิต”

และในฐานะที่จุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในแวดวงมหาวิทยาลัยทั่วโลก ผมจึงเห็นว่าเป็นหน้าที่ของเราทุกคนและนักวิชาการนานาชาติจะตั้งคำถามต่อการลงโทษนิสิตของจุฬาฯ และเห็นด้วยกับอาชีส นานดี้ นักทฤษฎีสังคม หนึ่งใน 20 นักวิชาการนานาชาติที่ร่วมลงชื่อออกแถลงการณ์เรียกร้องให้จุฬาฯ “ยกเลิกคำสั่งลงโทษนิสิต” ที่กล่าวว่า

ไม่มีมหาวิทยาลัยใดเป็นมหาวิทยาลัยได้อย่างเต็มรูปแบบ หากนักศึกษาไม่มีสิทธิ์เห็นต่างและคัดค้าน 

ปัญหาการลงโทษนิสิตของจุฬาฯ จึงไม่ควรเป็นเพียงเรื่องดราม่ารายวัน แต่ควรเป็นเรื่องที่ปลุกให้เราต้องใคร่ครวญถึงปัญหาระดับรากฐานอื่นๆ อย่างจริงจังว่า เราเข้าใจและให้คุณค่ากับเสรีภาพกันอย่างไร บทบาทของมหาวิทยาลัยต่อการพิทักษ์ปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาควรเป็นอย่างไร มิเช่นนั้นความคาดหวังที่ว่า การศึกษาจะช่วยสร้างพลเมืองที่รักเสรีภาพและประชาธิปไตย คงเป็นเพียงความฝันลมๆ แล้งๆ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net