Skip to main content
sharethis

“ยิ่งเราพยายามเป็นส่วนหนึ่งสังคมเท่าไหร่ เราก็โดนรังแกมากขึ้นเท่านั้น” นี่คือคำพูดของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ที่จับพลัดจับผลูได้มาพูดคุยกันโดยบังเอิญในร้านกาแฟ ที่สุดแล้วพัฒนามาเป็นบทสัมภาษณ์เพราะบังเอิญว่ารัฐไทยกำลังดำจะเนินคดีกับเขาในข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน (ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 3/2558) จากการยืนถือป้าย 'เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร'

1

หากจะบอกว่าบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นโดยความบังเอิญก็คงไม่ผิดข้อเท็จจริงมากนัก ความบังเอิญก็คือ เพื่อนๆ ที่เคยทำร้านหนังสือ กาแฟ และขายเบียร์ในช่วงเย็น ที่รู้จักกันในชื่อร้าน The writer's secret (ปัจจุบันขายเซ้ง และเปลี่ยนชื่อร้านไปแล้ว) ชวนผมไปพูดคุยแลกเปลี่ยนในวงเสวนาเล็กๆ ในร้านกาแฟร้านใหม่ที่ชื่อว่า On The Rose อยู่เชิงสะพานพระราม 8 ฝั่งพระนคร ตรงข้ามวังบางขุนพรหม เมื่อวันเสาร์ที่ 2 กันยายน

เพื่อนที่ The writer's secret คนหนึ่งซึ่งแยกตัวออกมาทำร้านกาแฟเป็นของตัวเอง เขายังอยากรักษาพื้นที่สำหรับฉวยใช้ประโยชน์ในการพูดคุย สร้างสรรค์ ทบทวน และสานต่อความหวังให้กันและกันเอาไว้ และนี่คือที่มาของความบังเอิญที่ทำให้ผมได้พบกับ นลธวัช มะชัย หรือ กอล์ฟ เด็กหนุ่มนักศึกษาจากคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อายุ 21 ปี เขาสวมหมวกไหมพรมสีน้ำตาลอ่อน ดูกลมกลืนไปกับผิวสีแทนออกเข้มนิดๆ แววตามุ่งมั่น น้ำเสียงหนักแน่น พูดจาชัดถ้อยชัดคำ ที่สำคัญหนุ่มคนนี้เพิ่งถูกแจ้งความดำเนินคดีข้อหาชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน จากการยืนชูป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ ค่ายทหาร” ในงานประชุมทางวิชาการไทยศึกษาครั้งที่ 13 ซึ่งจัดขึ้นที่ จังหวัดเชียงใหม่ช่วงกลางเดือนกรกฎาคม

2

แม้ผมจะทราบมาก่อนหน้าประมาณ 2 วันว่าจะได้ร่วมพูดคุยกับเขา แต่ก็ตัดสินใจก่อนออกจากบ้านไม่นานนัก ไม่ใช่เพราะสัปดาห์นี้ไม่รู้จะเขียนประเด็นอะไร แต่เป็นเพราะรู้สึกว่า คนแบบนี้ไม่ควรปล่อยผ่านเลยไปเสียมากกว่า เมื่อเดินทางมาถึงร้านเขามาถึงก่อนหน้าผมแล้ว ผมเข้าไปสั่งอเมริกาโนไม่ใส่น้ำเชื่อม ก่อนเดินไปหาเขา

“สวัสดี นี่คือ นลธวัช ใช่ไหม ยินดีด้วยนะที่กำลังจะมีคดีเป็นของตัวเอง” ผมเอ่ยทักทาย พยายามสร้างความเป็นกันเองแบบติดตลก แม้จะลุ้นอยู่ลึกๆ ว่าเขาจะขำด้วยหรือไม่

“ขอบคุณครับ แล้วเรื่องของพี่ไปถึงไหนแล้ว” เรายิ้มให้กันเล็กน้อย แม้ดูจะแปลกๆ แต่ในยุคสมัยที่เราดำรงอยู่กันนี้ คำกล่าวทักทายแบบนี้ดูเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้ว เพราะข้อมูลที่โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw รวบรวมไว้หลังการรัฐประหารปี 2557 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2560 พบว่ามีผู้จับกุมอย่างน้อย 597 คน และยังมีการแทรกแซงการใช้เสรีภาพทางวิชาการอีกหลายต่อหลายครั้งในยุครัฐบาล คสช.

ผมแสดงเจตจำนงขอพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับเรื่องราวที่เขากำลังเผชิญ เขายินดี ผมกลับไปจัดการกาแฟที่สั่งไว้ก่อนจะเริ่มสานบทสนทนาด้วยความคาดหวังว่ากว่าการพูดคุยครั้งแรกของเราจะจบลง ตาเราคงสว่างก่อนที่จะเริ่มต้นวงเสวนาหน้าฉากของงาน ที่ตั้งหัวข้อชวนคิด ชวนทบทวนว่า “เราจะอยู่อย่างไรในยุค....นี้” (สามารถดูคลิปงานเสวนาได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ On the rose)

3

หากดูจากประวัติของ กอล์ฟ นลธวัช ที่เห็นทั่วไปตามสื่อต่างๆ ซึ่งได้ติดตามรายงานข่าวเกี่ยวกับการถูกแจ้งความซึ่งเขาและ นักวิชาการ นักแปลอีก 4 คน กำลังเผชิญ (อ่านข้อมูลเรื่องการดำเนินการแจ้งข้อกล่าหาด้านล่าง) เราทราบเพียงแต่ว่าเขาเป็นนักศึกษาปริญาตรี คณะการสื่อสารมวลชน ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นหากนับตามช่วงอายุและชั้นปีที่เขากำลังเรียนอยู่ เขาเข้าเรียนชั้นปีที่ 1 ในช่วงเวลาหลังการรัฐประหารพอดี คำถามที่ตามมาคือ อะไรกันที่ทำให้นักศึกษาคนหนึ่งสนใจเรื่องราวทางสังคมการเมืองได้

จากที่นั่งฟังเขาเล่าเรื่องราวชีวิตของตัวเอง อาจพอสรุปได้สองส่วนอย่างแรกคือ ครอบครัว และอีกส่วนคือ การท่องเที่ยวไปในพรมแดนความรู้ และสังคมย่อยเล็กๆ ในโลกมหาวิทยาลัย

นลธวัชมีพื้นเพเป็นคนพัทลุง เขาเติบโตมาในครอบครัวที่มีแม่เป็นนักการเมือง แต่ก็เลิกอาชีพด้านการเมืองไปตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 สำหรับเขาการได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการเมือง สังคม ประวัติศาสตร์ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร และครอบครัวเองก็สนับสนุนให้เขาเดินทางมาในกรุงเทพฯ เพื่อเข้าร่วมเวทีเสวนา วงประชุมทางวิชาการอยู่บ่อยครั้ง และสถานที่ซึ่งเปลี่ยนให้เขากลายมาเป็นคนที่ตั้งคำถามทั้งต่อตัวเองและสังคมคือ สถาบันปรีดี พนมยงค์

ช่วงใกล้เรียนจบในระดับมัธยมปลาย เขาตัดสินใจอย่างเด็ดขาดว่าจะเรียนด้านนิเทศศาสตร์ ด้วยเหตุผลที่ว่าเขาต้องการสื่อสารประเด็นทางสังคมต่างๆ ออกไปให้ผู้คนได้รับรู้ สำหรับเขามีเรื่องราวอีกมากมายที่ได้เห็น ได้ฟัง และรับรู้ แต่ดูแปลกอยู่ไม่น้อยที่เรื่องเหล่านั้นกลับไม่ได้ถูกนำมาเล่ามากเท่าที่ควร

เขาสอบติดสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องการกับสื่อสารมวลชนอยู่สองที่คือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หากเราใช้ค่านิยมที่คลุมความคิดของนักเรียนไทยมาอย่างยาวนานซึ่งอาจรวมถึงสังคมไทยด้วย มาตัดสินทางเลือกให้กับเขา เขาควรจะเลือกเรียนที่ ‘จุฬา’ เพราะอาจจะดูมีประวัติศาสตร์ มีรากทางวัฒนธรรมทางมีคุณค่ากว่าที่อื่นๆ และหากดูจากแถลงการณ์ที่ผู้บริหารจุฬาลงกรณ์ฯ แถลงต่อสำนักข่าวต่างประเทศที่ติดตามรายงานข่าวกรณีการปลด เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล ออกจากตำแหน่งประธานสภานิสิต ก็ดูจะเป็นการยืนยันค่านิยมเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

แต่เหมือนว่า ‘เสาหลักของแผ่นดิน’ สำหรับไม่ได้มีแรงดึงดูดมากพอ เขาตัดสินใจเลือกเรียนที่เชียงใหม่ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการออกไปจากสังคมที่เคยเจอ กรุงเทพฯ สำหรับเขาเป็นเรื่องที่คุ้นชินเกินไป แต่กับล้านนาไม่ใช่ เขาบอกว่าต้องการออกไปเจอวัฒนธรรม สังคม ในแบบที่ไม่เคยรู้จัก

ความเคลื่อนไหวในกระบวนการยุติธรรม

ผู้ต้องหาทั้งหมดประกอบด้วย 1.ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังเป็นประธานกรรมการและประธานฝ่ายวิชาการจัดงานประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 2.ธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโท คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และยังเป็นบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม 3.ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ 4.ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ 5.นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พวกเขาถูกออกหมายเรียก ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป โดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย จากกรณีเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในการประชุมวิชาการไทยศึกษาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560

21 สิงหาคม 2560 คือวันที่ผู้ต้องหาทั้งหมด เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ ก่อนผู้ต้องหาทั้งห้าจะปฏิเสธข้อกล่าวหา และขอยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายหลัง

1 กันยายน 2560 คือวันที่ผู้ต้องหาทั้งหมดเดินทางเข้าให้การกับ พนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก พวกเขาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา

11 กันยายน 2560 พนักงานสอบสวนส่งสำนวนให้พนักงานอัยการที่ สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ ผู้ต้องหาทั้ง 5 คน พร้อมทนายความได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมให้กับพนักงานอัยการศาลแขวง ให้มีคำสั่งให้พนักงานสอบสวนได้สอบพยานบุคคลเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาอ้างก่อนหน้านี้ เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ได้มีการสอบพยานเพิ่มเติมตามที่ร้องขอ แต่พนักงานสอบสวนเร่งส่งสำนวนให้อัยการพิจาณา

ทั้งนี้เมื่อได้รับหนังสือร้องขอความเป็นธรรม อัยการแขวงระบุว่าจะ พิจารณาประเด็นสำคัญในคดีว่าจะต้องทำการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีกหรือไม่ แล้วส่งเรื่องไปยังอธิบดีอัยการภาค 5 เพื่อพิจารณาเรื่องการร้องขอความเป็นธรรมต่อไป  จากนั้นได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้ง ในวันที่ 15 กันยายน นี้

4

กับความเกี่ยวข้องกับการจัดงานเวทีประชุมไทยศึกษาครั้งที่ 13 เขาเล่าว่าได้รับการติดต่อจากอาจารย์ที่คณะการสื่อสารมวลชนในช่วงเรียนซัมเมอร์ที่ผ่านมาเพื่อให้ไปช่วยเป็นอาสาสมัครทำหน้าที่สื่อ หน้าที่ของเขาคือการเป็นหัวฝ่ายช่างภาพ เขาจะต้องเข้าไปถ่ายภาพจากทุกเวทีย่อย และนำภาพมาอัพโหลดขึ้นเว็บไซต์ และดูแลเรื่องพิธีเปิด พิธีเปิด ในฐานะที่คณะของเขาได้รับหน้าที่ฉายภาพรวมของงาน โดยงานดังกล่าวจัดในวันที่ 15 – 18 กรกฎาคม 2560 เขาอยู่ที่งานตั้งแต่เช้ามืดถึงเวลาเลิกงาน จนผู้เข้าร่วมกับบ้านกันหมด

พูดได้ว่าเขาเห็นภาพรวมของงานอยู่พอสมควร และสิ่งที่เขาเห็นมากไปกว่านั้นคือการเข้ามาในงานของเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่สันติบาล โดยไม่ได้รับเชิญ ซึ่งอาจจะต้องย้ำกันอีกครั้งเวทีประชุมในครั้งเป็นเวทีปิด และผู้เข้าร่วมทุกคนจะต้องเสียเงินลงทะเบียนเพื่อให้ได้เข้าร่วมงาน แต่สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามานั้น เพียงแค่ก้าวเท้าเข้ามาในงานโดยไม่เสียสตางค์สักแดงเดียว

พิธีเปิดงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-18 กรกฎาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ

“ตั้งแต่วันแรกก็มีการรายงานเข้ามาแล้วว่ามีนอกเครื่องแบบเดินเข้ามาในงาน คำถามแรกเลยก็คือ เขาเข้ามาได้อย่างไร ถ้าอยู่ด้านนอกงานน่ะได้ เพราะการดูแลรักษาความปลอดภัยภายในงานทุกอย่างอยู่กับพวกเราหมด เพราะเราดูตั้งแต่เรื่องอาหารการกิน ไปจนเรื่องอื่นๆ เราไม่ได้ต้องการให้ทหาร หรือตำรวจเข้ามาช่วยดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว เราประชุมกับทุกภาคส่วนมาตั้งแต่ต้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เองก็รับทราบ ทหารมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ หรือตำรวจที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือกเองก็รับทราบ เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่รู้ เพราะเราแจ้งหัวหน้าส่วนราชการไปทั้งหมด เขารู้หมดว่าเราต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไร”

ในช่วงวันแรกแม้จะมีการเข้ามาของเจ้าหน้าที่ทหาร และตำรวจสันติบาล นลธวัช เห็นว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นจนกระทั่งในวันที่ 17 กรกฎาคม (วันที่ 3 ของงาน) ได้มีการอ่านแถลงการณ์โดย ‘ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ’ ซึ่งมีนักวิชาการทั้งไทยและต่างชาติรวมลงชื่อ 176 รายชื่อ เนื้อหาในแถลงการณ์ได้เรียกร้องให้รัฐต้องเคารพเสรีภาพทางวิชาการ ด้วยการคืนพื้นที่ความรู้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงต่างๆ, รัฐต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกของประชาชน ด้วยการคืนอิสรภาพให้แก่นักโทษทางความคิดที่ถูกจับกุมคุมขังเพียงเพราะพวกเขามีความคิดเห็นแตกต่างไปจากรัฐ เช่น ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 และผู้ต้องโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองในปี พ.ศ.2553, รัฐต้องคืนอำนาจอธิปไตยให้แก่ประชาชนตามหลักพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยโดยเร่งด่วน เช่น การเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และยุติธรรม และ รัฐต้องปฏิรูปสถาบันสำคัญในสังคมไทย โดยเฉพาะศาลและกองทัพ ที่มักใช้อำนาจอย่างเป็นอิสระโดยไม่ยึดโยงกับประชาชน และมีส่วนให้สังคมและการเมืองไทยตกอยู่ในสภาวะคับขันดังในปัจจุบัน (อ่านแถลงการณ์ที่นี่)

สำหรับนลธวัช การมีแถลงการณ์ดังกล่าวออกมาจาก ‘ชุมชนนักวิชาการนานาชาติ’ ดูจะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สามารถทำได้ตามวิสัยปกติของการประชุมทางวิชาการซึ่งมักมีการทบทวนสถานการณ์ทางการเมือง และมีข้อเรียกร้องต่อรัฐออกมา แต่สำหรับเจ้าหน้าที่ทหารอาจไม่ได้มองเช่นเดียวกับเขา ทหารอาจอ่อนไหวเกินไป และนั่นทำให้นลธวัชเห็นว่า ความอ่อนไหวของทหาร นำมาซึ่งความอึดอัดของชุมชนนักวิชาการ

“เรามีแถลงการณ์ออกไปช่วงบ่าย 3 แต่หลังจากนั้นเราได้ข้อมูลมาว่าทหารเข้ามาถามว่าทำไมถึงปล่อยให้มีการแถลง เป็นทหารในเครื่องแบบที่เข้ามา หลังจากนั้นวันที่ 18 เราก็คุยกันว่าการที่ทหารเข้ามาในวันนั้นมันเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เราไม่ไหวกับสิ่งที่เขาทำ การที่เขาเข้ามาป่วนแบบนี้ แล้วเรามีแขกผู้ใหญ่ อาคันตุกะจากอินเดีย มีรัฐมนตรีจากหลายประเทศมาร่วมงาน ฉะนั้นการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทำแบบนี้มันไม่ให้เกียรติกัน แล้วมันเสียหน้าคนจัดงาน นี่คือประเด็นเลยนะครับ มันอึดอัดจนทำอะไรไม่ถูก และสิ่งเราทำคือการตอบโต้ที่ดีที่สุดคือ การกระทำแบบสันติวิธี เราก็แค่แสดงจุดยืนให้เห็นว่าคุณจะมาทำแบบนี้ไม่ได้ เราก็เขียนกระดาษ A4 แผ่นเล็กๆ ที่ต่อเอามาต่อกัน เราเขียนว่าเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร เพื่อที่จะบอกกับทหารกลุ่มนั้นที่เข้ามาในงาน”

จากแถลงการณ์แม้จะมีเนื้อหาของการวิพากษ์วิจารณ์ที่แหลมคม ประกอบกับกระดาษ A4 แผ่นเล็กๆ ที่มีข้อความแทงใจดำ แต่ก็ไม่ได้เขียนอะไรผิดแปลกไปจากข้อเท็จจริง หากวันกันปอนด์ต่อปอนด์สองสิ่งนี้ดูจะมีน้ำหนักไม่มากพอที่จะสั่นคลอนทำลายความมั่นคงของรัฐที่ถือปืน แต่สุดท้ายเรื่องราวเหล่านี้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ อาจจะเพราะความรู้สึกอ่อนไหว ไม่มั่นคงทางจิตใจของทหาร อย่างที่นลธวัชว่า หรืออาจเพราะผู้ทรงอำนาจตระหนักอยู่เนืองๆ ว่าเขามีแผลที่ไม่มีว่ารักษาให้หายได้ และสองสิ่งนี้ไปสะกิดโดนแผลเรื้อรังตรงนั้นพอดี

คุยกันไปได้สักระยะ ระหว่างที่เขากำลังเล่าถึงความยุ่งยากของชีวิตที่ต้องมาถูกแจ้งความดำเนินคดี ผมพลางคิดในระหว่างบทสนทนาว่า หรือเรากำลังนั่งรวมหมู่อยู่ในบ้านหลังใหญ่ที่โครงสร้างไม่มั่นคง อ่อนไหว ซ้ำยังเปราะบาง เพียงแค่ลมพัดก็สั่นคลอน แต่ที่ผู้สถาปนาตัวเองเป็นเจ้าของบ้านกลับเลือกที่จะทำให้บ้านมั่นคงโดยจัดการทุกวิถีทางเพื่อให้บ้านไร้แรงลม แม้ถึงที่สุดแล้วลมไม่ได้เป็นปัญหากับตัวบ้าน ความผิดพลาดแท้จริงอยู่ที่ผู้รับเหมาก่อสร้าง นั่งร้าน ตะปู สัดส่วนการผสมปูน และโครงเหล็กที่บิดเบี้ยวผิดรูปแบบที่ควรจะเป็น แต่การก่อสร้างกลับดำเนินไปโดยไม่ถามความเห็นจากเจ้าของบ้านตัวจริง พวกเขาออกแบบตามอำเภอใจ และอ้างเหตุผลของการทำตามใจตัวเองอย่างนั้นว่านี่คือ “สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน”

5

ล่าสุด 11 กันยายน 2560 นลธวัช พร้อมผู้ต้องอีก 4 คน เดินทางไปที่สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงเชียงใหม่ พวกเขาเข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวนตามนัดหมาย จากนั้นอัยการแขวงได้นัดหมายให้ผู้ต้องหาเข้ารายงานตัวอีกครั้งในวันที่ 15 กันยายน นี้ ซึ่งอาจจะแน่ชัดในวันนั้นว่าอัยการจะยื่นเรื่องส่งฟ้องดำเนินคดีกับพวกเขาหรือไม่ หรือจะมีการทบทวนสั่งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบพยานเพิ่มเติมตามที่ผู้ต้องหาทั้ง 5 ร้องขอไว้ก่อนหน้านี้ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

“ก็ให้การกับตำรวจไปว่า เรายืนยันว่าสิ่งที่เราทำคือความถูกต้อง เรามีจุดยืนในเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ สิ่งที่เราทำคือความกล้าหาญทางจริยธรรมที่พวกเราจะต้องปกป้องไว้ แต่เขาก็ยังมีให้เราเลือกนะครับ ถ้าเข้าค่ายทหารไปปรับทัศนคติ 7 วัน  และเซ็น MOU ว่าจะไม่ทำกิจกรรมการเมืองอีก ก็จะไม่มีการดำเนินคดี เลิกแล้วต่อกันไป แต่พวกเรายืนยันกันตั้งแต่แรกว่า เราจะสู้ตามกระบวนการยุติธรรม เพราะถ้าไม่อย่างนั้น อนาคตการจัดงานวิชาการในไทยมันจะยากขึ้นไปอีก แล้วผู้เข้าร่วมก็จะหมดความมั่นใจไปเลยว่าผู้จัดเขาจะรับรองเสรีภาพทางวิชาการให้กับผู้เข้าร่วมได้มากน้อยแค่ไหน”

“มันเป็นไปไม่ได้ ที่เวทีวิชาการจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองเลย แล้วยิ่งเป็นเรื่องไทยศึกษา ประเด็นในทางวิชการมันก็ถูกรวบยอดเพื่อที่จะคิดต่อ เพื่อที่จะอธิบาย และมันเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่จะอธิบายปรากฎการณ์ต่อสังคมนั้นๆ เพื่อที่จะให้มันเป็นบทเรียน หรืออะไรก็แล้วที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ต่อ มันเลยหลีกเลี่ยงปฎิสัมพันธ์ของคนไม่ได้ มันก็เป็นการเมืองทันที เราก็พยายามยืนยันไปว่าการเมืองในแบบที่คุณพูดถึงมันคือการเมืองแบบไหน ถ้าการเมืองแบบที่มองว่าเป็นการพูดถึงด้านลบของรัฐบาล เราไม่สามารถจะการันตีได้เลยว่ามันจะไม่เกิดขึ้น”

“เราพยายามที่จะทำให้สังคมมันดี เราอยากเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ท่านนายกฯ เองก็พูดนักพูดหนาว่าอยากให้เด็กอย่างผมเองเติบโตขึ้นมากล้าคิดกล้าทำ เพื่อที่จะพัฒนาประเทศเป็นฟันเฟืองของประเทศต่อไป แต่ก็นี่ไงครับเรากำลังทำ เรากำลังเรียนรู้ แต่นี่กลายเป็นผลตอบแทนที่เราได้ มันอัดอึด ไม่รู้จะพูดอย่างไรเหมือนกัน แต่ว่ามันอึดอัด”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net