Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สืบเนื่องจากการที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยออกแถลงการณ์ถึงสื่อมวลชนวันนี้ (6 ก.ย. 2560) ใจความกล่าวถึงการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนต่อประเด็นความไม่เรียบร้อยในงานพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนของนิสิตจุฬาฯ ชั้นปีที่ 1 เมื่อวันที่ 3 ส.ค. ที่ผ่านมา ถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านมากว่าหนึ่งเดือนแล้ว แต่การวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็นนี้ก็ยังไม่จบ ขอแสดงความชื่นชมต่อจุฬาฯ ที่ไม่นิ่งนอนใจและออกแถลงการณ์แสดงความกังวลในเรื่องนี้ ทว่าผู้เขียนกลับมีความคิดเห็นต่างบางประการต่อแถลงการณ์ จึงตั้งใจใช้พื้นที่นี้แบ่งปันทัศนะในฐานะนักเรียนสื่อคนหนึ่ง โดยจะขอโต้แย้งเฉพาะคำชี้แจงต่อสื่อมวลชนเท่านั้น จะไม่แตะเรื่องคำตัดสินทางวินัยหรือภาพเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยประการใดสุดแล้วแต่วิจารณญาณของผู้อ่านเอง

ทั้งนี้ ผู้เขียนมองว่าแถลงการณ์ของจุฬาฯ ฉบับนี้มีจุดบกพร่องและแสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจในหน้าที่และการทำงานของสื่อมวลชนอย่างถ่องแท้ โดยจะขอโต้แย้งจากแถลงการณ์ที่กล่าวกับสื่อมวลชนที่ว่า

“สุดท้ายนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าใจว่าสื่อมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แต่จุฬาฯ ใคร่ขอให้สื่อมวลชนและผู้เกี่ยวข้องเสนอข่าวด้วยความถูกต้อง ไม่ลำเอียง และเป็นธรรมต่อสถานการณ์ของจุฬาฯ การจัดการกับสถานการณ์เช่นนี้ เป็นกิจการภายในที่ไม่ควรถูกเชื่อมโยงกับการแบ่งขั้วทางการเมือง และการควบคุมปราบปรามผู้เห็นต่าง ซึ่งมักนิยมใช้เป็นวาทกรรมและกรอบการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ”

ในแถลงการณ์ในตอนนี้เองที่ผู้เขียนมองว่าจุฬาฯ ไม่ได้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ รวมถึงจุดยืนของผู้ที่ทำงานเป็นสื่อมวลชนอย่างแท้จริง สื่อมวลชนทำงานเพื่อมวลชน คือเสนอข่าวเพื่อประชาชน การจะนำเสนอข่าวใดๆ จะคำนึงถึงสิ่งที่คนในสังคมจะได้รับ แง่มุมใดที่ยังขาดหายไปและสังคมควรรู้ ซึ่งจากปรากฏการณ์การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในกรณีนี้คือการให้พื้นที่กับแหล่งข่าวหลายๆ แหล่ง โดยไม่ถูกชี้นำและถูกปิดกั้น นี่คือสิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพสื่อโดยแท้

นอกจากนั้น การที่จุฬาฯ พยายามขอให้สื่อมวลชนเสนอข่าวด้วยความถูกต้อง ไม่ลำเอียง และเป็นธรรมต่อจุฬาฯ นั้น ผู้เขียนก็ตั้งคำถามในเรื่องนี้ได้ว่าความถูกต้องที่ว่านั้นคืออะไร ความจริงโดยแท้เป็นสิ่งที่ยากจะหา สิ่งที่สื่อมวลชนสามารถทำได้คือการนำเสนอรอบด้าน สื่อทำหน้าที่ค้นหาความจริงและความถูกต้องไปพร้อมกับผู้เสพสื่อ ฉะนั้นความถูกต้องคืออะไร ปัญญาชนคนเสพสื่อจะเป็นผู้ใช้วิจาณญาณตัดสินด้วยตนเอง

ส่วนความเป็นธรรมต่อจุฬาฯ ที่ท่านกล่าวอ้างมานี้ สื่อมวลชนหลายแห่งก็ได้ให้พื้นที่ในการนำเสนอแถลงการณ์ต่างๆ จากฝั่งจุฬาฯ แล้ว แต่สิ่งที่ท่านอาจจะหลงลืมไปคือสื่อมวลชนต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สื่อจำเป็นต้องนำเสนอในแง่มุมของฝั่งตรงข้าม ซึ่งถ้าแง่มุมนี้ไม่ตรงกับจุฬาฯ ท่านจะมองว่าสื่อไม่เป็นธรรมกับจุฬาฯ ก็ไม่ถูก เพราะไม่ใช่เพียงจุฬาฯ ที่ต้องได้รับความเป็นธรรม แต่เป็นทุกฝ่ายต่างหาก ในที่นี้ “ความเป็นธรรม” ของจุฬาฯ จึงอาจไม่ตรงกับ “ความเป็นธรรม” ในแบบที่สื่อมวลชนพึงมี

ส่วนในเรื่องวาทกรรมกำจัดฝ่ายที่เห็นต่าง หรือการเชื่อมโยงกับขั้วการเมืองที่ท่านยกขึ้นมาเสนอนี้ ก็เป็นเสรีภาพของสื่อบางแห่งที่อาจไม่จำเป็นต้องเสนอแต่ข้อเท็จจริงว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน พูดอะไรเท่านั้น แต่หากต้องการให้เกิดอิมแพ็คและเกิดการตั้งคำถามถึงปัญหาในเชิงระบบ การนำไปวิเคราะห์และเชื่อมโยงจะถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของบทความอย่างที่ผู้เขียนทำอยู่นี้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผู้ที่จะตัดสินว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็คือผู้เสพสื่ออยู่ดี

“จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีประวัติอันยาวนานที่ผูกพันกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งความเชื่อและประเพณีปฏิบัติที่สืบทอดกันมานี้อาจเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับผู้ที่ยึดถือแนวคิดเสรีนิยมแบบตะวันตก แม้ว่าจุฬาฯ จะสนับสนุนความคิดเสรีนิยมและเสรีภาพในการแสดงออก แต่มหาวิทยาลัยก็มีรากฐานทางวัฒนธรรมและพันธกิจในการสร้างนิสิตที่เคารพประเพณีปฏิบัติของสถาบัน ตลอดจนสิทธิเสรีภาพและความคิดของผู้อื่นด้วย จุฬาฯ ไม่คาดหวังให้สื่อตะวันตกเห็นชอบกับการตัดสินใจและวิธีการในเรื่องนี้ แต่เราขอขอบคุณท่านที่รายงานข่าวด้วยความเข้าใจต่อจุดยืนของมหาวิทยาลัย”

ในมุมมองของผู้เขียน เห็นว่าแถลงการณ์ในตอนนี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าจุฬาลงกรณ์ยังคงเป็นอนุรักษ์นิยมอยู่สูงมาก ถึงแม้จะบอกว่ายอมรับความเป็นเสรีชนและการเห็นต่าง แต่ก็ยังคงยึดโยงทุกเรื่องผูกติดกับประเพณีอันดีที่ผูกติดกับสถาบันพระมหากษัตริย์อีกทอด แต่บนพื้นฐานระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย การแสดงจุดยืนและการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เป็นเรื่องที่กระทำได้ ถึงแม้การแสดงออกของอีกฝั่งอาจดูไม่เหมาะสมในสายตาจุฬาฯ แต่ปฏิเสธความจริงในข้อนี้ไปไม่ได้เลยว่าทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย

จุฬาฯ บอกว่ายอมรับความคิดเห็นต่าง แต่ก็ย้อนกลับไปที่แถลงการณ์ตอนก่อนหน้าที่ขอความเป็นธรรมจากสื่อมวลชน นั่นเป็นการชี้นำสื่อให้เสนอข้อมูลไปในทิศทางเดียวที่เอื้อประโยชน์ต่อจุฬาฯ หรือไม่? และเช่นนี้การเปิดรับความเห็นต่างที่ว่านี้ ยอมรับแล้วจริงหรือ?

นอกจากนั้น การที่ไม่เปิดรับความคิดเห็นจากสื่อตะวันตกก็ยิ่งสร้างภาพลักษณ์อนุรักษ์นิยมนี้ให้หนักแน่นเข้าไปอีก เพราะในเมื่อจุฬาลงกรณ์เป็น “เสาหลักของแผ่นดิน” แผ่นดินที่ว่านี้ก็ตั้งอยู่บนดาวเคราะห์น้อยๆ ที่ชื่อว่าโลกเหมือนกัน ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทั้งโลกเชื่อมต่อกันนี้จึงหลีกเลี่ยงข้อวิพากษ์วิจารณ์จากฝั่งตะวันตกไม่ได้ แต่ที่น่ากังวลคือ เสาหลักของแผ่นดินคำนึงถึงบริบทโลกแค่ไหน หากกล่าวว่าเป็นกิจการภายในทั้งๆ รู้ว่าเป็นเหลักก็ย่อมต้องถูกตั้งคำถามเป็นธรรมดา

สุดท้ายนี้ ผู้เขียนก็ยังคงยืนยันถึงสิทธิเสรีภาพของสื่อที่ยังจะสามารถนำเสนอข่าวสาร ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นจากแหล่งข่าว หรือข้อคิดเห็น บทวิเคราะห์เป็นบทความผ่านหลายๆ แง่มุมได้ เพราะสื่อมวลชนไม่ใช่ของจุฬาฯ แต่สื่อมวลชนยังต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ที่จะทำเพื่อประชาชน และให้ประชาชนรู้รอบด้านที่สุด จึงขอแสดงทัศนะผ่านบทความนี้มาด้วยความเคารพ




อ้างอิง แถลงการณ์จุฬาฯ ต่อสื่อมวลชน กรณีการลงโทษทางวินัยนิสิต : http://www.chula.ac.th/th/archive/65905

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net