Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล แถลงด้วยวาจาต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับความจำเป็นในการบัญญัติให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงไทย ยกความล้มเหลวในคดี 'สมชาย-บิลลี่'

ที่มา : https://www.icj.org/un-statement-enforced-disappearances-in-asia/

เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา รายงานข่าวแจ้งว่า คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists หรือ ICJ) ได้กล่าวแถลงด้วยวาจาต่อคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเกี่ยวกับความจำเป็นในการบัญญัติให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงในประเทศไทย โดยได้กล่าวถึงความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการบังคับให้บุคคลสูญหายในกรณีของ สมชาย นีละไพจิตร และ พอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ  เนื่องจากการปราศจากกฎหมายภายในประเทศที่กำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญา

โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

"เรียน ท่านประธาน
 
ICJ ขอเน้นย้ำข้อแนะนำของคณะทำงาน ฯ ว่ารัฐควรจะบัญญัติให้การบังคับให้บุคคลสูญหายทั้งปวงเป็นความผิดตามกฎหมายอาญา ซึ่งรวมไปถึงการบังคับให้ผู้ที่เดินทางโยกย้ายถิ่นฐานสูญหาย และบัญญัติให้มีบทลงโทษที่เหมาะสมโดยพิจารณาถึงความร้ายแรงของการกระทำผิด 
 
เช่นที่ได้กล่าวถึงในสิ่งพิมพ์ของ ICJ เรื่อง “ไม่มีอีกแล้ว ‘คนหาย’: การบัญญัติให้การบังคับสูญหายเป็นความผิดตามกฎหมายอาญาในเอเชียใต้” (No more ‘missing persons’: the criminalization of enforced disappearance in South Asia) แม้ว่าจะเป็นภูมิภาคที่มีรายงานตัวเลขของบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก การบังคับให้บุคคลสูญหายก็ยังไม่เป็นความผิดทางอาญาที่ชัดเจนในประเทศใด ๆ เลยในเอเชียใต้
 
สิ่งนี้คืออุปสรรคที่สำคัญมากในการประกันความยุติธรรมกรณีของการบังคับให้บุคคลสูญหาย
 
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากการปราศจากกฎหมายภายในประเทศที่กำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดในกฎหมายอาญา ICJ ขอเน้นให้เห็นถึงความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีที่มีการกล่าวหาว่ามีการบังคับให้บุคคลสูญหายในกรณีที่เป็นที่รู้จักกันดี เช่น กรณีของนายสมบัด สมพอน ในประเทศสปป.ลาว กรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร และ นายพอละจี “บิลลี่” รักจงเจริญ ในประเทศไทย
 
เมื่อไม่มีกรอบของกฎหมายภายในประเทศที่ชัดเจนที่กำหนดให้การบังคับให้บุคคลสูญหายเป็นความผิดทางอาญาโดยเฉพาะเจาะจง บ่อยครั้งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐพิจารณาว่าการคุมขังในที่ที่ไม่ได้รับการรับรองให้เป็นที่คุมขังโดยหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายเป็นกรณี “คนหาย”
 
และแม้การรับแจ้งความเพื่อดำเนินคดีอาญากับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้บังคับให้บุคคลสูญหายจะเกิดขึ้นได้ยาก แต่เมื่อมีการดำเนินคดีเหล่านี้แล้ว การอธิบายคำฟ้องขอดำเนินคดีกลับถูกจำกัดให้อธิบายลักษณะความผิดว่าเป็นการ “ลักพาตัว” “การจับกุมตัวเรียกค่าไถ่” หรือ “กักขังหน่วงเหนี่ยวโดยผิดกฎหมาย” เท่านั้น
 
ข้อหาเหล่านี้ล้วนมิได้สะท้อนถึงความร้ายแรงหรือความซับซ้อนของการบังคับให้บุคคลสูญหาย อีกทั้งการกำหนดโทษยังไม่มีความเหมาะสมกับความร้ายแรงของความผิด
 
นอกจากนี้ข้อหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นนั้นยังไม่รับรองสถานะความเป็นผู้เสียหายของครอบครัวหรือญาติของผู้ถูกบังคับให้สูญหาย รวมถึงผู้อื่นที่ได้รับความเสียหายอันเป็นผลมาจากการบังคับให้บุคคลสูญหายตามมาตรฐานที่กฎหมายระหว่างประเทศกำหนด
 
สุดท้ายนี้ ICJ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการศึกษาเรื่องผู้ที่เดินทางโยกย้ายถิ่นฐานโดยคณะทำงาน ฯ ICJ ขอแจ้งว่า ICJ ได้มีสิ่งพิมพ์ เรื่อง หลักของบทบาทของผู้พิพากษาและทนายความในกรณีที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยและผู้ที่เดินทางโยกย้ายถิ่นฐาน ซึ่งเพิ่งถูกตีพิมพ์ในปีนี้ และมีมาตรการการป้องกันที่สำคัญที่จะช่วยป้องกันมิให้มีการบังคับมิให้บุคคลสูญหายในกรณีที่กล่าวมานี้
 
 
ขอขอบพระคุณ"

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net