Skip to main content
sharethis

ปมข้อเสนอค่าแรง 700 บาท ประยุทธ์ ขอให้เข้าใจ ช่วงนี้กำลังชักจูงคนให้เข้ามาลงทุน ระบุเจออย่างนี้เข้าไปก็จบหมด สภาอุตฯ ย้ำเป็นไปไม่ได้ ด้านนักวิชาการชี้สามารถทำได้ ยกมาเลเซีย - ไต้หวันที่มีค่าครองชีพพอกับไทย แต่ยังมีค่าแรงที่สูงกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว

ภาพการแถลงข้อเรียกร้องการปรับขึ้นค่าแรงของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เมื่อวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา

12 ก.ย. 2560 จากกรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้เรียกร้องให้ยกเลิกการคิดค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงานแบบเดิม ที่จะพิจารณาปรับขึ้นค่าแรงงานขั้นต่ำในปี 2561 เพราะไม่เพียงพอต่อการค่าครองชีพในแต่ละวัน โดยต้องการให้นิยามค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้า ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตัวเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ซึ่งควรอยู่ที่วันละ 600-700 บาท พร้อมทั้งเสนอให้ยกเลิกกรรมการค่าจ้างประจำจังหวัด ให้มีคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติเพื่อกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวกันทั่วประเทศนั้น

วันนี้ (12 ก.ย.60) ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เเนวคิดเรื่องการปรับค่าเเรงขั้นต่ำมีอยู่เเล้ว ต้องมาคิดว่าจะดูเเลเขาอย่างไร ประเด็นคือต้องดูว่าผลกระทบจะเกิดอะไรขึ้น ขณะนี้อยู่ในการดูเเลของกระทรวงเเรงงาน ขอร้องว่าอย่าไปพูดกันนอกเวที ส่วนเรื่องค่าเเรงตามคณะกรรมการที่พิจารณาขึ้นมา ก็ขึ้นค่าเเรงเท่าที่ขึ้นได้

“ขอให้เข้าใจวันนี้เรากำลังลงทุน ชักจูงคนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ถ้าเจออย่างนี้เข้าไปก็จบหมด อยากขอเวลาก่อน ให้ทุกอย่างมันเกิดขึ้นเเละก้าวหน้า มีรายได้เเละผลประโยชน์มากขึ้นเดี๋ยวค่าเเรงก็ขึ้นเอง อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการพัฒนาตนเองไปสู่เเรงงานที่มีฝีมือ ถ้าทุกคนไม่ปรับตัวเลยก็คงไม่ได้ รัฐบาลอุ้มไม่ไหว ก็คงพากันเจ๊งไปหมด” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สภาอุตฯ ยันเป็นไปไม่ได้

ฃขณะที่วานนี้ PPTV รายงานว่า เจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบข้อเสนอให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน เป็น 700 บาทต่อวัน ซึ่งภาคเอกชนคิดว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในสภาพเศรษฐกิจขณะนี้ เพราะหากคิดรวมรายได้ต่อเดือนก็เท่ากับเกือบ 20,000 บาท โดยถือว่าสูงกว่าค่าจ้างแรงงานผู้ที่จบระดับปริญญาตรี ที่มีอัตราเงินเดือนขั้นต่ำขณะนี้ 15,000 บาทต่อเดือน

ประธาน ส.อ.ท. ระบุด้วยว่า หากจะมีการปรับขึ้นค่าแรง 700 บาทต่อวัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ กลุ่มนายจ้าง อาชีพบริการ อาทิ โรงแรม ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ภัตตาคาร หรืองานบริการอื่น ๆ เพราะใช้คนงานจำนวนมาก ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมโรงงานขนาดใหญ่ หรือ ขนาดกลาง ก็ได้ปรับตัวหันไปใช้เครื่องจักรเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นเมื่อช่วงปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน หากจะมีการปรับขึ้นอีกรอบก็จะไม่ได้รับผลกระทบด้านนี้

ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง ระบุว่า ได้ให้เจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัดทุกจังหวัด สำรวจข้อมูลเกี่ยวกับค่าครองชีพ และข้อมูลตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ นำส่งคณะกรรมการค่าจ้างภายในเดือนกันยายนนี้ เพื่อนำมาคำนวณอัตราการปรับค่าจ้างปี 2561 ตามสูตรคิดอัตราค่าจ้างแบบสากล ที่ระบุไว้ 10 ด้าน เช่น ดัชนีค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต และราคาสินค้า-บริการ รวมถึงสภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีอัตราการขึ้นค่าจ้างไม่เท่ากัน ตามค่าครองชีพของแต่ละพื้นที่ โดยปัจจุบันอัตราค่าจ้างอยู่ที่ 300 -360 บาท อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่เครือข่ายแรงงาน เสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 600 - 700 บาทนั้น จะต้องนำเข้าคณะกรรมการค่าจ้าง พิจารณาปัจจัยในหลายด้าน รวมถึงใช้สูตรคิดคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

นักวิชาการชีสามารถทำได้

วันนี้ (12 ก.ย.60) วอยซ์ทีวี รายงานว่า ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุญกับ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์สาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์. วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ศึกษาด้านแรงงานไทยมายาวนาน โดยกล่าวว่าค่าแรงขั้นต่ำเป็นหลักที่ควรคำนึงถึงความจำเป็นขั้นพื้นฐานของมนุษญ์ไม่ใช่แค่เพียงคำนวนเป็นต้นทุนของนายทุนเท่านั้น ซึ่งกระบวนการเรียกร้องค่าแรงขั้นต่ำให้สามารถตอบสนองปัจจัยพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยคำนวนว่าเมื่อคนเราทำงาน 8ชั่วโมงเพื่อให้ได้ค่าแรงดังกล่าว โดยที่ไม่ต้องเบียดเบียนด้วยการต้องใช้เวลาทำงานล่วงเวลา

ษัษฐรัมย์ ยังกล่าวว่า แนวคิดเรื่องค่าแรง 700 บาทนั้นสามารถทำได้ และทำได้ทันทีโดยยกตัวอย่างว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่มีกำลังซื้ออันดับท้ายๆ ของโลกจากการจัดอันดับคือ 95 จาก 115 ประเทศ ในขณะที่ชาติที่ขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับไทยอย่างมาเลเซียกับอยู่อันดับที่ 50 หรือยกตัวอย่างไต้หวันที่มีค่าครองชีพพอกับไทย แต่ยังมีค่าแรงที่สูงกว่าไทยถึง 3 เท่าตัว

เมื่อพูดถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการ ษัษฐรัมย์ ชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมควรจะปรับตัวให้เข้ากับยุค Digital Economy เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้แทนการใช้แรงงานเข้มข้น แต่ก็ยอมรับว่าการขึ้นค่าแรงดังกล่าวน่าจะกระทบกับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งรัฐจำเป็นที่ต้องเข้ามาดูแลเรื่องดังกล่าว รวมไปถึงสวัสดิการของผู้ทำงานอิสระหรือฟรีแลนซ์ก็ควรจำเป็นที่ต้องเพิ่มขึ้นด้วย

ส่วนด้านการปรับค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุดเมื่อต้นปี 2560 โดยปรับไม่เท่ากันทั่วประเทศ ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า จำเป็นต้องก้าวข้ามมายาคติต่างๆ ว่าในแต่ละจังหวัดค่าครองชีพไม่เท่ากันได้แล้ว เนื่องจากว่าปัจจัยขั้นพื้นฐานในแต่ละที่ในอยู่ในราคาที่ใกล้เคียงกัน อีกทั้งในหลายจังหวัดทุนภายในจังหวัดก็เริ่มผ่ขยายมากขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net