Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากที่คุณเนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล ถูกผู้บริหารจุฬาฯ ถอดออกจากตำแหน่งซึ่งได้มาจากการเลือกตั้ง บางท่านนำกรณีนี้ไปเปรียบกับสิ่งที่คุณจิตร ภูมิศักดิ์เคยต้องเผชิญมาในมหาวิทยาลัยแห่งเดียวกัน

เป็นเรื่องน่าเปรียบจริงเสียด้วย

แต่เมื่อมองจากยุทธศาสตร์ยุทธวิธีของฝ่ายอนุรักษ์นิยมแล้ว ผมคิดว่ามีความต่างที่สำคัญในสองกรณีนี้

หนังสือ 23 ตุลาคม ซึ่งคุณจิตรเป็นผู้รับผิดชอบนั้น ไม่มีนิสิตคนใดเคยเห็นหรือเคยอ่าน เพราะมีคำสั่งห้ามแจกในงานถวายบังคมพระบรมรูป แม้แต่นิสิตวิศวะที่จับคุณจิตร "โยนบก" ก็ให้น่าสงสัยว่า ได้เคยอ่านเนื้อหาส่วนที่เป็นปัญหาด้วยตัวเองหรือไม่ แม้กระนั้น นิสิตที่แสดงความไม่พอใจ ก็พูดถึงหนังสือเล่มนั้นประหนึ่งว่าเคยเห็นมาแล้ว เช่นทราบว่าไม่มีพระบรมฉายาลักษณ์ที่ปก รวมทั้งรู้สาระของเนื้อหาส่วนที่เป็นปัญหา (เช่นแม่ไม่มีบุญคุณต่อลูก เพราะลูกเป็นผลผลิตของกามราคะเท่านั้น หรือพระคือคนหัวโล้นที่นุ่งเหลือง) อันเป็นสาระลอยๆ ที่ปราศจากข้อถกเถียงและเงื่อนไขตามที่มีในข้อเขียน

เหตุใดนิสิตที่ไม่มีโอกาสอ่านหรือแม้แต่เห็นหนังสือเล่มนั้น จึงสามารถบิดเบือนเนื้อหาได้ใกล้เคียงความจริงถึงเพียงนั้น พวกเขาทำได้ก็เพราะมีคนที่เคยเห็นและเคยอ่านได้สรุป (brief)บางเรื่องให้ฟัง และอาจชี้ให้เห็นว่า การกระทำเช่นนี้ของคุณจิตรได้สร้างความเสื่อมเสียแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างไร จนต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อรักษาเกียรติยศและศักดิ์ศรีของจุฬาฯ เอาไว้

นี่เป็นเงื่อนไขเบื้องต้นของฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่ต้องมี ก่อนจะทำการรุกปรปักษ์ฝ่ายก้าวหน้า คือต้องควบคุมการรับรู้ข้อมูลของมวลชน ในระดับที่จะกล่าวหาฝ่ายตรงข้ามได้โดยมวลชนไม่มีทางรู้ข้อมูลจากมุมอื่น หรือตรวจสอบข้อมูลของฝ่ายตนได้เลย ที่ต้อง"โยนบก"คุณจิตร ก็เพื่อไม่ให้ข้อมูลข่าวสารจากมุมอื่นได้หลั่งไหลจากปากของคุณจิตรนั่นเอง

เหตุดังนั้น เมื่อฝ่ายบริหารมีมติลงโทษคุณจิตร นิสิตอื่นจึงยอมรับโดยไม่มีเสียงเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูลการกระทำของคุณจิตร หรือรายละเอียดในการลงมติของฝ่ายบริหาร บรรยากาศของจุฬาฯ เงียบเสียจน ผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมมีอยู่คนเดียว และไม่สามารถส่งเสียงชี้แจงแก่ใครได้

โทษที่คุณจิตรได้รับก็คือพักการเรียน นั่นคือสายสัมพันธ์ใดๆ ที่คุณจิตรมีอยู่ในจุฬาฯ ต้องขาดสะบั้นลงหมด อย่างน้อยเป็นการชั่วคราว จนกว่าเงามืดที่ครอบงำชาวจุฬาฯ อยู่จะถูกลืมเลือนไป เพราะถึงอย่างไร ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป

ความสำเร็จของฝ่ายอนุรักษ์นิยมในการพักการเรียนของคุณจิตรอาจสรุปได้สองอย่าง หนึ่งคือกลบความคิดที่คุณจิตรเสนอไว้ในหนังสือ 23 ตุลาคมได้สนิทมิดชิดสืบมาอีกนาน และสองทำให้ความคิดของจิตร ไม่มีทายาทสืบต่อในจุฬาฯ อีกเลย และนี่คือความสำเร็จที่สำคัญที่สุด อนุรักษ์นิยมจะเรืองอิทธิพลได้ ก็ต่อเมื่อทำให้ความคิดที่เป็นปฏิปักษ์กับตนไม่มีทายาท เกิดได้ แต่ต้องตายได้ในเวลาอันสั้น เหมือนชีวิตคนทั่วไป ยิ่งทำให้เหมือนแฟชั่น ยิ่งประสบความสำเร็จ เพราะอายุสั้นกว่ากันมาก ทั้งผู้สมาทานยังปฏิบัติต่อความคิดนั้นเหมือนเครื่องแต่งกายเท่านั้น สวมได้ ถอดได้

.........

เปรียบเทียบกับกรณีคุณเนติวิทย์ การปลดคุณเนติวิทย์ออกจากตำแหน่ง เป็นก้าวที่ผิดพลาดอย่างใหญ่ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

คุณเนติวิทย์ได้ส่งสารเกี่ยวกับทางเลือกของการถวายบังคมมาก่อนหน้าเป็นปีแล้ว ใครที่เลือกคุณเนติวิทย์ก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่าคุณเนติวิทย์มีจุดยืนในเรื่องการถวายบังคมอย่างไร ไม่ว่าคุณเนติวิทย์จะอยู่หรือไม่อยู่ในตำแหน่งประธานสภานิสิต สารของคุณเนติวิทย์ก็เผยแพร่ในจุฬาฯ ไปแล้ว ร้ายไปกว่านั้น ความอื้อฉาวของการปลดออกครั้งนี้ ยิ่งทำให้"สาร"ถูกกล่าวย้ำบ่อยขึ้นทั้งในสื่อแบบเก่า และสื่อโซเชียล ตรงกันข้าม หากคุณเนติวิทย์ไม่ถูกปลดออก ป่านนี้"สาร"ดังกล่าวคงซบเซาไปแล้ว

คุณเนติวิทย์ก็ยังอยู่ในจุฬาฯ ต่อไป แม้ไม่มีตำแหน่ง แต่เสียงของคุณเนติวิทย์ไม่ได้ค่อยลงแต่อย่างไร อาจดังขึ้นกว่าเก่าเสียอีก ไม่ว่าเธอจะพูดอะไร ก็มีคนเอามาขยายต่อเสมอ ความคิดแบบเนติวิทย์มีทายาทในจุฬาฯ แน่ และอาจอยู่กับนิสิตที่ได้รับเลือกเป็นประธานสภานิสิตในปีหน้าก็ได้ ที่น่ากลัวกว่านั้นคืออยู่กับนิสิตจุฬาฯ ทั้งที่มีและไม่มีตำแหน่งขยายออกไปมากขึ้น

สรุปก็คือฝ่ายอนุรักษ์นิยมควบคุมข้อมูลเกี่ยวกับธรรมเนียมการกราบถวายบังคมไม่ได้ และไม่ว่าจะใช้อำนาจบาตรใหญ่อย่างไรก็ควบคุมไม่ได้ ต่างจากสมัยคุณจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งควบคุมได้ในระดับสูงทีเดียว

สิ่งสำคัญในการต่อสู้กันทางความคิดก็คือภาพของความชอบธรรม จะชอบธรรมจริงหรือไม่ยกไว้ก่อน แต่ต้องมีภาพที่คนดูซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่เห็นว่าชอบธรรม หรืออย่างน้อยก็ชอบธรรมพอสมควร อย่าทำให้คนดูเห็นว่าใช้อำนาจแทนความชอบธรรมเป็นอันขาด

เมื่อเปรียบเทียบกรณีคุณเนติวิทย์กับคุณจิตรแล้ว ผมพบด้วยความแปลกใจ ปนตกใจนิดๆ ว่า อนุรักษ์นิยมไทยปัจจุบันไม่มีกึ๋นอย่างที่เคยมีเสียแล้ว ครับอนุรักษ์นิยมไทยนั้นเคยมีกึ๋นอยู่ไม่น้อยเลย ไม่เชื่อก็ลองหวนกลับไปคิดถึงความสำเร็จด้านต่างๆ ของอนุรักษ์นิยมไทยดูบ้าง

กองทัพไทยนั้นเคยเป็นพลังก้าวหน้าที่สำคัญอันหนึ่งในสังคมไทย ย้อนกลับไปอ่านวารสารของกองทัพและกระทรวงกลาโหมรุ่นเก่าๆ ตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ๆ ดูก็ได้ นายทหารต่างๆ ได้เขียนบทความเกี่ยวกับความรู้ที่ทันสมัย หรือความเห็นที่ก้าวหน้าเสนอในวารสารหล่านั้น แต่ในที่สุดกองทัพกลับถูกทำด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของกองทัพเอง ให้กลับกลายเป็นพลังฝ่ายบู๊ของอนุรักษ์นิยมไทยไปอย่างกู่ไม่กลับ

นี่เป็นความสำเร็จที่ใหญ่มากนะครับ ถ้าคิดถึงการรุกการถอยให้ได้จังหวะของผู้นำอนุรักษ์นิยม ในการค่อยๆ ดึงเอากองทัพมาเป็นพวก

หรือหลังการปฏิวัติ 2475 ฝ่ายอนุรักษ์นิยมซึ่งเพิ่งเสียอำนาจให้แก่ฝ่ายประชาธิปไตย แต่ก็สามารถพลิกกลับมาเป็นฝ่ายประชาธิปไตยในความเห็นของ"ผู้ดู"ได้ ในขณะที่ฝ่ายคณะราษฎรถูกทำให้กลายเป็นฝ่ายปฏิปักษ์ของประชาธิปไตยไปฉิบ

ทั้งนี้ยังไม่พูดถึงการสร้างความรู้หรือเนื้อหาของ"ความเป็นไทย"และชาตินิยมให้ประกอบด้วยเนื้อหาของฝ่ายอนุรักษ์นิยมโดยสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ชาตินิยมนั่นแหละเป็นอุดมการณ์สำคัญที่ทำให้ผู้คนหลากหลายกลุ่มสามารถร่วมมือกันในการโค่นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ลงได้ แต่ชาตินิยมไทยหลังจากนั้นไม่มีเชื้อของประชาธิปไตยเหลืออยู่เลย กลับกลายเป็นชาตินิยมของทหารและชาตินิยมของอนุรักษ์นิยมเท่านั้น

อย่างนี้ไม่มีกึ๋น ทำไม่ได้หรอก

แต่กึ๋นอย่างนั้นกำลังสิ้นสลายลงในหมู่อนุรักษ์นิยมไทยเสียแล้ว ผมไม่ปฏิเสธว่าสังคมไทยได้เปลี่ยนไปมาก เช่นข่าวสารข้อมูลเข้าถึงได้ง่าย และกว้างขวาง ทำให้ควบคุมการรับรู้ได้ยากขึ้น แต่สิ่งที่อนุรักษ์นิยมรุ่นที่ผมยังเรียนหนังสือเขาทำก็คือ เขาไม่คอยคุมข้อมูลข่าวสารเพียงอย่างเดียวหรอกครับ เพราะถึงอย่างไรมันก็เล็ดลอดมาถึงผู้คนได้บ้าง แต่เขาคุมระดับกระบวนทรรศน์ต่างหาก คือถึงไปรับรู้ข่าวสารข้อมูลจากอีกมุมหนึ่งอย่างไร ก็ยังอ่านมันในความหมายเดิมอยู่นั่นเอง

ผมไม่เห็นอนุรักษ์นิยมไทยปัจจุบันพยายามเข้าไปคุมกระบวนทรรศน์ เช่นกระบวนทรรศน์ว่าเมืองไทยเป็นข้อยกเว้น ทฤษฎีข้อยกเว้น (exceptionalism) ดำรงอยู่ได้ยาก หากไม่มีการศึกษาอย่างละเอียดเพื่อทำให้ยอมรับลักษณะเฉพาะบางอย่างที่ไม่อาจพบได้ในสังคมอื่น เราจะสนับสนุนทฤษฎีข้อยกเว้นด้วยข้อเท็จจริงพื้นๆ ที่มีในอีกหลายสังคมไม่ได้หรอกครับ

ถ้าจุฬาฯ ไม่ปกป้องอุดมการณ์อนุรักษ์นิยมด้วยกึ๋น ก็ไม่มีทางจะปกป้องเอาไว้ได้อย่างเดิม อย่าลืมว่าจุฬาฯ สมัยนี้ต่างจากสมัยผมเรียนอย่างมาก เพราะจุฬาฯ ได้สูญเสียอำนาจผูกขาดไปหลายอย่างแล้ว สมัยผมใกล้จบ ไม่เคยมีความวิตกอย่างไรว่าจะหางานทำไม่ได้ เพียงแต่จะได้ทำงานที่พอใจมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น จุฬาฯ ไม่ได้ผูกขาดความรู้ทางวิชาการอย่างสมัยนั้นเสียแล้ว จะพูดถึงวรรณคดีไทยระดับสูงเพียงคนเดียวไม่ได้ เพราะที่ไหนๆ เขาก็ศึกษาและสอนวรรณคดีไทยระดับสูงกันทั้งนั้น

ถ้าอนุรักษ์นิยมไทยปัจจุบันไม่มีกึ๋นเสียแล้ว พวกเขาจะรักษาอำนาจทางอุดมการณ์ของอนุรักษ์นิยมอย่างไร คำตอบก็อย่างที่เห็นๆ นะครับ พละกำลังไงครับ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความชอบธรรมเสียด้วย

ความไม่มีกึ๋นของอนุรักษ์นิยมไทย จึงหมายถึงความรุนแรง, การกดขี่บีฑาอย่างออกหน้า, พละกำลังคือธรรม, กฎหมายคือกฎกู, ฯลฯ ทางเลือกโดยสันติของฝ่ายปฏิปักษ์อนุรักษ์นิยมกำลังถูกปิดตาย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net