Skip to main content
sharethis

วงจุฬาฯ เสวนาเผยปัจจัยทางการเมือง ศาสนา ประวัติศาสตร์ กฎหมายที่ซับซ้อนในประเด็นชาวโรฮิงญา เปิดสี่เงื่อนปมซับซ้อนวิกฤติการณ์โรฮิงญา วอนพม่าตระหนักศีลธรรม จริยธรรมให้สมกับมีเจดีย์นับพันนับหมื่น เล่าความสัมพันธ์พุทธ-มุสลิมที่หายไปผ่านสายตานักวิจัยที่ลงพื้นที่พม่าหลังพบว่ามุสลิมถูกทำให้ไม่มีตัวตน

13 ก.ย. 2560 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 9 เรื่อง “โรฮิงญา: เรื่องที่ใกล้ตัวกว่าที่คิด” โดยมี รศ.สุเนตร ชุตินธรานนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์พม่า ผศ.นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และ ผอ.ศูนย์วิจัยการย้ายถิ่นแห่งเอเชีย จุฬาฯ ธานินทร์ สาลาม จากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อณัส อมาตยกุล จากภาควิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นวิทยากร ดำเนินรายการโดย จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ ผอ.ศูนย์เอเชียใต้ศึกษาสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาฯ

เงื่อนไขการเมืองเลือกตั้ง อำนาจทหาร กลุ่มชาติพันธุ์ทำพรรครัฐบาลขยับยาก แต่รับคำด่าเต็มๆ โลกลืมตั้งคำถามกับกองทัพ กลุ่มพุทธหัวรุนแรง

นฤมล ทับจุมพล

นฤมล กล่าวว่า สิ่งที่พบในกรณีโรฮิงญาในบริบทการเมืองพม่าสมัยใหม่คือ หนึ่ง คำอธิบายของการให้หรือไม่ให้สิทธิพลเมืองสัมพันธ์กับเรื่องคะแนนเสียงการเลือกตั้ง เราจะเห็นว่าคนโรฮิงญาในสมัยนายพลอูนุเคยได้รับสิทธิ์เลือกตั้ง จึงเป็นการถกเถียงแรกเลยว่าเขาควรเป็นพลเมืองหรือไม่ แล้วหลังมีกฎหมายสัญชาติสมัยนายพลเนวินที่อธิบายว่าคนที่เป็นพลเมืองคือคนที่อยู่มาก่อนสมัยสงครามพระเจ้ามินดงครั้งที่ 1 ซึ่งจะเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์บาดแผลที่อธิบายว่าชาวโรฮิงญามาทีหลัง ไม่ใช่หนึ่งในเจ็ดรัฐชาติพันธุ์ ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็อีกเรื่อง สอง การเมืองเลือกตั้งในพม่า ถ้าพูดถึงคะแนนเสียง จะเห็นว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยหรือ NLD ได้ 364 ที่นั่งแบ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 238 ที่นั่ง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 126 ที่นั่ง รองมาคือพรรคของทหารชื่อพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ของอดีตประธานาธิบดีเต็งเส่ง ได้ ส.ส. 28 ที่นั่ง และได้ ส.ว. 12 ที่นั่ง อันดับสามคือพรรคฉาน ส.ส. 12 ที่นั่ง ส.ว. 3 ที่นั่ง พรรคที่ 4 คือพรรคอาระกันเนชั่น ส.ส. 7 ที่นั่ง ส.ว. 7 ที่นั่ง ที่เหลือก็เป็นพรรครองได้กันไปเล็กๆ น้อยๆ พรรคฉิ่น คะฉิ่น โกกั้ง เป็นต้น แล้วทีนี้พอพรรคยะไข่แห่งชาติที่ไม่รู้สึกว่าโรฮิงญาเป็นพลเมืองและเป็นฐานคะแนนเสียงของเขา คนที่เป็นฐานคะแนนเสียงเขามีแค่ยะไข่พุทธหรือชาวมุสลิมที่เรียกกว่ากะมันที่อยู่ในรัฐยะไข่

โรฮิงญาในบริบทการเมืองพม่านั้นซับซ้อน ยิ่งถ้าเถียงกันในบริบทรัฐบาลในระบบการเมืองเลือกตั้ง ท่าทีของรัฐบาลพม่าตั้งแต่รัฐบาลเต็งเส่ง และอองซานซูจี ในชุดการบริหารของประธานาธิบดีทีนจอ ท่าทีมีลักษณะต่างกันแต่เกือบจะคล้ายกัน ในช่วงของนายพลเต็งเส่ง มีสิ่งที่เรียกว่าการไม่อนุญาตให้เดินทางข้ามเมือง และก่อนจะมีการเลือกตั้งปี 2558 มีการเปิดสำรวจจำนวนประชากรให้ชาวพม่ามาจดทะเบียนเพื่อใช้ประกอบในแง่การใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ในเดือน เม.ย. 2014 คนโรฮิงญา ตอนนั้นก็มีชาวโรฮิงญาบอกว่าตนเองเป็นชาวโรฮิงญา ไม่ใช่เบงกาลี ไม่ใช่ผู้อพยพ ทำให้คณะกรรมการต้องแขวนเรื่องนี้ไว้เพราะไม่มีกฎหมายรับรองสถานะของชาวโรฮิงญา ทำให้ชาวโรฮิงญาขณะนั้นไม่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ซึ่งถ้ามีเสียงก็ไม่รู้ว่าจะทำให้พรรคโรฮิงญาได้ที่นั่งในสภาหรือเปล่า แต่โจทย์ที่เกิดขึ้นคือพรรคแห่งชาติอาระกันก็เป็นพรรคที่กุมคะแนนเสียงท้องถิ่น มีที่นั่งในสภาสูงและสภาล่าง และมีความเป็นชาตินิยมแบบยะไข่พุทธ ประเด็นปัญหาโรฮิงญาที่พบคือ เขาถูกกีดกันออกไปตั้งแต่ต้น เป็นคนชายขอบไป ไม่ได้อยู่ในบริบทการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แม้พรรค NLD จะได้เสียงถึง 364 ที่นั่ง แต่ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งก็ห้ามไม่ให้ผู้สมัครประกาศว่าตัวเองเป็นมุสลิม เป็นเรื่องการเมืองศาสนา ไม่ใช่เรื่องโรฮิงญา หลังเลือกตั้งไม่นาน ที่ปรึกษาทางกฎหมายของพรรค NLD ที่เป็นชาวมุสลิมก็ถูกยิงตายที่สนามบิน ผู้สมัครของพรรค NLD ที่เป็นมุสลิมก็ถูกคุกคาม ถูกทำร้าย โจทย์ยากของ NLD ก็คือความพยายามไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างพุทธและมุสลิม และพยายามไม่เอาประเด็นโรฮิงญามาเป็นประเด็นทางศาสนา อย่าลืมว่าพม่ามีทั้งพุทธ คริสต์ มุสลิม และฮินดู

เราจะเห็นได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากผลการเลือกตั้ง ในช่วงก่อนปี 2015 ท่าทีของรัฐบาลพม่าในยุคนายพลเต็งเส่งก็ไม่มีท่าทีเป็นมิตรกับชาวโรฮิงญา มีการใช้กำลังปราบปราม มีการออกกฎหมายการขออนุญาตกับทางการถ้าชาวพุทธจะแต่งงานกับมุสลิม แต่สิ่งที่เป็นรากของปัญหาก่อนมาถึงรัฐบาลซูจีตอนนั้น แล้วกฎหมายก็ผ่านในยุคเต็งเส่งและถูกใช้ในปัจจุบัน

แล้วภายใต้การเมืองพม่าแบบนี้ เราจะคาดหวังให้รัฐบาลซูจี ในรัฐธรรมนูญพม่าบอกว่า เขาคุมกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงชายแดนไม่ได้ เวลาจะลงพื้นที่แบบพวกเราขอวีซา ถ้าเป็นพื้นที่รัฐชาติพันธุ์มันไม่ใช่ตกลงกันที่รัฐบาลซูจีและกระทรวงต่างประเทศอย่างเดียว แต่กองทัพต้องมีเสียงด้วย ดังนั้นพรรค NLD ไม่ได้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จอย่างที่พวกเราคิด ซูจีมีเพียงฐานมวลชนจำนวนมาก คำถามคือ มวลชนพม่าและกลุ่มอื่นๆ คิดอย่างไรกับชาวโรฮิงญา อาจจะมีแบบที่ไม่ตระหนักและเชื่อฟังประวัติศาสตร์แบบเรียนตั้งแต่สมัยก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาจมีบางส่วนที่ไม่คิดอะไร หรือบางส่วนก็มองประเด็นหน่อยแต่มีบาดแผลเรื่องอาณานิคม โรฮิงญาในบริบทการเมืองพม่าจึงไม่ง่ายที่จะแก้ปัญหา

ประชาสังคม พุทธสายกลางอ่อนแอไม่เข้าใจปัญหา ชาติพันธุ์เสรีไม่มีโรฮิงญาในสมการ แนะ แก้ปัญหามนุษยธรรม ให้โรฮิงญาอยู่ในพม่าได้ก่อน สถานะมาทีหลัง

อาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวถึงประเด็นภาคประชาสังคมว่า ทำไมประชาสังคมถึงไม่ทำให้เรื่องโรฮิงญาเป็นที่ปรากฎ ประชาสังคมในพื้นที่สาธารณะไม่ได้ก้าวหน้าเสมอไป มีทั้งที่ก้าวหน้าและไม่ก้าวหน้า มีทั้งกลุ่มชาตินิยมและไม่ชาตินิยม เช่นกลุ่มพุทธ กลุ่มศาสนา ใ่นปี 2007 กลุ่มศาสนาที่ก้าวหน้า คืออูคำวีระก็ถูกจับสึกตั้งแต่ปี 2007 ตอนนี้ก็เป็นพระวีระทูที่เป็นชาตินิยมมากออกมามีบทบาท ประชาสังคมฝ่ายก้าวหน้าที่พอจะผลักดันเรื่องนี้ให้ไปไกลกว่าประเด็นพุทธ-มุสลิมก็ถูกลดบทบาทไปแล้ว

ดิฉันคิดว่าประชาสังคมกลุ่มอื่นไม่เข้าใจปัญหาโรฮิงญา คิดว่าเป็นภัยหรือไม่ใช่พวกเรา มีลักษณะเป็นอื่น ไปจนถึงมองว่าเป็นคนในประเทศแต่เป็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่มานาน ไม่ใช่พลเมือง โอกาสที่จะทำให้ประชาสังคมมองโรฮิงญาว่าเป็นพลเมืองยังคงต้องใช้เวลา แม้แต่กลุ่มนักศึกษา 88 generation ก็ยังไม่มีการเรียกโรฮิงญาว่าโรฮิงญาเลย เพราะพวกเขาก็อยู่ในบริบทของประวัติศาสตร์ต่อสู้กับอาณานิคม และกลุ่มที่มีโอกาสก้าวหน้าที่ยอมรับประเด็นพหุวัฒนธรรมก็ยังไม่มีพื้นที่ในพม่า และ่ยังคงเป็นโจทย์ที่พรรค NLD ยังไม่สามารถหาทางออกได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถนำมาซึ่งการอยู่ร่วมกันและนำพาเศรษฐกิจไปได้ ถ้าพวกเขาทำไม่สำเร็จ พรรค USDP และกองทัพก็จะกลับมา ตอนนี้กระแสต่างประเทศดิฉันไม่เห็นว่าจะมีการกดดันนายพลเม็งอองลายและกองทัพพม่า แต่กดดันคนที่กดดันได้ ก็คือพรรครัฐบาล และไม่มีคนตั้งคำถามกับภาคประชาสังคม กลุ่มพุทธหัวรุนแรงในพม่า ซึ่งถือเป็นโจทย์ที่ซับซ้อน

ประเด็นชาติที่พันธุ์ที่ว่าทำไมรัฐชาติพันธุ์ที่เหลืออีก 7 รัฐไม่ว่าจะเป็นคะฉิ่น ฉิ่น ฉาน ไม่ออกมาช่วยโรฮิงญา สิ่งที่เป็นข้อสังเกตคือ รัฐชาติพันธุ์ต่างหากที่มีลักษณะเป็นชาตินิยมเกินปรกติ โจทย์ที่ต้องเถียงกันถ้าพม่ายอมรับสถานะโรฮิงญาก็คือเรื่องเอกสิทธิ์การปกครองตนเอง ยะไข่จะแบ่งพื้นที่ให้กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นไหมถ้าชาติพันธุ์ในยะไข่ยอมรับชาวโรฮิงญา ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างแสดงท่าทีเฉยๆ ไปจนถึงไม่เอาโรฮิงญา จึงเป็นการเมืองเรื่องชาติพันธุ์กับเอกสิทธิ์การปกครองตนเอง และโจทย์นี้ก็ไม่ได้เอาโรฮิงญาไปอยู่ในสมการของอิสระทางชาติพันธุ์

ต่อประเด็นว่า เราในฐานะคนนอกจะเอาอย่างไรดี หรือจริงๆ วิกฤติโรฮิงญาเป็นวิกฤติที่ซับซ้อนไปกว่าเรื่องมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน วิกฤติโรฮิงญาสะท้อนว่าเราจะรับมือรัฐบาลที่ค่อนข้างอ่อนแอ ไม่สามารถควบคุมองคาพยพของระบบราชการในประเทศ ไม่สามารถคุยกับภาคธุรกิจได้เต็มที่ได้อย่างไร เราอาจสร้างข้อโต้แย้งว่าอย่างน้อยที่สุดในเชิงมนุษยธรรม ไม่ว่าเขาจะเป็นหรือไม่เป็นพลเมืองในฐานะมนุษย์ เขามีสิทธิ์ที่จะอยู่บนแผ่นดินพม่า แต่จะอยู่กันอย่างไรก็ค่อยไปเถียงกันอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าทำแบบนี้อาจจะลดความร้อนแรงของการถกเถียง ประเด็นที่สองที่ต้องระวังคือ อย่าทำให้ประเด็นโรฮิงญาเป็นประเด็นวิกฤติศาสนา เพราะจะทำให้ปัญหาในพม่าหนักขึ้นมากเนื่องจากกลุ่มมุสลิมในพม่านั้นมีหลายกลุ่ม

ประเด็นที่สาม ท่าทีอาเซียนก็มีการปรับหลายเรื่อง เช่น มีความพยายามในการออกมาพูดเรื่องโรฮิงญา แต่ก็ต้องยอมรับความจริงว่ารัฐบาลที่ออกมาพูดก็ไม่ได้ออกมารับผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเลย ยกเว้นรัฐบาลท้องถิ่นของอาเจะห์ สิ่งที่อาเซียนต้องทำคือจะแบ่งการช่วยเหลือ จัดการทางมนุษยธรรมอย่างไร และประเด็นนี้อาจจะไม่ได้จำกัดอยู่ในอาเซียน แต่อาจจะต้องเป็นปัญหาที่ต้องคุยกันในพื้นที่เอเชียใต้คืออินเดียและบังคลาเทศด้วย สิ่งที่ทำได้คือมองเรื่องนี้จากรอบด้านแล้วมองวิธีแก้ปัญหา การด่าและวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ทำอย่างไรให้กลุ่มที่ต้องการหาทางออกมีพื้นที่ต่อรองต่างหาก ในวงวิชาการและกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐ ในเมื่อรัฐขยับตัวลำบาก ภาคประชาสังคมและวิชาการน่าจะขยับตัวลงไปผลักดันประเด็นเรื่องนี้ และพยายามไม่ทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นเรื่องเสียหน้าหรือไม่เสียหน้า อาจจะต้องไปอย่างอ่อนน้อมถ่อมตนเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลงได้

นฤมลได้ตอบคำถามผู้เข้าร่วมเสวนาในประเด็นบทบาทของไทยที่ทำได้ในประเด็นโรฮิงญาว่า รัฐบาลไทยค่อนข้างเก่งในการเจรจาการทูตหลังม่าน (Shadow Diplomacy) ซึ่งแน่นอนว่าคงต้องมีการพูดคุยกับกองทัพพม่าด้วยฐานะของกองทัพ ไม่ใช่รัฐบาล แต่ในนามรัฐบาล คิดว่าจะต้องเอารายงานที่โคฟี อันนันกับคณะที่ปรึกษาประเด็นรัฐยะไข่เสนอไว้ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ปะทะกันครั้งล่าสุดขึ้นมาพูด เพราะเป็นสิ่งที่ผ่านรัฐสภาของพม่าไปแล้วแต่ยังไม่ได้ทำอะไรเพราะมาตีกันก่อน เราอาจผลักดันประเด็นนี้อย่างเป็นทางการ สถานการณ์ในยะไข่ตอนนี้ไม่ได้มีแค่โรฮิงญาที่พลัดถิ่น ถ้าเราเข้าไปช่วยในลักษณะมนุษยธรรมก็ควรช่วยทุกกลุ่ม และเราควรสนับสนุนกลุ่มสายกลางในพม่าที่เชียร์การเกิดการพูดคุยข้ามศาสนาเช่นกลุ่ม 88 เจเนอเรชัน ควรสนับสนุนกลุ่มภายในให้เขาทำงานได้ ทั้งควรจะเปิดพื้นที่ให้การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเข้าไปได้หรือไม่ เพราะตอนนี้พื้นที่ถูกปิดหมด อย่าเพิ่งพูดคุยเรื่องการแก้ไขทางการเมือง ในแง่นี้แล้วอาเซียนจะเข้าไปเสนอแบบไหนทั้งในระดับการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่ทำให้ดูเป็นการช่วยเหลือทุกฝ่าย ซึ่งในฐานะอาเซียนอาจพูดได้ง่ายกว่ายูเอ็น และไทยอาจจะพอมีเงื่อนไขที่พูดได้มากที่สุด

กฎหมายอิงประวัติศาสตร์ทำโรฮิงญาไร้ตัวตน เปิดสี่เงื่อนปมซับซ้อนประเด็นโรฮิงญา วอนพม่าตระหนักศีลธรรม จริยธรรมให้สมกับมีเจดีย์นับพันนับหมื่น

สุเนตร ชุตินธรานนท์

สุเมธ กล่าวว่า ในการรับรู้และเข้าใจปัญหาโรฮิงญา ความสนใจส่วนใหญ่ทั้งในไทยและต่างประเทศเป็นกรณีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการมองจากมุมของคนนอกมองเข้าไปในพม่า ประเด็นที่สองที่คู่ขนานมาคือเรื่องของการวางตัวของอองซานซูจีที่เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ แต่ก็เป็นอดีตผู้ได้รับรางวับโนเบลสาขาสันติภาพ ทำให้แรงกดดันลงไปที่อองซานซูจีสูงมากอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน การกระทำการของกองทัพพม่าต่อโรฮิงญาอย่างเลยเถิด จึงเป็นเรื่องที่อองซานซูจีต้องวางจุดยืน การมองจากภายนอกก็ไม่ผิด เพียงแต่ว่าการมองปัญหานี้ จะต้องมองปัญหาให้รอบด้านกว่านี้ถ้าเราอยากแก้ปัญหา การมองปัญหาให้รอบด้านกว่านี้คือต้องมองทั้งปัญหาทั้งจากภายนอกและภายใน

มิติภายในพม่า ปัญหาโรฮิงญาเมื่อย้อนไปปี 2012-2013 เป็นปีที่มีการอพยพของโรฮิงญาเรือนแสนเข้าไปในบังคลาเทศ และปี 2016 ที่ีมีการฆ่าชาวโรฮิงญา ที่บางคนใช้คำแรงไปถึงคำว่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ปัญหาความขัดแย้งและปัญหาโรฮิงญาเป็นปัญหาที่มีมาช้านานในพม่า แต่ที่เราไม่ได้ข้อมูลเป็นเพราะช่วงนั้นพม่าปิดประเทศ ในช่วงนั้นข้อมูลข่าวสารไม่ได้เปิดกว้าง แต่ความรุนแรงในยุคก่อนหน้าก็อยู่ในระดับพอๆ กัน

ปัญหาใหญ่ของโรฮิงญา หนึ่ง ประวัติศาสตร์บาดแผล ซึ่งสิ่งสำคัญคือสถานะของชาวโรฮิงญาที่เป็นที่ถกเถียงกัน และสัมพันธ์อย่างยิ่งกับท่าทีรัฐบาลพม่าต่อโรฮิงญา เรื่องนี้มีแนวคิดต่อประเด็นต้นตอของชาวโรฮิงญาอยู่ 2 ขั้ว ในทางหนึ่ง ถ้ามองจากภาครัฐบาลหรือผู้ต่อต้านโรฮิงญาในพม่าจะมองว่าโรฮิงญาไม่ใช่คนพื้นถิ่นในพม่าเหมือนกับชาวพม่าหรือชนกลุ่มน้อยกลุ่มอื่น มองว่าเขาเป็นคนที่เข้ามาหลังปี 1827 และจะเรียกพวกนี้ว่าเบงกาลี พอเรียกแบบนี้ก็เลยมาต่อที่การกำหนดสถานะว่าเขาเป็นคนนอก และตามมาด้วยกฎหมายที่ควบคุมสถานะดังกล่าว เช่นกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมแห่งสหภาพพม่า (Constitution of Socialist Republic of Union of Burma) ในปี 1974 เป็นปัญหาแรกที่ชาวโรฮิงญาในพม่าไม่สามารถถือบัตรประจำตัวประชาชนได้เลย และกฎหมายที่ตามมาอีกครั้งคือกฎหมายสัญชาติพม่าเมื่อปี 1982 ถือเป็นการปิดสถานะสัญชาติโรฮิงญาไปเลย สร้างความลำบากอย่างยิ่งใหญ่ในการดำรงอยู่ของชาวโรฮิงญา ซึ่งแนวคิดนี้เป็นกระแสที่คนส่วนใหญ่ในพม่าเชื่อถือ ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไรก็เป็นอีกเรื่อง เพราะชาวโรฮิงญาและนักวิชาการต่างชาติก็มีข้อมูลอีกชุดว่า แท้จริงคำว่าโรฮิงญามีใช้มานานแล้ว บ้างก็อาจจะอ้างไปที่คริสศตวรรษที่ 18 ไปจนถึงคริสตศตวรรษที่ 7-8 แต่ต้องเข้าใจว่าการขยายตัวของศาสนาอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มอย่างช้าก็คริสตศตวรรษที่ 13 และขยายเข้ามาทั้งในแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ ในขณะเดียวกันการเคลื่อนย้ายของประชากรก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติที่จะมีชาวเบงกอลหรือชาวพุทธเข้าไปในบังคลาเทศ ปี 1974 ที่ถูกเอามาเป็นเพดานกำหนด อีกฝ่ายหนึ่งก็มีหลักฐานหลายชุดที่ออกมาปฏิเสธว่าชาวโรฮิงญาอยู่มาก่อนแล้ว แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของชาวโรฮิงญาที่จะกำหนดว่าเขาได้รับสิทธิ์การเป็นพลเมือง ซึ่งในพม่าจะต้องสู้กันหลายศาลเพราะมีข้อบังคับหลายอย่างที่ออกมาโดยจงใจที่บอกว่าอันนี้ไม่ใช่คนพื้นเมืองเดิมของพม่า

โดยปรกติเดิมที คนอาระกัน หรือที่เรียกกว่ายะไข่พุทธ อาระกันพุทธ ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นชาวพม่า แม้รากภาษายะไข่เป็นรากภาษาเดียวกับพม่า เพียงแต่การพูด การออกเสียงจะเร็วกว่า แต่ก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นชาวพม่า มันมีการแยกกันอย่างซับซ้อน และรัฐอำนาจพม่าที่ส่วนกลางก็ไม่เคยรวมอาระกันได้มาก่อน จนรัชกาลพระเจ้าปดุงที่ส่งราชโอรสไปตีเมืองหลวงของอาระกันได้ มีการกวาดต้อนผู้คน และรวมถึงเจ้านายต่างๆ และพระมหามัยมุนีกลับมาพม่าได้ ตอนนั้นก็มีชาวมุสลิมหลายหมื่นคนหนีไปที่บังคลาเทศ แต่ผลจากที่พม่ายึดครองอาระกัน ทำให้พม่าเกิดการกระทบกระเทือนกับอาณานิคมอังกฤษที่มีพรมแดนเชื่อมต่อกับราชสำนักพม่าซึ่งเดิมทีมีอาระกันเป็นรัฐกันชน จึงทำให้เกิดกระทบกระทั่งกัน เกิดเป็นสงคราม First Anglo Burmese War ระหว่างปี 1824-1826 ทำให้เกิดสนธิสัญญายันดาโบที่มีผลให้รัฐอาระกันทั้งก้อนหลุดไปเป็นสมบัติของอาณานิคมอังกฤษ เป็นก้อนเดียวกับอินเดียและบังคลาเทศ ตรงนี้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายประชากรระหว่างอาระกันและบังคลาเทศ ซึ่งเข้ามามากช่วงต้นคริสตศตวรรษที่ 20 เมื่ออังกฤษต้องการใช้แรงงานแขกที่มีหลายหมู่เหล่า แต่ส่วนมากเป็นมุสลิมที่ถูกเอามาใช้เป็นแรงงานในท่าเรือและใ้นภาคการเกษตร แล้วจินตนาการดูว่าใครจะไปรู้ได้ว่าโรฮิงญาคนไหนเข้ามาก่อนหรือหลัง 1824 แต่รัฐบาลพม่าเหมาทั้งหมดว่าเข้ามาก่อนปี 1824

เรื่องที่จะเป็นเรื่องใหญ่เกิดขึ้นเมื่อญี่ปุ่นเข้ามาเมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษใช้กำลังของโรฮิงญารบกับญี่ปุ่น ในขณะที่ผู้นำที่ปลดแอกพม่ากลับไปเข้ากับญี่ปุ่น จึงมีพื้นที่รบกันระหว่างผู้นำพม่ากับชาวโรฮิงญา พออังกฤษเริ่มถอยไปจากพื้นที่นี้ก็ได้ให้อาวุธกับโรฮิงญาจำนวนมากเพื่อหวังจะให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่กันชนระหว่างตนกับญี่ปุ่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็มีปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการแยกประเทศขึ้นทั่วโลก กลุ่มโรฮิงญาเองก็มีปรากฏในช่วงนั้น ซึ่งการแบ่งแยกดินแดนไปตั้งรัฐเองนั้นถือเป็นเรื่องสุดท้ายที่พม่าจะยอมได้ กลุ่มที่เคลื่อนไหวของชาวโรฮิงญาเป็นชาวมุสลิม ใช้ชื่อว่ามุจาฮีดีน ทำให้มีความรุนแรงขึ้นตั้งแต่ปี 1937

ในช่วงแรกๆ พม่าให้พื้นที่กับชาวโรฮิงญาพอสมควร มีการให้สิทธิ เสรีภาพ กระทั่งให้ตั้งสถานีวิทยุ แต่พอพม่าเปลี่ยนแปลงการปกครองซึ่งนำโดยนายพลเนวิน ก็ไม่ได้รับนโยบายนั้นต่อมาจากนายพลอูนุ และใช้ปฏิบัติทางทหารการกวาดล้างชาวโรฮิงญาโดยใช้ข้ออ้างว่าเพื่อกวาดล้างกลุ่มก่อความไม่สงบในรัฐยะไข่ ทำให้คนเรือนแสนอพยพเข้าไปในบังคลาเทศ แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้เป็นที่รู้กันอย่างแพร่หลาย

ประวัติศาสตร์บาดแผลเป็นเรื่องที่รัฐบาลและชาวพม่ายกมาอ้างเพื่อแยกชาวโรฮิงญาจากชนกลุ่มน้อยอื่นๆ เพราะมีประเด็นการต่อสู้และความขัดแย้งมา ผมมองว่าในพม่ามี 4 กลุ่มที่สัมพันธ์กับเรื่องนี้

หนึ่ง พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของอองซานซูจี ที่อย่างไรเสียปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยาก เพราะตนเองเป็นรัฐบาลด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ แต่อองซานซูจีตระหนักถึงความละเอียดอ่อนของปัญหานี้มาก ตั้งแต่ช่วงหาเสียงก็มีคำถามอยู่ 1 คำถามที่เธอห้ามนักข่าวถาม คือคำถามเรื่องโรฮิงญา จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ตอบคำถามนี้จนกระทั่งประชาคมนานาชาติออกมาตั้งคำถามกดดัน

สอง กองทัพ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับโรฮิงญามานานแล้ว ตอนนี้กองทัพก็เป็นพรรค USDP จึงถือเป็นพรรคการเมืองที่แข่งขันกับพรรค NLD ซึ่งทั้งสองก็หวังเสียงสนับสนุนจากชาวพม่าซึ่งร้อยละ 90 เป็นชาวพุทธ ถ้าทั้งสองไปสนับสนุนโรฮิงญาก็จะทำให้ชาวพม่าไม่พอใจ จะทำให้เสียคะแนนเสียง ในขณะที่ตัวแปรสำคัญคือพรรคการเมืองภายในอาระกัน คือพรรคสันนิบาติอาระกันแห่งประชาธิปไตยหรือ Arakan League of Democracy ซึ่งเป็นพรรคพุทธหัวรุนแรง ที่มีฐานในการต่อต้านโรฮิงญาอยุ่แล้วจนมาเปลี่ยนเป็นพรรค RNDP ในปี 2010 แต่ก็ไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่เพราะมีเป้าหมายผลักดันโรฮิงญาให้ไปอยู่บังคลาเทศทั้งหมด หรือไม่ก็เอาไปอยู่ในค่ายกักกัน ซึ่งพรรคนี้ไดรับเลือกตั้ง ทำให้พรรค NLD ต้องให้ความสำคัญกับพรรคดังกล่าว จึงเป็นเหตุผลที่ทำไมอองซานซูจีวางตนเองภายใต้ปัญหานี้ยากมาก

สาม ในประเด็นศาสนา กลุ่มพุทธชาตินิยมขบวนการ 969 สัมพันธ์กับ NLD กลุ่มพุทธสุดโต่ง มะบะต๊ะ ก็สัมพันธ์กับพรรค USDP เราจึงเห็นเจ้าหน้าที่รัฐและคนของกลุ่มเหล่านี้ทำงานร่วมกันในการเข้าโจมตีชาวโรฮิงญา

สี่ ปัญหาเรื่องชาติพันธุ์และสีผิว ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ด้วย ชาวโรฮิงญาที่ถูกแยกออกจากชาวพม่ามีภาษาและสีผิวต่างกันชัดเจน แถมศาสนาก็ยังแตกต่างกันไปด้วย พอเป็นปัญหาแบบนี้แล้วรัฐก็วางตัวยากบนคำถามที่ว่าตนอยากได้คะแนนนิยมจากใคร ท้ายที่สุด เราเห็นภาพของการร่วมมือกันที่โดยพื้นฐานไม่ถูกกัน แต่มาตะลุมบอนชาวโรฮิงญา ไม่ว่าจะเป็นกองทัพ NLD มะบ๊ะต๊ะ พรรคการเมืองท้องถิ่นหรืออะไรก็ตามที พอเราจะเข้าไปแก้ไข รัฐบาลพม่าพยายามจะยืนกรานว่าปัญหานี้คือปัญหาภายในของฉัน คนอื่นอย่ามาเกี่ยว

สุเนตรตอบคำถามในประเด็นบทบาทที่รัฐบาลไทยจะทำได้ในวิกฤติโรฮิงญาครั้งนี้โดยระบุว่า การแสดงจุดยืนเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญาจากรัฐบาลจะมีผลกระทบในระดับประเทศ แต่การแสดงจุดยืนในระดับภูมิภาคตามแรงกดดันจากนานาประเทศจะค่อนข้างปลอดภัย เพราะปัญหาในพม่านั้นกำลังกลืนกลายเป็นปัญหาระดับภูมิภาคแล้ว เอาแค่จำนวนคนอพยพข้ามเข้ามา ยังไม่พูดถึงทีท่าประเทศมุสลิมที่มีต่อพม่า แต่ในภาคประชาชนผมอยากเห็นความร่วมมือมากไปกว่ากลุ่มชาวไทยมุสลิม และยกปัญหานี้เป็นปัญหาเชิงมนุษยธรรมที่เป็นปัญหาสากลที่ไม่ว่าเราจะอยู่ในศาสนาใดก็ตามทีคิดว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่ว่าเป็นคำสอนในศาสนาใด การใช้กำลังกวาดล้างอย่างนี้เป็นสิ่งไม่ถูก และเราอยากจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือด้วยคนจากหลายศาสนา

อณัส อมาตยกุล

อณัสได้ให้แง่มุมทางประวัติศาสตร์เพิ่มเติม โดยกล่าวว่า ตามประวัติศาสตร์ มุสลิมมาตั้งรกรากในยะไข่ รักษาปุรี จากนั้นโปรตุเกสที่เดินเรือเข้ามาใน คศ 16 ก็เรียกคำนี้เพี้ยนไป ในราชวงศ์มะระอู คศ 15 กษัตริย์มินซอมอน เสียอาณาจักรให้ราชาองค์อื่นในพื้นที่ที่ต่อมาเป็นรัฐพม่า พระองค์จึงหนีไปพึ่งสุลต่านเบงกอล พระองค์ก็ได้รับกองกำลังทหารมุสลิมจากเบงกอลกลับมาต่อสู้กอบกู้เอกราชได้ จึงยกพื้นที่บางส่วนให้สุลต่านเบงกอล ในเวลาต่อมาเมื่อปี 1785 กษัตริย์พม่าในราชวงศ์กอนบวงได้ยกทัพเข้าไปยึดครองอาระกัน ทำให้คนในยะไข่ต้องหนีไปยังจิตตะกอง แคว้นเบงกอลซึ่งตอนนั้นเป็นของอังกฤษแล้ว อันเป็นผลมาจากการฆ่าฟันและข่มขืนของทหารพม่า การอพยพทำให้ประชากรในพื้นที่ยะไข่เบาบางลงมาก เมื่ออังกฤษเข้ามายึดจึงพบว่าประชากรเบาบางและมีทรัพยากรธรรมชาติมาก จึงมีการนำชาวเบงกอลมาเป็นแรงงานและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง ซึ่งเป็นบาดแผลให้ชาวพม่าที่ยังคงโหยหาราชสำนักอยู่ อังกฤษเองก็มีกระบวนการสนับสนุนการอยู่ร่วมกันแต่ยังไม่ทันทำอะไรได้มากจนกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เกิดการปะทะกันระหว่างโรฮิงญาและชาวพม่าจากการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์จากอังกฤษและญี่ปุ่นตามลำดับ

สิ่งหนึ่งที่สังคมที่บริโภคข่าวสารเรื่องนี้ควรได้รับรู้วิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับสังคมไทยซึ่งยังเป็นสังคมที่ในระดับหนึ่งไม่ได้มีวิกฤิติขนาดนั้น ผู้คนอยู่ในดุลยภาพศีลธรรมที่น่าภูมิใจระดับหนึ่ง ประการต่อไป ประเด็นโรฮิงญา ถ้าไม่มองเป็นประเด็นศาสนาก็มองได้ แต่ก็ควรมองในประเด็นที่ชาวพม่าที่มีศาสนาควรดำรงอยู่ในดุลยภาพของธรรมมะ นักบวชก็ควรนำมวลชนออกไปจากการเบียดเบียนผู้อื่น ไม่เช่นนั้นพม่าจะล่มสลายในทางศีลธรรม เพราะทางปฏิบัติธรรมมะไม่ได้ซึมซับในตัวผู้คนที่ไม่มีแม้กระทั่งน้ำใจ

อณัสยังได้เสนอในตอนท้ายว่า ถ้าเราจะมีนโยบายปฏิบัติทางสังคมที่นอกจากการคุยกันทางการทูตที่สวยหรู ควรทำให้คนพม่ามีสติว่าจะตั้งรัฐที่มีคุณธรรมและจริยธรรมอย่างไร ให้เป็นแผ่นดินทองแผ่นดินธรรมจริงๆ สมกับที่มีเจดีย์นับพันนับหมื่น ไม่ใช่มีแต่วัตถุ แต่มีจิตใจและพฤติกรรมที่เป็นธรรมะเช่นเดียวกัน

เล่าความสัมพันธ์พุทธ-มุสลิมที่หายไปผ่านสายตานักวิจัยที่ลงพื้นที่พม่า อาระกันรุ่นใหม่กระแสเกลียดชังอ่อนลง หวังลดขัดแย้งแล้วพัฒนาเศรษฐกิจ จะทำงานกับรุ่นเก่าอย่างไรคือข้อท้าทาย

ธานินทร์ สาลาม

ธานินทร์ เล่าเรื่องราวที่ได้รับจากงานวิจัยที่เคยไปลงพื้นที่ในพม่ามาว่า จากย่างกุ้งเราเข้าไปที่ซิตเวก่อน เราไปเจอสภาพหนึ่งคือเข้าไปยากมาก ผมเข้าไปในฐานะนักท่องเที่ยว สิ่งหนึ่งที่เห็นคือมัสยิดใหญ่ๆ 2-3 ที่ถูกล้อมรั้วปิดกั้น ไม่มีชุมชนมัสยิดแล้ว เมืองซิตเวที่เป็นเมืองหลวงของรัฐอาระกัน ไม่มีชาวมุสลิมแม้แต่คนเดียว ผมอยู่ซิตเวเพื่อเก็บข้อมูลให้มากที่สุด จากนั้นไปที่เหมี่ยวอู ที่เป็นเมืองหลวงเดิมของรัฐอาระกันก็ไม่มีชาวมุสลิมในเมืองเลย ไม่มีมัสยิดในเขตเมืองสักหลัง จากนั้นก็ข้ามไปที่เขตชุมชนมองดอว โบชิดอง ก็เข้าไม่ได้เพราะรัฐบาลปิดไว้ด้วยเหตุผลว่ายังจัดการเรื่องภายในยังไม่เรียบร้อย

จากซิตเวไปเหมี่ยวอูใช้เวลาครึ่งวันเพื่อเดินทางบนแม่น้ำกลาดันที่ใหญ่กว่าแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณสองเท่า ผมเคยเอาภาพของเหมี่ยวอูไปให้เพื่อนโรฮิงญาดู เขาก็เล่าว่าบ้านเขาอยู่ที่นี่ตอนเด็กครอบครัวเป็นชาวประมง ตอนพ่อออกเรือก็เอาตนไปฝากกับเพื่อนชาวพุทธหรือที่เรียกว่าม็อก สะท้อนถึงสภาวะการอยู่ร่วมกัน แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว

เราเข้าไปในพิพิธภัณฑ์รัฐยะไข่ ซึ่งสร้างติดกับมัสยิดหลังใหญ่มาก ผมถามคนโรฮิงญาที่มาจากซิตเว เขาบอกว่าที่ดินที่สร้างก็เป็นที่ของมัสยิด ผมเข้าไปดูในพิพิธภัณฑ์ก็พบว่า ข้อความที่อ้างถึงหรือพูดถึงมุสลิมนั้นไม่มีเลย ต่อมาเรามาดูพื้นที่ใช้ชีวิตร่วมกันระหว่างชาวพุทธยะไข่กับพระและถามไถ่ถึงทัศนคติต่อมุสลิม อันหนึ่งที่น่ารับฟังคือ คนรุ่นใหม่ของยะไข่ที่เคยมาทำงานต่างประเทศเขาบอกว่าเขาไม่ชอบความขัดแย้งเพราะมันไม่เป็นผลดีเลยกับการพัฒนาประเทศ ยะไข่เป็นรัฐที่ยากจนเป็นอันดับต้นๆ ของพม่าและมันต้องใช้เศรษฐกิจในการพัฒนา คนรุ่นใหม่มีท่าทีประนีประนอมกับชาวโรฮิงญามากขึ้น แต่ก็ยังมีชุดความรู้ที่เกลียดชังชาวโรฮิงญาจากประวัติศาสตร์ในแบบเรียนอยู่ ผมไปถามชาวยะไข่อายุ 20 ปีคนหนึ่งพบว่าไม่เคยเจอ ไม่เคยมีเพื่อนชาวมุสลิม รู้จักชาวมุสลิมผ่านข่าวสารที่รัฐใส่มาเท่านั้น เพราะชาวมุสลิมถูกกันออกไปจากซิตเวแล้ว ไม่มีปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพและความรู้สึกใดๆ ระหว่างกันเลย ถ้าสิ่งนี้ยังคงอยู่ แล้วอนาคตมันจะปรองดองกันอย่างไร

เมื่อเข้าไปในค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศ  (IDP-Internally Displace People) แล้ว พบว่าผู้คนเรือนแสนจากหลายๆ ที่ ที่ค่ายในเมืองซิตเว เสียงของมุสลิมในแคมป์บอกว่า เขาก็อยู่กับคนยะไข่ได้เป็นอย่างดี แต่ไม่เข้าใจว่ารัฐบาลแยกเขาออกมาทำไม

ด้วยหมากการเมืองด้านการแบ่งแยกศาสนา ทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างสองกลุ่มศาสนาแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ชาวมุสลิมไม่มีส่วนร่วมทางการเมืองทุกรูปแบบ หลังจากที่ออกจากพม่าก็ไปสู่ปลายทางที่ประเทศหนึ่งคือมาเลเซีย ซึ่งมีชาวโรฮิงญาอยู่กันเรือนแสน ทั้งที่ลงทะเบียนและไม่ได้ลงทะเบียน ในมาเลเซียมีสมาคมชาวโรฮิงญาเยอะมาก

เวลาเราพูดถึงโรฮิงญา โดยความเป็นจริงของผู้คน อย่ามองว่าเป็นก้อนเดียวกัน แต่ในเชิงหลักการ โรฮิงญามีความหลากหลาย ในชั้นที่กว้างที่สุดแต่คลุมเครือที่สุดก็จะมองว่าเป็นโรฮิงญามุสลิมจากอาระกัน แต่พอเราบีบให้แคบเข้าก็จะเห็นว่าชาวมุสลิมโรฮิงญาจากอาระกันนั้นออกมาตั้งชุมชนตามเมือง และการเดินทางจากอาระกันมาจากมาเลเซียก็มีขั้นตอนมากมายที่ต้องพึ่งพาอาศัยคนที่ไว้ใจเท่านั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ชาวโรฮิงญาตั้งชุมชน ตั้งสมาคมของตนเอง ในอินโดนีเซีย อินโดนีเซียไม่ใช่พื้นที่ที่เขาจะไปใช้ชีวิตประกอบอาชีพ เพียงแต่เป็นพื้นที่พักก่อนจะไปที่ประเทศที่ 3 ในอาเจะห์ ผมไปทุกแคมป์ที่อาเจะห์พบว่าไม่มีที่ใดสบายเท่าที่นี่อีกแล้ว ในแคมป์มีมัสยิด มีสถานพัฒนาฝีมือแรงงาน มีโรงเรียนเลี้ยงเด็กและการซื้ออาหารสดให้ชาวโรฮิงญาปรุงเอง

ธานินทร์ได้ตอบคำถามผู้เข้าร่วมในประเด็นการช่วยเหลือจากต่างประเทศว่า ถ้าขยับเข้ามาในอาเซียน กลุ่มเอ็นจีโอที่เข้าไปช่วยเหลือมากที่สุดเป็นมาเลเซีย แต่มาเลเซียมีแบรนด์ที่เป็นมุสลิม คำถามมีอยู่ว่า ถ้าใ่นอาเซียนที่ไม่มีแบรนด์มุสลิมเช่น ลาว ไทย กัมพูชา สิงคโปร์ มันมีเงื่อนไขว่าอย่าช่วยแต่ชาวมุสลิม เพราะรัฐยะไข่นั้นจนกันทั้งหมดทั้งชาวยะไข่และมุสลิมทั้งด้านสุขภาพอนามัย การศึกษา อาหารการกินและเศรษฐกิจ ถ้าเราเข้าไปในองค์กรเป็นกลาง ลดความเป็นประเทศมุสลิมแล้วช่วยพัฒนาทั้งระบบก็จะเหมือนกับตอนที่ไปช่วยพายุนาร์กีซ ในเชิงนโยบายจึงต้องมองเป็นการเข้าไปช่วยความขัดสน จากการทำงานวิจัยพบว่าคนยะไข่และอาระกันรุ่นใหม่นั้นต้องการชีวิตที่ดีกว่า กลุ่มที่ฝังใจกับความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นั้นลดลง โจทย์จึงอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนสองกลุ่มนี้ทำงานร่วมกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net