Skip to main content
sharethis

นักวิชาการ ชี้เกิดความเหลี่ยมล้ำในการเข้าถึงโครงการ ‘ไร่ละ 1,000’ ระบุคนมีทรัพยากรมากกว่ามีอำนาจต่อรองสูง พบปัญหาการยืนยันสิทธิเกษตรกร เช่าที่นาต้องแบ่งเงินช่วยเหลือกับเจ้าของที่ครึ่งต่อครึ่ง ย้ำนโยบายแนวดิ่งขาดการส่วนร่วม แนะพัฒนาเทคนิคและเทคโนโลยี เปิดโอกาสการมีส่วนร่วม

เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาในหัวข้อเสวนาเรื่อง "ทิศทางข้าวและชาวนา หลังยุคจำนำข้าว" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน "รัฐศาสตร์เสวนา" ชุดไทยศึกษากับการเมืองและสังคมไทย โดยหนึ่งในวิทยากรผู้ร่วมเสวนาคือ ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมเชิงนโยบายข้าวของไทย ได้พูดเกี่ยวกับภาพรวมของนโยบายข้าวในรัฐบาลคสช. ชี้ให้เห็นถึงปัญหาและความไม่เท่าเทียมทางการเข้าถึงที่เกิดขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

การเข้าถึงโครงการช่วยเหลือ

ธนพันธ์ เริ่มจากการตั้งคำถามว่า ทุกรัฐบาลมักมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรทุกคน แต่เกษตรทุกคนเข้าถึงเท่ากันจริงหรือเปล่า จึงศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง Policy inequality หรือความไม่เท่าเทียมในเชิงนโยบาย เป็นผลการวิจัยจากการไปลงพื้นที่ค้นคว้าพูดคุย ซึ่งในที่นี้จะเน้นโครงการในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ลดต้นทุนการเพาะปลูก คือโครงการ “ไร่ละ 1,000” โดยให้เงินอุดหนุนเกษตรกรไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ดังนั้นเกษตรกรทุกคนจึงได้สูงสุดไม่เกินคนละ 10,000 บาท

ธนพันธ์ ระบุว่า โครงการไร่ละ 1,000 นั้น การจะได้เงินสนับสนุนต้องขึ้นทะเบียนเกษตร ต้องปลูกในพื้นที่เพื่อยืนยันว่าปลูกจริง ผู้ใหญ่บ้านจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวกลางระหว่างชาวบ้านกับการขึ้นทะเบียนทางราชการ จากการลงพื้นที่ใน 8 จังหวัด อีสาน กลาง ใต้ ช่วงระหว่างเดือนกันยายน 59 - กุมภาพันธ์ 60 ช่วงหน้าหนาว ฝน และเข้าหน้าร้อน หลายพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานปลูกข้าวได้ปีละหน บางที่สอง บางที่สามแต่มีไม่มาก มีทั้งปลูกแต่ข้าวอย่างเดียว และปลูกไร่นาส่วนผสม เพื่อให้มีตัวอย่างที่หลากหลาย

ธนพันธ์ กล่าวว่า เห็นความพยายามในการปลูกข้าวแบบอินทรีย์ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพสูงปลอดสารเคมีได้ราคาดีกว่า แต่มีปัญหา เช่น โรงสีชุมชุนสีได้น้อย ต้องไปสีในโรงสีที่ทันสมัยในพื้นที่ ซึ่งสีปนไปหมดระหว่างข้าวที่เป็นเคมีกับข้าวอินทรีย์ จึงขายได้ราคาไม่ดี และปัญหาคืออีกอย่างคือเรื่องการเพาะปลูก บางครั้งอยากปลูกแบบอินทรีย์แต่ถ้าแปลงติดกันไม่ปลูกก็ปลูกไม่ได้ เพราะเคมีปนในน้ำในดิน จึงพบว่ามีข้าวที่ได้มาตรฐาน GAP* แค่ 2 ที่

จากการวิจัยพบว่ามีแนวโน้มว่าเกษตรกรที่มีฐานะดีกว่า มีที่ดินเยอะกว่า จะมีสิทธิที่เข้าถึงนโยบายมากกว่าเกษตรกรที่มีฐานะยากจน หรือที่ต้องเช่าที่ดินทำกิน ความเหลื่อมล้ำมีทั้งจำใจต้องยอมรับกับอีกส่วนไม่ยอมรับแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งนี้ระดับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงนโยบาย ขึ้นอยู่กับความเอาใจใส่ของเจ้าหน้าที่ในการประเมินโครงการ ความสัมพันธ์ระหว่างคนในพื้นที่และระดับการเพาะปลูกเพื่อขายสู่ตลาด

ปัญหาที่พบ

1. การผูกขาดเชิงนโยบาย กล่าวคือ การนำนโยบายช่วยเหลือชาวนาไปปฏิบัติมีลักษณะ “แนวดิ่ง” ไม่ปรากฎว่ามีการแต่งตั้งเกษตรกรเข้าไปมีส่วนร่วมในคณะกรรมการ กระบวนการกำหนดนโยบายมาจากหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก และกระบวนการนำนโยบายไปปฏิบัติจำกัดอยู่เฉพาะหน่วยงานรัฐ ไม่เปิดโอกาสให้ชาวนาทั่วไปมีส่วนร่วม เช่น การลงทะเบียนเกษตรกร การตรวจสอบคุณภาพข้าว (พบทั้งโครงการจำนำข้าวและโครงการลดต้นทุนการเพาะปลูก)

2. มีความสับสนในการขึ้นทะเบียนเกษตรในบางพื้นที่ เช่น เช่าพื้นที่นอกเขต เขตอาจไม่รู้จักคนๆนี้ ไม่สามารถยืนยันได้ว่าปลูกข้าวจริง หรือการไม่ได้รับเงิน ซึ่งเงินจะโอนผ่านบัญชีของธกส. บางคนได้ แต่บางคนไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นปัญหาเรื่องสิทธิ ยืนยันสิทธิของเกษตรกรได้ไม่ได้

3. เงินช่วยเหลือมีจำนวนน้อย เพราะแม้มีโครงการไร่ละ 1,000 แต่จำนวนเงินสูงสุดที่ชาวนาหนึ่งคนจะได้รับคือ 10,000 บาทเท่านั้น เป็นจำนวนน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายการเพาะปลูกของชาวนาในปัจจุบัน ในบางพื้นที่ และปัญหาเกษตรกรส่วนใหญ่คือเรื่องต้นทุนการเพาะปลูก ที่ไม่ค่อยได้คำนวณอย่างจริงจัง แต่ละที่ตอบไม่เหมือนกัน พอข้อมูลไม่นิ่งการกำหนดนโยบายก็อาจเป็นเรื่องที่ยาก

ถ้าเปรียบเทียบกับโครงการรับจำนำ ตันละ 15,000 บาท เกษตรกรก็อาจได้ไม่ถึงอยู่ดี เพราะโดนหักเรื่องความชื้นของข้าวที่สูงกว่าที่รัฐบาลประกาศ เนื่องจากชาวนาไม่มีเวลาตากข้าวเปลือกหรืออบแห้งเพราะระยะเวลาโครงการรับจำนำจำกัด นอกจากนี้ชาวนาไม่มีเครื่องวัดความชื้นและเครื่องอบทำให้ชาวนาไม่สามารถทราบความชื้นของข้าวเปลือกตนเองได้ และเมื่อสายป่านหมด เงินไม่ถึงพอจะไปขายข้าวด้วยตัวเอง และเกษตรไม่อยากเก็บข้าวไว้ เพราะข้าวเป็นทรัพย์สินเสื่อมสภาพ ไม่มีระบบจัดเก็บที่มีคุณภาพ ต้องขายให้พ่อค้าคนกลาง จึงได้รับเงินไม่ถึง 15,000 บาทต่อตัน

แต่เมื่อถามเกษตรกรเปรียบระหว่างโครงการไร่ละ 1,000 กับโครงการรับจำนำข้าว ส่วนใหญ่จะบอกว่าโครงการรับจำนำข้าวได้เงินมากกว่า

4. ความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึง เกษตรกรส่วนใหญ่มีที่ดินไม่มาก ต้องเช่าที่นาเพิ่ม โดยต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกร ยื่นโฉนดที่ดินที่ตัวเองเช่า ซึ่งทำให้เกิดประเด็นต่อรอง ถ้าเจ้าของที่ดินไม่บริสุทธิ์ใจ ก็ไม่ให้เช่าจนกว่าจะแบ่งเงินช่วยเหลือของรัฐให้ ถือเป็นข้อกำหนดในสัญญาเช่า ส่วนใหญ่ที่พบคือแบ่งกันครึ่งๆ เพราะฉะนั้นเงิน 10,000 บาทที่เกษตรกรจะได้ ก็อาจไม่ถึง ความตั้งใจที่รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือโดยเฉพาะเกษตรกรที่มีฐานะยากจนก็เริ่มไม่ตรงกับวัตถุประสงค์

เช่นเดียวกับเรื่องค่าเช่านา ประยุทธ์บอกค่าเช่านาลดลง แต่จากการลงพื้นที่คือไม่ลดลง ค่าเช่านามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เพราะที่ดินเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก ติดแหล่งน้ำยิ่งมีราคาแพง ผู้เช่าจำยอมต้องเช่าในราคานั้น เพราะเป็นที่ดินที่จะประหยัดเงินจากการดึงน้ำ ประหยัดค่าไฟ ค่าน้ำ ดังนั้นอำนาจต่อรองจึงเป็นของผู้มีทรัพยากร กลายเป็นว่าเจ้าของที่นา (ซึ่งอาจจะเป็นหรือไม่เป็นชาวนา) มีอำนาจในการต่อรองในการแบ่งเงินช่วยเหลือ และการให้เช่า

ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ

ธนพันธ์ กล่าวสรุปว่า ในความฝันของรัฐบาล ทุกคนได้เท่ากันคนละหมื่น แต่ในความจริงไม่เป็นเช่นนั้น นโยบายไปสร้างอำนาจต่อรองให้กับคนมีฐานะและทรัพยากรดีกว่า มีความพยายามของหลายหน่วยงานเข้าไปเปลี่ยนวิธีการเพาะปลูก ช่วยเหลือในอีกรูปแบบ เช่น ที่นครศรีธรรมราชพยายามจะสร้างโรงตากข้าวพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ถ้าน้ำท่วมก็อาจจะเละหมดอยู่ดี หรือมีการเปิดเพลงให้ข้าวฟัง หรือยังดำนาเองโดยไม่ใช่อุปกรณ์ช่วย แต่ยังเป็นโครงการขนาดเล็ก ไม่มีผลมากนัก

ส่วนข้อเสนอแนะ ธนพันธ์ มองว่าการอุดหนุนระยะสั้น รับจำนำ ให้เงินช่วยเหลือน่าจะถึงทางตัน น่าจะต้องมีการช่วยเหลือในรูปแบบใหม่ในระยะยาวมากกว่า เช่น  กำหนดนโยบายการส่งเสริมและการพัฒนาชาวนาในด้านเทคนิคการเพาะปลูกและการพัฒนาเทคโนโลยี เปิดโอกาสให้ชาวนามีส่วนร่วมในการนำนโยบายไปปฏิบัติในรูปแบบของคณะกรรมการตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือชาวนา เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการะบวนการนโยบายสาธารณะและเพื่อความโปร่งใส และทำการประเมินเชิงคุณภาพซึ่งได้แก่ผลกระทบหลังจากการนำนโยบายไปปฏิบัติ เช่น ชาวนาเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการมากน้อยแค่ไหน ความช่วยเหลือไปถึงชาวนาที่เป็นผู้รับผลประโยชน์มากน้อยแค่ไหน เพื่อลดระดับความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโครงการ

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม

การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agriculture Practices เรียกย่อๆ ว่า GAP)  ข้อมูลจาก ศูนย์บริการข้อมูลเศรษฐกิจการเกษตร ระบุว่าหมายถึง แนวทางในการทำการเกษตร เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดีตรงตามมาตรฐานที่กำหนด ได้ผลผลิตสูงคุ้มค่าการลงทุนและกระบวนการผลิตจะต้องปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภค มีการใช้ทรัพยากรที่เกิดประโยชน์สูงสุด เกิดความยั่งยืนทางการเกษตรและไม่ทำให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลักการนี้ได้รับการกำหนดโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยมีหลักเกณฑ์ 8 ข้อ คือ

1. แหล่งน้ำ น้ำที่ใช้ต้องได้จากแหล่งที่ไม่มีสภาพแวดล้อมซึ่งก่อให้เกิดการปนเปื้อนวัตถุอันตรายและจุลินทรีย์

2. พื้นที่ปลูก ต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีวัตถุอันตรายและจุลินทรีย์ที่จะทำให้เกิดการตกค้างหรือปนเปื้อนในผลิตผล

3. การใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร หากมีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิตให้ใช้ตามคำแนะนำหรืออ้างอิงคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร หรือ ตามฉลากที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องใช้สารเคมีให้สอดคล้องกับรายการ และห้ามใช้วัตถุอันตรายที่ระบุในทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ห้ามใช้

4. การเก็บรักษาและการขนย้ายผลิตผลภายในแปลง สถานที่เก็บรักษาต้องสะอาด อากาศถ่ายเทได้ดีและสามารถป้องกันการปนเปื้อนของวัตถุแปลกปลอม วัตถุอันตรายและสัตว์พาหะนำโรค อุปกรณ์และพาหะในการขนย้ายต้องสะอาดปราศจากการปนเปื้อนสิ่งอันตรายที่มีผลต่อความปลอดภัยในการบริโภค ต้องขนย้ายผลิตผลอย่างระมัดระวัง

5. การบันทึกข้อมูล ต้องมีการบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวกับการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร บันทึกข้อมูลการสำรวจและการป้องกันจำกัดศัตรูพืช และบันทึกข้อมูลการจัดการเพื่อให้ได้ผลิตผลคุณภาพ

6.การผลิตให้ปลอดภัยจากศัตรูพืช ผลิตผลที่เก็บเกี่ยวแล้ว ต้องไม่มีศัตรูพืชติดอยู่ถ้าพบต้องตัดแยกไว้ต่างหาก

7. การจัดการกระบวนการผลิตเพื่อให้ได้ผลิตผลคุณภาพ การปฏิบัติและการจัดการตามแผนควบคุมการผลิต คัดแยกผลิตผลด้อยคุณภาพไว้ต่างหาก

8. การเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว เก็บเกี่ยวผลในระยะที่เหมาะสมตามเกณฑ์ในแผนควบคุมการผลิต อุปกรณ์ที่ใช้ในการเก็บเกี่ยว ภาชนะบรรจุและวิธีการเก็บเกี่ยวต้องสะอาดไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคุณภาพของผลผลิต และปนเปื้อนสิ่งอันตรายที่มีผลต่อความปลอดภัยในการบริโภค

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net