Skip to main content
sharethis

คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารและผู้จัดทำรายการวิทยุในกัมพูชาเกี่ยวกับสถานการณ์สื่อหลังรัฐบาลสั่งปิดสื่อ สถานีวิทยุรวมมากกว่า 20 เจ้า เผย ปิดสื่อแบบนี้เพิ่งมีเป็นครั้งแรก ปิดสื่อแบบนี้มีผลการตรวจสอบถ่วงดุล กระทบเลือกตั้งฟรีและแฟร์ในปีหน้าและการเข้าถึงความจริงของประชาชน แนะ ผลักดันเรื่องความถูกต้อง โปร่งใส ให้รัฐบาลออกมาชี้แจงให้ได้

พักเรื่องสถานการณ์สื่อในไทยแล้วข้ามไปดูสถานการณ์สื่อของประเทศเพื่อนบ้านที่กัมพูชากันบ้าง จากเหตุการณ์ที่รัฐบาลของสมเด็จฮุนเซ็นและกระทรวงการข่าวสั่งปิดสื่อสิ่งพิมพ์และวิทยุอย่างแคมโบเดียเดลีด้วยเหตุผลว่าสำนักพิมพ์ไม่ได้จ่ายภาษี โดยมีมูลค่าภาษีที่ต้องจ่ายกว่า 6.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราวๆ 180 ล้านบาท สั่งเพิกถอนใบอนุญาตแพร่ภาพกระจายเสียงของสำนักข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย วอยซ์ออฟเดโมเครซีและวอยซ์ออฟอเมริกา ด้วยเหตุผลด้านภาษีและสถานะการจดทะเบียน และปิดสถานีวิทยุอีก 19 แห่งทั่วประเทศโดยอ้างว่าสถานีิวิทยุเหล่านั้นขายช่วงเวลาออกอากาศให้เรดิโอฟรีเอเชีย วอยซ์ออฟเดโมเครซีและวอยซ์ออฟอเมริกา

บุคลากรจากแคมโบเดียเดลี ชูป้ายสัญลักษณ์ #SaveTheDaily Cambodia (ที่มา: twitter/The Cambodia Daily)

เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา หากนับถึงวันนี้ก็ใช้เวลาเพียงราว 3 สัปดาห์เท่านั้น นำมาซึ่งคำถามถึงผลกระทบในระยะสั้นถึงการทำงานในภาคประชาสังคมที่ต้องอาศัยเสรีภาพในการแสดงออกเป็นเครื่องมือ และผลกระทบต่อชาวกัมพูชาต่อภูมิทัศน์ด้านสื่อที่เปลี่ยนไป

ประชาไทคุยกับลินดา นพ เจ้าหน้าที่่ด้านการสื่อสารและผู้ผลิตรายการวิทยุจาก Center for Alliance of Labour and Human Rights ที่ทำงานกับทีมสื่อและสถานีวิทยุเพื่อกระจายข่าวสารเรื่องปัญหาแรงงานในกัมพูชา และบรม รี เจ้าหน้าที่ด้านการสื่อสารจากองค์กร Building Community Voices ที่ทำหน้าที่สนับสนุนสื่อชุมชน ที่ทำงานร่วมกับกลุ่มเครือข่ายที่ทำงานด้านปัญหาที่ดิน เหมือง สิ่งแวดล้อม เพื่อพูดคุยเรื่องผลกระทบจากภาคประชาชนจากเหตุการณ์ที่รัฐบาลสั่งปิดสื่อหลายหัว บทสัมภาษณ์สั้นๆ สะท้อนถึงความคลุมเครือในสถานการณ์ปัจจุบัน เสรีภาพของสื่อที่ถูกลิดรอนและผลกระทบต่อภาคประชาสังคมและชีวิตของประชาชนที่กำลังเกิด และกำลังจะเกิดในอนาคตอันใกล้

การปิดสื่อแบบนี้ถือเป็นครั้งแรกหรือเปล่า การเลือกตั้งครั้งที่แล้วมีเรื่องแบบนี้ไหม

ลินดา นพ

ลินดา: ใช่แล้ว ครั้งแรกเลย การปิดสื่อครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วประเทศที่จะเกิดขึ้นในเดือน มิ.ย. ปีหน้า รัฐบาลบอกว่าสาเหตุที่ปิดสื่อก็เป็นเพราะว่าสื่อเหล่านั้นละเมิดกฎหมาย แต่คำถามก็คือทำไมต้องเป็นแค่สามสำนักข่าวนั้น และหลังจากที่สั่งปิดสถานีของวอยซ์ออฟอเมริกา วอยซ์ออฟเดโมเครซี และเรดิโอฟรีเอเชีย ทางรัฐบาลก็ประกาศให้สถานีวิทยุตามท้องถิ่นที่ให้สามสำนักข่าวดังกล่าวเช่าช่วงเวลาออกอากาศ ให้เพิกถอนสัญญาเช่าคลื่นความถี่เสียถ้ายังอยากดำเนินงานต่อไปได้

การเลือกตั้งครั้งที่แล้วก็มีปัญหาเรื่องระบบการลงคะแนนเสียงและการจัดเก็บผลโหวตที่มีประชาชนบอกว่าไม่ยุติธรรม ตอนนั้นกลุ่มเอ็นจีโอก็มีการตั้งศูนย์ติดตามสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อสังเกตการณ์และให้คำแนะนำแก่รัฐบาล แต่รัฐบาลก็ออกมาบอกว่าเอ็นจีโอไม่มีสิทธิ์จะทำแบบนั้น แต่ไม่มีการปิดสื่อ

บรม: สืบเนื่องจากการปิดสื่อก็มีแถลงการณ์จากรัฐบาลไปยังสถานีวิทยุตามท้องถิ่นให้ยกเลิกสัญญาเช่าช่วงเวลาออกอากาศให้กับวอยซ์ออฟอเมริกา วอยซ์ออฟเดโมเครซี และเรดิโอฟรีเอเชียเพราะว่าสามสำนักข่าวดังกล่าวนั้นมีการออกอากาศผ่านวิทยุผ่านการเช่าคลื่นความถี่เป็นประจำทุกวัน ตอนนี้สถานีวิทยุตามท้องถิ่นก็ยังคงดำเนินรายการตามปรกติเพียงแต่ไม่มีช่วงข่าวจากสำนักข่าวทั้งสาม

บรม รี

ในกรณีวอยซ์ออฟอเมริกาและวอยซ์ออฟเดโมเครซีนั้นมีสัญญาขอแพร่กระจายเสียงอยู่กับสถานีสาริกา เอฟเอ็ม ซึ่งเป็นสถานีวิทยุท้องถิ่น พอตอนนี้สาริกายกเลิกสัญญานั้น ทั้งสองสำนักข่าวก็ต้องเปลี่ยนไปดำเนินรายการผ่านพื้นที่สื่อโซเชียล

คำสั่งปิดสื่อที่ออกมาส่งผลกระทบกับการทำงานด้านการสื่อสารบ้างไหม

ลินดา: สถานีวิทยุทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น วอยซ์ออฟอเมริกา วอยซ์ออฟเดโมเครซี และเรดิโอฟรีเอเชียต่างมีบทบาทอย่างมากในการสร้างความเข้าใจให้กับชาวกัมพูชาในเรื่องการย้ายถิ่นอย่างปลอดภัยและสิทธิแรงงานซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราทำอยู่ องค์กรภาคประชาสังคมนั้นก็ทำได้ในทางด้านการให้ความรู้  แต่ว่าสถานีวิทยุอิสระมีส่วนช่วยพวกเราอย่างมากในการคืนความยุติธรรมแก่เหยื่อหลายกรณี ตอนนี้สถานีวิทยุที่เผยแพร่ผ่านวอยซ์ออฟเดโมเครซีในหลายจังหวัดถูกปิดลงก็ทำให้การพูดถึงเรื่องการย้ายถิ่นและแรงงานผ่านวิทยุทำได้ยากขึ้น เราก็แก้ปัญหาด้วยการย้ายแพลตฟอร์มไปอยู่บนอินเทอร์เนตแทน แต่ก็มีคนเข้าชมน้อยกว่าวิทยุ

วิทยุมีบทบาทมากน้อยขนาดไหนในการกระจายเสียงในกัมพูชา

ลินดา: สถานีวิทยุมีความสำคัญมาก เพราะว่าสถานีโทรทัศน์มักพูดแต่เรื่องดีๆ ของรัฐบาล เช่นการก่อสร้างใหม่ๆ ถนนใหม่ และข่าวบันเทิง แต่ว่าวิทยุที่ถูกปิดไปนั้นวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล  ตอนที่อยู่ที่กัมพูชาก็เคยเจอคนมีอาชีพขับรถเขารู้ข่าวเรื่องวอย์ออฟเดโมเครซีถูกปิด เขาก็บอกว่าเหมือนกลับไปอยู่ในระบอบ พอล พต เลย (พอล พต เป็นผู้นำกลุ่มเขมรแดงที่ครองอำนาจในกัมพูชาตั้งแต่ปี 2518-2522 ที่มา: วิกิพีเดีย)”

อะไรคือผลกระทบด้านสังคมและการเมืองจากเหตุการณ์การปิดสื่อครั้งนี้

ลินดา: การปิดสื่อครั้งนี้มีผลกับการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจ เพราะว่าสื่ออิสระที่ถูกปิดไปมีบทบาทที่สำคัญต่อระบบธรรมาภิบาลที่โปร่งใส นอกจากนั้น จากสถานการณ์การละเมิดเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพสื่อครั้งนี้จะส่งผลกระทบกับความอิสระและความยุติธรรมในการเลือกตั้งปีหน้าด้วย

เอาเข้าจริงสื่อที่ถูกปิดเป็นสื่อที่พูดถึงเบื้องหลังปัญหาต่างๆ เช่นปัญหาเรื่องที่ดิน ฉันคิดว่าถ้าสื่อถูกปิดไปแล้วก็คงไม่มีใครพูดถึงเรื่องอย่างนี้ และถ้ามีประชาชนทั่วไปพยายามจะพูดถึงก็คงจะไม่มีสื่อไหนมากระจายความคิดเห็นเหล่านั้น ผู้คนจะเข้าไม่ถึงข่าวและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตามสภาพความเป็นจริง

บรม: แคมโบเดียเดลีเป็นหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พอมาโดนปิดแบบนี้ก็จะส่งผลกับผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน อาจารย์ คนงานหรือแม้แต่คนในส่วนงานปกครองที่ติดตามข่าวสารหรือไม่ก็อ่านเพื่อฝึกฝนภาษาอังกฤษ การปิดสื่อแบบไม่มีเหตุผลโดยยกเอาปัญหาเรื่องภาษีมาเป็นข้ออ้าง ทำให้มีคำถามจากประชาชนถึงเรื่องความน่าเชื่อถือของกฎหมาย ถ้าแคมโบเดียเดลีมีปัญหาเรื่องภาษีจริงรัฐบาลก็ต้องแจ้งมาล่วงหน้า ต้องเชิญเจ้าของไปที่กรมภาษีเพื่ออธิบาย และเจ้าหน้าที่กรมภาษีก็ต้องมาตรวจเช็คเอกสารที่สำนักงานของแคมโบเดียเดลีด้วย แต่มันไม่มีอะไรแบบนั้น

คิดว่าอะไรคือแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของคนกัมพูชาภายใต้สถานการณ์เช่นนี้

บรม: ในฐานะภาคประชาสังคมก็คงจะต้องออกมาคิดเรื่องกฎหมาย ออกแถลงการณ์ว่าใครทำผิดตรงไหน และมีข้อแนะนำถึงรัฐบาลให้เคารพกฎหมายเสียบ้าง ขอให้รัฐบาลออกมาแถลงให้ชัดเจนถึงปัญหาในกรณีของแคมโบเดียเดลี เพื่อให้สื่อมวลชนอื่นเข้าใจอย่างชัดเจนและสื่อจะได้มั่นใจว่าการทำงานของพวกเขานั้นไม่ได้มีอะไรที่ผิดกฎหมาย

สำหรับพรรคการเมืองนั้นควรจะทราบถึงความสำคัญของสื่อ ถ้าคุณเป็นหัวหน้าพรรค พวกคุณก็ต้องการพื้นที่สื่อเพื่อจะประชาสัมพันธ์การหาเสียง ขอให้พรรคการเมืองอย่าทำกับสื่อเหมือนเป็นตัวแทนของพรรค แต่เป็นตัวแทนของเสียงจากผู้สื่อข่าวและประชาชน

ลินดา: ฉันคิดว่าในตอนนี้พวกเราก็ต้องใจเย็นและนิ่งเข้าไว้ ในการเมืองกัมพูชามันมีสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดแต่ก็เกิด ทุกวันนี้สื่อยังคงทำงานอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนวิธีทำงานเท่านั้น เช่น การเปลี่ยนขึ้นไปเป็นแพลทฟอร์มออนไลน์ ซึ่งตอนนี้คนกัมพูชาก็เข้าถึงพื้นที่ออนไลน์ได้มากขึ้น โดยเฉพาะเฟซบุ๊กที่ได้รับความนิยมมากในกัมพูชา

ข้อมูลเพิ่มเติม

The Cambodia Daily, Anger Mounts as Radio Purge Knocks 19 Stations Off-Air, August 28, 2017

Human Rights Watch,Cambodia: Onslaught on Media, Rights Groups, Hun Sen Government Broadens Crackdown on Criticism , August 25, 2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net