Skip to main content
sharethis
ศาลยืนตามคำสั่งของ สนง.สวัสดิการฯ สั่งให้ฟาร์มไก่ จ.ลพบุรี อดีต 1 ในผู้ส่งไก่ให้กับบริษัทเบทาโกร ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1.7 ล้านบาทให้แก่อดีตคนงานพม่าทั้ง 14 คน กรณีไม่จ่ายค่าจ้าง

ภาพกลุ่มคนงานดังกล่าวเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 ก.ค.59

15 ก.ย. 2560 จากเมื่อเดือน ก.ย. 2559 แรงงานข้ามชาติชาวพม่า 14 คน เข้าสู่กระบวนยื่นคำร้องต่อสำนักสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่ามีการใช้แรงงานบังคับ และการละเมิดสิทธิแรงงงาน ในฟาร์มไก่ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานของบริษัทเบทาโกร ได้ยื่นฟ้อง บริษัทเบทาโกร เจ้าของฟาร์มไก่ จ.ลพบุรี และเจ้าหน้าที่รัฐ ให้จ่ายค่าชดเชยความเสียหาย รวม 46 ล้านบาท ที่ศาลแรงงานภาค 1 จ.สระบุรี นั้น

ล่าสุดวันนี้ (15 ก.ย.60) Voice TV รายงานว่า ศาลมีคำพิพากษาให้ฟาร์มไก่ธรรมเกษตรใน จ.ลพบุรี ซึ่งเคยทำสัญญาส่งไก่ให้แก่บริษัทเบทาโกร จ่ายเงินชดเชยแก่อดีตคนงานพม่า 14 คน จำนวน 1,700,000 บาท โดย คำตัดสินของศาลถือเป็นการตัดสินตามคำสั่งของสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ลพบุรี ที่ก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้เจ้าของฟาร์มธรรมเกษตรชดเชยเงินให้แก่กลุ่มแรงงาน และถือเป็นการยกคำร้องอุทธรณ์ของเจ้าของฟาร์มธรรมเกษตร ที่ต้องการให้ศาลพิจารณายกเลิกไม่ต้องจ่ายเงินชดเชยโดยอัตโนมัติ

Voice TV รายงานเพิ่มเติมว่า กรณีดังกล่าวกลายเป็นที่สนใจของสื่อทั่วโลกตั้งแต่กลางปี 2559 เนื่องจากแรงงานชาวพม่า 14 คนเปิดเผยกับสื่อต่างชาติและองค์กรด้านสิทธิแรงงานหลายแห่งว่า ต้องทำงานกว่า 20 ชั่วโมงต่อวัน ถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ถูกยึดเอกสารประจำตัวทั้งหมด และถูกหักเงินเดือนอย่างไม่ยุติธรรมระหว่างที่ทำงานในฟาร์มไก่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดลพบุรี ได้ตัดสินว่าไม่มีการยึดพาสปอร์ต แต่มีการกระทำผิดเรื่องค่าจ้าง จึงสั่งให้เจ้าของฟาร์มชดเชยค่าเสียหายแก่แรงงานเป็นจำนวน 1,700,000 บาท ครอบคลุมระยะเวลา 2 ปี แต่ก่อนหน้านี้ กลุ่มแรงงานเรียกร้องค่าชดเชยจำนวน 44 ล้านบาท ครอบคลุมระยะการทำงานเวลา 3 -4 ปี ทำให้เดือนตุลาคมที่ผ่านมา คนงานทั้ง 14 คนยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ให้พิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว ซึ่ง กสม.ได้มีความเห็นตามสำนักงานสวัสดิการฯ ว่าคดีนี้เป็นคดีเกี่ยวข้องกับการละเมิดด้านค่าจ้างแรงงาน แต่ไม่ได้เป็นคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานทาส  

คำตัดสินดังกล่าวของศาลสูงสุดมีขึ้น ท่ามกลางการจับตามองของทั่วโลก โดยก่อนหน้านี้ ภาคประชาสังคมต่างประเทศหลายแห่ง รวมถึงองค์กรต่างประเทศอย่างคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) และสมาคมผู้ค้ายุโรป (FTA) ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยสมาคมผู้ค้ายุโรป ได้แนะนำให้พูดคุยกันนอกกระบวนการศาล เพื่อไกล่เกลี่ยในเรื่องนี้

ด้านเจ้าของฟาร์มธรรมเกษตร ก่อนหน้านี้ ได้ยื่นฟ้องคนงานทั้งหมด 14 คนฐานลักขโมย โดยระบุว่าคนงานพม่าลักลอบบัตรลงเวลา เพื่อนำไปเป็นหลักฐานเรื่องการทำงานล่วงเวลาให้แก่กรมสวัสดิการฯ อย่างไรก็ตาม คดีดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปตามคำสั่งของสำนักงานอัยการจังหวัดลพบุรี ขณะเดียวกัน ฟาร์มไก่ธรรมเกษตรได้ยื่นฟ้องศาลอาญากรุงเทพใต้ฐานหมิ่นประมาทและนำเข้าข้อมูลผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แก่ อานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิมนุษยชนชาวอังกฤษ อดีตที่ปรึกษาเครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) ซึ่งเป็นองค์กรที่ผลักดันคดีดังกล่าว ทำให้ฮอลล์ต้องออกจากประเทศไทยไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยชี้แจงว่าปัญหาคดีต่อเขาหลายๆ คดี สร้างอุปสรรคในการทำงานเพื่อพัฒนาสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net