Skip to main content
sharethis
คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ส่งเสริมการลงทุนด้านสุขภาพ เน้น 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หรือใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้และในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
 
15 ก.ย. 2560 รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) แจ้งว่าวันนี้ (15 ก.ย.60) มีการประชุคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 5/2560 โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน พร้อมด้วย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล
         
รายงานข่าวระบุว่า พล.ร.อ.ณรงค์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ รับทราบและชื่นชมการทำงานร่วมกันของ สช. สำนักงานส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้พัฒนาข้อเสนอต่อมาตรการสนับสนุนการลงทุนเพื่อส่งเสริมการบริการสาธารณสุข ซึ่งเป็นโจทย์จากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมด้านสุขภาพ โดยการทำงานร่วมกันนี้ ได้นำหลักการด้านการเงินการคลังด้านสุขภาพของ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2559 ที่กำหนดว่า “การลงทุนด้านสุขภาพต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสุขภาพในภาพรวม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงความมั่นคงด้านสุขภาพและประสิทธิภาพของการลงทุน” เป็นหลักสำคัญ และนำ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการพัฒนาข้อเสนอที่มีข้อมูลทางวิชาการรองรับ  เพื่อให้การลงทุนด้านบริการสุขภาพเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง ทำให้คนไทยโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล รายได้ต่ำ สามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ รวมถึงก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หนุนเสริมและไม่ซ้ำซ้อนกับการลงทุนที่มีอยู่แล้วของภาครัฐ
 
ประธาน สช. ระบุว่า สช. บีโอไอ และกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกันจัดทำข้อมูลทางวิชาการ โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่ที่มีการเจ็บป่วย มีความจำเป็นด้านสุขภาพสูง มีอัตราการส่งต่อผู้ป่วยไปรักษานอกเขตพื้นที่สูง พื้นที่ที่อยู่ห่างไกล และพื้นที่ตามนโยบายรัฐบาล พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ พิจารณาข้อมูลจำแนกรายเขตสุขภาพ โดยข้อเสนอฯ นี้ ได้ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว สาระสำคัญของข้อเสนอต่อมาตรการสนับสนุนหรือส่งเสริมการบริการสาธารณสุขในระดับศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง (Excellence center) มีเงื่อนไขคือ ควรพิจารณาให้การสนับสนุนใน (1) เขตบริการสาธารณสุขที่ไม่มีแผนการลงทุนด้านสุขภาพในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวงสาธารณสุขหรือภาคเอกชน หรือ (2) เขตบริการสาธารณสุขที่มีแผนการลงทุนฯ อยู่ในแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพแล้ว แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล หรือ (3) เขตบริการสาธารณสุขที่มีการส่งต่อผู้ป่วยในเรื่องนั้นๆออกนอกพื้นที่ หรือ (4) เขตพื้นที่เฉพาะพิเศษ/เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยต้องคำนึงถึงความพร้อมของบุคลากรที่จะไปปฏิบัติงาน และสถานบริการที่ได้รับการส่งเสริมต้องให้บริการประชาชนในระบบประกันสุขภาพภาครัฐโดยไม่เลือกปฏิบัติ
 
ต่อมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ประชุมพิจารณาและออกประกาศ เรื่อง นโยบายส่งเสริมการลงทุนด้านการบริการทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมา ใน 4 กิจการ ได้แก่ 1. กิจการบริการสาธารณสุขด้านแพทย์แผนไทย  2. กิจการศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง 3. กิจการสถานพยาบาล ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เฉพาะเพื่อกระจายการให้บริการอย่างทั่วถึงสำหรับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลใน 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ หรือใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้และในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 4. กิจการบริการขนส่งผู้ป่วย แพทย์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ ทั้งทางอากาศ ทางบก เรือ เงื่อนไขการสนับสนุนประเภทกิจการ “ศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง” ได้นำข้อเสนอจากการทำงานร่วมกันของ สช. บีโอไอ กระทรวงสาธารณสุข ไปปรับใช้ โดยให้ ส่งเสริมการลงทุนเฉพาะสาขาที่ขาดแคลน ได้แก่ ด้านหัวใจ (โรคหลอดเลือดหัวใจ ผ่าตัดหัวใจ และหัวใจล้มเหลว) ด้านมะเร็ง (เคมีบำบัด รังสีวิทยา) และด้านไต (ศูนย์ไตเทียม) โดยระบุเงื่อนไขว่า ต้องมีแผนการจัดหาบุคลากรทางการแพทย์ที่เหมาะสม มีเครื่องมือและอุปกรณ์ตามที่คณะกรรมการกำหนด ต้องได้รับอนุญาตและปฏิบัติตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข มาตรฐานการประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องพิจารณาถึงการกระจายการให้บริการและการเข้าถึงของประชาชน ส่วนการส่งเสริม กิจการสถานพยาบาล นั้น ระบุเงื่อนไขพื้นที่ที่จะขอรับการส่งเสริมตามข้อเสนอ คือ พื้นที่ 20 จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ พื้นที่ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา-เฉพาะ อ.จะนะ นาทวี สะบ้าย้อย เทพา) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน
 
“การดำเนินการในกรณีนี้ เป็นรูปธรรมความสำเร็จของการนำ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ และหลักการของ การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ ไปปรับใช้ประโยชน์ให้เกิดระบบสุขภาพพึงประสงค์ที่ทุกฝ่ายยอมรับ ให้รัฐและเอกชนมีบทบาทเกื้อหนุนกันในการบริการสุขภาพ ไม่มุ่งแต่ภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ยังเอื้อต่อสุขภาวะที่ดีของคนไทยด้วย” ประธาน สช. กล่าว
 
พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 เรื่อง “การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” ที่กรมอนามัยอยู่ระหว่างเตรียมจัดทำแนวทางและมาตรการขับเคลื่อน พระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยจะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นต่อประกาศแนวทางตามกฎหมายฯ ในช่วงเดือนตุลาคม 2560 และคาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในเดือนมีนาคม 2561 รวมถึงจะมีการรณรงค์ให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้มีการจัดการสภาพแวดล้อมที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไป
 
นอกจากนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ยังรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 เรื่อง “วิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการปัญหาแบบบูรณาการ” โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ระหว่างเตรียมการจัดงานเปิดตัวแผนปฏิบัติงานการจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทย พ.ศ.2560-2564 และเตรียมลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันเดินหน้าแผนปฏิบัติงาน วันที่ 23 พ.ย.นี้ ทำให้เรื่องนี้ขับเคลื่อนในวงกว้างอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net