Skip to main content
sharethis

โฆษกกองทัพบก แจงเรือเหาะที่กองทัพบกหยุดใช้งานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโครงการระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะและอากาศยาน โดยระบบหลัก 80% ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้

15 ก.ย. 2560 จากกรณีวานนี้ (14 ก.ย.60) พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ระบุว่า เรือเหาะตรวจการณ์รุ่น Aeros 40D S/ N 21 หรือ sky dragon ที่ประจำการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นั้น บอลลูนตอนนี้หมดอายุการใช้งานแล้ว เพราะเป็นผืนผ้า แต่กล้องตรวจการณ์ยังใช้งานได้ ดังนั้นจะต้องมีการปรับรูปแบบการใช้งาน โดยอาจจะนำไปติดอากาศยานแทน ซึ่งทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) กำลังดำเนินการอยู่ นั้น

ล่าวสุดวันนี้ (15 ก.ย.60) สำนักข่าวไทย รายงาน คำแถลงของ พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ถึงกรณีดังกล่าวเพิ่มเติม โดย โฆษกกองทัพบก กล่าวว่า ที่ผ่านมาตัวเรือเหาะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะ และอากาศยาน ถือเป็นยุทโธปกรณ์เครื่องมือพิเศษ นำมาเสริมประสิทธิภาพให้กับเจ้าหน้าที่ในระบบเฝ้าตรวจของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์ในช่วงนั้นเพื่อลดการสูญเสียกำลังพล เพิ่มขีดความสามารถในเรื่องการมองเห็น มีคุณสมบัติในทางยุทธวิธี แตกต่างจากเครื่องบิน หรือ ยูเอวี คือ มีความเงียบในการเคลื่อนที่ สามารถบินช้าและลอยตัวได้นาน ลักษณะการจัดหามาใช้งานเป็นระบบที่มีองค์ประกอบหลักของโครงการนี้ 2 รายการ ซึ่งใช้วงเงินรวม ประมาณ 340 ล้านบาท

พ.อ.วินธัย กล่าวว่า รายการ ที่ 1 คือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยเรือเหาะ ใช้วงเงิน 209 ล้านบาท มีองค์ประกอบอยู่ 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ ส่วนตัวเรือเหาะ ใช้วงเงินจัดหา 66.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนมูลค่าร้อยละ 19 ส่วนที่ 2 คือระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 2 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ วงเงิน 87 ล้านบาท ส่วนที่ 3 คือ ระบบสถานีรับสัญญาณ แบบสถานีประจำที่ และสถานีเคลื่อนที่ด้วยรถหุ้มเกราะ วงเงิน 40 ล้านบาท และส่วนที่ 4 คือ โรงเก็บเรือเหาะและอุปกรณ์บริภัณฑ์ภาคพื้น วงเงิน 9 ล้านบาท

โฆษกกองทัพบก กล่าวอีกว่า สำหรับรายการที่ 2 คือ ระบบเฝ้าตรวจทางอากาศด้วยอากาศยาน ใช้วงเงิน 131 ล้านบาท มีระบบกล้องตรวจการณ์คุณภาพสูง 3 ชุด พร้อมระบบควบคุมและส่งสัญญาณ 3 ชุด เพื่อใช้ติดตั้งกับอากาศยานที่มีอยู่แล้วในอัตราปกติของกองทัพบก โดยที่ผ่านมาภาพรวมของระบบมีเพียงตัวเรือเหาะที่มีปัญหาติดขัดบ้างในระยะแรก ๆ รวมถึงเคยมีการชำรุดหนัก เนื่องจากการลงจอดฉุกเฉินรุนแรงด้วยสภาพอากาศแปรปรวน เมื่อช่วงปลายปี 2554 แต่กองทัพบกได้ดำเนินการจนเรือเหาะสามารถกลับใช้งานได้ แต่ด้วยวัสดุตัวเรือเหาะมีลักษณะเป็นผ้าใบ จึงอาจมีข้อจำกัดบ้างในเรื่องของอายุการใช้งาน โดยเฉพาะเมื่อเจอสภาพอากาศร้อนชื้น ซึ่งในอนาคตกรณีมีการหยุดใช้เรือเหาะในภารกิจของระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายแล้ว  ตัวระบบหลักที่เหลือมีสัดส่วนอีกร้อยละ 80  ยังคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ใช้งานได้ โดยอาจเน้นไปใช้ระบบตรวจการณ์และติดตามเป้าหมายโดยทางอากาศยานเป็นหลัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net