Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เมื่อวันพุธที่ 13 กันยายนที่ผ่านมาผมมีโอกาสร่วมเสวนาใน “เวทีสาธารณะสู่สังคมพหุวัฒนธรรม” ที่ไทยพีบีเอส มีกลุ่มชาวพุทธ-มุสลิมจากสามจังหวัดภาคใต้ จากส่วนกลาง และมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐร่วมด้วย โดยเจ้าภาพหลักในการจัดเสวนาคือสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ทราบว่าการจัด “สานเสวนา” เกี่ยวกับการใช้แนวคิดพหุวัฒนธรรมเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างชาวพุทธ-มุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้ดำเนินการต่อเนื่องมา 13 ปีแล้ว

ผมเข้าใจว่ารูปแบบสานเสวนาในท่วงทำนอง “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง” มีความจำเป็นในสถานการณ์ปัจจุบัน เพราะเจ้าภาพต้องทำงานร่วมกันได้กับทั้งชาวพุทธ มุสลิม ฝ่ายอำนาจรัฐ และคนกลุ่มอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ส่วนฝ่ายต่างๆ ที่เข้าร่วมเสวนาก็คิดว่ามาร่วมเพื่อสร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน เพื่อสร้างความสมานฉันท์ “จุดต่าง” ที่คิดว่าอีกฝ่ายจะไม่พอใจ หรือที่อาจทำให้  “วงแตก” ก็ระมัดระวังที่จะพูด หรือคิดว่าไม่ควรพูดดีกว่า

แต่ก็มีคำถามจากผู้ดำเนินรายการเสวนาคือ คุณณาตยา แวววีรคุปต์ และผู้ร่วมเสวนาบางคนว่า มันจะเป็นพหุวัฒนธรรมปลอมๆ หรือเปล่า หากเราแต่ละคนจะพูดเน้นไปในแนวทางเดียวกัน โดยซุกปัญหาที่แท้จริงไว้ใต้พรม?

ผมคิดว่าคำถามนี้สำคัญ เพราะเท่าที่สังเกตในเวทีเสวนาเห็นได้ชัดว่ามีบรรยากาศของความระมัดระวังที่จะ “แตะ” ปัญหาระดับรากฐาน เช่น ปัญหาการเมืองระดับชาติที่ไม่เป็นประชาธิปไตยว่ามีผลกระทบเชิงลบต่อปัญหาสามจังหวัดหรือไม่ อย่างไร หรือถ้าดูตัวอย่างเพื่อนบ้านอย่างพม่า ที่อำนาจรัฐเผด็จการเข้าไปแก้ปัญหาการเมืองและปัญหาความขัดแย้งทางศาสนามันส่งผลเลวร้ายอย่างไร ที่เราควรจะเรียนรู้แล้วหันมาทบทวนสังคมเราเอง เป็นต้น

ส่วนเสียงสะท้อนของผู้ร่วมเสวนาจากสามจังหวัดภาคใต้ มีทั้งที่มองว่าในความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านพุทธ-มุสลิมมีความเป็นพหุวัฒนธรรมอยู่แล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็น “ปัญหาทางการเมือง” ระหว่างกลุ่มต่างๆ กับฝ่ายอำนาจรัฐ แต่ก็มีพระบางรูปสะท้อนว่าไม่ได้เป็นพหุวัฒนธรรมจริง เพราะไม่มีความเท่าเทียมระหว่างพุทธกับมุสลิม เช่น พระสวดมนต์ออกลำโพงกระจายเสียงเหมือนมุสลิมไม่ได้ เวลาพระเดินทางไปไหนมาไหนในพื้นที่ ก็มักจะมีเด็กวัยรุ่นถุยน้ำลาย หรือยกเท้าใส่ ถามว่าเด็กๆ ทำแบบนั้นกันเองหรือถูกผู้ใหญ่สอนมา

ปัญหานี้ก็มีผู้แทนมุสลิมจากสำนักจุฬาราชมนตรีกล่าวขอโทษพระแทนคนที่ทำแบบนั้น และอธิบายว่า การกระทำแบบนั้นผิดหลักศาสนา เป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่เป็นการกระทำในนามอิสลามหรือมุสลิม ปัญหาดังกล่าวน่าจะเป็นผลจากความขัดแย้งทางการเมืองมากกว่า

คำอธิบายดังกล่าวย่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะถ้าเราเห็นชาวพุทธบางคนหรือบางกลุ่มปั่นกระแสสร้างความเกลียดชังชาวมุสลิมทางสื่อโซเชียล เราคงสรุปไม่ได้ว่า นั่นคือการกระทำที่ถูกหลักการพุทธศาสนาและเป็นการกระทำในนามชาวพุทธทั้งหมด แต่ก็มีคำถามเช่นกันว่า องค์กรสงฆ์อย่างเช่นมหาเถรสมาคมมีความเห็นอย่างไรกับการที่มีพระและชาวพุทธบางกลุ่มสร้างกระแสเกลียดมุสลิม และนิยมยกย่องวีรกรรมต้านมุสลิมโรฮิงญาของพระวิรธูชาวพม่า

ปัญหาดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ทำให้เราฉุกคิดว่า ไม่ว่าชาวพุทธหรือชาวมุสลิมก็ไม่มีชาวไหนที่เป็น “ก้อนเดียวกัน” หรือเป็น “เนื้อเดียวกัน” จริง ชาวพุทธก็มีหลายนิกาย ในไทยเองก็มีหลายกลุ่มที่มีความคิดและแนวปฏิบัติต่างกัน ชาวมุสลิมก็มีหลายนิกาย หลายกลุ่มทั้งที่ขัดแย้งกันและลงรอยกัน เวลาเห็นใครหรือกลุ่มไหนทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราจึงไม่อาจเหมารวมว่านั่นคือการกระทำของชาวพุทธหรือชาวมุสลิมทั้งหมด การสร้างกระแสเกลียดชังโดยนำการกระทำที่ไม่ถูกต้องของคนบางคน บางกลุ่มมาเหมารวมว่าเป็นตัวแทนของชาวมุสลิมหรือชาวพุทธทั้งหมด อาจบานปลายไปสู่ความขัดแย้งแบบพุทธ-มุสลิมในพม่าได้ เราจึงควรมีสติกันทุกฝ่าย

อย่างไรก็ตาม มีเพื่อนนักวิชาการมุสลิมบางคนตั้งคำถามน่าสนใจว่า “จริงๆ แล้ว สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม หรือเป็นสังคมวัฒนธรรมเชิงเดี่ยวกันแน่?” เหตุผลของเพื่อนคนนั้นคือ เพราะสังคมไทยมีวัฒนธรรมหลักหนึ่งเดียวภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวัฒนธรรมหลักนี้ก็เป็นฐานอ้างอิงในการตั้งคำถามกับคนที่มีความคิดคิดต่าง เชื่อต่างว่า “คุณเป็นคนไทยหรือเปล่า?” เป็นต้น แต่ว่าคำถามนี้ก็ผ่านไปอย่างเร็วๆ ไม่มีใครถกต่อ

คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงการวิเคราะห์ในบทความวิชาการของธนาพล ลิ่มอภิชาต ชื่อ “พหุวัฒนธรรมกับวาทกรรมวัฒนธรรม: ประวัติศาสตร์แนวคิด” (รัฐศาสตร์สาร กันยายน-ธันวาคม 2559) ที่ชี้ให้เห็นว่า คำว่า “พหุวัฒนธรรม” ที่ใช้ในสังคมไทยตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 (หรือต้นทศวรรษ 2540) จนถึงปัจจุบันนั้น เราใช้ภายใต้ประวัติศาสตร์วาทกรรมวัฒนธรรมแบบอ้างอิงกลับไปในอดีต/ความเป็นอุดมคติ, ความมั่นคง, ความสามัคคี/สมานฉันท์ และความเป็นองค์รวม/ความบูรณาการ ดังที่เราเห็นได้ผ่านความคิดเรื่ององค์รวม/บูรณการของคุณหมอประเวศ วะสี และแบบอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน

หน้าตาของพหุวัฒนธรรมภายใต้ประวัติศาสตร์วาทกรรมวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นอย่างไร?

ผมคิดว่า ตุ๊กตาที่เป็นตัวอย่างได้ชัดเจน คือ “พหุวัฒนธรรมจุฬาฯ” ที่ยืนยันการเคารพสิทธิเสรีภาพ ความแตกต่างหลากหลายทางความคิด ความเชื่อ แต่เป็นสิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบการนิยามของ “วัฒนธรรมหลัก” คือ วัฒนธรรมความเป็นไทยที่ต้องมีความภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่สิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบการนิยามของแนวคิดเสรีนิยม หรือหลักสิทธิมนุษยชนสากล ดังนั้น การแสดงออกที่คนส่วนใหญ่ “ตีความ” ว่า เป็นการไม่เคารพต่อวัฒนธรรมหลัก แม้จะเป็นการแสดงออกที่ถูกตามหลักเสรีภาพในการแสดงออกแบบเสรีนิยมหรือสิทธิมนุษยชน ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ผิดและถูกลงโทษได้

ภาพจำลองพหุวัฒนธรรมจุฬาฯ ดังกล่าวนี้ จึงสะท้อนภาพจำลองพหุวัฒนธรรมในสังคมไทยได้เป็นอย่างดีว่า สังคมไทย มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมได้เท่าที่กรอบวัฒนธรรมหลัก คือวัฒนธรรมความเป็นไทยภายใต้อุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์อนุญาตให้มีได้

แต่ตามที่อธิบายในบทความของธนาพล คำว่า “พหุวัฒนธรรม” เรายืมมาจากแนวคิด “multiculturalism” ซึ่งแนวคิดนี้ในสังคมตะวันตกเขาไม่ได้ใช้เป็นคำตอบสำเร็จรูป แต่ใช้อย่างวิพากษ์ทั้งในเชิงอุดมการณ์และตรรกะ ที่สะท้อนความขัดแย้งระหว่างสิทธิส่วนบุคคลกับสิทธิของกลุ่ม หรือระหว่างแนวคิดสตรีนิยม (feminism) ที่ยืนยันสิทธิเท่าเทียมของสตรี กับฐานคิด multiculturalism ที่ยืนยันสิทธิทางวัฒนธรรมหรือสิทธิชุมชน เป็นต้น

ผมคิดว่าในที่สุดแล้ว ปัญหาเรื่องพหุวัฒนธรรมก็หนีไม่พ้นที่จะตั้งคำถามพื้นฐานว่า อะไรคือรากฐานรองรับการดำรงอยู่หรือความเป็นไปได้ของพหุวัฒนธรรม หากไม่ใช่ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ซึ่งหมายความว่า เราจำเป็นต้องสร้างรูปแบบประชาธิปไตยที่ให้หลักประกันสิทธิมนุษยชนให้เป็นจริงในระดับชาติเพื่อรองรับให้พหุวัฒนธรรมเป็นไปได้จริง

บางคนอาจแย้งว่า ในประเทศเสรีประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีปัญหาพหุวัฒนธรรมเช่นกัน เช่นการเหยียดศาสนา เชื้อชาติ สีผิวก็ยังมีอยู่ แต่คำถามคือ เมื่อเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น กลไกที่แก้ปัญหาได้ดีกว่าก็คือระบอบประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนมิใช่หรือ ถ้าใช้กลไกเผด็จการไปแก้ปัญหาผลก็อย่างที่เห็นในพม่าและที่อื่นๆ ที่ประชาธิปไตยและหลักสิทธิมนุษยชนพิกลพิการ

แน่นอนว่า การทำเรื่องพหุวัฒนธรรมย่อมเป็น “กระบวนการต่อเนื่อง” หรือเป็นกระบวนการที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอด ไม่ว่าสังคมจะยังไม่เป็นหรือเป็นประชาธิปไตยแล้วก็ตาม เพราะปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา ความเชื่อ เชื้อชาติเป็นต้นอาจเกิดขึ้นได้เสมอ หากคนต่างวัฒนธรรมไม่มีความเข้าใจและเคารพความแตกต่าง ซึ่งเรื่องนี้ผมเห็นด้วย

แต่เมื่อคิดอย่างถึงที่สุดแล้ว เราไม่มีทางพูดเรื่องพหุวัฒนธรรมในการแก้ปัญหาพุทธ-มุสลิมในสามจังหวัดภาคใต้หรือในระดับชาติอย่างแยกขาดจากการพูดถึงเรื่องการสร้างประชาธิปไตย,สิทธิมนุษยชนทั้งในเชิงรูปแบบและเชิงวัฒนธรรมให้เป็นจริง เพราะถ้าไม่มีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนรองรับ คำว่าความแตกต่างหลากหลายย่อมเป็นไปไม่ได้จริง

ยิ่งการเคารพความแตกต่างหลากหลายยิ่งไม่มีอยู่จริง เพราะเมื่อตัวหลักการและกติการองรับการเคารพความแตกต่างหลากหลายไม่มีจริง จะอาศัยเพียงการปลูกฝัง “จิตสำนึก” ให้ผู้คนเคารพสิทธิเสรีภาพทางความคิด ความเชื่อของกันและกัน คงไม่ได้ผลอะไรมากนัก และออกจะเป็นการเล่นกลหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net