บทบาทของสมาคมศิษย์เก่าที่เปลี่ยนไป

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

จากกรณีที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้มีการลงโทษตัดคะแนนเนติวิทย์กับพวก 25 คะแนน จนมีผลให้ต้องพ้นจากสถานภาพการเป็นสมาชิกสภานิสิตฯและประธานฯไปโดยปริยายนั้น ทำให้มีการถกเถียงโต้แย้งตามมาอย่างมากทั้งภายในและภายนอกจุฬาฯ แต่เป็นที่น่าสังเกตคือได้ปรากฏมีแถลงการณ์ของสมาคมนิสิตเก่าทั้งของจุฬาฯ เองและของคณะต่างๆ บางคณะฯ ออกมาสนับสนุนคำสั่งดังกล่าว ซึ่งก็ตามมาด้วยการสนับสนุนและการโต้แย้งต่อแถลงการณ์ฯ จากนิสิตเก่าฯ เช่นเดียวกัน จึงทำให้ต้องหันกลับมาทบทวนว่าบทบาทหน้าที่ของสมาคมนิสิตเก่าหรือศิษย์เก่าของสถาบันต่างๆ ที่ผ่านมานั้นเป็นอย่างไร

ที่ผ่านมาหากเราจะตั้งสถาบันการศึกษาขึ้นในประเทศไทยสักแห่งหนึ่ง สิ่งแรกๆ ที่เราจะต้องทำก็คือ การสร้างเสาธงแล้วต้องตามด้วยป้ายชื่อสถาบัน แล้วอีกระยะหนึ่งเมื่อมีผู้จบการศึกษาออกไปบ้างแล้วก็คือ การตั้งสมาคม/ชมรมศิษย์เก่าไม่ว่าจะเป็นไปในชื่อศิษย์เก่า นิสิตเก่า นักศึกษาเก่า หรือนักเรียนเก่า ฯลฯ

สมาคมศิษย์เก่าซึ่งในที่นี้หมายความรวมไปถึงชมรมหรือสมาพันธ์หรืออะไรก็แล้วแต่ที่รวมกันเป็นกลุ่มศิษย์เก่าของสถาบันต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศที่มีการรวมตัวจัดตั้งขึ้นเป็นองค์กรขึ้นในประเทศไทยนั้น เป็นสิ่งที่เราลอกแบบมาจากต่างประเทศ โดยคิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นโดยไม่รู้เหตุผลว่าทำไมต้องมี นอกเหนือจากแนวความคิดที่ว่ารวมตัวกันเพื่อทำประโยชน์ (อะไรไม่รู้) ให้แก่สถาบันที่ตนจบมา ฉะนั้น เมื่อขาดรากฐานในวัฒนธรรมไทย สมาคมศิษย์เก่าของไทยเราจึงทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากการจัดงานสังสรรค์หรือจัดงานหาเงินโดยการเรี่ยไรจากศิษย์เก่าและร้านค้าต่างๆ

ในระยะแรกๆ คนจบการศึกษาขั้นสูงมีน้อย สมาคมศิษย์เก่ายังพอมีหน้าที่อยู่บ้างก็คือเป็นสัญลักษณ์ของ   ชนชั้นที่ได้รับการศึกษา โดยการจัดงานกินเลี้ยงต่างๆ แล้วส่งรูปไปลงหนังสือพิมพ์

โดยปกติแล้วการรวมกลุ่มในทางสังคมจะทำให้เกิดอำนาจอย่างหนึ่งขึ้นมานั่นคือพลังในการต่อรอง แต่น่าเสียดายที่สมาคมศิษย์เก่าไม่เคยมีบทบาทในการต่อรองมากนัก ในสงครามแย่งชิงอำนาจในกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ถึงแม้จะมีสีมีสถาบันก็ตาม แต่สมาคมศิษย์เก่าก็ไม่มีบทบาทในเรื่องนี้แต่อย่างใด

สาเหตุที่สมาคมศิษย์เก่าไม่สามารถเป็นกลุ่มต่อรองที่มีประสิทธิภาพก็เนื่องเพราะผลประโยชน์ของสมาชิกมีหลากหลายและมากมายเกินกว่าที่สมาคมจะทำหน้าที่อันนั้นได้ ยิ่งถ้าจะรณรงค์ให้สมาคมศิษย์เก่าเป็นกลุ่มพลังที่มีบทบาทเปลี่ยนแปลงอุดมคติทางสังคมนั้นเป็นอันว่าเลิกคิดได้เลยเพราะสมาชิกของสมาคมศิษย์เก่าแต่ละแห่งนั้นมีตั้งแต่ซ้ายสุดกู่จนถึงขวาตกขอบไปเลย มีตั้งแต่ผู้ที่ถือศีลกินเจไปจนถึงไอ้/อีโคตรโกง ฯลฯ

การที่จะวัดว่าสมาคมฯ ใดมีความเข้มแข็งก็มักจะวัดกันว่ามีข่าวคราวกิจกรรมออกทางหน้าหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนบ่อยครั้งแค่ไหน ทั้งๆ ที่กิจกรรมที่ว่าอาจจะเป็นเพียงการกินเลี้ยงสังสรรค์เฮฮากันธรรมดาๆ เท่านั้นเอง

ในส่วนของตัวนายกสมาคมฯ นั้นเล่า ส่วนใหญ่ก็มุ่งเข้าไปที่ผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โตในบ้านเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายข้าราชการประจำหรือฝ่ายการเมือง หรือไม่เช่นนั้นก็ต้องเป็นมหาเศรษฐีเงินเป็นตั้งๆ เพราะคิดว่าจะได้อาศัยบุญญาบารมีในการขอความร่วมมือ (รวมถึงการบีบบังคับโดยอ้อม) ในการทำกิจกรรมต่างๆ ของสมาคม ซึ่งแน่นอนผู้ที่มีตำแหน่งใหญ่โตหรือมหาเศรษฐีย่อมไม่มีเวลา และหาความเป็นกันเองกับศิษย์เก่าตัวเล็กๆ ได้ยาก นอกจากนั้นส่วนใหญ่แล้วนายกฯ หรือประธานฯ แต่ละคนก็มีบทบาทหรือสถานภาพอื่นๆ ในสังคมอยู่มากมายอยู่แล้ว ฉะนั้น กิจกรรมของสมาคมศิษย์เก่า ส่วนใหญ่จึงขึ้นอยู่กับกรรมการหรือสมาชิกไม่กี่คนที่วิ่งกันหัวฟู

จุดที่สมาคมศิษย์เก่าต่างๆ มักจะถูกโจมตีหรือถูกตำหนิติเตียนก็มิใช่มาจากเหตุอื่น ร้อยละเก้าสิบเก้าจุดเก้าเก้าก็มาจากศิษย์เก่าสถาบันนั้นนั่นเอง เช่น ทำอะไรไม่เห็นรู้เรื่อง หรือไม่ก็คณะกรรมการหรือสมาชิกมาจากไหน เห็นมีแต่พวกบ้ากิจกรรม (เรียกอย่างโก้ๆ ว่า active member) อยู่ไม่ถึงสิบเปอร์เซ็นต์ ดันทะลึ่งมาบอกว่าเป็นตัวแทนศิษย์เก่าทั้งหมด ฯลฯ

ว่ากันตามจริงแล้วบทบาทที่แท้จริงของสมาคมศิษย์เก่าก็คือ เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกัน (ตราบใดที่ผลประโยชน์ยังไม่ขัดกัน) เพื่อระลึกถึงความหลังหรือเพื่อพบปะสังสรรค์เพื่อความบันเทิงชั่วครั้งชั่วคราว ซึ่งก็มิใช่เรื่องที่เสียหายอะไร หากไม่เป็นการไปอ้างเอาอุดมการณ์ที่สูงส่ง เช่น เพื่อความสามัคคี เพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของสถาบัน ฯลฯ เข้ามาบดบังวัตถุประสงค์ที่แท้จริง เพราะอย่างน้อยที่สุดความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกันหรือความบันเทิงก็เป็นสิ่งที่มนุษยชาติจะพึงมี

ในอดีตเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 ได้เคยเกิดปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งนั้นก็คือการที่นายกสมาคมนิสิตเก่ารัฐศาสตร์จุฬาฯ ร่วมกับนิสิตเก่าจำนวนหนึ่งได้ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยกับการที่คณะอาจารย์จุฬาฯทำจดหมายเปิดผนึกเรียกร้องให้นายกทักษิณ(ในสมัยนั้น)ลาออก โดยในแถลงการณ์ของสมาคมฯบอกว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ท้ายที่สุดก็มีการนำรายชื่อไปยื่นต่อนายกรัฐมนตรีผ่านทางเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอยู่ดี

ซึ่งปฏิกิริยาตามมาก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งอยากจะตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ที่สมาคมศิษย์เก่าฯ ออกมามีบทบาทในครั้งนั้น นับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ค่อนข้างเหลือเชื่อและสร้างความงุนงงให้แก่ผู้ที่ได้ทราบข่าวนี้เป็นอันมาก เพราะดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ในบรรดาศิษย์เก่าของสถาบันการศึกษาต่างๆ นั้น มีทั้งคนที่ซ้ายสุดกู่ ไปจนถึงขวาตกขอบ ยากที่จะมีความเห็นร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งความเห็นทางการเมือง

ล่าสุดในปี 2560 นี้ก็ได้เกิดปรากฏการณ์คล้ายคลึงกันเกิดขึ้นอีกซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องการเมืองตามความหมายทางวิชาการทางรัฐศาสตร์เช่นกัน แม้ว่าหลายคนจะพยายามบอกว่าเป็นเรื่องภายในจุฬาฯเองก็ตาม จึงเป็นเรื่องที่นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาจะต้องไปจับมือกับนักรัฐศาสตร์ วิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้น คงเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่บ่อยครั้งนักที่มีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น และก็ไม่แน่นักนะครับหากต่อไปเราอาจจะได้ยินข่าวว่าสมาคมศิษย์เก่าโน่นสมาคมศิษย์เก่านี่ออกมามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

น่าจับตามองยิ่งนัก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท