ศสธ. เปิดเสียงสะท้อนคนอีสานกับการแก้กฎหมายบัตรทอง

ศูนย์สื่อชุมชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม รายงาน เสียงสะท้อนคนอีสานต่อการแก้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพ 3 ข้อกังวล หวั่นสัดส่วนบอร์ด สปสช. ภาคประชาชนลดลง

18 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากศูนย์สื่อชุมชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) ระบุว่าในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลมีการแก้กฎหมายหลายฉบับในด้านต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสื่อดิจิตอลและอินเตอร์เน็ต กฎหมายด้านเศรษฐกิจและทรัพยากรธรรมชาติ และหนึ่งในนั้นก็คือความพยายามที่จะแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “บัตรทอง” ดังปรากฏในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมารัฐบาลแสดงออกชัดเจนขึ้นต่อการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพ โดยให้เหตุผลเรื่องประสิทธิภาพและการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นั้น ได้ดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายหลายประเด็น ทำให้รัฐบาลมองว่าจำเป็นต้องมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพและได้จัดให้มีเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งหมด 5 เวที ในแต่ละภูมิภาครวมทั้งกรุงเทพมหานคร ทว่าก็ได้มีกระแสการออกมาคัดค้านอย่างกว้างขวาง

รายงานข่าวระบุว่า หากจะโฟกัสลงมาในภาคอีสานเองก็ได้มีการคัดค้านและล้มเวทีรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจัดขึ้นที่ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา  ดังนั้นผู้สื่อข่าวจึงสอบถามไปยังประชาชนในภาคอีสานว่ามีความคิดเห็นอย่างไรต่อการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ การแก้ไขครั้งนี้สำคัญต่อชาวอีสานอย่างไร

จิดาภา เฉียบแหลม ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ จ.ขอนแก่น และเครือข่ายผู้ติดเชื้อ HIV ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีความจำเป็นต่อการใช้สิทธิใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ เรื่องสิทธิในการรักษาพยาบาลจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่มีส่วนสำคัญต่องานที่เธอทำกับเครือข่ายผู้ติดเชื้อ โดย จิดาภา ได้เล่าให้ฟังว่า พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฉบับเดิมเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ได้รับการรักษาที่ได้มาตรฐาน และสำหรับผู้ที่ป่วยด้วยโรคไวรัสอย่างกลุ่มผู้ติดเชื้อHIV เอง ก็มีการให้ความรู้ในเรื่องการป้องกันโรคติดต่อทางเพศ และมียาให้กินอย่างต่อเนื่อง เพราะที่ผ่านมา สปสช.จัดซื้อยาต้านไวรัสได้ในราคาที่ถูก เนื่องจากซื้อเยอะทำให้มีอำนาจการต่อรองทำให้ยานั่นราคาถูกลง ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ถ้าหากมีการแก้ไขกฎหมายบัตรทอง แล้วให้กระทรวงสาธารณสุขหรือโรงพยาบาลเป็นผู้รับผิดชอบจัดซื้อยา ซึ่งยังเป็นประเด็นถกเถียงกันว่าหน่วยงานใดมีอำนาจซื้อยาตามกฎหมาย  แต่ถึงอย่างไรไม่ว่ากระทรวงสาธารณสุข หรือ โรงพยาบาล เป็นผู้จัดซื้อยาก็ยังมีข้อห่วงกังวลคือที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมักซื้อยาราคาที่แพงและไม่มีคุณภาพ อีกทั้งยังเคยมีการทุจริตเรื่องการซื้อยาของกระทรวงฯ จนเป็นข่าวอื้อฉาวมาแล้ว  การร่วมจ่ายก็ไม่รู้จะออกมาแบบไหน ก็เกรงว่าจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ป่วย  โดยเฉพาะในโรคที่มีค่ารักษาที่สูงประชาชนคนทุกข์คนยากจะอยู่อย่างไร  ที่ผ่านมาประชาชนก็ร่วมจ่ายไปแล้วในรูปแบบของการเสียภาษีให้แก่รัฐ

ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพ จ.ขอนแก่น  กล่าวต่อว่า สิ่งที่กังวลอีกอย่าง คือการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะมีการแยกเงินเดือนออกจากเงินรายหัว ซึ่งเดิมที่ผ่านมา สปสช. ได้มีการรวมเงินเดือนไว้ในค่าใช้จ่ายรายหัวของผู้ใช้บัตรทองผู้ป่วยอยู่ไหนหมอก็อยู่นั่น จึงสามารถช่วยลดปัญหาแพทย์ขลาดแคลนในชนบทได้ แต่ถ้าหากมีการรวมเงินเดือน อาจจะเกิดการกระจุกตัวของบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองใหญ่ๆ และอาจทำให้ชนบทขลาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ รวมไปถึงกระบวนการร้องเรียนในกรณีที่มีความเสียหายจากทางการแพทย์แต่เดิมก็สามารถร้องเรียนได้

“เราได้ประโยชน์เรื่องการดูแลสุขภาพ การคุ้มครองสิทธิ์ เราได้รับการรักษาฟรี ถ้าเราได้รับความเสียหาย ถ้าหากมีความเสียหายทางการแพทย์เราก็ร้องเรียนได้ ถ้าการให้การบริการไม่ดีเราก็สามารถร้องเรียนได้ ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญของพ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพที่ผ่านมา” จิดาภา กล่าว พร้อมระบุว่า ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายยกปัญหา พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพเดิมมาอธิบายว่าสาเหตุที่โรงพยาบาลบางแห่ง "ขาดทุน" จากโครงการบัตรทอง เพราะไม่มีการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งปัจจุบัน อยู่ที่ 3,109 บาท/คน/ปี ร่างกฎหมายบัตรทองฉบับใหม่ จึงกำหนดให้แยกค่าใช้จ่ายบุคลากรออกมา เพื่อให้สะท้อนต้นทุนการให้บริการที่แท้จริง แต่ทว่าอาจจะทำให้บุคลากรทางการแพทย์ขอย้ายไปทำงานในโรงพยาบาลที่อยู่ในกรุงเทพฯ หรืออยู่ในเขตเมือง โดยที่ตำแหน่งยังอยู่ในโรงพยาบาลในโรงพยาบาลประจำอำเภอ 

สุวรรณี ศรีสูงเนิน แกนนำชาวบ้านที่รุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยการคัดค้านในเรื่องการทำโรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองแร่โปแตช อ.เหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิและเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาะจากการเข้าร่วมเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ จ.ขอนแก่นและแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยในเวที โดยเธอมองว่า สิทธิหลักประกันสุขภาพทำให้ได้ประโยชน์ตรงที่เวลาคนเจ็บป่วยเราก็สบายไปรับยาจากหมอ ไม่ต้องให้ลูกรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษา เหมือนสมัยที่ยังไม่มีสามสิบบาทเราก็ต้องจ่ายเงินเอง ชาวบ้านได้ประโยชน์จากการรักษาพยาบาล ซึ่งถ้ามีการแก้ไขกฎหมายชาวบ้านจะลำบากขึ้น  เราอาจต้องหาเงินมารักษาตัวเอง และตอนนี้ทุกบ้านทุกครอบครัวต้องมีคนป่วยอยู่แล้ว  

“ชาวบ้านทั่วไปไม่มีเงินเดือน มีเพียงแค่เบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาท ไม่มีสวัสดิการเหมือนราชการ ที่ไม่เดือดร้อนหากมีการแก้ไขกฎหมายบัตรทองและเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบัตรทองมีประโยชน์อย่างไร ที่เขาบอกจะให้ร่วมจ่ายค่ารักษาเป็นแสนจะทำอย่างไร” สุวรรณี กล่าว

นอกจากนี้ยังมีเสียงของภาคประชาชนภาคประชาชนอีกคน คือ เตียง ธรรมอินทร์ แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี เป็นประชาชนที่ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชน และเป็นอีกหนึ่งคนที่ใช้สิทธิ์หลักประกันสุขภาพในการรักษาพยาบาล

เตียง กล่าวว่า ถ้าหากมีการแก้ไขกฎหมายบัตรทองมันก็คงไม่ดีถ้าหากให้ประชาชนร่วมจ่าย เพราะว่าถ้าสมมุติค่ารักษาพยาบาลมันสูงเป็นแสนๆ คงไม่มีเงินจ่าย  อีกประเด็นหนึ่งก็คือคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขกฎหมายบัตรทองส่วนมากก็เป็นข้าราชการ ซึ่งเขาไม่ได้ใช้สิทธิ์บัตรทองแล้วเขาจะเข้าใจคนที่ใช้บัตรทองอย่างพวกเราได้อย่างไร

“ประโยชน์ของการมีบัตรทองกะคือมันเฮ็ดให้คนป่วยที่บ่มีสิทธิ์รักษาพยาบาลแบบข้าราชการอย่างเฮาสามารถลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ บ่ว่าสิเป็นเบาหวาน ความดัน หรือโรคอื่น ที่มีผู้ป่วยหลายในชุมชน ถึงแม้มันจะยังบ่ดีเท่าที่ควรแต่มันกะดีกว่าบ่มี เพราะว่าขนาดมีสิทธิ์รักษาฟรีเฮายังต้องจ่ายค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล ซึ่งแต่ละครั้งก็บ่แม่นน้อยๆ” เตียง กล่าว 

ศูนย์สื่อชุมชน เพื่อสังคมที่เป็นธรรม ระบุว่า จากการสัมภาษณ์ประชาชนในภาคอีสานสำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพนั้นมีประเด็นหลักๆอยู่ 3 ประเด็นคือ

1. การปรับสัดส่วนบอร์ดบริหาร สปสช. ซึ่งดูเหมือนว่าที่นั่งในบอร์ดของภาคประชาชนซึ่งเป็นผู้รับบริการจะถูกลดลงและเพิ่มกลุ่มผู้ให้บริการ มาแทนซึ่งอาจจะส่งผลต่อการกำหนดนโยบายในอนาคต

2. การแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวโดยภาคประชาชนกังวลว่าอาจจะส่งผลให้บุคลากรทางการแพทย์เข้าไปอยู่ในเมืองโดยที่ตำแหน่งยังอยู่ในโรงพยาบาลขนาดเล็กประจำอำเภอ

3. การร่วมจ่ายซึ่งหากมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบให้ประชาชนร่วมจ่ายความกังวลเรื่องภาระที่เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีภาระอยู่แล้ว เช่นค่าเดินทาง ค่าที่พักของญาติ อาจจะต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้นจากการร่วมจ่าย ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้เป็นความกงัวลและประเด็นสำคัญที่รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท