สมลักษณ์ จัดกระบวนพล: ผู้ไต่สวนอิสระอาจเป็นทางรื้อคดีสลายการชุมนุมปี 53

อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีต ป.ป.ช. ชี้การรื้อคดีสลายการชุมนุมปี 2553 อาจใช้กระบวนการตั้งผู้ไต่สวนอิสระ ตามมาตรา 275 ในรัฐธรรมนูญ 2550 ระบุพูดทุกอย่างตามการวินิจฉัยของศาลฎีกา ย้ำคดีดังกล่าวต้องทำให้กระจ่าง โดยกระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงในศาล

ดูเหมือนจะถูกเข้าใจว่าจบสิ้นไปแล้วหลังจากที่ศาลฎีกาอ่านคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องในคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มเสื้อแดง หรือแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 10 เมษายน 2553 ถึงวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ภายใต้การออกคำสั่งของอภิสิทธิ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีตามลำดับในเวลานั้น โดยมีการประกาศขอคืนพื้นที่การชุมนุมโดยใช้กระสุนจริง ประกอบกับใช้กองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งฝ่ายประชาชนที่ออกมาชุมนุม และเจ้าหน้าที่รัฐรวม 99 ศพ และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก

31 สิงหาคม 2560 ให้หลังจากการอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาไม่กี่ชั่วโมง อภิสิทธิ์ ได้โพสต์ข้อความผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์ @Mark_Abhisit โดยใจความตอนหนึ่งระบุว่า  “ผมขอขอบคุณสำหรับความเป็นธรรมที่ได้รับ เพราะการตรวจสอบการทำงานของผมในช่วงเหตุการณ์ปี 2553 เป็นเรื่องของ ป.ป.ช.กับศาลฎีกาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ได้วินิจฉัยกรณีนี้ไปแล้ว”(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ขณะที่สุเทพ ได้ให้สัมภาษณ์หลังรับฟังคำพิพากษา โดยระบุว่าไม่เข้าใจว่าทำคดีดังกล่าวจึงมีการยื่นฟ้อง อภิสิทธิ์ รวมอยู่ด้วย เนื่องจากอภิสิทธิ์ ได้มอบหมายให้ตนซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และคดีนี้ศาลชั้นต้น และอุทธรณ์ ได้มีคำสั่งยกฟ้องไม่รับสำนวนไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นอำนาจของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ส่วนกรณีที่ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ จะไปยื่นคำร้องถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้นำคดีนี้พิจารณาขึ้นมาใหม่นั้น สุเทพ  เห็นว่า ณัฐวุฒิ จ้องเล่นงานตนอยู่แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร อโหสิกรรม (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ด้านพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2560 โดยระบุถึงกรณีที่ นปช. จะเรียกร้องให้ ป.ป.ช. รื้อคดีการสลายการชุมนุมปี 2553 ทำให้มีผู้เสียชีวิต 99 ศพ มาพิจารณาใหม่ว่า ถึงวันนี้ไม่มีอะไรที่มีผลกระทบต่อหน่วยงานด้านความมั่นคง ทุกอย่างก็ว่ากันไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนที่กลุ่มนปช. อยากให้รื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่นั้น จะให้รื้อขึ้นมาอีกทำไมเจ้าหน้าที่ทำแทบตาย (อ่านข่าวที่เกียวข้อง)

ในขณะที่ ณัฐวุฒิ พร้อมแกนนำ นปช. คนอื่นๆ ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 ระบุชัดจะพยายามทุกวิถีทางเพื่อรื้อคดีสลายการชุมนุมปี 2553 ให้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลให้ได้ โดยจะมีการไปยื่นพยานหลักฐานใหม่ให้กับ ป.ป.ช. เพื่อให้มีการหยิบคดีดังกล่าวมาพิจารณาอีกครั้ง ทั้งยังระบุอีกด้วยว่าคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีดังกล่าว ไม่ได้เป็นการตัดสินว่าอภิสิทธิ์ และสุเทพ ได้พ้นจากความผิดที่สั่งสลายการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ท่ามกลางความมืดมนของผู้ที่สูญเสีย ในห้วงรอยต่อระหว่างช่วงเวลา 7 ปีที่สูญเปล่า กับการเริ่มต้นเดินทางครั้งใหม่เพื่อนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ยังไม่รู้ชัดว่าจะดำเนินไปโดยใช้เวลาอีกนานแค่ไหน ประชาไทสัมภาษณ์ สมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา และอดีตคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ซึ่งเป็นอดีตของทั้งสององค์กรที่มันอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีดังกล่าว เธอระบุชัดว่า คดีดังกล่าวควรเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในข้อเท็จจริง แม้จริงไม่สามารถคืนชีวิตให้กับผู้สูญเสียได้ แต่การให้เรื่องได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือการเยียวยาในเบื้องต้น และการให้เงินชดเชยอย่างเดียวไม่เพียงพอ เพราะความเจ็บซ้ำน้ำใจของผู้สูญเสียมันลึกเกินกว่าจะเข้าใจ คำถามที่ตามมาคือจะนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอีกครั้งได้อย่างไร

“ให้ผู้เสียหาย ยื่นเรื่องต่อประธานศาลฎีกา ตามมาตรา 275 วรรค 4 รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เพื่อตั้งผู้ไต่สวนอิสระ” นี่คือคำตอบของสมลักษณ์ ซึ่งเธอยืนยันว่าไม่ได้พูดนอกเหนือไปจากคำพิพากษาศาลฎีกา และยืนยันว่าคำพิพากษานี้ถือเป็นบรรทัดฐานที่มีผลในทางปฏิบัติ

000000

ยกฟ้องเพราะศาลไม่มีอำนาจพิจารณา ไม่ได้หมายความว่าจำเลยไร้ความผิด

สมลักษณ์ เริ่มต้นอธิบายคำพิพากษายกฟ้องของศาลฎีกาในคดีที่อภิสิทธิ์ และสุเทพ เป็นจำเลยจากกรณีการออกคำสั่งสลายการชุมนุม โดยอนุญาตให้มีการใช้กระสุนจริง และกองกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ ซึ่งตามคำฟ้องอัยการได้ขอให้ศาลพิจารณาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83 และ 84 ว่า ในภาษาทางกฎหมายถือเป็นการยกฟ้องในข้อกฎหมาย โดยการวินิจฉัยของศาลจะมีการวินิจฉัยสองส่วนคือ เรื่องของข้อกฎหมาย กับเรื่องของข้อเท็จจริง

“ในส่วนของคำพิพากษาศาลฎีกา กรณีฟ้องอภิสิทธิ์ และสุเทพสั่งสลายการชุมนุม เป็นการยกฟ้องในเรื่องของข้อกฎหมาย คือมาผิดศาล มาผิดทาง แต่ยังไม่มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่ากระทำของจำเลยที่มีการออกคำสั่ง อนุญาตให้มีการใช้อาวุธสงคราม ใช้กระสุนจริง ใช้กำลังทหารเข้าไปสลายการชุมนุม ว่าการกระทำเหล่านี้ผิดหรือไม่ หรือมีเจตนาพิเศษที่จะใช้เข้าไปฆ่าคนที่มาชุมนุม ตรงนี้คือข้อเท็จจริง ซึ่งยังไม่ได้รับการวินิจฉัย มีเพียงการวินิจฉัยในเรื่องขอบเขตอำนาจศาลว่า ศาลอาญานั่นไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เนื่องจากเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” สมลักษณ์ กล่าว

สมลักษณ์เห็นว่า หากจะมีการดำเนินการยื่นฟ้องใหม่ ก็สามารถทำได้เพราะในกรณีนี้ศาลยังไม่ได้วินิจฉัยในข้อเท็จจริง เพียงแต่พิจารณาในข้อกฎหมาย ซึ่งมันเป็นคนละเรื่องกัน ฉะนั้นหากจะฟ้องใหม่ก็ถือว่าฟ้องได้ แต่ต้องไปให้ถูกทาง

สำหรับเรื่องการไปให้ถูกทาง หรือฟ้องให้ถูกศาลนั้น สมลักษณ์ได้อ่านคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วพบว่า คำพิพากษานี้ไม่ได้เป็นการยกฟ้องลอย เนื่องจากในคำพิพากษา ศาลได้อธิบายไว้ด้วยว่า คดีนี้ต้องดำเนินการอย่างไรเป็นขั้นตอน ซึ่งเธเห็นว่าเป็นการชี้ทางสว่างให้แก่ผู้ที่สูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก ผู้ทุกข์ใจ เจ็บปวดหัวใจ และไม่รู้จะเดินไปทางไหนต่อ

“โดยท่านระบุว่า คดีนี้มันเกิดขึ้นในปี 2553 ฉะนั้นในเวลานั้นเรายังใช้รัฐธรรมนูญ 2550 กันอยู่ ก็ต้องไปบังคับด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนั้น แล้วท่านบอกละเอียดเลยว่าคดีนี้มีกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท อธิบายเพิ่มเติมก็คือ มันเป็นบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ยกตัวอย่างที่เห็นชัดคือ คนเข้าไปบุกรุกบ้านคนอื่น ก็มีความผิดบุกรุก แต่ถ้าไม่ได้เข้าทางประตูดันไปทุบกระจกหน้าต่างบ้านเขาแตก ก็มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์เพิ่มเข้าไปด้วย ฉะนั้นกรณีการสั่งสลายการชุมนุมก็เหมือนกันเพราะเป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันอาจจะมีเจตนาพิเศษโดยการใช้กองกำลังทหาร และมีการอนุญาตให้ใช้อาวุธจริง ฉะนั้นตามคำฟ้องของโจทก์ชี้ให้เห็นว่ามีเจตนาพิเศษ จึงเป็นไม่ใช่การปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะมันมีเจตนาพิเศษนอกเหนือไปจากนั้น

การกระทำในฐานะของนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็มีเจตนาที่ไม่ใช่เจตนาที่จะใช้อำนาจธรรมดาเพื่อสลายการชุมชนเพียงเท่านั้น แต่บุคคลทั้งสองมีเจตนาพิเศษเนื่องจากไปใช้กำลังทหาร แล้วใช้อาวุธจริง เป็นอาวุธที่ใช้ในการสงคราม เล็งเห็นได้เลยว่าการกระทำอย่างนี้มุ่งหมายที่จะให้เป็นการทำลายชีวิตของบุคคลที่ชุมนุมอยู่  อันนี้คือสิ่งที่ศาลฎีกาวินิจฉัย อาจารย์ไม่ได้พูดไปนอกเหนือจากนี้” สมลักษณ์ กล่าว

สมลักษณ์ระบุด้วยว่า การวินิจฉัยของศาลฎีกายังชี้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท อยู่ในอำนาจตาม 24 ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 โดยมาตรา 24 ระบุว่า ในการฟ้องคดีอาญาสำหรับการกระทำอันเป็นกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท และบทใดบทหนึ่งอยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้ศาลรับพิจารณาพิพากษาความผิดบทอื่นไว้ด้วย

“นี่คือการอธิบายคำพิพากษาศาลฎีกา ว่าหากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงแหน่งทางการเมืองรับพิจารณาคดีมาตรา 157 จะต้องรับคดีตามมาตรา 288 80 83 84 ไว้ด้วย และท่านพูดชัดเลยว่าคดีนี้อยู่ในระหว่างที่บังคับใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 และบอกมาตราไว้ด้วยว่าต้องไปตามช่องทางในมาตรา 250 คือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และมาตรา 275 ก็เป็นเรื่องที่ระบุว่า ตำแหน่งอะไรบ้างที่อยู่ในอำนาจของ ป.ป.ช. และระบุถึงกรณีของการดำเนินการว่า หาก ป.ป.ช.มีการดำเนินการที่ล่าช้า หรือ ไม่ชี้มูลความผิด ก็สามารถยื่นต่อที่ประชุมศาลฎีกา เพื่อให้มีการตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ แต่คำพิพากษาของศาลฎีกาไม่ได้ละเอียดขนาดนั้น บอกแต่เพียงว่าให้ไปใช้มาตรา 275 ตามรัฐธรรมนูญ 2550“ สมลักษณ์ กล่าว

มีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ทำไมถึงได้ย้อนกลับไปใช้รัฐธรรมนูญเก่า

เมื่อถามอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาว่า จะเป็นไปได้จริงๆ หรือหากจะมีการยื่นเรื่องต่อที่ประชุมศาลฎีกาเพื่อให้มีการตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระ โดยที่ไม่ต้องผ่านช่องทางของ ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว สมลักษณ์ ระบุชัดว่า การชี้ช่องทางนี้ไม่ได้เป็นสิ่งที่คิดขึ้นเอง หากแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในคำพิพากษาของศาลฎีกาเอง

“บอกตรงนี้ก่อนว่าอาจารย์ไม่ได้พูดนอกเหนือไปจากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาเลย เพราะศาลฎีกาบอกว่าขณะเกิดเหตุ ท่านบอกว่าขณะเกิดเหตุเนี่ยยังใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 จึงต้องให้การฟ้องคดีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งยังบอกมาตราด้วย ฉะนั้นสิ่งที่อาจารย์พูดก็เพียงแต่พูดตามคำพิพากษาศาลฎีกา ฉะนั้นหากจะเถียงอาจารย์ก็ต้องไปเถียงศาลฎีกา” สมลักษณ์ กล่าว

สมลักษณ์ระบุด้วยว่า หลายคนมักคิดว่ามาตรา 275 ในรัฐธรรมนูญ 2560 สุดท้ายแล้วกระบวนการต่างๆ จะอยู่ที่ ป.ป.ช. แต่ในวรรค 4 ได้ระบุชัดว่า ในกรณีที่พูดถูกกล่าวตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือประธานวุฒิสภา ผู้เสียหายจากการกระทำดังกล่าวจะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เช่นดำเนินการตามมาตรา 250 (2) หรือ จะยื่นคำร้องต่อที่ประชุมคำร้องต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพื่อขอให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสสระตามมาตา 276 ก็ได้ แต่ถ้าผู้เสียไปยื่นที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แล้ว กรณีที่เป็นคดีที่อยูในอำนาจ ป.ป.ช. จะไปยื่นที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาไม่ได้ จะยื่นได้ก็ต่อเมื่อ ป.ป.ช. ไม่รับดำเนินการไต่สวน หรือดำเนินการล่าช้าเกินสมควร หรือดำเนินการไต่สวนแล้วเห็นว่า ไม่มีมูลความผิดตามข้อกล่าวหา

“การที่จะมีการไปยื่น ป.ป.ช. ให้พิจารณาอีกครั้ง มันดูจะลำบาก เพราะตามกฎหมาย ป.ป.ช. มันติดอยู่ที่มาตรา 86 ที่ห้ามไม่ให้คณะกรรมการยกเรื่องที่ได้มีการวินิจฉัยเสร็จเด็ดขาดแล้ว ยกเว้นแต่มีพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นข้อสำคัญแห่งคดีจึงจะยกมาพิจารณาใหม่ได้ ทีนี้ข้อสำคัญในพยานหลักฐานใหม่มันจะไปหาที่ไหน แล้วถ้าหามาได้จะไปยื่นให้ ป.ป.ช. เราก็ยังอยู่ในการวินิจฉัยดุลยพิจนิจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อยู่ดี เขาก็ต้องมาว่าพยานหลักฐานที่ยื่นมาใหม่หรือไม่ ถ้าไม่ใหม่เขาก็ไม่รับอีก มันก็ไปได้ยาก ถ้าทำตามทนายผู้เสียบอกว่าจะไปยื่น ป.ป.ช. อีกครั้ง ความเห็นอาจารย์คิดว่า ซึ่งไม่ได้ชี้ว่าใครถูกใครผิด แต่มันเป็นความเห็นที่ต่างกันเท่านั้น อาจารย์มองว่ามันยากที่จะไปทาง ป.ป.ช. อีกครั้ง

ทีนี้ท่านเปลี่ยนไปในช่องทางที่อาจารย์ว่าคือตามมาตรา 275 (4) ไปทางที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกายื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ไต่สวนอิสระตามมาตรา 276 ท่านจะไปได้เลย และคณะไต่สวนอิสระก็จะทำหน้าที่เหมือนคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อไต่สวนเสร็จแล้วก็จะส่งไปที่ สนช. เพื่อให้ลงมติถอดถอนก็ได้ด้วย แล้วในส่วนที่เป็นความผิดทางกฎหมายก็ยื่นให้ศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ได้ หากเห็นว่ามีมูลความผิดจริง” สมลักษณ์ กล่าว

ทั้งนี้สมลักษณ์กล่าวย้ำในตอนท้ายด้วยว่า สิ่งที่ทำให้เชื่อว่าการยื่นเรื่องเพื่อขอตั้งผู้ไต่สวนอิสระสามารถทำได้ เป็นเพราะศาลฎีกาวินิจฉัยออกมาอย่างนี้ ในขณะที่รัฐธรรมนูญใหม่ก็ประกาศใช้แล้ว ซึ่งระบุชัดว่าเหตุเกิดในปี 2553 ดังนั้นคำพิพากษาจึงพูดถึงรายละเอียดว่าต้องไปดำเนินการอย่างไรต่อ นี่ก็คือการชี้แนวทางให้ และคำวินิจฉัยของศาลฎีกาถือเป็นแนวบรรทัดฐาน โดยเฉพาะคนที่เรียนกฎหมาย โดยเฉพาะศาลต้องยึดถือ

คดีนี้ต้องทำให้กระจ่าง หากผู้สูญเสียหันไปพึ่งฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ ก็เหลือแค่ฝ่ายตุลาการ

สมลักษณ์เห็นว่า ตามแนวทางของรัฐธรรมนูญ 2550 จะเป็นการช่วยเหลือผู้คนที่ไม่มีหนทาง และยังเป็นการช่วยประเทศด้วย เพราะเมื่อไหร่ที่ผู้คนเริ่มหมดหนทางที่จะทวงถามความยุติธรรม ก็ยากที่จะจินตนาการว่าจะเกิดอะไรขึ้น

“เวลาคนเราเจ็บซ้ำน้ำใจ จะไปขอเพิ่งฝ่ายบริหารก็ไม่ได้ จะไปขอเพิ่งฝ่ายนิติบัญญัติก็ไม่ได้ เหลืออยู่ทางเดียวคือตุลาการ ถ้าไม่ได้อีก คนเรามันเกิดความอัดอั้นตันใจ และความอดทนของคนเรามีขีดจำกัด ฉะนั้นต้องหาทางออกที่ดีที่สุดเพื่อให้เขารู้สึกว่า เขาได้รับการเยียวยาในการที่เขาสูญเสียคนที่รักไป ดีกว่าที่จะไปให้เงินเขาอย่างเดียว เพราะชีวิตคนมันไม่สามารถจะเรียกคืนมาได้ และความเจ็บซ้ำน้ำใจมันลึกมาก” สมลักษณ์ กล่าว

สมลักษณ์ กล่าวด้วยว่า คดีดังกล่าวจะต้องทำให้กระจ่าง เพราะเป็นเรื่องของการสลายการชุมนุม ซึ่งจะต้องมีการวินิจฉัยข้อเถียงจริงโดยศาล ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ และในการวินิจฉัยก็จะมีการระบุเหตุผลว่าทำไมถึงผิด หรือทำไมถึงไม่ผิด ผู้คนจะได้ไม่มีอะไรค้างคาใจ

คำพิพากษาจะกลายเป็นแนนวบรรทัดฐานสำหรับคนหลายกลุ่ม ในส่วนของผู้บริหารประเทศ ก็จะได้รู้ว่าหากการกระทำตามข้อเท็จกรณีสลายการชุมนุมไม่ผิด ต่อไปในอนาคตใครจะสลายการชุมนุมโดยอาวุธสงคราม และกองกำลังทหารก็ทำได้ ในส่วนของผู้ที่จะไปชุมนุมเองก็จะได้รู้ว่าหากคำพิพากษาของศาลออกมาว่าไม่ผิด จำเลยสามารถสั่งให้ใช้อาวุธสงครามได้ เขาจะได้ระวังตัวเองในการที่จะไปชุมนุม หากจะไปชุมนุมกันแต่ทางผู้บริหารสามารถใช้อาวุธก็ได้ ใช้กำลังทหารมาขอคืนพื้นที่ก็ได้ เขาจะได้ระวังว่า คุ้มไหมที่จะมีความเห็นต่างจากผู้บริหาร แล้วไปนั่งชุมนุมกันอยู่วันดีคืนดีมีกระสุนโป้งมา แต่เรียกร้องอะไรไม่ได้เลย เขาจะได้ระมัดระวัง” สมลักษณ์ กล่าว

ข้อมูลเพิ่มเติม

อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาที่นี่  /  อ่านมติของ ป.ป.ช. ที่นี่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท