Skip to main content
sharethis

ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... เพื่อ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีการบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร พร้อมทั้งเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์  (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. 

ภาพจาก เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

 

19 ก.ย. 2560 รายงานข่าวจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาลระบุว่า วันนี้ (19 ก.ย.60)  เวลา 09.00 น. ณ อาคาร 100 ปี ศูนย์ภาษาและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 2/2560 ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย พ.อ.อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมแถลงผลการประชุม ครม. ดังกล่าว

โดยประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ครม. มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. .... ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ปรับปรุงอีกครั้งเพื่อให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 60 และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

สำหรับสาระสำคัญของร่างนี้ เป็นการกำหนดให้พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และ จ.ระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกตามที่จะได้กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ มีการบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร จัดทำโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพ และกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่โดยสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ตั้ง สนง.ส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์

ครม.มีมติอนุมัติและเห็นชอบดังนี้ 1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์  (องค์การมหาชน) พ.ศ. …. ตามที่รองนายกรัฐมนตรี คือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ในฐานะรัฐมนตรีกำกับดูแลสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา  ตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ 2. มอบหมายให้สำนักงาน ก.พ.ร. รับความเห็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

และ 3. เห็นชอบให้ยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 58 ที่ให้โอนภารกิจด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปไว้ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และมอบให้เป็นภารกิจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)

สำหรับ สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. ….    มีสาระสำคัญดังนี้

1. กำหนดนิยามคำว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” “ความคิดสร้างสรรค์” “สำนักงาน” “คณะกรรมการ” “ผู้อำนวยการ” “เจ้าหน้าที่” “ลูกจ้าง” และคำว่า “รัฐมนตรี” เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้

2. กำหนดให้สำนักงานมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ส่งเสริมสนับสนุนนวัตกรรมและการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งจัดเก็บข้อมูล สถิติองค์ความรู้ และนวัตกรรมต่าง ๆ พัฒนาผู้ประกอบการ และส่งเสริมให้เกิดการนำกระบวนคิดเชิงสร้างสรรค์ไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้ง ส่งเสริมและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

3. กำหนดทุนและทรัพย์สินในการดำเนินงานของสำนักงานประกอบด้วยเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามมาตรา 41 เงินที่รัฐบาลจ่ายให้เป็นทุนประเดิม เงินอุดหนุนทั่วไป เงินอุดหนุนจากเอกชน ค่าธรรมเนียม  ค่าบำรุง ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือรายได้จากการดำเนินกิจการ รวมถึงดอกผลหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่เกิดจากทรัพย์สินของสำนักงาน

4. กำหนดให้มีคณะกรรมการ ประกอบด้วยประธานกรรมการ ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง กรรมการโดยตำแหน่งจำนวน 4 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกิน 5 คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง โดยมีผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการโดยตำแหน่ง

5. กำหนดให้ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่เป็นผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี เมื่อพ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินสองวาระไม่ได้

6. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลโดยทั่วไปซึ่งกิจการของสำนักงาน อำนาจเช่นว่านั้นให้รวมถึงการกำหนดนโยบายการบริหารงาน อนุมัติแผนการลงทุน แผนการเงิน ออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับสำนักงานในเรื่องการแบ่งส่วนงาน การกำหนดตำแหน่ง การคัดเลือก บรรจุ แต่งตั้ง วินัยและการลงโทษวินัย การออกจากตำแหน่ง การกำหนดเครื่องแบบผู้อำนวยการ เจ้าหน้าที่และลูกจ้าง รวมทั้งกำหนดเครื่องหมายของสำนักงาน เป็นต้น

7. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับบัญชี การตรวจสอบ และการประเมินผลงาน โดยกำหนดให้การบัญชีของสำนักงานให้จัดทำตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนดซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานบัญชี และต้องจัดให้มีการตรวจสอบภายในเกี่ยวกับการเงิน การบัญชีและการพัสดุของสำนักงาน และให้ปฏิบัติงานของสำนักงานทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบภายในให้รับผิดชอบขึ้นตรงต่อคณะกรรมการ และการแต่งตั้ง โยกย้าย เลื่อนเงินเดือน และลงโทษวินัยของผู้ตรวจสอบภายใน ให้ผู้อำนวยการและคณะกรรมการตรวจสอบพิจารณาร่วมกันแล้วเสนอให้คณะกรรมการให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการ

8. กำหนดบทเฉพาะกาล ในวาระเริ่มแรก ให้ผู้อำนวยการหรือรองผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2547 ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้ไปพลางก่อน จนกว่าจะมีการแต่งตั้งผู้อำนวยการตามพระราชกฤษฎีกานี้ ซึ่งต้องไม่เกิน 90 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ หากยังไม่สามารถสรรหาได้ให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 60 วัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net