Skip to main content
sharethis

แม้ว่าศาลสูงของอิรักจะตัดสินให้ระงับการทำประชามติของชาวเคิร์ดเพื่อขอแยกตัวเป็นอิสระ โดยระบุว่าไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตามกลุ่มชาวเคิร์ดยังคงเตรียมจัดประชามติในวันที่ 25 ก.ย. เพื่อชี้ขาดอนาคตของภูมิภาคซึ่งมีประชากรอยู่กว่า 5.2 ล้านคน และมีกลุ่มติดอาวุธที่เป็นกำลังสำคัญในการต่อต้านไอซิส

ที่มาของภาพประกอบ: kurdistan24.net

20 ก.ย. 2560 หลังจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (18 ก.ย.) ศาลสูงของอิรักตัดสินให้ระงับการทำประชามติแยกตัวเป็นอิสระของชาวเคิร์ดที่มีแผนการจัดขึ้นในวันที่ 25 ก.ย. ที่จะถึงนี้ หลังจากมีคนฟ้องร้องได้แก่ ไฮเดอร์ อัล อาบาดี นายกรัฐมนตรีอิรัก และสมาชิกสภาของอิรัก 4 ราย พวกเขาเรียกร้องให้มีการยับยั้งการทำประชามติของชาวเคิร์ดโดยอ้างว่าไม่เป็นไปตามหลักการรัฐธรรมนูญอิรัก

อย่างไรก็ตามอับดุลเลาะห์ วาร์ตี สมาชิกของคณะกรรมการประชามติชาวเคิร์ดกล่าวต่อซีเอ็นเอ็นว่าจะมีการจัดประชามติต่อไป โดยที่ประชามติในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากทูตของสหประชาชาติ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และตุรกี

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่าการจัดประชามติแยกตัวของชาวเคิร์ดในช่วงเวลานี้จะกลายเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจออกจากการต่อสู้เพื่อกำราบกลุ่มก่อการร้ายไอซิส การช่วยฟื้นฟูพื้นที่ที่ยึดครองจากไอซิสกลับมาได้และจัดตั้งสถานที่ปลอดภัยสำหรับรองรับผู้ลี้ภัย 3 ล้านรายและผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ ในเรื่องนี้ไมเคิล ฟอลลอน รัฐมนตรีกลาโหมของอังกฤษและทำเนียบขาวก็กล่าวไว้ในทำนองเดียวกัน

ส่วนตุรกีกังวลว่าการทำประชามติแยกตัวเป็นอิสระของชาวเชื้อสายเคิร์ดในอิรักอาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มชาวเชื้อสายเคิร์ดในตุรกีทำตามบ้าง

ในปัจจุบันภูมิภาคเคอร์ดิสถานแห่งอิรัก (KRG) เป็นพื้นที่กึ่งปกครองตนเองนำโดยรัฐบาลชาวเคิร์ด ชาวเคิร์ดในอิรักยังเป็นกำลังสำคัญในการสู้รบต่อต้านกลุ่มไอซิสโดยมีกลุ่มชาวเคิร์ดติดอาวุธที่ชื่อกลุ่มเพสเมอร์กาในทางตอนเหนือของอิรักและกองกำลังคุ้มครองของประชาชนวายดีจีทางตอนเหนือของซีเรีย

ขณะที่ KRG ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลกลางอิรักให้มีอำนาจบริหารปกครองจังหวัดโดฮูก, เออร์บิล, สุเลมานิยาห์, ฮาลับจา โดยมีเออร์บิลเป็นที่ตั้งเมืองหลวงของเขตกึ่งปกครองตนเองและมีกองกำลังของตนเอง อย่างไรก็ตามผู้ที่จัดสรรงบประมาณให้คือรัฐบาลกลางของอิรัก

อัลจาซีราระบุว่าการทำประชามติอิสระของชาวเคิร์ดในครั้งนี้มีโอกาสสูงที่จะลงมติสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระ แต่ทว่าการลงประชามติในครั้งนี้จะไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมาย แต่ก็อาจจะทำให้รัฐบาลชาวเคิร์ดมีความชอบธรรมในการเรียกร้องแยกตัวเป็นรัฐอิสระมากขึ้น

ซีเอ็นเอ็นระบุว่ามีกลุ่มชาวเคิร์ดกระจายตัวอยู่เป็นชนกลุ่มน้อยตามที่ต่างๆ ในประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศ ในซีเรียมีจำนวนประชากรชาวเคิร์ดอยู่ร้อยละ 10 ในตุรกีมีอยู่ร้อยละ 19 ในอิรักมีอยู่ราวร้อยละ 15-20 และในอิหร่านมีอยู่ราวร้อยละ 10 โดยที่ชาวเคิร์ดไม่มีรัฐชาติของตัวเองจึงมีขบวนการชาตินิยมชาวเคิร์ดเกิดขึนทั่วภูมิภาค

อัลจาซีรายังได้ทำแผนภาพข้อมูลของดินแดนเคอร์ดิสถานที่ระบุว่ามีประชากรอาศัยอยู่ 5.2 ล้านคน มีลักษณะการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา กองกำลังเพสเมอร์กาประจำการอยู่มากกว่า 200,000 นาย พื้นที่บางส่วนไม่ใช่พื้นที่ที่ KRG ปกครองอย่างเป็นทางการแต่ก็มีการอ้างกรรมสิทธิโดยกลุ่มเพสเมอร์กา และบางส่วนก็มีการอ้างกรรมสิทธิ์จากกลุ่ม KRG ซึ่งจัดเป็นพื้นที่พิพาท

ก่อนหน้านี้นัจมาลดิน คาริม ผู้ว่าการจังหวัดคีร์คูกซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลเคอร์ดิสถานเคยกล่าวไว้เมื่อเดือนกรกฎาคมว่ากองกำลังเพสเมอร์กาเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ต่อต้านการรุกรานของไอซิส รวมถึงชาวเคิร์ดถูกเหยียดและกีดกันมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว จึงเรียกร้องให้ชาวเคิร์ดสามารถแสดงความคิดเห็นเรื่องการขอเป็นอิสระได้ เขาอยากให้มีการจัดการลงประชามติในเรื่องนี้และมีการหารือกับรัฐบาลอิรักเพื่อให้มีกระบวนการแยกตัวเป็นอิสระอย่างสันติ

เรียบเรียงจาก

Kurdish referendum in Iraq: What and where?, Aljazeera, 18-09-2017

Iraq's top court orders suspension of Kurdish independence referendum, CNN, 18-09-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net