นิธิ เอียวศรีวงศ์: ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยและย้ำรอย

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

เหตุที่ผมไม่เคยเรียกคุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์ ว่าอาจารย์นั้นเป็นเหตุผลพื้นๆ มาก หนึ่งคือ ไม่เคยเรียกอย่างนี้มาตั้งแต่ได้รู้จักท่านแต่แรก และสอง ท่านไม่ได้อยู่ในอาชีพที่จะเรียกเป็นอาจารย์ได้ เช่น ไม่ได้เป็นครู, ไม่ได้เป็นช่างผม และไม่ได้เป็นหมอดู แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผมได้เรียนรู้จากคุณสุลักษณ์มาก ส่วนใหญ่แล้วก็เรียนรู้ด้วยความเคารพชื่นชม ส่วนน้อยที่ไม่เชื่อฟัง จึงได้เรียนรู้การเจริญกรุณาและอุเบกขาของคุณสุลักษณ์ ซึ่งไม่เคยถือโทษโกรธเคืองใครที่มีความเห็นต่างเลย

ถ้าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจริง ก็ไม่รู้จะซ้ำรอยไหนดี เพราะมันมีรอยให้ซ้ำได้เป็นร้อยเป็นพันรอย ยิ่งมีความรู้ประวัติศาสตร์มาก ก็ยิ่งรู้จักรอยให้ซ้ำมาก

นโปเลียนจะเป็นฝรั่งเศสหรือไม่ก็ตาม แต่เขา เลือก จะเป็นคนฝรั่งเศส ส่วนจะเลือกเพราะเห็นโอกาสก้าวหน้าดีกว่าเป็นคอร์สิกัน หรือเพราะเหตุอื่นนั้นไม่เกี่ยว เพราะการเลือกเป็นพลเมืองของ “ชาติ” ใดนั้นไม่ใช่เรื่องศีลธรรม

การเป็นฝรั่งเศสจากการ เลือก เกิดขึ้นได้ ก็เพราะสำนึกใหม่ในยุโรป คือฝรั่งเศสหรือบ้านเมืองย่อมเป็นสมบัติของประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะมีสกุลรุนชาติหรือไม่ ก็ได้เป็นเจ้าของฝรั่งเศสเท่ากันกับคนอื่น พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือฝรั่งเศสเปลี่ยนจากราชสมบัติของพระเจ้าแผ่นดินกลายเป็น “ชาติ”

โดยเชื้อชาติและภาษา นโปเลียนจะเป็นอะไรก็ตาม แต่เขาเป็นฝรั่งเศสแน่ เมื่อเขา เลือก จะเป็นฝรั่งเศส นี่คือ “ฝรั่งเศส” ใหม่ที่พระเจ้าชาลมาญและแม่หญิงยันดาร์ก (โจนส์ออฟอาร์ก) ไม่ได้เป็น

นอกจากนโปเลียนและสกุลโบนาปาร์ต เลือก เป็นฝรั่งเศสแล้ว ผมเชื่อว่ามีคนชายขอบอีกมาก – ทั้งชายขอบทางภูมิศาสตร์ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินฝรั่งเศสไม่แน่ใจว่าเป็นสมบัติของกูหรือไม่ และชายขอบทางสังคม ซึ่งอาจอยู่กลางปารีสเลย แต่ไม่เคยมีใครเห็นหัว – เลือกจะเป็นฝรั่งเศสเหมือนกัน

นี่คือพื้นฐานความแข็งแกร่งของกองทัพนโปเลียน หรือพูดให้ชัดกองทัพแห่งชาติฝรั่งเศสภายใต้นโปเลียน ยกไปรบกับกองทัพของพระราชาในรัฐต่างๆ ก็เอาชนะได้ราบคาบทั่วยุโรปภาคพื้นทวีป ก็ทหารของพระราชาทั้งหลายไม่ได้รบเพื่อปกป้องสมบัติของตนเอง จะมีใจสู้รบอย่างฮึกเหิมเหมือนทหารฝรั่งเศสได้อย่างไร

(ยกเว้นอังกฤษ แต่ที่ยกเว้นก็เพราะอังกฤษได้เข้าสู่การปฏิวัติที่ปลุกสำนึกใหม่นี้มาก่อนฝรั่งเศสแล้วในปลายศตวรรษที่ 17)

แม้ว่านโปเลียนตั้งตัวเป็นจักรพรรดิ ทำลายระบอบประชาธิปไตยซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานลงไป แต่นโปเลียนไม่ได้ทำลายสำนึกใหม่ของความเป็น “ชาติ” ลง เพราะสำนึกใหม่นี้ให้ความสำเร็จและความเป็นใหญ่แก่เขาอย่างล้นเหลือ ดังนั้น กองทัพฝรั่งเศสไปยึดครองรัฐใดในยุโรป ก็นำเอาสำนึกใหม่นี้ให้แพร่หลายไปทั่วยุโรปด้วย ทำให้กองทัพของพระราชาซึ่งอ่อนปวกเปียกกลับเข้มแข็งขึ้น และนำไปสู่ความปราชัยของนโปเลียนเองในที่สุด

ประมวลกฎหมายนโปเลียนก็เป็นส่วนหนึ่งของความเป็น “ชาติ” ฝรั่งเศส ในราชอาณาจักรที่เป็นสมบัติส่วนตัวของพระเจ้าแผ่นดิน ทุกอย่างที่อยู่ใต้ราชบัลลังก์ถูกจัดลำดับไว้สูงต่ำผิดกันทั้งนั้น ไม่เฉพาะแต่บุคคล แต่รวมถึงแว่นแคว้นต่างๆ ในราชอาณาจักรด้วย ดินแดนผืนนี้เป็นราชธานี ย่อมอยู่ภายใต้กฎหมายอย่างหนึ่ง ผืนโน้นไม่ใช่ อาจใช้กฎหมายอีกอย่างหนึ่ง คณะสงฆ์มีกฎต่างหากของตัวเองที่อาจไม่ตรงกับกฎหมายของแว่นแคว้นหรือของพระเจ้าแผ่นดินนัก สมาคมการค้าก็อีกอย่างหนึ่ง ฯลฯ

ประมวลกฎหมายนโปเลียนคือการทำให้กฎหมายของทั้ง “ชาติ” มีแกนกลางที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่จะยอมให้แต่ละกลุ่มคนหรือแว่นแคว้นหรือเมืองมีกฎเฉพาะของตนเองไปบ้างนิดหน่อยก็ได้ หากแกนกลางแล้วต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกฎหมายของ “ชาติ”

สภาพของรัฐที่เป็น “ชาติ” บังคับให้ต้องมีกฎหมายแกนกลางอย่างนี้ ถึงไม่มีนโปเลียน สาธารณรัฐก็ต้องสถาปนากฎหมายแกนกลางขึ้นจนได้

เมื่อจักรวรรดินโปเลียนนำสำนึกความเป็น “ชาติ” ไปยังรัฐต่างๆ ทั่วยุโรป จึงเป็นธรรมดาที่รัฐเหล่านั้นต้องคิดถึงกฎหมายแกนกลางอย่างเดียวกับฝรั่งเศส จึงมีการทำประมวลกฎหมายขึ้นในหลายรัฐในเวลาต่อมา ซึ่งก็ไม่แปลกอีกเหมือนกันที่จะอาศัยแบบอย่างของประมวลกฎหมายนโปเลียน ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ชอบขี้หน้านโปเลียนก็ตาม

ทั้งหมดเกี่ยวกับนโปเลียนที่ผมพูดมานี้ ก็เพื่อจะชี้ว่านโปเลียนไม่ได้ทำอะไรเพราะคิดอยากทำเพียงอย่างเดียว ที่สำคัญกว่านั้นคือคิดอยากทำในบริบทหรือเงื่อนไขด้านต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเขา หากนโปเลียนเกิดก่อนหน้านั้นไปสักหนึ่งศตวรรษ แม้ดั้นด้นมาเรียนการทหารในฝรั่งเศส แต่คงก้าวหน้าไปไม่เกินนายทหารระดับล่าง เพราะทั้งริชเชอริเยอร์และกอร์แบง อัครมหาเสนาบดีของราชวงศ์บูร์บอง ซึ่งเป็นคนสูงใหญ่ คงมองไม่เห็นนายร้อยตรีนโปเลียนซึ่งตัวเตี้ยตะแมะแก๊ะได้หรอก

ยิ่งกว่าถูกกำหนดด้วยบริบทให้ทำอะไรและอย่างไร แม้แต่ที่อยากทำ ก็อยากเพราะบริบทด้านต่างๆ ที่แวดล้อมตัวเองด้วย จู่ๆ จะให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ผู้นำระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปถึงจุดสูงสุดในฝรั่งเศส อยากเป็นประชาธิปไตย หรืออยากเป็นประธานาธิบดี ย่อมเป็นไปไม่ได้

คนที่ยังหายใจอยู่ในทุกวันนี้ ก็ไม่ต่างจากคนในประวัติศาสตร์ คือเลือกทำอะไรได้อย่างจำกัดเสมอ เงื่อนไขของสังคมและยุคสมัยของแต่ละคน จำกัดให้เลือกจะทำอะไรได้ไม่กี่อย่าง แม้แต่การตัดสินใจเลือกทำสิ่งนี้ ไม่ทำสิ่งนั้น ก็ไม่ได้มาจากตัวเขาคนเดียว แต่บริบทของสังคมและยุคสมัยซึ่งทำให้เขาผ่านประสบการณ์อย่างนั้นอย่างนี้มาในชีวิต ก็มีส่วนอย่างมากที่กำหนดการตัดสินใจของเขา

ผมไม่ได้หมายความว่า เราไม่สามารถแนะนำให้ใครทำอะไรที่เราคิดว่าดีๆ ได้ แนะนำเลยครับ แต่ที่เขาอาจไม่อยากเป็นนโปเลียน ก็เพราะไม่ได้อยู่ในบริบทเดียวกับนโปเลียน หรือไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขเดียวกับนโปเลียนนั่นเอง

ยิ่งกว่าบริบทหรือเงื่อนไขของสังคมและยุคสมัย การกระทำของเรายังมักก่อให้เกิดเงื่อนไขเฉพาะบางอย่างขึ้น ที่จำกัดเสรีภาพของเราเองที่จะทำอะไรอื่นตามใจชอบ เช่น ตัดสินใจเรียนรามฯ ก็หมายความว่าต้องมีวินัยกับตนเองให้สูงกว่านักเรียนมหาวิทยาลัยอื่น ให้เวลาแก่การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างเต็มที่ เสรีภาพในการเที่ยวเตร่เหมือนเพื่อนในมหาวิทยาลัยอื่นย่อมน้อยลง

หัวหน้า คสช. ตัดสินใจทำรัฐประหาร นั่นเป็นเรื่องใหญ่มาก และก่อให้เกิดเงื่อนไขหลายอย่างที่บังคับให้ตัวทำหรือไม่ทำอะไรอีกหลายอย่าง

ผมยืนยันเสมอว่า รัฐประหารในทุกสังคมไม่มีทางเกิดได้จากการตัดสินใจของนายทหารคนเดียว อย่าว่าแต่คนเดียวเลยครับ กลุ่มเดียวก็ทำรัฐประหารไม่ได้ ยิ่งในเมืองไทย พ.ศ.2557 ทหารอย่างเดียวก็ทำรัฐประหารไม่สำเร็จหรอกครับ

คนที่อยู่เบื้องหลังการรัฐประหารนั้นมีกว้างใหญ่ไพศาลมาก ในอาชีพและสถานะที่แตกต่างกันมากด้วย แต่ละฝ่ายต้องทำนั่นนิดนี่หน่อย ให้สถานการณ์มันสุกงอม จนแทบมองไม่เห็นทางออกอื่นอีกเลย เมื่อประกาศยึดอำนาจ คนจำนวนมาก (เป็นเสียงส่วนใหญ่หรือไม่ผมไม่ทราบ) ต่างก็โมทนาสาธุว่า ดีแล้ว หรืออย่างน้อยก็น่าจะดีกว่าปล่อยให้บ้านเมืองเป็นจลาจล

ในสถานการณ์เช่นนี้ หัวหน้าคณะรัฐประหารจะมีอำนาจสักเพียงไหนเชียว คนที่ร่วมก่อรัฐประหารย่อมมีความประสงค์ที่แตกต่างกัน และหวังว่าการรัฐประหารน่าจะตอบสนองความประสงค์ของตน หรืออย่างน้อยก็สร้างเงื่อนไขที่ทำให้บรรลุความประสงค์ของตนได้สะดวกขึ้น

ดังนั้น ไม่ว่าหัวหน้ารัฐประหารจะมีความคิดอะไรก็ตาม เมื่อยึดอำนาจได้แล้ว สิ่งที่เขาจะทำได้จึงเหลือเพียงไม่กี่อย่าง คือไม่ว่าจะทำอะไร ก็ต้องตอบสนองความประสงค์ของคนร่วมรัฐประหาร อันมีหลากหลายมาก และอาจขัดแย้งกันเองด้วย

และเพื่อไม่ให้ขัดแย้งกัน หรือขัดแย้งกับคณะรัฐประหาร จึงเลือกทำด้านที่เป็นอุดมการณ์เสียเป็นส่วนใหญ่ เช่น สร้างนักการเมืองที่ไม่โกง สร้างความปรองดอง ทำแผนพลังงาน จัดการน้ำทั้งระบบ ทวงคืนผืนป่า จัดระเบียบสังคม ฯลฯ ล้วนเป็นเป้าหมายที่ไม่มีใครค้านทั้งนั้น

ส่วนในทางรูปธรรมจะทำอะไร พวกมึงไปทำกันเอง ทะเลาะกันเอง กูไม่เกี่ยว กูขอจัดการพวกทักษิณอย่างเดียว

ผมจึงคิดว่า แม้แต่คนที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ก็อย่าไปเรียกร้องอะไรกับหัวหน้าคณะรัฐประหารเลย เพราะเขาไม่ได้มีเสรีภาพหรืออำนาจมากพอจะทำตามใจผู้เรียกร้องได้ ยิ่งอะไรที่ยากๆ ก็ยิ่งไม่น่าเรียกร้อง อย่าลืมว่าความชอบธรรมเพียงอย่างเดียวของคณะรัฐประหาร ก็คือพรรคพวกของคณะรัฐประหาร หัวหน้าไม่ได้กินเหล็กกินไหลมาจากไหน โดยปราศจากความชอบธรรมทางการเมืองและสังคมซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไป จะให้เขาลุยไปคนเดียวหรือกลุ่มเดียวได้อย่างไร

นี่แหละครับบริบททางประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญมาก สำคัญเสียจนประวัติศาสตร์ไม่เคยซ้ำรอยเลย ไม่มีเหตุการณ์ใดเกิดขึ้นในบริบทเดิมได้อีก (เหมือนเราเดินลงแม่น้ำสายเดียวกันสองทีไม่ได้ เพราะน้ำที่ลงในทีแรกได้ไหลเลยไปแล้ว) ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยได้ก็ต่อเมื่อเราไม่คำนึงถึงบริบท หรือไปเชื่อว่าประวัติศาสตร์มีสัจจะนิรันดรบางอย่างแฝงอยู่ สงครามทุกครั้งในโลกนี้จึงไม่ต่างจากสงครามครั้งที่เอเธนส์กับสปาร์ตารบกัน (Peloponnesian War) แต่ผมยังไม่เคยเห็นใครระบุสัจจะนิรันดรนี้ออกมาให้ชัดๆ ได้สักที

ดังนั้น ตราบเท่าที่คิดว่า ประวัติศาสตร์ถูกกำหนดขึ้นจากการตัดสินใจของบุคคลโดยอิสระ ตราบเท่าที่คิดว่า จะรักษาทุกอย่างให้เหมือนอดีตไว้ให้มากที่สุด ตราบเท่าที่คิดว่า จะใช้อำนาจเท่าที่ตนมีดำรงรักษาอดีตไว้ไม่ยอมให้เปลี่ยน ตราบนั้นอดีตย่อมซ้ำรอยเสมอ และตราบนั้นย่อมนำสังคมไปสู่หายนะ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 15 - 21 กันยายน 2560

ที่มา: www.matichonweekly.com

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท