สดร. ยันไม่มี 'ดาวนิบิรุ' พุ่งชนโลก 23 ก.ย. นี้ แต่เป็นวัน 'ศารทวิษุวัต'

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) แจงกรณีข่าวลือเกี่ยวกับดาวเคราะห์นิบิรุ หรือ Planet X จะพุ่งชนโลก 23 ก.ย. 2560 ยืนยันไม่เป็นความจริง เป็นเพียงเป็นข่าวลวงที่ไม่ได้รับการยืนยันจากนักดาราศาสตร์และไม่เกิดผลกระทบกับโลกแต่อย่างใด แต่จะเป็นวัน 'ศารทวิษุวัต' ที่เวลากลางวันเท่ากับกลางคืน ทำให้ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
 
 
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2560 ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยืนยันว่าทฤษฎีเรื่องดาวนิบิรุนั้นไม่เป็นความจริง เป็นเพียงเรื่องที่ถูกแต่งขึ้นมาจากความเชื่อของคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันที่ 22-23 ก.ย. ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่กลางวันยาวเท่ากับกลางคืน (Autumnal Equinox) เนื่องจากคำว่า "นิบิรุ" เป็นภาษาบาบิโลน แปลว่าอิควิน็อกซ์ จึงเกิดการเอามาเชื่อมโยงแล้วสร้างเป็นข่าวลือให้เกิดความตระหนกไปทั่วโลก
 
ก่อนหน้านี้ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือ นาซา (NASA - National Aeronautics and Space Administration) ได้ออกมาปฏิเสธหลายครั้ง เกี่ยวกับดาวเคราะห์ดังกล่าวนั้นไม่มีอยู่จริง หากมีดาวเคราะห์ที่สามารถพุ่งชนโลกและทำให้เกิดวันสิ้นโลกในเร็ว ๆ นี้จริง นักดาราศาสตร์ทั่วโลกจะสามารถตรวจพบได้ด้วยเทคโนโลยีการสำรวจทางอวกาศก่อนหน้าที่จะพุ่งชนโลกเป็นเวลานานแล้ว และมนุษย์บนโลกต้องมองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจนขณะโคจรมาใกล้โลกซึ่งจะสว่างมากกว่าดวงจันทร์อีกด้วย นอกจากนี้ โครงการสำรวจพื้นที่มุมมองกว้างบนท้องฟ้าในย่านรังสีอินฟราเรดของนาซา (WISE - Wide-Field Infrared Survey Explorer) ได้สำรวจวัตถุต่าง ๆ ที่โคจรอยู่บนท้องฟ้า ก็ไม่ปรากฎหลักฐานใด ๆ ที่สามารถบ่งชี้ได้ว่ามีดาวเคราะห์ดังกล่าวอยู่ในระบบสุริยะ
 
ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวด้วยว่าปัจจุบันในโลกออนไลน์มีข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลเข้าสู่ระบบเป็นจำนวนมาก รวมถึงข่าวลือต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องดาราศาสตร์มักจะถูกโยงไปเกี่ยวข้องกับความเชื่อที่ไม่มีพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มารองรับ ขอให้ประชาชนบริโภคข่าวสารอย่างมีสติ ใช้วิจารณญาณในการเชื่อหรือแชร์ข้อมูลและควรตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้
 
นอกจากนี้ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังระบุว่าสำหรับวันที่ 23 ก.ย. นี้เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ทำให้เวลาในช่วงกลางวันเท่ากับกลางคืน และเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ เรียกว่า “วันศารทวิษุวัต” (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) สำหรับประเทศไทยในวันดังกล่าวดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้าทางทิศตะวันออก เวลาประมาณ 06:07 น. และตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เวลาประมาณ 08:13 น. หลังจากวันดังกล่าวดวงอาทิตย์จะเคลื่อนลงทางใต้เรื่อย ๆ และหยุดที่จุดใต้สุดในวันที่ 21 ธ.ค. จากนั้นจะเคลื่อนขึ้นทางเหนืออีกครั้งหนึ่ง ซึ่ง 1 ปีจะมีวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดีเพียง 2 ครั้งเท่านั้น คือ วันวสันตวิษุวัต และ วันศารทวิษุวัต ทำให้เป็นวันที่มีเวลากลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน เนื่องจากแกนโลกไม่ได้ตั้งตรงแต่เอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ในระยะเวลา 1 ปี ที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์
 
ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ [1] [2]
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท