Skip to main content
sharethis

ภาพจากเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

25 ก.ย. 2560 รายงานข่าวระบุว่า วันนี้ (25 ก.ย.60) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม Convention A ชั้น 1 โรงแรมแอมบาสเดอร์ ซิตี้ จอมเทียน พัทยา จ.ชลบุรี  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีปิดการประชุมสัมมนา “มิติการศึกษา พื้นที่พิเศษ เดินหน้าประเทศไทย มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพานิชย์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก  

โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวตอนหนึ่ง เกี่ยวกับ การคืนเงิน กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ด้วยว่า สำหรับสถานศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยราชภัฎ ที่อดีตเป็นแหล่งผลิตครู แต่ขณะนี้เปิดหลายสาขา จึงอยากให้ตรวจสอบว่า เมื่อนักศึกษาเรียนจบแล้วมีงานทำ มีรายได้ที่เพียงพอหรือไม่ เพื่อนำมาจัดทำหลักสูตรใหม่  และ ในวันนี้ถึงเวลาที่จะต้องร่วมมือกันกำหนดกรอบการศึกษาให้เดินหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่มาทะเลาะเรื่องการคืนเงิน กยศ.ที่เป็นปัญหาเรื้อรัง ต้องทบทวนหลักเกณฑ์การพิจารณาตั้งแต่เริ่มการยืมเรียน กำหนดให้ชัดเจนว่าใครมีสิทธิที่จะกู้ยืมเรียนได้ 

สำหรับการแก้ปัญหาด้านการศึกษานั้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตนไม่ต้องการสร้างความขัดแย้งกับใคร หรือต้องการหาประโยชน์ แต่คนที่รับงานต่อ จะคิดเพื่อคนอื่นเหมือนที่ตนได้ทำมาตลอด 3 ปี หรือไม่ นั้น ไม่ทราบ การที่เข้ามาบริหารประเทศ ก็เพื่อรักษาแผ่นดินไว้ไม่ให้มีใครมาทำลาย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่าว่า มิติการศึกษาพัฒนาพื้นที่พิเศษ จะต้องเดินหน้าอย่างสร้างสรรค์ คือต้องปรับเปลี่ยนการเรียนรู้ ให้ทันโลก แต่ต้องไม่ลืมประวัติศาสตร์ของประเทศที่มีอยู่ โดยเฉพาะการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ไม่มีประเทศใดเหมือน ขณะที่การศึกษาของเด็กและเยาวชน จะต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง การพัฒนาต้องมีแผนให้เกิดการเชื่อมโยงในแต่ละกลุ่มจังหวัด

"การศึกษาไทย ต้องสอนให้เด็กเรียนรู้อย่างเป็นระบบ จะไปเอาอย่างการศึกษาประเทศฟินแลนด์ บรูไน และสิงคโปร์ ที่มีการประเมินว่าการศึกษาดี เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะการศึกษาของไทย แบ่งระบบการศึกษาออกเป็นรายกลุ่ม ทั้งทักษะชีวิต อาชีพ และด้านการสื่อสาร ที่ต้องปรับระบบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและสร้างภูมิคุ้มกันในการป้องกันตนเอง  การศึกษาของไทยนับจากนี้ ต้องสอนให้ผู้เรียนมีความเข้าใจสามารถตัดสินใจวางอนาคตของตนเองได้ มีเป้าหมายในชีวิต จะได้เลือกเรียนในสาขาที่ถูกต้อง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเรียนการสอน จะต้องสอนให้รู้หลักคิดพื้นฐานที่ถูกต้อง อย่างเรื่องประชาธิปไตย หรือการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ที่สามารถเรียนรู้จากประเทศอื่น ๆ ได้ แต่เมื่อนำมาใช้จริงจะต้องดูบริบทที่สอดคล้องกับความเป็นไทยด้วย เพราะประเทศไทยไม่เหมือนประเทศอื่น ตนรู้สึกตกใจ ที่เห็นรายชื่อคนจบปริญญาโท และเอก มาขึ้นทะเบียนคนจน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ จึงต้องตรวจสอบ หาสาเหตุ ถึงระบบการศึกษา 

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการเรียน กศน. เพราะถือเป็นส่วนสำคัญลดความเลื่อมล้ำ ให้กับคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาตามระบบ เช่นเดียวกับการส่งเสริมการศึกษาอาชีวะ จะต้องสอดคล้องกับอาชีพที่มีความต้องการของตลาดในอนาคต หากผลิตคนไม่ทันตามความต้องการ อยากให้เปิดหลักสูตรระยะสั้น เป็นการเรียนแบบให้ประกาศนียบัตร เพื่อเป็นใบรับรองการทำงาน ส่วนที่จะมาเรียนอาชีวะ แต่กังวลเรื่องใบปริญญา ก็สามารถนำเอาประสบการณ์ทำงาน มาเทียบเคียงกับหลักสูตรที่ต้องเรียน เพื่อลดเวลาเรียนได้ ขณะที่ปัญหาเด็กนักเรียนอาชีวะตีกัน แม้จะมีการกำหนดโทษสูง เอาผิดถึงพ่อแม่ แต่ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ตนไม่รู้ว่าคนเหล่านี้โกรธเกลียดกันอะไรมาก  ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ก็ไม่มีใครอยากมาเรียน

ที่มา : เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล และสำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net