Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

0000

"จดหมาย" นับเป็นสมบัติล้ำค่าของผู้ต้องขังในเรือนจำหญิง เพราะเสมือนเป็นสิ่งแทนใจที่บอกเล่าความรัก ความห่วงใยจากผู้ที่อยู่ในอีกโลกนอกกำแพงเรือนจำ

ในบรรดาผู้ต้องขังด้วยกัน เราค่อนข้างสนิทกับ "จอย" (นามสมมติ) นักโทษคดียาเสพติดผู้ถูกตัดสินจำคุก 25 ปี จอยจะช่วยเหลือและดูแลให้เราช่วยงานในส่วนโต๊ะญาติในแดนแรกรับ เพื่อให้เรามีอะไรทำระหว่างวัน จะได้ไม่เครียดเกินไป

จอยจะมีจดหมายปึกใหญ่อยู่ในลิ้นชักทำงาน เป็นจดหมายจากแฟนสาวหล่อที่ได้รับอิสรภาพไปจากการถูกยกฟ้อง ทุกเวลาที่ว่าง จอยจะหยิบจดหมายเหล่านั้นมาอ่านซ้ำไปซ้ำมา และหลายครั้งก็จะแบ่งปันให้เพื่อนๆนักโทษได้อ่านด้วย

หลายครั้งเธอจะอ่านพร้อมรอยยิ้ม และหลายคราวที่จะมีน้ำตาไหลออกมา บางครั้งเธอจะเงยหน้าขึ้นถามเราว่า "พี่ว่าเค้ายังรักหนูมั้ย" "พี่ว่าเค้าลืมหนูหรือยัง" "พี่นัทอ่านตรงนี้สิ เค้าน่ารักเนอะ"

ความรักเป็นสิ่งสวยงามก็จริง แต่ความรักที่มีกำแพงและระยะทางขวางกั้น ก็บั่นทอนจิตใจได้อย่างเหลือเชื่อ

ด้วยระเบียบของเรือนจำ ที่ห้ามผู้ต้องขังที่ออกไปแล้วกลับมาเยี่ยมผู้ต้องขังที่ยังติดอยู่ "จดหมาย" จึงเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวเดียวที่ใช้แทนใจคนสองคน

ทั้งนี้ในนักโทษหลายๆคน ก็ใช้จดหมายเพื่อติดต่อกับครอบครัวและญาติมิตรที่อยู่ไกล ไม่สะดวกมาเยี่ยมด้วยตัวเอง รวมไปถึงใช้เป็นสื่อรัก ติดต่อกับเพศตรงข้ามที่อาจจะสูญเสียอิสรภาพอยู่ในเรือนจำอื่นๆ

ระเบียบของที่นี่จะกำหนดวันส่งออกและรับเข้าจดหมาย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ นั่นหมายถึงผู้ต้องขังจะสามารถส่งออกจดหมายได้เพียง 1 วัน และรอรับจดหมายได้อีกเพียง 1 วันในแต่ละสัปดาห์

และแน่นอนว่า "จดหมาย" ทุกฉบับ ไม่ว่าจะเข้าหรือออก จะต้องถูกตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ทุกครั้งไป

จดหมายออก จะถูกกำหนดจำนวนบรรทัดในการเขียนต่อหนึ่งฉบับ (ถ้าจำไม่ผิด 10 บรรทัดในหนึ่งฉบับ) และห้ามเขียนเล่าเรื่องราวความลำบาก ห้ามมีคำว่า "ลำบาก" "เหนื่อย" หรืออะไรก็ตามที่สื่อถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ในเรือนจำ

ส่วนจดหมายขาเข้าที่ถูกส่งมาจากญาติมิตร ก็จะต้องไม่เป็นข้อความที่ปลุกระดม ลามกอนาจาร หรือเรื่องราวการเมือง

ระยะเวลาในการตรวจสอบจดหมายจากเจ้าหน้าที่จนกว่าจะถูกส่งออกหรือถึงมือผู้ต้องขัง แต่ละครั้งใช้เวลาร่วม 1 เดือน

นั่นคือหากญาติเขียนจดหมายเข้ามา กว่าจะได้อ่านกันก็ต้องผ่านไปน้อยๆก็ 1 เดือนขึ้นไป

นอกจากนี้ยังมีระเบียบเรื่องจดหมายออกอีกว่า ผู้ต้องขังจะสามารถส่งจดหมายออกได้เฉพาะผู้ที่มีรายชื่อพร้อมที่อยู่ที่แจ้งไว้แค่ 10 คนเท่านั้น และหากต้องการเพิ่มชื่อหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อ ก็ต้องใช้เวลาเขียนคำร้องอีกนานร่วมเดือน

ดังนั้น แม้จดหมายจะมีค่ามากและดูจะเป็นหนทางเดียวที่ใช้ติดต่อ แต่กว่าจะเขียนติดต่อกันได้ ก็ไม่ง่ายนัก

อีกทั้งกฎที่เพิ่งถูกกำหนดไม่นานนี้คือ ห้ามส่งรูปใดๆทั้งสิ้นเข้าไปพร้อมจดหมาย ซึ่งสร้างความไม่พอใจและอึดอัดใจอย่างมากแก่นักโทษหญิงในเรือนจำ

การถูกจำกัดอิสรภาพ ต้องใช้กำลังใจจากคนข้างนอกเท่านั้นเป็นน้ำอำมฤตหล่อเลี้ยงความหวัง แต่การต้องถูกจำกัดแม้กระทั่งจดหมาย จึงนับว่าเป็นเรื่องโหดร้ายและไร้ความเมตตามากเกินไปจริงๆ

 

หมายเหตุ: ณัฏฐิกา วรธันยวิชญ์ เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2559 ประชาไทเห็นว่าเนื้อหาเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจผู้ต้องขัง ผู้ที่ถูกตั้งข้อรังเกียจจึงได้ขออนุญาตผู้เขียนนำมาเสนอใน ประชาไท อีกครั้ง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net