Skip to main content
sharethis

วงเสวนา “ทำไมต้อง(มี)ศิลปินแห่งชาติ” ชี้ เน้นให้รางวัลกับคนดัง เกณฑ์คัดเลือกผูกโยงกับคณะกรรมการ มีอุดมการณ์แบบชาตินิยมสอดคล้องกับรัฐ ไม่เน้นประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงประชาชน ขณะที่ได้รับเงินเดือนและสิทธิพิเศษจากภาษีประชาชน พร้อมยกตัวอย่างเปรียบเทียบศิลปินระดับโลก ปีกัสโซ่ มาเลวิช และไอ้ เว่ยเว่ย ทำศิลปะต่อต้านรัฐ

หลังจากเกิดเหตุ “กวีหู” โดยไพฑูรย์ ธัญญา นามปากกาของ ธัญญา สังขพันธานนท์ นักเขียนรางวัลซีไรต์จากเรื่องก่อกองทราย เมื่อ ปี 2534 และศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์เมื่อปี 2559 เขียนบทกลอนลงในเฟสบุ๊กโจมตียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในลักษณะที่หลายฝ่ายมองว่าเหยียดเพศ หลังจากที่อ้างว่าน้ำในหูไม่เท่ากันและไม่ได้มาฟังคำตัดสินพิจารณาคดีจำนำข้าว

หรือล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ย. ที่ผ่านมาสืบเนื่องจากกรณีรับน้องคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ปี 2554 ได้กล่าวในงานไหว้ครูขู่ว่าจะทำร้ายนักศึกษาด้วยถ้อยคำหยาบคาย (อ่านต่อได้ที่นี่)

เมื่อวันที่ 17 ก.ย.กลุ่มกวีราษฎร์, คณะประชาชนเพื่ออิสรภาพ และพรรคใต้เตียง มธ. ได้ร่วมกันจัดงาน “ทำไมต้อง(มี)ศิลปินแห่งชาติ” ตั้งคำถามว่า ศิลปินแห่งชาติคืออะไร และความมีอยู่ มีเป็น รวมถึงการแสดงความคิดว่าจริงแล้วสังคมไทยควรมีศิลปินแห่งชาติหรือไม่ ศิลปินกับการเมืองควรไปในทิศทางแบบใด โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ เพ็ญสุภา สุขคตะ กำพล จำปาพันธุ์ เพียงคำ ประดับ ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ และภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ดำเนินรายการโดย ณัฎฐา มหัทธนา

จากซ้ายไปขวา เพียงคำ ประดับความ, ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ, ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์, กำพล จำปาพันธุ์, เพ็ญสุภา สุขคตะ

ประชาไทได้ถอดความและเรียบเรียงงานเสวนาใหม่ ดังนี้

แนวคิดว่าด้วยงานเขียน ศิลปิน และศิลปินแห่งชาติ

เมื่อย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ 6 เริ่มมีการตัดสินรางวัลวรรณกรรม มีการก่อตั้งวรรณคดีสโมสร มีการคัดเลือกหนังสือ “ดี” มาจัดพิมพ์ ระบุในพระราชกฤษฎีกา ว่า “หนังสือดีเป็นเรื่องที่สมควรที่สาธารณชนจะอ่านได้โดยไม่เสียประโยชน์ ไม่เป็นเรื่องทุภาษิต หรือเป็นเรื่องที่ชักจูงผู้อ่านไปในทางอันไม่เป็นแก่นสาร ซึ่งจะชวนให้คิดวุ่นวายไปในทางการเมืองอันจะเป็นเครื่องรำคาญแก่รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขณะที่จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเขียนฝ่ายซ้ายของไทย เคยกล่าวถึงงานเขียนที่ดีว่า งานเขียนที่ดีเหมือนโคมไฟที่ส่องนำให้ประชาชนมองเห็นทางไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ทั้งต้องเป็นเหมือนเชื้อเพลิงที่จุดขึ้นกลางใจประชาชนเพื่อให้เขาฟื้นตื่นขึ้นด้วยสำนึกที่จะเปลี่ยนโลกและชีวิตให้ดำเนินไปสู่ความผาสุกและความดีงาม ศิลปินมีภารกิจขั้นพื้นฐานในการสร้างสถานที่ในประวัติศาสตร์แห่งศิลปะให้แก่ประชาชน ศิลปะที่มุ่งความงามเพียงอย่างเดียวหรือศิลปะเพื่อศิลปะกลายเป็นหอคอยงาช้างที่พวกศิลปินปิดขังตัวเองไว้ภายในและห่างขาดจากเรื่องราวอันเป็นไปได้จริงต่างๆ โดยสิ้นเชิง ชนชั้นกลางได้ยึดเอาศิลปะเพื่อศิลปะเป็นศิลปะของชนชั้นตน พวกเขาเน้นหนักกับสภาวะอันสูงส่งในฝันของศิลปะ และที่สถานะอันเลอศักดิ์เหนือการเมืองของศิลปิน คตินี้ได้ปิดขังศิลปินไว้ภายในกรงทอง

สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ปี 2554 เคยเปิดประเด็นเรื่องศิลปินแห่งชาติไว้เมื่อปี 2559 เขากล่าวว่า จำได้ว่าผมเคยเสนอเมื่อครั้งระดมความเห็นเพื่อก่อตั้งโครงการศิลปินแห่งชาติว่า ต้องมีความชัดเจนในคำว่าศิลปินคือใคร และจะใช้มาตรฐานแบบใด เช่น ถ้าเป็นข้าราชการอยู่แล้ว มีเงินบำเหน็จบำนาญอยู่แล้วจะพิจารณาหรือไม่ หรือใครแสดงเก่ง ป็อบปูลาร์ มีข่าว well-known  ชี้มือชี้ไม้เก่งหรือทำอะไรเข้าตาถือว่าใช้ได้

แต่ในทางกลับกันทั่วไปทางสากลแล้ว ผมคิดว่าเขาจะพิจารณาที่ความสำคัญเชิงหมุดหมายทางประวัติศาสตร์ (Milestone) และลำดับก่อนหลังทางเวลา (Priority) ไม่ใช่ใช้วิธีคนของใครคนของมัน เช่น เป็นข้าราชการ หรือเป็นเด็กฝาก และหรือแล้วแต่บัญชีหางว่าวที่เอามาออกความเห็นลงคะแนนเสียงมาก คะแนนเสียงน้อย ทำอย่างกับเป็นการตัดสินประกวดเรียงความเฉลิมพระเกียรติ

เกณฑ์การคัดเลือก

เพ็ญสุภา สุขคตะ กวีและนักวิชาการอิสระ อธิบายถึงประเภทของศิลปินแห่งชาติว่า แบ่งเป็น 4 สาขา ได้แก่ ทัศนศิลป์ ศิลปะสถาปัตยกรรม วรรณศิลป์ และศิลปะการแสดง สาขาที่ได้รับรางวัลนี้มากคือสาขาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง ส่วนวรรณศิลป์ก็จะล้อไปกับรางวัลซีไรต์ สาขาสถาปัตยกรรมนั้นมีจำนวนน้อย

ที่น่าสนใจคือสาขาศิลปะการแสดง ซึ่งเป็นสาขาที่หลายหลาย และหลุดออกมาจากราชสำนัก ทำลายศูนย์อำนาจ และวัดที่ความสามารถ เช่น ให้รางวัลกับชาวไทยใหญ่ ที่ประดิษฐ์เครื่องดนตรีพื้นบ้าน หรือ ละครเวที นาฏศิลป์ เชิดหนังตะลุง เพลงฉ่อย รำตัด ฯลฯ

วิธีการคัดเลือกคือตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองที่มีทั้งคุณวุฒิ และวัยวุฒิ บางครั้งก็มีชาติวุฒิ ตัวศิลปินส่วนใหญ่ต้องมีการศึกษาดี ได้รับรางวัลต่างๆ มาต่อเนื่อง เช่น ในสายทัศนศิลป์ยากมากที่จะไม่ผ่านรางวัลเหรียญเงิน เหรียญทอง ศิลปินรุ่นเยาว์ ศิลปินบัวหลวง ต้องมีพอร์ตโฟลิโอหนาเตอะ เคยไปแสดงงานนานาชาติ หรือสายวรรณศิลป์ได้ซีไรต์ก็เหมือนกึ่งๆ นอนมา ต้องเป็นบิ๊กเนม จะโนเนมไม่ได้ จะมีแค่สาขาศิลปะการแสดงที่จะมีศิลปินโนเนมบ้าง

บางครั้งก็มาจากการทำทำเนียบในแต่ละจังหวัด ซึ่งมาจากตำบลคัดเลือกให้อำเภอ อำเภอคัดเลือกให้จังหวัด และจังหวัดเป็นคนเสนอชื่อศิลปินขึ้นไป

เกณฑ์เหมือนจะดีเพราะไม่ได้ถูกเสนอมาจากส่วนกลาง แต่ศิลปินเร่ร่อนที่โผล่จังหวัดนู้นทีจังหวัดนี้ที ไม่มีภูมิลำเนาเป็นหลักแหล่ง ไม่ได้อิงกับหน่วยงานวัฒนธรรมของราชการก็มีสิทธิตกหล่น หรือแม้จะมีความรู้ความสามารถแต่ยากที่จังหวัด 77 จังหวัดจะเสนอใครขึ้นไป ยกตัวอย่างเช่น อ.ศักดิ์ รัตนชัย แห่งลำปาง เป็นปราชญ์ใหญ่ เขียนทั้งเพลง กวี ตอนนี้อายุ 90 กว่า แต่ก็กลายเป็นรัฐบอกว่าไม่รู้จะให้ในสาขาอะไร ปราชญ์ ประวัติศาสตร์ หรือวรรณศิลป์ คือเก่งเกินไปนั่นเอง

สิทธิประโยชน์ของศิลปินแห่งชาติ ที่มาของ ‘ศิลปินฟรีจากภาษีประชาชน’

เพ็ญสุภากล่าวว่า เป็นประเด็นที่คุยกันมาก ว่าทำไม่เราถึงต้องเป็นเดือดเป็นแค้นออกมาเรียกร้อง เพราะศิลปินแห่งชาติได้รับเงินภาษีจากประชาชน โดยได้รับสิทธิพิเศษ ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้

· เงินตอบแทนรายเดือนตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ประมาณ 20,000-25,000 บาทต่อเดือน

· สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเฉพาะตัวตามระเบียบราชการ ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี

· เงินช่วยเหลือประสบสาธารณภัยเท่าที่เสียหายจริง ไม่เกิน 50,000 บาทต่อครั้ง

· ค่าของเยี่ยมผู้ป่วย (เฉพาะผู้ป่วยที่เป็นศิลปินแห่งชาติ) หรือในโอกาสสำคัญเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,000 บาทต่อครั้ง

· เงินช่วยเหลือเมื่อเสียชีวิตเพื่อร่วมบำเพ็ญกุศลศพ 20,000 บาท

· ค่าเครื่องเคารพศพตามประเพณีที่เหมาะสมเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 3,000 บาท

· เงินช่วยเหลือค่าจัดทำหนังสือเผยแพร่ผลงานเมื่อเสียชีวิตเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกิน 150,000 บาท

นอกจากนี้ 2-3 ปีมานี้ ศิลปินแห่งชาติจะได้ขึ้นเครื่องบินฟรีบางสายการบิน 4 เที่ยวต่อเดือน

เพียงคำ ประดับความ กวีและนักเขียน กล่าวว่า คำถามว่า “ทำไมต้องมีศิลปินแห่งชาติ” คือคำถามที่ประชาชนลุกขึ้นมาตั้งกัน จริงๆ แล้วเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ หรือที่เรียกว่า ปฏิปุจฉา เพราะเขาตอบเองแล้ว

ขณะที่โครงการ 30 บาทฯ รัฐบอกว่าสิ้นเปลือง เป็นภาระ กินภาษีประเทศชาติ แต่คนกลุ่มนี้ได้สิทธิพิเศษ ได้เงินจากภาษีประชาชน แต่มีสักกี่คนที่ประชาชนรู้จัก เพราะศิลปินแห่งชาติขโมยคำว่า “ชาติ” มาต่อท้ายโดยที่ไม่เคยถามเราเลยว่าเรายอมรับและยินดีให้เขาเป็นตัวแทนเรารึเปล่า ศิลปินแห่งชาติของไทยจึงเป็นเรื่องของคนกลุ่มเดียวเลือกกันเอง

เพียงคำกล่าวว่าในอินเทอร์เน็ตมีการเสนอให้ยกเลิกศิลปินแห่งชาติ เพราะศิลปินก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ เป็นการทำมาหากินเลี้ยงปากท้อง ถ้าผลงานขายได้ก็เป็นเรื่องส่วนตัวไม่เป็นสาธารณะประโยชน์ ไม่มีความจำเป็นต้องเอาเงินภาษีประชาชนไปอุดหนุนเพิ่มอีก โดยเฉพาะเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่แทบไม่ได้รับสวัสดิการใดๆ จากรัฐเลย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ นักเขียนและคอลัมนิสต์เกี่ยวกับศิลปะหลายแขนง ให้ความเห็นในมุมที่ต่างออกไปว่า ผมคิดว่าคำว่า “ชาติ” ในศิลปินแห่งชาติ เป็นประดิษฐกรรมกลางเก่ากลางใหม่ เกิดขึ้นเมื่อไม่นาน

การเป็นศิลปินแห่งชาติมีคำถามว่าทำไมไม่ยึดโยงกับประชาชน เพราะว่าเป็นศิลปินแห่งชาติ ไม่ใช่ศิลปินแห่งประชาชน เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องอะไรกับประชาชน แม้กระทั่งการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติเองก็ไม่ถูกโหวตโดยประชาชน ถูกโหวตโดยภาครัฐ การมีอยู่ของศิลปินแห่งชาติก็เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของรัฐชาตินิยม

ภาณุอธิบายว่า แค่สัดส่วนของคนที่ได้รางวัลระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดก็ประมาณ 4:1 และสัดส่วนความเป็นท้องถิ่นนั้นก็มีไว้เพื่อสนับสนุนส่วนกลางเท่านั้นเอง ความเป็นท้องถิ่นของศิลปินเป็นเพียงเครื่องมือที่รัฐนำมาใช้ในการสร้างความชอบธรรม

คัดเลือกแล้วประกาศคุณความดี แต่ไม่เคยพูดถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตย

เพ็ญสุภาอธิบายว่า รัฐจะประกาศว่า “ศิลปินที่ถูกคัดเลือกมีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ จินตนาการ สร้างสรรค์ ในการพัฒนาศิลปะแขนงนั้นๆ จนเกิดอัจฉริยะภาพและอัตลักษณ์เฉพาะ” แต่เขาไม่ได้พูดเรื่องคุณธรรมจริยธรรม ไม่ได้พูดว่าต้องเป็นตัวแทนของคนทุกข์คนยาก ความอยุติธรรมในสังคม ไม่ได้บอกว่าศิลปินจะต้องมีอุดมคติอุดมการณ์ทางการเมืองต่อระบอบประชาธิปไตย มาตรฐานที่คัดเลือกศิลปินแห่งชาติตั้งแต่ระดับภูมิภาค ระดับชาติ สู่นานาชาติ เขามุ่งเน้นแต่ความสามารถของศิลปินแห่งชาติคนนั้นๆ

ตอนนี้พวกเรากำลังจะเรียกร้องสิ่งที่เขาไม่ได้เขียนไว้ในศิลปินแห่งชาติ เราต้องมาดีเบตกัน เรากำลังถามหาจิตสำนึกของศิลปินแต่ละคนว่าคุณมีความรับผิดชอบต่อการเมืองอย่างไร แต่กลายเป็นว่าหลังจากคุณได้รับรางวัลศิลปินแห่งชาติ ได้รับเกียรติยศแล้ว ไม่มีอะไรไปการันตีอีกเลย อาจจะมีการร่วมงาน ร่ายกวี เพื่อเป็นหน้าเป็นตาของจังหวัดบ้างแค่นั้น

ในขณะที่เพียงคำให้ความเห็นว่า การตัดสินเชิดชูเกียรติวรรณกรรมทั้งหลายที่ทำกันอยู่ในประเทศไทย ไม่เฉพาะศิลปินแห่งชาติ กระทำบนพื้นฐาน คือ หนึ่ง เกณฑ์ใครเกณฑ์มัน สอง พวกใครพวกมัน คือเป็นการตัดสินกันตามอำเภอใจซึ่งสร้างปัญหา

เพราะการตัดสินเหล่านี้ถูกยึดกุมโดยคนกลุ่มเดียวมายาวนานแล้ว เราต้องดูว่าคนกลุ่มนี้ที่เขายึดกุมมีความคิดแบบไหน มีรสนิยมแบบไหน ทัศนะทางการเมืองแบบไหน งานที่เขาตัดสินให้ได้รางวัลก็ต้องสอดคล้องกับอุดมการณ์ทางการเมืองของกรรมการ

อุดมการณ์เบื้องหลัง นัยทางการเมืองของศิลปินแห่งชาติ

สอดคล้องกับที่ กำพล จำปาพันธ์ กล่าวว่า ผมอยากประเมินศิลปินแห่งชาติในฐานะนักการเมือง เราจะเห็นว่าทหารก็การเมือง ตุลาการก็การเมือง อาจารย์มหาวิทยาลัยก็การเมือง ศิลปินก็การเมืองด้วยรึเปล่า?

ความเป็นนักการเมืองไม่จำเป็นต้องรับใช้ประชาชน รับใช้ผู้มีอำนาจก็เป็นนักการเมือง รางวัลศิลปินแห่งชาติของไทยเป็นการบอกว่าถ้าคุณอยากประสบความสำเร็จ อยากได้รับการยกย่อง ยอมรับ คุณต้องซับพอร์ทรัฐ

รางวัลนี้ไม่ได้เกี่ยวกับความดีเลิศทางศิลปะ มันเกี่ยวกับสถานะของบุคคล เครือข่าย โครงสร้างที่ต้องอุปถัมภ์กัน ผลงานศิลปินถูกนำมารับใช้การเมืองเต็มที่

อุดมการณ์เบื้องหลัง มีด้วยกันสองเรื่องใหญ่ คือ ชาตินิยม และท้องถิ่นนิยม นอกจากชื่อที่มี “แห่งชาติ” แล้ว เนื้อหาสาระการเลือกให้ใครเป็นไม่เป็นก็สะท้อนเรื่องนี้

โดยสรุปเป็นผลิตผลหนึ่งของลัทธิชาตินิยมไทย จากงานของอ.เบน แอนเดอร์สัน อ.ธงชัย วินิจจกุล อ.สายชล สัตยานุรักษ์ ที่สรุปตรงกันว่าคือพวกคลั่งชาติ อีโก้สูง ไม่เห็นหัวประชาชน ดูได้จากสังคมการเมืองไทยในปัจจุบัน เป็นค่านิยมที่ไม่สนว่าประชาชนจะเป็นยังไง สนับสนุนชนชั้นนำและผู้มีอำนาจเป็นหลัก

กำพลวิจารณ์ว่า เมื่อสิ่งนี้มากำกับอยู่เบื้องหลังศิลปินแห่งชาติ ดังนั้นศิลปินแห่งชาติจึงต้องเป็นแบบนี้เพื่อซับพอร์ตแนวคิดนี้ ไม่ยอมให้ประชาชนเป็นคนตัดสินใจเรื่องศิลปะและผลงานของตัวเอง ทำให้ลดทอนคุณค่าศิลปะและศิลปินแทนที่จะเป็นพวกที่ทำประโยชน์ทำคุณให้กับคนทั่วไป คนทั่วโลก ก็กลายเป็นมนุษย์ที่มีลักษณะเฉพาะ

ส่วน อุดมการณ์ท้องถิ่นนิยม กำพลเห็นว่า มีความเหลื่อมซ้อนแนบสนิทกันระหว่างความเป็นชาติและความเป็นท้องถิ่น ผมคิดว่ามันเป็นอิทธิพลอย่างหนึ่งของงานประวัติศาสตร์นิยม ตลอดเวลาที่ผ่านมาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นไม่ได้ไปไกลกว่าชาติ มันไม่ได้แอนตี้ลัทธิชาตินิยม ดังนั้นข้ออ้างที่ว่า “เป็นท้องถิ่น” ก็คล้ายกับสิ่งที่ชาตินิยมมี

เราจะเห็นได้จากตัวอย่างที่พังงา (กรณีเด็กสาวอายุ 15 ปีถูกข่มขืนจากคนในหมู่บ้านกว่า 40 คน แต่คนในหมู่บ้านด้วยกันเองกลับปกป้องคนผิดเพราะกลัวเสียชื่อหมู่บ้าน) การเอาหมู่บ้าน ท้องถิ่น สถาบัน องค์กรมาเป็นข้ออ้างเพื่อปิดบังความผิด ไม่ต้องรับผิดชอบอะไร

ด้วยแนวคิดว่าเราต้องเห็นแก่ชื่อเสียงองค์กร หมู่บ้าน หรือแม้แต่วงศ์ตระกูล ก็คือการอ้างแบบเดียวกับชาติ ละเลยเรื่องมโนธรรมบางอย่างไป กลบสภาพความรู้สึกผิด ชอบ ชั่ว ดี จริง เท็จ ซึ่งอันตรายมาก มันทำให้ความสามารถในการใช้เหตุผล สติปัญญาของคนในสังคมนี้มีปัญหา อย่างที่เราเห็นกันทุกเมื่อเชื่อวัน

กำพลกล่าวเสริมต่อว่า ผมเห็นด้วยว่าท้องถิ่นตอนนี้อาจแตกสลาย ไม่มีชาวบ้าน มีแต่ผู้ประกอบการและชนชั้นกลาง การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น โครงสร้างพื้นฐานในชนบท ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปแล้ว ท้องถิ่นกับชาติโดยสรุปจึงเหมือนกัน เจ้าพ่ออิทธิพลท้องถิ่นก็ขยับเข้ามาเล่นการเมืองระดับชาติ หนุนหลังทหารก็ตั้งเยอะ แง่หนึ่งการครอบงำวิถีการผลิตการบริโภคทำให้ชนบทไม่ต่างจากเมือง ความสัมพันธ์ภายในท้องถิ่นก็จำลองแบบหรือเป็นหน่วยย่อยขององค์ประกอบของรัฐชาติ

เมื่อรัฐชาติปกครองโดยทหารเอาปืนมายึด เอาอำนาจมาปกครองในนามชาติได้ แล้วทำไมท้องถิ่นจะข่มขืนหรือตบทรัพย์ใครในนามของหมู่บ้านตัวเองไม่ได้ ผมคิดว่าอันนี้แหละเมื่อรวมกันแล้วจึงตอบได้ว่าทำไมเราถึงได้ศิลปินพื้นๆ แบบนี้ มันไม่เคยไปไกลกว่าศิลปินฟรีจากภาษีประชาชน

"เราเห็นศิลปินอย่างคุณอภิชาตพงศ์ วีระเศรษฐกุล ได้รางวัลจากทั่วโลก แต่หนังบางเรื่องฉายในเมืองไทยไม่ได้ ทำไมเราไม่นึกถึงคนแบบนี้ เขาเข้าเกณฑ์ทุกอย่างเลยนะ ทำชื่อเสียงให้กับประเทศชาติ" กำพลตั้งคำถาม

มองศิลปินในฟิลิปปินส์กับบทบาทเรียกร้องเอกราชเชิดชูท้องถิ่น

กำพลอธิบายว่า ในมุมประวัติศาสตร์การที่จะเข้าใจคนเหล่านี้ได้ ต้องเข้าใจว่าเขามีมุมมองและสัมพันธ์อย่างไรต่อส่วนกลางหรือผู้มีอำนาจกำพลได้ยกตัวอย่างประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีศิลปินด้านวรรณศิลป์ที่มีบทบาทสูงอย่าง โฮเซ่ ริซัล ในการเรียกร้องเอกราชคืนจากสเปนที่เป็นเจ้าอาณานิคม ขบวนการกู้เอกราชของศิลปินนำมาสู่การให้ความสำคัญของภาษาตากาล็อกซึ่งเป็นภาษาท้องถิ่น ในขณะที่ศิลปินแห่งชาติของไทยคือพวกที่ใช้ภาษาส่วนกลาง

วิเคราะห์แนวทางการตัดสินของรางวัลพานแว่นฟ้า

คณะกรรมการตัดสินศิลปินแห่งชาตินั้นไม่ปรากฏรายชื่อในการค้นหา เพียงคำ ประดับความ จึงยกตัวอย่างรางวัลพานแว่นฟ้า ซึ่งเป็นการประกวดรางวัลวรรณกรรมทางการเมือง ก่อตั้งในปี 2545 จัดโดยรัฐสภาและสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ซึ่งมี เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา

เพียงคำได้ศึกษาบทกวีรางวัลพานแว่นฟ้า ตั้งแต่ปี 2546-2555 ผลการศึกษาออกมาพบ 5 ประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่

1. บทกวีพานแว่นฟ้านำเสนอภาพประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทยแบบราชาชาตินิยม หรือเรื่องเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เป็นชาดกหรือคอลเลกชั่นหนึ่งของประชาธิปไตยแบบราชาชาตินิยม เขาจะพูดว่าคนรุ่นก่อนต่อสู้เสียสละเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย เขาเล่าประวัติความเป็นชาติเขาก็เล่าว่ามีวีรบุรุษ วีรสตรีมากมายที่ต่อสู้เสียสละเพื่อชาติ แต่อยู่ภายใต้การนำของวีรกษัตริย์ เขาเอาเรื่องของประชาธิปไตยไปคลุกรวมกับเรื่องของชาติ เอาเรื่อง 6 ตุลา 14 ตุลา ไปรวมกับการเลิกทาสสมัยร.5 ทำให้การเลิกทาสเป็นเรื่องเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475

2. อธิบายความหมายของประชาธิปไตยว่าเป็นสมบัติชิ้นหนึ่งของความเป็นไทย เป็นสมบัติที่วางอยู่ข้างชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสมบัติเดียวกับที่คนรุ่นก่อนสร้างไว้ให้เราเป็นมรดกตกทอดมาถึงรุ่นลูกหลาน

3. มองว่าปัญหาของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง การเลือกตั้งเป็นพิษนำมาสู่ประชาธิปไตยที่ไม่สำเร็จ ต้นเหตุมาจาก นักการเมืองเลวและประชาชนโง่

4. วิธีแก้ปัญหาประชาธิปไตยเป็นพิษ ไม่ประสบความสำเร็จ เปิดทางให้รัฐประหาร มองว่าเป็นปัญหาส่วนบุคคล นักการเมืองเลว วิธีแก้คือนำคุณธรรมจริยธรรมเข้ามา

5. ยอมรับหลักการประชาธิปไตยต่างๆ สิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม แต่ไม่ยอมรับหลักการที่เป็นของปลอม เขามองว่าประชาธิปไตยที่เรามีอยู่เป็นของปลอม ประชาธิปไตยแบบนี้ต้องการความสามัคคี ภายใต้ข้ออ้างของความมั่นคงและความเป็นชาติ

ปี 2554 เมื่อยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรี มีการเปลี่ยนขั้วการเมืองอีกครั้ง ในปี 2556 มีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ทำให้ชุดเก่าที่ยึดครองอำนาจมานานยกขบวนลาออก กรรมการชุดใหม่ถูกกล่าวหาว่าถูกการเมืองแทรกแซง ส่วนใหญ่มาจากซีกเสื้อแดง มีผลให้บทกวีพานแว่นฟ้า 2556 (เบี้ย)

ผลการศึกษาออกมาตรงข้ามกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้ คือ ความหมายของประชาธิปไตยนั้นยืนยันเรื่องหลักสิทธิเสรีภาพ ความเท่าเทียม ยืนยันว่าประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้ง ยืนยันว่าต้องมีนักการเมือง นักการเมืองเป็นอาชีพหนึ่งที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบแต่จำเป็นต้องมีนักการเมือง และประชาชนไม่ใช่เพียงเบี้ยตัวหนึ่งบนกระดานที่เดินตามผู้บงการ แต่คือคนที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวของตัวเอง เพื่อประชาธิปไตย

วิพากษ์ ‘ศิลปินที่มองไม่ไกล ไปไม่สุด’ ขณะที่คนไปสุดก็โดน 112

ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ นักเขียนและนักกิจกรรมทางการเมือง เล่าถึงบรรยากาศหลังโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการในปี 2535 ว่าบรรยากาศในยุคนั้นเต็มไปด้วยสิทธิเสรีภาพและการเรียกร้องเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประชาชนอย่างสูง ช่วงระยะเวลานั้นศิลปะมาจากการทำลายสิ่งเก่า สิ่งที่เป็นปรปักษ์กับเสรีภาพของประชาชน ศิลปินมักจะมีความโดดเด่นในเรื่องการใช้ภาษาและวิธีการอธิบายสังคมด้วยงานศิลปะไม่ว่าวรรณกรรม วรรณศิลป์ บทดนตรี บทกวี ให้หลบหลีกผู้มีอำนาจได้

ชัยนรินทร์วิจารณ์ว่า แม้ในงาน25 ปี 14 ตุลา คนทำงานศิลปะออกมามากมาย เช่น เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ สุรชัย จันทิมาธร พงษ์เทพ กระโดนชำนาญ และวสันต์ สิทธิเขตต์ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์โลกาภิวัตน์ ทุนนิยม นักการเมือง และทหาร เมื่อดูพื้นเพจะพบว่าหลายคนเติบโตมาจากงานพุทธศิลป์ ยกย่องชุมขน เศรษฐกิจพอเพียง แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าความคิดพวกเขาไม่ได้ก้าวไปไกลกว่านั้น

ทั้งที่ชนชั้นอมาตยาธิปไตยหรือชนชั้นศักดินา นายทุน มีพัฒนาการเติบโตให้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสังคมทุนนิยมมาโดยตลอด แล้วกลายเป็นทุนนิยมเอง เป็นนายทุนเอง แต่ไม่เคยเห็นศิลปินเหล่านี้มาวิพากษ์วิจารณ์ แสดงว่าคุณไม่ได้เข้าใจโลกาภิวัตน์และทุนนิยมจริงๆ คุณไม่เข้าใจว่ามันเกิดมาเป็นผลผลิตของสังคม ขณะที่ประชาชนมีอารมณ์ร่วมกับการเมืองมากกว่าศิลปินเหล่านี้ด้วยซ้ำ

ขณะเดียวกันฝ่ายประชาธิปไตยก็มีความขัดแย้งกันของศิลปิน ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เริ่มต้น ศิลปิน “เพลงไพร่” ปราศรัยในปี 2552-2553 ในเรื่องของความเป็นไพร่ แต่ไม่ใช่ในมิติของประชาธิปไตย แต่เป็นในมิติของประชาชนที่จงรักภักดีคนหนึ่งแต่ไม่อยู่ในสายตา เป็นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ ขณะที่บางส่วนพยายามไปให้สุดก็จะโดนมาตรา 112 หรือถูกหมายหัว เช่น ไม้หนึ่ง ก.กุนที กลุ่มประกายไฟการละครกับละครเรื่อง “เจ้าสาวหมาป่า” นักกวี “รุ่งศิลา” กลุ่มแสงสำนึก คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112  (ครก. 112) กวีราษฎร์ ศิลปินเหล่านี้คือกลุ่มที่ทำลายสิ่งที่เป็นปรปักษ์ต่อเสรีภาพของเขา

มองทั่วโลก ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินกับการเมืองในประวัติศาสตร์

ปาโบล ปีกัสโซ่ (Pablo Picasso) กับ Guernica

Guernica

ภาณุอธิบายว่า งานชิ้นนี้มีความเป็นมาสเตอร์พีชทางศิลปะและการเมืองด้วย ในปี 1937 รัฐบาลสเปนจ้างปีกัสโซ่ซึ่งลี้ภัยการเมืองให้วาดภาพฝาผนัง ในช่วงที่ทำงาน ปีกัสโซ่ได้บังเอิญไปอ่านข่าวโศกนาฎกรรมที่เมืองหนึ่งชื่อ เกอร์นิก้า เป็นหมู่บ้านชนบทเล็กๆ ในแคว้นปัส ของสเปน เมืองนี้ถูกรัฐบาลเผด็จการของนายพลฟรันซิสโก ฟรังโก้ใช้กองกำลังนาซีและฟาสต์ซิสโจมตีและทิ้งระเบิดปราบปรามผู้ต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ เมืองถูกถล่มจนย่อยยับ คนบริสุทธิ์ล้มตายจำนวนมาก

ปิกัสโซ่อ่านข่าวนี้แล้วเขาจึงเปลี่ยนใจไม่รับจ้างวาดภาพของรัฐบาลสเปน แต่วาดภาพนี้ขึ้นแทน เป็นภาพขนาดใหญ่มาก เป็นรูปแบบงานศิลปะที่ปิกัสโซ่คิดค้นขึ้นใหม่คือแนว คิวบิซึ่ม (Cubism) เขาบอกว่าสงครามครั้งนี้ของสเปนคือการต่อสู้ของรัฐบาลฝ่ายขวาจัดที่ต่อต้านประชาชน ต่อต้านเสรีภาพ

ปิกัสโซ่กล่าวว่า “ชีวิตการเป็นศิลปินของผมต่อมานั้นไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าการต่อสู้ต่อเนื่องยาวนานกับรัฐบาลฝ่ายขวาจัดและความตายของศิลปะ ดังนั้นแล้วจะมีใครหน้าไหนคิดว่าผมมีความเห็นพ้องกับฝ่ายขวาจัดได้อีก ในภาพที่ผมกำลังวาดอยู่นี้ซึ่งผมจะเรียกมันว่า ผมได้แสดงออกถึงความชิงชังเผด็จการทหารที่ทำให้สเปนจมดิ่งใต้ทะเลแห่งความเจ็บปวดและความตายที่มันเป็นอยู่"

ปิกัสโซ่ใช่เวลาวาดภาพนี้ 35 วัน สังเกตว่าเป็นภาพที่แสดงถึงความเจ็บปวด ความบิดเบี้ยว สงคราม ความตาย พอวาดเสร็จปิกัสโซ่ก็นำภาพไปแสดงที่กรุงปารีส และประสบความสำเร็จอย่างมาก ประเด็นที่สำคัญคือปิกัสโซทำพินัยกรรมว่าภาพนี้จะไม่กลับสู่สเปนอีก ตราบใดที่สเปนไม่คืนสู่ประชาธิปไตย ปี 1975 นายพลฟรังโก้ เสียชีวิต หลังจากนั้นสเปนก็กลับคืนสู่ประชาธิปไตย ภาพจึงถูกคืนไปที่สเปนในที่สุด

ภาพนี้ถูกใช้ในฐานะภาพต่อต้านสงครามตลอดหลังจากนั้น

ภาณุตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าปีกัสโซ่ยอมอยู่ในรัฐบาลเผด็จการของสเปน ปีกัสโซ่อาจจะได้ลาภยศ สรรเสริญ เป็นศิลปินแห่งชาติอยู่อย่างสุขสบาย แต่ผมคิดว่าจิตวิญญาณของศิลปิน มีคำถามว่าศิลปิน ศิลปะจำเป็นต้องยุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือเปล่า ผมว่าไม่จำเป็น แต่ในฐานะที่ศิลปินเป็นมนุษย์ คุณจะนิ่งเฉยต่อชะตากรรมของเพื่อนร่วมชาติที่โดยกดขี่ ทำร้าย ฆ่า คุณจะรู้สึกกับมันไหม และศิลปินเหล่านี้ไม่นิ่งเฉย

คาซิมีร์ มาเลวิช (Kashmir Malevich) กับ Black Square

Black Square

มาเลวิช เป็นศิลปินรัสเซีย ในยุคที่รัสเซียมีแนวคิดแบบ Constructivism ทำงานศิลปะเพื่อตอบสนองอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ของรัสเซีย มาเลวิชแทนที่จะรับเอาแนวคิดนี้ของรัฐบาลเข้ามา เขาไม่เห็นด้วยและทำงานศิลปะชิ้นนี้เพื่อเป็นการแสดงเจตจำนงค์ในการต่อต้านอุดมการณ์แบบคอมมิวนิสต์ซึ่งกำลังเป็นมหาอำนาจในยุคนั้น

เขาบอกว่างานศิลปะไม่จำเป็นต้องรับใช้สังคม ศาสนา รัฐ ไม่จำเป็นต้องบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ไม่จำเป็นต้องแสดงภาพของคน วัตถุ หรือสิ่งของอะไรก็ตาม สิ่งต่างๆ ในโลก ไม่มีความหมายในตัวเอง ความรู้สึกของคนเราต่างหากที่มีความหมาย เพราะฉะนั้นเขาเลยไม่วาดรูปอะไรออกมาเลยนอกจากสี่เหลี่ยมสีดำบนแคนวาสสีขาว

หลายคนอาจบอกว่าไม่มีอะไรเลย เพราะศิลปะของรัสเซียในยุคนั้นต้องเป็นความเหมือนจริง เชิดชูทหาร และชนชั้นกรรมาชีพ วาดภาพแบบนี้ออกมาเป็นการท้าทายรัฐมาก ท้าทายสังคมมาก ผลงานชิ้นนี้บอกเราว่า จริงๆ แล้วศิลปะคือเสรีภาพ คุณดูงานชิ้นนี้แล้วจะคิดถึงอะไรก็ได้ จินตนาการถึงอะไรก็ได้โดยที่ศิลปินไม่จำกัดความคิดของคุณ

น่ากลัวคือหลังจากเขาทำงานชิ้นนี้ ผู้นำเผด็จการโจเซฟ สตาลินก้าวขึ้นสู่อำนาจ พรรคคอมมิวนิสต์ลิดรอนเสรีภาพของประชาชน แม้กระทั่งการทำงานศิลปะ กำหนดให้ศิลปินในยุคนั้นทำงานแนวสัจนิยม วาดภาพเหมือนจริง แนวสังคมนิยมที่เป็นภาพโฆษณาชวนเชื่อ ทหารคอยช่วยเหลือประชาชน ทำไร่ ทำนา มีใบหน้าเปื้อนยิ้ม ร่างกายล่ำสัน

สตาลินไม่ต้องการให้คนคิด แต่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อเพื่อให้คนตาม แต่งานศิลปะนามธรรมชิ้นนี้เปิดโอกาสให้คนใช้ความคิดอย่างเสรี สนับสนุนความแตกต่างหลากหลาย จึงเป็นที่เกลียดชังของสตาลิน

มาเลวิชถูกจับไปปรับทัศนคติ จนกระทั่งสุดท้ายแล้วมาเลวิชก็ต้องวาดภาพเหมือนในแบบที่รัฐต้องการ แต่สิ่งที่น่าสนุกคือทุกภาพเหมือนที่เขาวาด เขาจะใส่รูปสี่เหลี่ยมสี่ดำลงไปตรงริมภาพเล็กๆ ให้รู้ว่าถึงแม้ฉันจะทำตามอุดมการณ์ของรัฐเพื่อความอยู่รอด แต่จิตวิญญาณแห่งเสรีภาพของฉันยังคงอยู่และไม่ได้หายไปไหน จนกระทั่งเสียชีวิตเขาก็ยังไม่ได้กลับไปทำงานแบบนามธรรม

ไอ้ เว่ยเว่ย (Ai Weiwei)

ศิลปินชาวจีนที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ มีชื่อเสียงในต่างประเทศ แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เขาย้ายจากอเมริกากลับมาอยู่เมืองจีนถาวรเพราะเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ก่อนหน้านั้นไอ้เว่ยเว่ยคือศิลปินที่จีนรักมาก เป็นที่ปรึกษาในการสร้างสนามกีฬารังนกในโอลิมปิคปี 2008

แต่เมื่อมีข่าวว่ารัฐบาลไล่ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบสนามกีฬาออก และทุบบ้านทิ้ง เขาโกรธมากและประกาศไม่เข้าร่วมพิธีเปิดโอลิมปิคในครั้งนั้น รวมถึงทำผลงานออกมาชิ้นหนึ่งชื่อ Fuck You, Motherland เป็นภาพชูนิ้วกลางให้จัตุรัสเทียนอันเหมิน หลักจากนั้นไอ้ เว่ยเว่ย ก็กลายจากศิลปินเป็นแอคทิวิสต์

มีเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เสฉวน คนตายไปประมาณ 70,000 คน คนที่ตายจำนวน 40,000 คน เป็นเด็กที่อยู่ในโรงเรียนรัฐบาล ซึ่งสร้างโดยรัฐโดยใช้วัสดุคุณภาพต่ำ มีการคอรัปชั่นกัน เป็นโครงสร้างที่เปราะมาก รัฐบาบจีนกินเหล็ก กินอิฐ กินปูน ที่แย่กว่านั้น รัฐบาลจีนทำการปิดข่าวไม่บอกชื่อคนตาย เพราะเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยชื่อ

ไอ้ เว่ยเว่ย จึงลงพื้นที่ทำการสำรวจชื่อของเด็กที่ตายทุกคน สอบถามสัมภาษณ์ชาวบ้าน และลิสต์รายชื่อ และนำรายชื่อของเด็ก 40,000 คนไปแปะบนกำแพง ซึ่งการทำแบบนี้ก็โดนคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐตลอดเวลา และโดนเจ้าหน้าที่รัฐซ้อม และทำงานชื่อ Remembering เป็นกระเป๋าเป้จำลองของเด็กอนุบาลที่เสียชีวิตมาติดบนอาคารเขียนเป็นอักษรจีน “เธอเคยอยู่อย่างมีความสุขเป็นเวลา 7 ปีบนโลกใบนี้” ซึ่งเป็นคำพูดของหนึ่งในพ่อแม่เด็กที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้

เขาตั้งคำถามกับรัฐบาลในโลกออนไลน์และถูกรัฐบาลจีนเล่นงาน จับตา เอากล้องวงจรปิดติดหน้าบ้าน สอดส่องการทำงาน สุดท้ายถูกจับไปขังคุกประมาณ 80 วัน แต่รัฐบาลจะทำอะไรกระโตกกระตากไม่ได้ เพราะเป็นศิลปินชื่อดังระดับโลก

เขาเล่าว่าถูกขังในห้องที่ปิดกระดาษทั้งหมด ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตลอดเวลาแม้แต่เวลากินข้าว เข้าห้องน้ำ ถูกสอบปากคำตลอดเวลา หลังจากเขาถูกปล่อยตัว เขาทำงานจำลองเหตุการณ์ระหว่างที่เขาติดคุกอย่างละเอียด โดยตุ๊กตาเรซิ่น และแสดงงานศิลปะนี้ในเทศกาลศิลปะเวนิซเบเนเล่ (venice biennale) เทศกาลศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศอิตาลี

มีคนถามว่า ลุกขึ้นมาแข็งข้อกับรัฐบาลจีนอย่างนี้ไม่หวาดกลัวหรอ เขาบอกว่า จริงๆเขากลัวมาก แต่นั่นอาจเป็นเหตุผลที่เขาทำในสิ่งที่กล้าหาญมากขึ้น เพราะเขารู้ว่าความกลัวมีพลังมาก ถ้าเขาไม่ลงมีทำอะไรเลยความกลัวจะยิ่งเข้มแข็งและเติบโตมากขึ้น เขาในฐานะที่เป็นศิลปินระดับโลก เขาพูดแล้วเสียงดังกว่าคนอื่น เขาทำสิ่งเหล่านี้เขาสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้

ศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสต์

เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ยุโรปอยู่นสงครามโลกครั้งที่ 1 สังคมยุโรปอดอยากยากจนข้นแค้น จึงมีแนวคิดการทำงานศิลปะที่ปฏิเสธความเป็นเหตุเป็นผล วิทยาศาสตร์ ค่านิยม ตรรกะ ต่อต้านชาตินิยม ลัทธิอาณานิคม เขาคิดว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสงคราม งานศิลปะจึงละทิ้งเหตุผลแต่ใช้สัญชาตญาณ สำรวจเส้นทางใหม่ๆ เขาเชื่อว่าความฝันคือเครื่องมือปลดปล่อยคนออกจากกรงขัง ฝันไม่ต้องมีเหตุผล สุดท้ายศิลปะแบบเซอร์เรียลลิสต์ก็ให้แรงบันดาลใจคนยุคหลังๆ อีกมากมาย

ภาณุกล่าวสรุปว่า

เรามีศิลปินแห่งชาติทำไม ศิลปินแห่งชาติยึดโยงอะไรกับประชาชน ความเห็นใจต่อประชาชนเพื่อนร่วมชาติ ประชาชนที่ทุกข์ยาก ถูกกดขี่ ไม่ใช่คุณสมบัติของศิลปินอย่างเดียวแต่เป็นคุณสมบัติของมนุษย์ที่ควรอยู่ในสามัญสำนึก เพราะฉะนั้นไม่ต้องถามว่าคุณเป็นศิลปินทำไม แต่ถามว่าคุณมีสามัญสำนึกที่อยากทำอะไรในฐานะที่คุณเป็นกระบอกเสียงหนึ่ง เป็นคนที่ถูกสังคมจับจ้องและพูดออกมาแล้วเสียงดังกว่าคนอื่น คุณจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยคนเหล่านั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net