Skip to main content
sharethis

คนไทยถูกปฏิเสธเข้าเกาหลีใต้ยังไม่ลดลง เตือนแรงงานไทยควรเข้ามาอย่างถูกกฎหมาย

นายศรัณย์ เจริญสุวรรณ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ กล่าวถึงกรณีที่คนไทยถูกสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้ปฏิเสธเข้าประเทศเกาหลีใต้มากขึ้น ว่า ปัญหาคนไทยลักลอบเข้าประเทศเกาหลีใต้ยังคงมีต่อเนื่อง และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงประมาณ 2 เท่าในช่วง 3 ปี โดยปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในประเทศเกาหลีใต้กว่า 100,000 คน และมากกว่าครึ่งเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งแม้เจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้จะตรวจเข้มเรื่องคนลักลอบเข้าเมืองอย่างหนักก็ตาม ก็ยังมีคนไทยแอบเข้ามาทำงานโรงงานเก็บผลไม้อย่างผิดกฎหมาย ทำให้ประเทศเกาหลีใต้เข้มงวดในการตรวจสอบคนเข้าเมืองมากขึ้น เพราะไม่ต้องการให้จำนวนแรงงานผิดกฎหมายเพิ่มขึ้น และป้องกันการเกิดปัญหาทางสังคม แม้ว่าแรงงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพยุงเศรษฐกิจของเกาหลีใต้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้เข้มงวดกับคนทุกชาติ เพราะไม่ใช่เฉพาะคนไทยที่ลักลอบเข้ามาทำงานแบบผิดกฎหมาย แต่ยังมีคนอีกหลายชาติที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายเช่นกัน เนื่องจากมีแรงจูงใจสูงจากอัตราค่าจ้างสูงถึง 30,000 -40,000 บาทต่อเดือน ประกอบกับบทลงโทษของประเทศเกาหลีใต้ไม่รุนแรง คือ ถูกส่งกลับประเทศ และถูกขึ้นบัญชีดำไม่ให้เดินทางเข้าประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น ทำให้คนไทยแฝงเข้ามาในรูปของนักท่องเที่ยว ซึ่งไม่ต้องขอวีซ่าและพำนักในเกาหลีใต้ได้ถึง 90 วัน ดังนั้น ขอฝากถึงคนไทยที่ต้องการเข้าทำงานที่เกาหลีใต้ ขอให้ทำตามขั้นตอน ต้องเข้ามาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย เพราะกลุ่มแรงงานผิดกฎหมายจะไม่มีสิทธิในเรื่องต่าง ๆ เช่น การรักษาพยาบาล หากเจ็บป่วยต้องเสียค่ารักษาพยาบาลเองซึ่งค่าใช้จ่ายแพงมาก ดังนั้น จึงควรเข้ามาอย่างมีเกียรติและถูกต้อง

ส่วนประเด็นที่มีนักท่องเที่ยวไทยเสนอให้กลับมาขอวีซ่าในการเข้าประเทศเกาหลีใต้เหมือนเดิมเพื่อแก้ปัญหานี้นั้น มองว่าไม่คุ้มค่าและไม่ใช่ทางแก้ปัญหา เพราะแต่ละปีมีคนไทยเดินทางมาเกาหลีใต้มากถึง 400,000-500,000 คน แต่พบคนที่ถูกห้ามเข้าเมืองเพียง 20,000 คนเท่านั้น ซึ่งจะกระทบต่อคนไทยจำนวนมาก ขณะที่การคัดกรองการพิจารณาของเจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ถือได้ว่ามีความเป็นระบบยุติธรรม และตรวจเช็คคนได้ค่อนข้างแม่นยำ ดังนั้น ผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดจึงไม่ต้องกลัว หากเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ขอตรวจสอบตัวตน โดยขอให้คนไทยที่ต้องการจะเดินทางมาท่องเที่ยวต้องเตรียมเอกสารทุกอย่างให้ครบและควรเตรียมเอกสารการสำรองที่พัก แผนการท่องเที่ยว ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ ข้อมูลการท่องเที่ยวที่สนใจ เพราะสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสามารถเรียกดูเอกสารหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 24/9/2560

ก.แรงงาน แจงกรณีสื่อนอกรายงานค้ามนุษย์ในไทย ย้ำแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในประมงเข้มข้น ได้รับการยอมรับระดับสากล

กระทรวงแรงงาน แจงสื่อนอก ย้ำไทยแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในกิจการประมงเข้มข้น พร้อมเผยผลจัดลำดับการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายโดยได้รับการยอมรับในระดับสากลจากกระทรวงแรงงานของประเทศสหรัฐอเมริกายกระดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จสูงสุด (Significant Advancement) ประจำปี 2559

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงาน เปิดเผยถึง กรณีสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าว องค์กรเอกชนต่อต้านการค้ามนุษย์ อินเตอร์เนชันแนล จัสติส มิชชัน (ไอเจเอ็ม) ออกผลสำรวจโดยลงพื้นที่แหล่งอุตสาหกรรมประมงในไทยรวม 20 แห่งเมื่อปี 2559 ระบุว่าคนงานต่างชาติบนเรือประมงไทยราว 1 ใน 3 ต้องทำงานใช้หนี้ โดยได้รับค่าจ้างต่ำกว่ากฎหมายกำหนด และถูกทำร้ายร่างกาย ว่า การแก้ไขปัญหาใช้แรงงานผิดกฎหมายในกิจการประมง ประเทศไทยได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยกระทรวงแรงงาน ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศปมผ. กรมเจ้าท่า กรมประมง เป็นต้น ร่วมกันตรวจสอบเรือประมงที่แจ้งเข้า-ออกทุกลำ ณ ศูนย์ PIPO โดยจะตรวจสอบรายชื่อลูกจ้างให้ตรงกับที่แจ้งไว้ ตรวจสอบใบอนุญาตทำงาน กรณีสงสัยหรือมีข้อบ่งชี้ว่าอาจมีการค้ามนุษย์หรือกระทำผิดก็จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายในทันที

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการตรวจเรือประมงในปี 2559 จำนวน 956 ครั้ง จำนวนเรือที่ผ่านการตรวจ 891 ลำ พบเรือกระทำผิด 18 ลำ เป็นการใช้แรงงานเด็กอายุ ต่ำกว่ากฎหมายกำหนด 1 ลำ 1 คน และในการคัดกรองการทำ seabook ของลูกจ้างเรือประมงจำนวน 4 หมื่นกว่าคน พบการกระทำผิด 4 พันกว่าคน ซึ่งได้ออกคำสั่งให้ปฏิบัติให้ถูกต้องและดำเนินคดีกับนายจ้างแล้ว นอกจากนี้ ได้ร่วมกับ ILO จัดทำโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights) และ NGO จัดทำหลักสูตรเพื่ออบรมพนักงานตรวจแรงงาน เป็นการเพิ่มศักยภาพการตรวจแรงงานและสัมภาษณ์เพื่อหาข้อเท็จจริงการใช้แรงงานบังคับ

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า นอกจากมาตรการข้างต้นแล้ว กระทรวงแรงงาน ได้ปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 อัตราโทษสำหรับการใช้แรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในเรือประมง ซึ่งจะมีโทษปรับ 4-8 แสนบาท ต่อลูกจ้าง 1 คน หรือจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งปรับทั้งจำ รวมทั้ง จัดตั้งชุดเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบการกระทำผิด โดยมีทีมหาข่าวล่วงหน้าร่วมกับ NGO ลงพื้นที่ หากพบการกระทำความผิดจะส่งข้อมูลให้ชุดตรวจเข้าตรวจอย่างเข้มข้น และดำเนินคดีทันที

จากมาตรการต่างๆ และการดำเนินการอย่างเข้มข้นของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน เมื่อวันที่ 20 ก.ย.60 กระทรวงแรงงานของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศจัดลำดับการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายโดยยกระดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับความสำเร็จสูงสุด (Significant Advancement) ประจำปี 2559 ซึ่งเลื่อนลำดับจากประเทศที่มีความสำเร็จปานกลาง (Moderate Advancement) เมื่อปี 2558

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 24/9/2560

กสร.รุดช่วยแรงงานเมียนมา จ.ตาก โดนโกงค่าแรง-ค่าล่วงเวลา นัดสอบเพิ่ม 25 ก.ย.นี้

นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยกรณีที่สื่อเผยแพร่ข่าวแรงงานชาวเมียนมากว่า 150 คน เดินทางไปที่สำนักงานเคทีจี หรือโกตายี ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือแรงงานเมียนมา ตั้งอยู่ที่อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีเจ้าของโรงงานแห่งหนึ่งในอ.แม่สอด จ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลาไม่ถูกต้องตามกฎหมายว่า

จากกรณีดังกล่าวได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงาน และเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงทันที ซึ่งพบว่าลูกจ้างทั้งหมดเป็นลูกจ้างของบริษัทแม่สอดชัยวัฒนา ตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ปะ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประกอบกิจการรับจ้างเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จากการสอบถามข้อเท็จจริงตัวแทนนายจ้างชี้แจงว่าประมาณสองเดือนที่ผ่านมาบริษัทประสบปัญหาไม่มีออเดอร์จึงหยุดการผลิตชั่วคราวแต่ยังคงให้ลูกจ้างพักอาศัยและจัดอาหารให้แก่ลูกจ้าง ส่วนเรื่องค่าจ้างที่ลูกจ้างอ้างว่านายจ้างจ่ายไม่ถูกต้องตามกฏหมาย พนักงานตรวจแรงงานได้ออกหนังสือให้นายจ้างมาพบ พร้อมนำเอกสารหลักฐานมาชี้แจงในวันที่ 25 กันยายน 2560 หากพบว่านายจ้างปฏิบัติไม่ถูกต้องจริง พนักงานตรวจแรงงานแรงงานจะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดโดยเร็ว หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เรื่องของการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาให้ถูกต้องตามที่กฎหมาย จะมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อธิบดีกสร. กล่าวต่อไปว่า สำหรับค่าทำใบอนุญาตทำงานที่ลูกจ้างอ้างว่าถูกเรียกเก็บไม่ถูกต้องนั้น ได้ประสานจัดหางานจังหวัดตาก ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วยแล้ว ทั้งนี้ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสิทธิแรงงาน แรงงานบังคับและการค้ามนุษย์ ด้วยการคุ้มครองแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ให้ได้รับการปฏิบัติที่เหมือนกันทั้งในเรื่องสภาพการจ้าง สภาพการทำงานและสวัสดิการตามกฎหมาย เปิดโอกาสให้แรงงานต่างด้าวได้ทราบสิทธิหน้าที่นายจ้าง ลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน และใช้สิทธิในการยื่นคำร้องตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 24/9/2560

เสนอปลดล็อก 7 อาชีพสงวน อนุญาตให้ต่างด้าวทำได้

การเปิดประชาพิจารณ์ 39 อาชีพสงวน ล่าสุด มี 7 วิชาชีพ ที่จะปลดล็อก อนุญาตให้คนต่างด้าวทำได้ ตามยุคสมัย และภาวะการขาดแคลนแรงงานในปัจจุบัน

กรมการจัดหางาน เปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นการจัดทำกฎหมายลำดับรอง เรื่องอาชีพที่ห้ามแรงงานเพื่อนบ้านทำตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว

ผู้ประกอบการ และตัวแทนนายจ้าง มีความเห็นในเบื้องต้นขอยกเลิก 7 อาชีพ จาก 39 อาชีพสงวน ก็คือ ปลดล็อกให้แก่อาชีพกรรมกร งานกสิกรรม งานก่อสร้างช่างไม้ งานขายของหน้าร้าน งานเจียระไนหรือขัดเพชรพลอย รวมไปถึงผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และผลิตรองเท้า โดยเฉพาะ 2 อาชีพหลังเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก จำเป็นต้องใช้แรงงานจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม อาชีพช่างฝีมือ ช่างเสริมสวย หรืองานเอกลักษณ์ไทย และการเป็นหัวหน้างาน มีอำนาจสั่งการ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า ต้องสงวนไว้ให้คนไทยเท่านั้น รวมถึงอาชีพมัคคุเทศก์ หรือไกด์ ก็ต้องสงวนไว้ ห้ามคนต่างด้าวทำ นอกจากนี้อาชีพพนักงานขับรถโดยสารไม่ควรให้คนต่างด้าวทำ

สำหรับอาชีพที่จะอนุญาตให้แรงงานเพื่อนบ้านทำได้ ควรเป็นอาชีพลูกจ้างและผู้ช่วย หรือลูกมือในงานวิชาชีพเท่านั้น ห้ามเข้ามาเป็นผู้ประกอบการเปิดร้านอาหาร ร้านขายของไม่ได้

ที่มา: ch7.com, 27/9/2560

แรงงาน ยุติปัญหาลูกจ้างเมียนมา จ.กาญจนบุรี หยุดงานประท้วงนายจ้าง

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยกรณีที่สื่อเผยแพร่ข่าวแรงงานชาวเมียนมา ประมาณ 300 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัท ริเวอร์แคว อินเตอร์เนชั่นแนล อุตสาหกรรมอาหาร จำกัด ประกอบกิจการแปรรูปผักและผลไม้สด ในจังหวัดกาญจนบุรี ได้รวมตัวกันหยุดงานเพื่อประท้วงนายจ้างว่า ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานและเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกาญจนบุรีลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าสาเหตุมาจากลูกจ้างได้เรียกร้องให้นายจ้างดำเนินการจำนวน 6 เรื่อง ได้แก่

1.การจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างรายวัน ๆ ละ 305 บาท 2.ขอให้หัวหน้างานใช้คำพูดที่ดีกับพนักงานในการสั่งงาน 3.ขอให้ปรับเวลาพักกลางวันจากที่เคยแบ่งพักครั้งละครึ่งชั่วโมงให้เป็นจำนวน 1 ชั่วโมงติดต่อกัน 4.ขอให้นายจ้างให้เอกสารการจ่ายค่าจ้างแก่ลูกจ้างทุกคน 5.กรณีได้รับบาดเจ็บจากการทำงานขอให้นายจ้างดูแลรักษาด้วย และ 6.ขอให้มีวันหยุด 1 วัน โดยหมุนเวียนกันหยุด

เจ้าหน้าที่ได้ร่วมเจรจากับตัวแทนนายจ้าง ตัวแทนลูกจ้างในประเด็นข้อเรียกร้องดังกล่าวผลการเจรจาทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้ โดยนายจ้างยินดีปฏิบัติตามข้อเสนอของลูกจ้างทุกประการ นอกจากนี้ทั้งสองฝ่ายได้มีการตกลงเพิ่มเติมในเรื่องสวัสดิการอื่น ๆ เช่น การรักษาพยาบาล ชุดทำงาน เป็นต้น ลูกจ้างพอใจและได้กลับเข้าปฏิบัติงานตามปกติตั้งแต่วันที่ 29 กันยายน 2560

รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้พนักงานตรวจแรงงานได้ออกหนังสือให้นายจ้างนำเอกสารหลักฐานมาพบเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับสภาพการจ้างการทำงานในวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2560 เพื่อตรวจสอบในเรื่องของสภาพการจ้างการทำงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 เช่น การจ่ายค่าจ้าง การจัดวันหยุด วันลา เป็นต้น หากพบว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องจะดำเนินการตามกฎหมายทันที

ที่มา: VoiceTV, 29/9/2560

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net