Skip to main content
sharethis

3 ต.ค. 2560 จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกกับโดนัล ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในปีหน้านั้น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป หากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้วเสร็จ ก็นับไปอีก 150 วัน ก็จะสามารถกำหนดวันเลือกตั้งได้

ส่วนที่มีการมองว่าหากกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะทำให้เป็นปัจจัยในการเลื่อนการเลือกตั้งนั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ได้เป็นสมาชิก สนช. และให้รอดูการพิจารณาของ สนช.
 
“ขออย่าคิดว่า คสช.อยากจะอยู่ในตำแหน่งต่อไป ทั้งนี้จะอนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ภายหลังกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ส่วนผมไม่มีข้อห่วงใยใด ๆ และทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อย” พล.อ.ประวิตร กล่าว
 
พล.อ.ประวิตร กล่าวอีกว่า การที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้ไทยเข้าพบนั้น เมื่อสหรัฐฯ ถือเป็นประเทศมหาอำนาจ ก็ถือว่าสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่น และประเทศอื่น ๆ ก็จะต้องมีความเชื่อมั่นไทยด้วยเช่นเดียวกัน 
แฟ้มภาพ
 
ขณะที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีการหารือกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาว่า ประเทศไทยจะมีการจัดการเลือกตั้งภายในปี 2561 นั้น จะมีอุบัติเหตุในชั้นการพิจารณาของ สนช. จนอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปตามโรดแมปหรือไม่นั้น มีชัย กล่าวยืนยันว่า กรธ.สามารถจัดทำร่างกฎหมายลูกได้แล้วเสร็จทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ แม้ว่ามีเวลาพิจารณากฎหมายค่อนข้างจำกัด ซึ่งขณะนี้ สนช. ก็ได้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาร่างกฎหมายลูกควบคู่ไปกับการจัดทำร่างกฎหมายลูกของ กรธ. และได้มีการหารือร่วมกันโดยตลอด ดังนั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์ที่นำไปสู่การคว่ำร่างกฎหมายลูกได้ นอกจากนี้ สนช. มีอิสระในการพิจารณาร่างกฎหมาย และการออกกฎหมายเป็นอำนาจของ สนช. ซึ่ง กรธ.ทำได้เพียงแต่ชี้แจงเหตุผลของการจัดทำร่างกฎหมายลูกให้กับ สนช. รับทราบเท่านั้น และไม่ว่าที่ประชุม สนช.จะมีผลมติออกมาอย่างไร หากกฎหมายดังกล่าวสอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กรธ. ก็พร้อมยอมรับ
 
มีชัย กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ กรธ.เตรียมส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. .... ให้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาเนื้อหาให้สอดคล้องกัน คาดว่า  จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนส่งข้อคิดเห็นกลับมายัง กรธ. โดยจะนำความเห็นของ ป.ป.ช.มาพิจารณาอีกครั้ง ก่อนส่งร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช. ต่อไป ทั้งนี้ กรธ.ยังคงยึดหลักการจัดทำร่างกฎหมายลูกว่าด้วย ป.ป.ช. ตามที่เคยชี้แจงก่อนหน้านี้ ทั้งเรื่องสถานภาพของ ป.ป.ช.ที่ต้องยึดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 บัญญัติไว้ การนำระบบการไต่สวนโดยตั้งพนักงานไต่สวนมาใช้แทนการตั้งอนุกรรมการที่มีความล่าช้า รวมทั้งต้องจัดทำหลักสูตรอบรมพนักงานไต่สวนให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามในวันนี้ กรธ. จะเริ่มพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. .... โดยคาดว่าจะส่งร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ไปยัง สนช.ได้ในวันที่ 21 พ.ย. และส่งร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. .... ในวันที่ 28 พ.ย. นี้
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net