Skip to main content
sharethis

บทบรรณาธิการของเดอะการ์เดียน ต่อเหตุปราบปรามการทำประชามติแยกตัวเป็นอิสระในแคว้นกาตาลุญญา ประเทศสเปน ระบุว่าการใช้กำลังตำรวจปราบปรามผู้ไปลงคะแนนและผู้ประท้วงอย่างสงบในกาตาลุญญาแสดงให้เห็นถึงความพ่ายแพ้ของรัฐบาลกลางสเปนเอง

แฟ้มภาพการชุมนุมเรียกร้องเอกราชกาตาลุญญาเมื่อ 14 กันยายน พ.ศ. 2555 (ที่มา: Ivan McClellan/Wikipedia)

3 ต.ค. 2560 "สเปนอยู่ในภาวะวิกฤต แต่นายกรัฐมนตรีของสเปนก็แสดงออกแบบปฏิเสธสภาพความเป็นจริง" บทบรรณาธิการของเดอะการ์เดียนระบุถึงการที่ตำรวจปราบจลาจลใช้ไม้กระบองทุบตีผู้ชุมนุมอย่างสงบ ลากดึงเส้นผมของผู้ที่ไปลงคะแนนประชามติแยกตัวเป็นอิสระของกาตาลุญญา โยนผู้ไปลงคะแนนลงจากบันได ยิงกระสุนยางสลายฝูงชน แม้กระทั่งทำร้ายนักดับเพลิงของกาตาลุญญาและปะทะกับตำรวจท้องถิ่นของกาตาลุญญา

นอกจากจะมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมากแล้ว บทบรรณาธิการเดอะการ์เดียนยังระบุอีกว่าเรื่องนี้ส่งผลสะเทือนต่อความรู้สึกของผู้คนนอกเหนือไปจากกาตาลุญญาและสเปนเองด้วย ผลที่ตามมาอย่างแทบจะแน่นอนคือชาวกาตาลุญญาที่เคยต่อต้านหรือไม่รู้สึกอะไรกับการแยกตัวเป็นอิสระมาก่อนอาจจะถูกผลักให้มีแนวคิดอยากแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนมากขึ้นเพราะเริ่มตั้งคำถามว่า "ใครกันที่จะอยากถูกปกครองโดยรัฐแบบนี้"

เดอะการ์เดียนระบุต่อไปว่า การที่มาริอาโน ราฮอย นายกรัฐมนตรีสเปนออกมาพูดในทำนองว่าประชามติไม่มีอยู่จริง ไม่มีปัญหาอะไร และอ้างว่าตำรวจเข้าควบคุมสถานการณ์ "อย่างเยือกเย็น" นั้น ยิ่งทำให้เป็นการสุมเชื้อเพลิงความไม่พอใจให้กับชาวกาตาลุญญา ฝ่าย "ชาตินิยมกาตาลุญญา" เริ่มรณรงค์ประสบความสำเร็จมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ยิ่งเกิดวิกฤตทางการเงินยิ่งทำให้ขบวนการเรียกร้องอิสรภาพจากสเปนได้แต้มต่อ

การปราบปรามอย่างหนักของรัฐบาลกลางมีตั้งแต่การยึดบัตรลงคะแนน จับกุมเจ้าหน้าที่สำคัญๆ เกี่ยวกับการลงประชามติ ปลดเทคโนโลยีที่ใช้เชื่อมต่อสถานีลงคะแนน การนับคะแนน และการลงคะแนนทางอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงสกัดกั้นไม่ให้ผู้คนเข้าคูหาลงคะแนน แต่เจ้าหน้าที่กาตาลุญญาก็โต้ตอบด้วยการบอกให้ผู้คนสั่งพิมพ์บัตรลงคะแนนมาจากบ้านตัวเอง บอกว่าพวกเขาจะลงคะแนนเมื่อใดก็ได้ แต่ในมุมมองของเดอะการ์เดียนก็มองว่านั่นทำให้ผลการลงคะแนนในครั้งนี้ โดยตัวมันเองแล้ว ไม่มีความหมาย

และเมื่อประเมินจากท่าทีจากหลายชาติของยุโรปรวมถึงเจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปต่อกรณีการใช้ความรุนแรงกับผู้ไปลงประชามติ ก็ทำให้เกิดความรู้สึกขัดกันกับท่าทีของรัฐบาลกลางสเปนที่พยายามทำให้ตัวเองออกห่างจากเรื่องนี้ สิ่งนี้เองที่จุดชนวนให้นักชาตินิยมกาตาลุญญากล่าวหาว่ารัฐบาลกลางเป็นเผด็จการและกดขี่บีบคั้นเจตจำนงของชาวกาตาลุญญา

กระนั้นเดอะการ์เดียนก็ระบุว่านั่นไม่ได้หมายความว่าฝ่ายอยากแยกตัวเป็นอิสระของกาตาลุญญษจะชนะโดยสิ้นเชิง พวกเขาชนะเพียงแค่ครึ่งเดียว เพราะการ์เดียนมองว่าชาวกาตาลุญญาส่วนใหญ่ทั้งอยากลงประชามติและอยากอยู่เป็นส่วนหนึ่งกับประเทศสเปนต่อไปพร้อมๆ กัน พวกเขารู้สึกถูกกระทำไม่ดีทั้งจากรัฐบาลกลางและจากขบวนการแยกตัวเป็นอิสระ นั่นทำให้เดอะการ์เดียนมีท่าทีเห็นด้วยกับเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปที่เรียกร้องให้ทั้งฝ่ายเจรจาหารือกัน สิ่งที่จะออกจากปัญหาได้คือการที่เต็มใจรับฟังคนอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะการรับฟังประชาชนชาวกาตาลุญญา

เรียบเรียงจาก

The Guardian view on Catalonia’s referendum: the Spanish state has lost, The Guardian, 01-10-2017

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net