แขวนคอ: จากคนดำถึง ‘6 ตุลา’ ทางออกนองเลือดบนความเห็นต่าง

เล่าประวัติศาสตร์การแขวนคอเนื่องในสัปดาห์วาระ 41 ปี ‘6 ตุลา’ เรื่องเล่าตั้งแต่ก่อนคริสตกาล แขวนคอคนดำในสหรัฐฯ ถึง 2 พนักงานไฟฟ้าและการแขวนคอวันที่ 6 ต.ค. ที่คล้ายสมัยยุคกลางแต่อย่าลืมทารุณกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้น พวงทอง ชี้ แขวนคอใช้ประจาน ข่มขู่ฝ่ายซ้าย ไทยไม่รับมือเห็นต่างอย่างเป็นประชาธิปไตย 

**คำเตือน** มีภาพที่มีเนื้อหารุนแรง

เข้าสู่สัปดาห์ของการรำลึกเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของกลุุ่มนักศึกษา ประชาชนเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2519 โดยกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจและกลุ่มมวลชนจัดตั้ง เหตุการณ์จบลงด้วยการใช้ความรุนแรงล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่ชุมนุมอยู่ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เป็นผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก โดยตัวเลขของทางการนั้นมีผู้เสียชีวิต 39 คน บาดเจ็บ 145 แต่หากอ้างอิงจากการเก็บศพของเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูพบว่ามีนักศึกษาและประชาชนเสียชีวิตถึง 530 คน ยังไม่นับมูลค่าทรัพย์สินที่เสียหาย ถึง 50 ล้านบาทจากการสำรวจของคณะกรรมการมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาพความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มประชาชนในวันนั้นมีหลายรูปแบบ หนึ่งในความรุนแรงเหล่านั้นคือการ ‘แขวนคอ’ ตามที่ปรากฏในหน้าสื่อต่างๆ ย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารและแขวนคอ ชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกษศรีพงศา พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค นครปฐม 2 หลังจากทั้งสองคนแสดงออกถึงท่าทีต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม กิตติขจรด้วยการเร่ติดโปสเตอร์ต่อต้านจอมพลถนอม และละครที่นักศึกษาที่ มธ. เล่นกันเพื่อทวงความเป็นธรรมให้เหยื่อทั้งสองก็เป็นหนึ่งในสาเหตุความรุนแรงที่ฝ่ายขวาใช้เป็นเหตุผลในการเข้าล้อมปราบมหาวิทยาลัยริมแม่น้ำเจ้าพระยา เรื่อยมาจนถึงภาพคนถูกแขวนคอในเหตุการณ์ 6 ต.ค. ที่หลายคนอาจเคยเห็น

การแขวนคอเป็นการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์ด้วยกันมายาวนานและหลายพื้นที่ทั่วโลก ดังนั้น นัยของการแขวนคอจึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจถึงเหตุผลและตัวอย่างการใช้งานปฏิบัติการด้านความรุนแรงนี้ในสังคมอื่น ประชาไทนำผู้อ่านไปทำความรู้จักความเป็นมาของประดิษฐกรรมการแขวนคอที่ถูกใช้ในภาครัฐและปฏิบัติการด้านความรุนแรงในสังคมที่มากไปกว่าเหตุการณ์ 6 ต.ค. เพื่อแสดงให้เห็นถึงหนึ่งในเครื่องมือความรุนแรงที่ใช้ในการจัดการคนที่คิดต่าง และวนกลับมาที่เหตุการณ์ 6 ต.ค. อีกครั้งเพื่อเน้นย้ำว่า การทำลายคนคิดต่างด้วยการแขวนคอก็คือการจับเสรีภาพและแนวทางแห่งประชาธิปไตยแขวนคอประจาณให้ตายตกไปตามกัน

ประวัติศาสตร์การแขวนคอ ยาวนาน มีพัฒนาการ ใช้กันทั้งศาลจริงและศาลเตี้ย เปิดตัวอย่าง ปชช. แขวนคอกันเองในสหรัฐฯ

การแขวนคอมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ในแง่ของการเป็นโทษประหาร การแขวนคอถือเป็นหนึ่งในในวิธีการที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์จารึก การแขวนคอถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในมหากาพย์ โอดิสซี ของกวีนามโฮเมอร์ ที่เชื่อว่าเขียนขึ้นเมื่อ 800-600 ปีก่อนคริสตกาล โดยเนื้อหาอธิบายถึงการแขวนคอคนใช้ทั้ง 12 คนโดยโอดิสซีอุสและเพเนโลเปผู้เป็นภรรยา นอกจากนั้น โทษประหารด้วยการแขวนคอยังถูกชนเผ่าเยอรมันจำพวกแองโกล แซกซอน และจูตส์นำไปใช้สมัยที่พวกเขารุกรานอาณาจักรโรมันและเกาะบริเตนในช่วงคริสตศตวรรษที่ 5 จากนั้นการแขวนคอก็แพร่กระจายไปในทวีปยุโรปในฐานะเครื่องมือประหารเหล่าอาชญากร

มีอาชญากรหลายข้อที่ได้รับการประหารด้วยการแขวนคอตั้งแต่ข้อหาขบถ ปล้นจี้ ฆาตกรรมไปจนถึงการเป็นโจรสลัด ผู้ตกอยู่ในชะตากรรมแขวนคอเช่นนี้ไม่ได้มีเพียงผู้ชายแต่ยังรวมไปถึงเด็กและสตรีอีกด้วย นวัตกรรมการแขวนคอค่อนข้างจะไม่มีการพัฒนามาถึง 15 ศตววรษ ที่แขวนคอยุคแรกเริ่มนั้นใช้ต้นไม้ จากนั้นจึงมีประดิษฐกรรมมาอีกหลากหลายตั้งแต่ที่แขวนคอแบบ ‘ทริเปิล ทรี’ ที่เป็นเสายอดทรงสามเหลี่ยมที่เริ่มใช้ในปี ค.ศ.1571 ในสมัยนั้นการแขวนคอกระทำในสถานที่เปิดและเป็นที่สนใจของคนจำนวนมาก จากนั้นการประหารด้วยการแขวนคอได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีการนำวิธีใหม่ แท่นประหารใหม่มาใช้ที่ทำให้สามารถประหารได้ทีละหลายคน ทำให้นักโทษเสียชีวิตได้เร็วที่สุด มีการทำการทดลองถึงสาเหตุการเสียชีวิตของผู้ถูกแขวนคอ ทุกวันนี้ยังมีหลายประเทศที่ยังมีโทษแขวนคออยู่ในประเทศแถบตะวันออกกลาง เอเชียกลาง เอเชียตะวันออก บางมลรัฐในสหรัฐฯ ฯลฯ

นอกจากการเป็นโทษประหาร การแขวนคอยังคงถูกใช้ในการประจานศพอยู่ เมื่อเดือน ส.ค. 2560 สำนักข่าวเดอะซัน ของสหราชอาณาจักร รายงานว่า ตำรวจของกลุ่มกบฏฮูตีที่ยึดครองเมืองซานา เมืองหวงของประเทศเยเมนทำการประหารชีวิตฮุสเซน อัล ซาเกต ชายอายุ 22 ปี นักโทษคดีข่มขืนฆ่าอำพรางเด็กหญิงอายุ 4 ขวบ การประหารกระทำที่จัตุรัสทารีร์ อัล ซาเกตถูกประหารด้วยการยิงจากข้างหลังขณะนอนคว่ำ จากนั้นศพถูกแขวนไว้บนเครนให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้เห็น โดยอาลี อาเยด ผู้เป็นลุงของเด็กหญิงผู้เป็นเหยื่อระบุว่าการประหารในที่สาธารณะนั้นเป็นไปเพื่อห้ามปรามไม่ให้มีคนกล้าก่อเหตุอีก 

เว็บไซต์ National Association for the Advancement of Colored People (NAACP) องค์กรรณรงค์และพัฒนาสิทธิคนผิวสีในสหรัฐฯ ให้ข้อมูลของการแขวนคอชาวผิวสีในสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า Lynching ว่า การแขวนคอที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ในสหรัฐฯ กับคนผิวสีเป็นปัญหาสะสมจากการตึงเครียดด้านความแตกต่างทางเชื้อชาติในตอนใต้ของสหรัฐฯ หลังสงครามกลางเมืองเมื่อทาสผิวดำถูกปลดปล่อยจากสถานภาพทาสก็ตกเป็นเป้ากล่าวโทษของชาวผิวขาวว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาด้านการเงิน รวมถึงสภาวะที่ผู้คนรู้สึกว่าทาสที่ได้รับการปลดปล่อยมีสิทธิและเสรีภาพมากเกินไปจนต้องการควบคุมพวกเขา และการแขวนคอได้ถูกนำมาใช้ให้ประชาชนลงไม้ลงมือกับประชาชนด้วยกันเอง

กระบวนการแบ่งแยกสีผิวหลังเลิกทาสถูกทำให้เป็นระบบระเบียบขึ้น กฎหมาย จิม ครอว์ (Jim Crow Laws) แบ่งแยกการใช้งานทรัพย์สินสาธารณะระหว่างคนดำกับคนขาวบนหลักการ ‘แยกกันแต่ว่าเท่าเทียม (separate but equal)’ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้นเมื่อคนดำได้รับการปฏิบัติอย่างด้อยกว่าคนขาว มลรัฐต่างๆ ได้นำกฎหมายนี้ไปบังคับใช้อย่างเข้มข้นผสานกับความรุนแรงจากกลุ่มต่างๆ

ตั้งแต่ ค.ศ. 1882-1968 มีคนถูกแขวนคอจำนวน 4,743 คน จำนวน 3,446 คนเป็นคนดำ นับเป็นร้อยละ 72.7 แต่คาดว่ามีเหตุการณ์แขวนคอหลายรายที่ไม่ได้รับการจดบันทึก ส่วนจำนวนร้อยละ 27.3 หรือ 1,297 คนที่เหลือเป็นคนขาวที่ช่วยเหลือคนดำ หรือรณรงค์เคลื่อนไหวต่อต้านการแขวนคอ ไปจนถึงเหตุฆาตกรรม

สถิติสาเหตุการจับแขวนคอตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1882-1968

ฆาตกรรม 1,937 คน คิดเป็นร้อยละ 40.84

ทำร้ายร่างกายอย่างร้ายแรง 205 คน คิดเป็นร้อยละ 4.32

ข่มขืน 912 คน คิดเป็นร้อยละ 19.22

พยายามข่มขืน 288 คน คิดเป็นร้อยละ 6.07

ปล้นและโจรกรรม 232 คน คิดเป็นร้อยละ 4.89

ดูหมิ่นคนขาว 85 คน คิดเป็นร้อยละ 1.79

สาเหตุอื่นๆ 1,084 คนคิดเป็นร้อยละ 22.85

รวมทั้งสิ้น 4,743 คน

(สถิติจากจดหมายเหตุสถาบัน Tuskegee Instiyute เดือน ก.พ. ปี 1979)

พวงทอง: แขวนคอเพื่อประจาน ข่มขู่ฝ่ายซ้าย ไทยไร้แนวทางรับมือเห็นต่างอย่างเป็นประชาธิปไตย

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การแขวนคอที่เกิดขึ้นกับกรณีของคนงานการไฟฟ้า 2 นายมีความใกล้ชิดกับการก่อรูปความรุนแรงในเหตุการณ์วันที่ 6 ต.ค. 2519 เนื่องจากการเสียชีวิตของพวกเขานำไปสู่การเล่นละครจำลองการแขวนคอเพื่อเรียกร้องให้นำตัวฆาตกรที่ฆ่าช่างไฟฟ้านครปฐมมาลงโทษ ซึ่งฝ่ายขวาบิดเบือนว่าเป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพขององค์รัชทายาทเนื่องจากคนแสดงมีหน้าคล้ายคลึงกับรัชทายาท พฤติการณ์การแขวนคอศพในที่สาธารณะดังกล่าวเป็นการจัดให้คนทั่วไปเห็น เป็นความตั้งใจที่จะทำให้ฝ่ายซ้ายเกิดความกลัว ให้เขาคิดว่าตัวเองเป็นเป้าของความรุนแรง เพราะคนงานไฟฟ้าสองคนนั้นต่อต้านการกลับมาของพระถนอม กิตติขจร

“ภายใต้แนวคิดการสร้างชาติมองคนเห็นต่างเป็นศัตรูต่อการพาสังคมไปในทางที่พวกเขาต้องการ ไทยจัดการพาตัวเองไปในแนวทางทุนนิยมเสรี แต่นักศึกษา กรรมกร ชาวนา ไปทางสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ซึ่งประนีประนอมกันไม่ได้ และแทนที่จะใช้แนวทางประชาธิปไตยในการแก้ปัญหา แต่กลับใช้ความรุนแรงเข้าจัดการ ซึ่งประเทศในยุโรปตะวันตกสามารถจัดการความขัดแย้งได้ด้วยแนวทางประชาธิปไตย เช่น การมีรัฐสวัสดิการหรือสหภาพแรงงาน”

“ที่ผ่านมาคิดว่าสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวเหตุการณ์ 6 ต.ค. มากนัก โอเค รู้ว่าเป็นความรุนแรงที่อุบาทว์ ไม่ควรเกิดขึ้นอีก แต่ไม่ได้ตั้งคำถามว่าความรุนแรงมันเกิดจากอะไร ความรุนแรงในวันนั้นเกิดจากการกระบวนการสร้างความเกลียดชังทางการเมือง ลดทอนความเป็นมนุษย์จนไม่คิดว่าพวกเขาเหล่านั้นควรมีชีวิตอยู่อีกต่อไป คือเป็นการสังหารด้วยความสะใจ” พวงทองกล่าว

หากย้อนกลับไปดูภาพการแขวนคอในท้องสนามหลวง ที่ล่าสุดเมื่อปี 2559 มีการค้นพบว่าผู้ถูกแขวนคอในวันที่ 6 ต.ค. มีจำนวนถึง 5 คน องค์ประกอบในภาพพบว่าคล้ายกับสิ่งที่เกิดกับการแขวนคอในศตวรรษที่ 15 ที่กระทำกันในลานเปิดและมีผู้คนมากมายมีส่วนร่วมกับมหกรรมความรุนแรงดังกล่าว

อ่าน 40 ปีผ่าน เจอข้อมูลใหม่ 6 ตุลา! คนถูกแขวนคอสนามหลวงมีมากกว่า 2 คน

ภาพบนซ้ายมือ: ภาพจาก AP, ชายไม่ทราบชื่อ
ภาพบนขวามือ:  ภาพจาก AP, ชายไม่ทราบชื่อ
ภาพล่างซ้ายมือ: ภาพจากสมาคมนักข่าว?,  วิชิตชัย อมรกุล นิสิตจุฬาฯ
ภาพล่างขวามือ: ภาพจากบุคคลนิรนาม เผยแพร่ใน www.2519.net, ผู้วิจัยระบุว่าเขาคือ ปรีชา แซ่เฮีย

อย่างไรเสีย การแขวนคอเป็นหนึ่งอณูความรุนแรงที่คนไทยทำต่อคนไทยด้วยกันเองในวันนั้น ยังมีเรื่องราวการสูญเสียและทารุณกรรมที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นไม่ว่าจะเป็นการฆ่าแขวนคอพนักงานโรงไฟฟ้า 2 คน การสังหารหัวหน้ากลุ่มกรรมกร เกษตรกรในจังหวัดต่างๆ และผู้นำนักศึกษาหลายคนก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ควรถูกยกมาเป็นคำถามเมื่อใกล้วาระครบรอบเหตุการณ์โศกนาฏกรรมว่า ถ้ามองย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่การแขวนคอถูกกล่าวถึงมากว่า 2500 ปี จากที่คนทุกเพศทุกวัยที่ต้องพบจุดจบบนขื่อหลายชนิดและด้วยเหตุผลต่างๆ นานา แล้วในวันนี้ หน้าหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยที่ไม่ค่อยได้ถูกกล่าวถึงบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน ได้ให้บทสะท้อนกับเราแล้วหรือไม่ว่าการแขวนคอนั้นถูกมาใช้แขวนอุดมการณ์ ความคิดเห็นที่แตกต่างอันใคร่จะแสดงออกเยี่ยงเสรีชน และถูกแขวนประจานให้ตายตกไปตามกายหยาบที่สมาทานมันเอาไว้

ขอบคุณเว็บไซต์ บันทึก 6 ตุลา สำหรับข้อมูลในส่วนสถิติและรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ หนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์บันทึก 6 ตุลา กล่าวถึงการจัดตั้งโครงการบันทึก 6 ต.ค. ในเว็บไซต์และ บนโซเชียลมีเดียว่า โครงการมีเป้าหมายเพื่อคืนความเป็นมนุษย์ให้เหยื่อที่ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด ให้คนรุ่นหลังได้อ่านและตระหนักถึงคุณค่าชีวิตของผู้ที่เสียชีวิตเหล่านั้น และวิธีที่ใช้คือเน้นเนื้อหาเชิงปัจเจกของผู้ที่ดับสูญไป (อ่าน เปิดเว็บ 'บันทึก 6 ตุลา' [doct6.com] จุดเริ่มต้นของการคืนความยุติธรรม)

อ้างอิงและเรียบเรียงจาก

บันทึก 6 ตุลา, ลำดับเหตุการณ์กรณี 6 ตุลาคม 2519, Retrieved on October 4, 2017

Department of Neurosurgery, Wayne State University, Detroit, Michigan, Mahmoud Rayes, M.D., Monika Mittal, M.D., Setti S. Rengachary, M.D.,and Sandeep Mittal, M.D., F.R.C.S.C., Hangman’s fracture: a historical and biomechanical perspective, 2011 (Retrieved on October 4, 2017)

NACCP, HISTORY OF LYNCHINGS, Retrieved on October 4, 2017

PBS, Jim Crow Laws, Retrieved on October 4, 2017
 
 
หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขเนื้อหาเรื่องจำนวนผู้ถูกแขวนคอในวันที่ 6 ต.ค. 2519 จาก 4 คนเป็น 5 คน แก้ไขเมื่อวันที่ 5 ต.ค. 2560 เวลา 14.48 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท