Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


(ภาพจาก http://m.matichon.co.th/readnews.php?newsid=1452848704)


หลังจากพระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท ถูกควบคุมตัวเข้าค่ายทหารและต้องสึกด้วยข้อกล่าวหาเป็นภัยความมั่นคงและสร้างความแตกแยกระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมได้ไม่นาน ก็มีคำสั่งของเจ้าคณะปกครองสงฆ์ระดับต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง

เมื่อเห็นคำสั่งต่างๆ แล้ว ย่อมเกิดคำถามตามมา เช่นว่าคำสั่งที่ทยอยกันออกมานั้น มีทั้งที่สอดคล้องกันและแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่นคำสั่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานครห้ามติดแผ่นป้ายการโฆษณาพระพุทธรูป พระเครื่อง วัตถุมงคล และเทวรูปในที่ต่างๆ คำสั่งเจ้าคณะหนใหญ่ตะวันออกห้ามพระภิกษุสามเณรวิพากษ์วิจารณ์ที่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ คำสั่งเจ้าคณะจังหวัดพิจิตรให้งดเว้นการประพฤติอาจาระที่ไม่เหมาะแก่สมณสารูป และให้งดเว้นการเล่นเฟส, ลงภาพในเฟส, หรือกดแชร์, กดไลค์, และห้ามเขียนข้อความวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ ลงเฟส เป็นต้น

ประเด็นคือ คำสั่งของเจ้าคณะปกครองต่างๆ เป็นอำนาจตามกฎหมายคณะสงฆ์หรืออำนาจรัฐ แต่ละคำสั่งมีผลบังคับใช้ในเขตปกครองของเจ้าคณะปกครองนั้นๆ เท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้แปลว่า ในเขตปกครองของเจ้าคณะกรุงเทพฯ พระติดป้ายต่างๆ ตามคำสั่งห้ามไม่ได้ แต่พระเล่นเฟสได้ใช่หรือไม่? ขณะที่ในเขตปกครองของเจ้าคณะจังหวัดพิจิตร พระเล่นเฟสไม่ได้ แต่ติดป้ายโฆษณาต่างๆ ได้ใช่หรือไม่? เป็นต้น ส่วนคำสั่งเจ้าคณะหนตะวันออกก็ซ้ำซ้อนกับกฎหมายบ้านเมือง ไม่มีความจำเป็นต้องออกคำสั่งเช่นนี้เลย ยกเว้นว่าออกคำสั่งเพราะต้องการแสงถึง “การคล้อยตามอำนาจรัฐ” ยุค คสช.

จะว่าไปเนื้อหาของคำสั่งอื่นๆ อีกหลายฉบับก็ซ้ำๆ กับประกาศ, คำสั่งมหาเถรสมาคมที่มีอยู่แล้ว ซึ่งสะท้อนว่าประกาศและคำสั่งต่างๆ เหล่านั้นไม่ได้มีผลในทางปฏิบัติจริง แปลว่าปัญหาทางศาสนาไม่อาจแก้ได้ด้วยอำนาจ โดยเฉพาะอำนาจทางกฎหมายของคณะสงฆ์หรืออำนาจรัฐในศาสนจักร

จะเข้าใจปัญหาดังกล่าว ผมคิดว่าเราอาจมองศาสนาเป็น 3 ยุคหลักๆ คือ ศาสนายุคพระศาสดา (กรณีบางศาสนาที่ไม่ปรากฏว่าใครคือศาสดาก็อนุโลมเป็น “ศาสนาในแง่สาระคำสอน”) เป็นศาสนาที่ไม่ผูกติดกับอำนาจรัฐและมักจะถูกอำนาจรัฐรังแก เช่น พุทธะก็ไม่ได้มีสถานะ อำนาจในโครงสร้างอำนาจรัฐ สังฆะก็ไม่ได้มีสถานะและอำนาจทางกฎหมาย การจัดองค์กรสงฆ์และการปกครองสงฆ์เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างพุทธะกับสมาชิกของสังฆะ ซึ่งมีลักษณะกระจายอำนาจปกครองกันเอง ไม่เกี่ยวใดๆ กับอำนาจรัฐ

ส่วนโมเสสเป็นผู้นำในการปลดปล่อยทาสชาวยิวจากการกดขี่ของอำนาจรัฐ ขณะที่พระเยซูก็อยู่กับคนข้างล่างและถูกอำนาจรัฐประหารชีวิตด้วยการตรึงกางเขน ที่สำคัญพุทธะและพระเยซูไม่มีคำสอนหรือการวางหลักเกณฑ์ใดๆ ให้สาวกมียศศักดิ์ ตำแหน่ง และอำนาจทางกฎหมาย

แต่ศาสนายุคหลังพระศาสดาหรือยุคกลาง/ยุคประเพณี ได้เข้ามาผูกติดกับอำนาจรัฐอย่างแยกไม่ออก เกิดศาสนจักรและนักบวชที่มีสถานะและอำนาจทางกฎหมาย ศาสนาจึงกลายเป็นรากฐานของการออกกฎหมายในการปกครองของรัฐ เป็นเครื่องมือยกย่องเชิดชูสถานะและอำนาจของชนชั้นปกครอง และรัฐยังออกฎหมายปกป้องคำสอน, สถานะ, อำนาจของศาสนจักรและนักบวช ศาสนายังกลายเป็นรากฐานของประเพณีและวัฒนธรรมของสังคมที่นับถือศาสนานั้นๆ ศาสนาจึงมีอำนาจที่ซับซ้อนมาก

แต่ความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ชัดเจนว่า ในยุคที่ศาสนาเรืองอำนาจ สังคมมนุษย์ไม่มีเสรีภาพทางความคิดเห็นและเสรีภาพทางการเมือง จนเมื่อเปลี่ยนจากยุคกลางเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่แยกศาสนาออกจากโครงสร้างอำนาจรัฐ สังคมมนุษย์จึงมีเสรีภาพและประชาธิปไตย

ศาสนายุคปัจจุบันในโลกเสรีประชาธิปไตยที่เป็นรัฐโลกวิสัย (secular state) เป็นศาสนาที่แยกเป็นอิสระจากอำนาจรัฐ ศาสนจักรและนักบวชไม่ได้มีสถานะและอำนาจทางกฎหมายในการปกครองกัน แต่ปกครองกันในลักษณะเป็นองค์กรเอกชน ศาสนาจึงพ้นไปจากการอาศัยอำนาจรัฐเพื่อครอบงำและกดขี่ประชาชน

พูดอีกอย่างศาสนาอยู่ภายใต้การกำกับของกติกาประชาธิปไตย จึงต้องปรับตัวตามพัฒนาการของสังคมประชาธิปไตย หรือถึงศาสนาจะมีความเชื่อบางอย่างที่ขัดกับหลักเสรีภาพและประชาธิปไตย แต่ก็ไม่อาจอาศัยอำนาจรัฐใช้ความเชื่อนั้นครอบงำบังคับประชาชนได้ ยกเว้นรัฐศาสนาและรัฐที่ยังไม่แยกศาสนจักรจากโครงสร้างอำนาจรัฐได้จริง

แต่พุทธศาสนาไทยในยุคปัจจุบันยังไปไม่พ้นจากความคิดและโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาแบบยุคกลางหรือยุคประเพณี คือพุทธศาสนายังผูกติดกับรัฐ ศาสนจักรหรือองค์กรปกครองสงฆ์เป็นองค์กรของรัฐ พระสงฆ์มีตำแหน่งและอำนาจทางกฎหมายที่วางระบบการปกครองเลียนแบบระบบราชการ ด้วยเหตุนี้สังคมไทยปัจจุบันจึงมีคำถามหลักเกี่ยวกับพุทธศาสนาแบบคำถามหลักของยุคกลาง นั่นคือคำถามหลักที่ว่า รัฐจะอุปถัมภ์และรักษาความบริสุทธิ์ถูกต้องของคำสอนพุทธศาสนาและวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์อย่างไร

คำสั่งเจ้าคณะปกครองต่างๆ ที่ออกโดยอำนาจทางกฎหมายคณะสงฆ์หรืออำนาจรัฐในศาสนจักร เพื่อจัดระเบียบพระสงฆ์ตามที่เป็นข่าว ก็เพื่อจะตอบคำถามหลักแบบยุคกลางดังกล่าว ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยปัจจุบันก็ยังทำหน้าที่รักษาคำสอนศาสนาและวัตรปฏิบัติของนักบวชแบบยุคกลาง จึงทำให้รัฐไทยไม่อาจพัฒนาไปสู่ความเป็นรัฐประชาธิปไตยที่ทำหน้าที่เป็นกลางทางศาสนา รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา โดยไม่อุปถัมภ์หรือต่อต้านศาสนาใดๆ ได้ดังที่รัฐโลกวิสัยเขาเป็นกัน

แต่ในโลกปัจจุบันอำนาจรัฐไม่มีทางรักษาคำสอนที่ถูกต้องบริสุทธิ์และวัตรปฏิบัติของนักบวชได้จริง คำสั่งต่างๆ ที่ทยอยออกมามากมายในระยะนี้ ก็คงไม่มีผลทางปฏิบัติอีกเช่นเคย เพราะเนื้อหาของคำสั่งทั้งซ้ำซ้อน คลุมเครือ ตีความได้ครอบจักรวาล

จะว่าไปแก่นแท้ของอำนาจรัฐในศาสนจักร คืออำนาจในการควบคุม เต็มไปด้วยการห้ามนี่ก็ทำไม่ได้ นั่นก็ไม่ควรจะทำ นี่ก็ผิด โน่นก็ผิด ซึ่งโดยมากเป็นเรื่องหยุมหยิมและกระทบต่อจารีตอนุรักษ์นิยมเท่านั้น แต่อะไรที่พระสงฆ์แสดงออกในทางต่อต้านเสรีภาพและประชาธิปไตย กลับแสดงออกได้อย่างเต็มที่และมีภูมิคุ้มกันสูงตลอดมา

หากจะมีความหมาย คำสั่งเหล่านั้นก็มีความหมายเพียงเป็นการทำให้สิ่งที่ไม่ใช่ปัญหาของรัฐกลายเป็นปัญหาของรัฐเท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของรัฐแท้จริง คือการทำให้รัฐไทยเป็นรัฐประชาธิปไตยที่เป็นกลางทางศาสนา มีหน้าที่รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนา กลับถูกกลบ ไม่ถูกยกมาตั้งคำถามและหาคำตอบกันอย่างจริงจัง
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net