Skip to main content
sharethis

ภาพของชายหนุ่มช่างไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอที่ประตูรั้วบานใหญ่ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า "ประตูแดง" เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2519 อาจไม่เป็นที่จดจำของคนส่วนใหญ่มากเท่ากับภาพของชายผู้ถูกแขวนคอใต้ต้นมะขามที่สนามหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม ปีเดียวกัน

แต่อันที่จริงมันคือส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่เหตุการณ์ 6 ตุลา

พวกเขาคือ ชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกศศรีพงษ์ศา อดีตนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขตนครปฐมและสมาชิกแนวร่วมประชาชน ถูกแขวนคออย่างเป็นปริศนา ผลการสืบสวนพบว่า ก่อนเสียชีวิตบุคคลทั้งสองกำลังติดโปสเตอร์ประท้วงต่อต้านพระถนอม (ถนอม กิตติขจร) 

4 ตุลาคม ชมรมนาฏศิลป์และการละครมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดการแสดงละครเรียกร้องให้นักศึกษามีจิตสำนึกในการเข้าร่วมการต่อสู้ โดยมีฉากแขวนคออันโด่งดังที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม

5 ตุลาคม หนังสือพิมพ์ บางกอกโพสต์ ลงภาพการแสดงละครแขวนคอของนักศึกษา เพื่อประกอบข่าวที่ทางการตำรวจแถลงว่าจับกุมคนร้ายในกรณีสังหารช่างไฟฟ้านครปฐมได้แล้ว ซึ่งเป็นตำรวจชั้นผู้น้อย 5 คน ปรากฏว่าใบหน้าของผู้แสดงของนักศึกษา มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชอย่างไม่คาดหมาย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ ดาวสยาม จึงได้เลือกเอารูปการแสดงละครที่มีความคล้ายคลึงกับพระบรมโอรสาธิราชมากที่สุดมาตีพิมพ์เผยแพร่ประโคมข่าวในหนังสือพิมพ์ฉบับบ่ายวันที่ 5 ตุลาคม โดยมีการพิมพ์ใหม่อย่างรวดเร็ว แล้วออกเผยแพร่โจมตีขบวนการนักศึกษาว่าจงใจหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นเจตจำนงในการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ และเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของคอมมิวนิสต์

6 ตุลาคม เกิดเหตุล้อมปราบนักศึกษา การสังหารหมู่กลางเมืองที่ธงชัย วินิจจะกูล ใช้คำว่า "มันเป็นเช้าวันพุธที่การตายด้วยกระสุนปืนดูเหมือนเป็นการฆาตกรรมที่เจ็บปวดน้อยที่สุดและศิวิไลซ์มากที่สุด"

เหตุการณ์ถูกจับแขวนคอของสองช่างไฟฟ้าถูกลืมเลือนท่ามกลางข่าวหลังจากนั้น พร้อมกับที่นายตำรวจทั้ง 5 คนนั้นถูกปล่อยตัวไปอย่างเงียบๆ

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา โครงการ 'บันทึก 6 ตุลา' ได้เปิดตัวเว็บไซต์ และภาพยนตร์สารคดีความยาวประมาณ 20 นาที เรื่อง "สองพี่น้อง (The Two Brothers)" สัมภาษณ์ครอบครัวของ ชุมพร ทุมไมย และวิชัย เกศศรีพงษ์ศา ซึ่งกำกับโดย ธีรวัฒน์ รุจินธรรม และ ภัทรภร ภู่ทอง

ประชาไทสัมภาษณ์ ภัทรภร ภู่ทอง นักวิจัยในโครงการบันทึก 6 ตุลา และผู้ทำหนังสารคดีเกี่ยวกับ 6 ตุลา สัมภาษณ์ครอบครัวและเพื่อนของผู้เสียชีวิตมาตั้งแต่เรื่อง “ความทรงจำ-ไร้เสียง (Silence-Memories)” ตามด้วย "ด้วยความนับถือ (Respectfully yours)" และปีนี้กับเรื่อง "สองพี่น้อง"

เมื่อแรกคุย เราหวังคำบอกเล่าของเธอถึงจุดเริ่มต้นและกระบวนการทำหนัง ซึ่งเธอเล่าตั้งแต่ความพยายามในการสืบหาครอบครัวของผู้เสียชีวิต การติดต่อกับครอบครัว พูดคุยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เขาเปิดเผยเรื่องราว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของครอบครัวจากที่เคยคิดว่าการสูญเสียครั้งนั้นเป็นเรื่องส่วนตัวก็เข้าใจว่าเป็นเรื่องสาธารณะที่ควรเปิดเผย แต่หลังจากนั้นเราพบว่า วิธีการตามหา "ประตูแดง" นั้นจนพบ รวมถึงความพยายามในการตามหาข้อมูลสำคัญอีกด้านเกี่ยวกับนายตำรวจผู้ต้องสงสัย 5 คนที่สูญหายและจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่พบนั้นน่าสนใจไม่แพ้กัน

ภัทรภร ภู่ทอง

จุดเริ่มต้นของหนัง?

พอเราเริ่มทำ เราค้นพบจากการดูเอกสารชันสูตรพลิกศพ จากการดูภาพเก่าๆ ฟุตเทจเก่าๆ เราพบว่ามีคนที่ถูกแขวนคอ 5 คนในวันที่ 6 ตุลา แต่ย้อนไปก่อนหน้านั้นคือ 24 กันยา ก็มีสองคนนี้ด้วย เท่ากับว่ามีคนถูกแขวนคอทั้งหมด 7 คน และเรื่องของสองคนนี้นำไปสู่การเล่นละครในวันที่ 4 มันมีความเชื่อมโยงกันก่อนจะถึงวันที่ 6 ตุลา

โครงการฯ เริ่มสนใจสองคนนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว เราคิดว่าโครงการและตัวเรามีข้อสงสัยว่าสองคนนี้เป็นใคร เกิดอะไรขึ้น เขามีแนวคิด ประสบการณ์ ความหวัง ความฝันอย่างไร ทำไมเขาที่เป็นพนักงานไฟฟ้าถึงสนใจการเมือง มีส่วนในการต่อต้านถนอม ทำไมเขาถูกทำร้าย หลังจากเขาเสียชีวิตครอบครัวเขาเป็นอย่างไร นี่คือคำถาม

คิดว่าต้องทำเพื่อให้คนรู้จักเขามากขึ้น ตั้งคำถามว่าทำไมคนไม่รู้จักเขาเลย เกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย ทำไมเราถึงรู้ข้อมูลผู้เสียหายน้อยมาก เริ่มจากหาข้อมูลครอบครัว หายากมากเพราะไทยไม่มีหน่วยงานที่ทำเรื่องการบันทึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง หรือการทำงานด้านความทรงจำ ทำข้อมูลเกี่ยวกับผู้เสียหาย แม้เราจะรู้ชื่อนามสกุล รู้ภูมิลำเนาเขา แต่เราไม่รู้จะตามหาเขาที่ไหน

การถ่ายทำและการเตรียมงานก่อนหน้านั้น?

เราใช้เวลาถ่ายทำ 7 วัน 3 จังหวัด คือที่อุบลฯ บุรีรัมย์ และนครปฐม ซึ่งไปประตูแดง ไปคุยกับเจ้าของที่ และไปดูบ้านที่ทั้งสองคนเคยเช่า รวมทั้งสุสานด้วย แต่ไม่ได้เอามาใส่ในฟุตเทจทั้งหมด

แต่ช่วงเวลาที่นานคือช่วงเตรียมงาน ซึ่งกินเวลาประมาณ 3 เดือน ใช้เวลาในการตามหาญาติ การทำความเข้าใจกับญาติว่าโครงการนี้กำลังทำอะไร ทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับญาติ ให้เขาใช้เวลาในการระลึกถึงเรื่องที่ไม่เคยพูดในที่สาธารณะมาก่อน

นี่เป็นขั้นตอนที่ใช้เวลา เวลาทำงานกับผู้เสียหายในประเด็นทางการเมืองที่ยังเชื่อว่ามีความอ่อนไหวอยู่ มันไม่ใช่ว่าอยู่ๆ โผล่ไปขอสัมภาษณ์พรุ่งนี้ แต่มันมีกระบวนการที่เป็นการบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าโครงการนี้ต้องการอะไร บอกให้เขาใช้เวลาในการคิดว่าเขาโอเคไหม ใช้เวลาในการทำความรู้จักกับเราก่อนตอบตกลง ไม่ต้องตอบตกลงด้วยความเกรงใจ เขามีวุฒิภาวะพอที่จะตัดสินใจ บอกเขาว่าถ้าเรื่องของเขาถูกนำมาเล่าแล้วมันจะนำไปสู่ผู้ฟัง ใครบ้าง ฟีดแบคจะเป็นยังไง คนจะรู้จักครอบครัวมากขึ้นนะ ด้วยเหตุการณ์นี้ด้วยกรณีนี้ คนจำนวนมากที่ได้ดูสารคดีเกี่ยวกับน้องชายของคุณก็จะมีการถกเถียง ถามคำถาม

คือเรื่องการสูญเสียของครอบครัว แม้ว่าเป็นเรื่องส่วนรวม แต่ครอบครัวเข้าใจมาตลอด "ถูก" ทำให้เข้าใจมาตลอดว่าความสูญเสียแบบนี้เป็นความสูญเสียส่วนตัว เพราะฉะนั้นเขาจะต้องรู้ว่าถ้าเรื่องของเขาออกมาสู่สาธารณะ เขาจะต้องเจอกับอะไรบ้าง นี่คือสิ่งที่เวลาโครงการทำงานสัมภาษณ์ครอบครัวทุกครอบครัว การแจ้งให้รู้เรื่องลักษณะนี้อยู่ในขั้นตอนทุกครั้ง

เริ่มจากการหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์สมุดหน้าเหลือง คนแรก ชุมพร ทุมไมย เรารู้ว่าเขามาจากอุบลฯ เลยลองสุ่มโทรไปที่จังหวัดอุบล ซึ่งมีคนนามสกุลนี้ขึ้นมาประมาณ 2-3 คน และโชคดีที่ครั้งแรกโทรไปเจอพี่สะใภ้ (ของชุมพร) เป็นคนรับสาย แล้วก็ได้คุยกับชุมพล ซึ่งเป็นพี่ชายของชุมพร คุยกันหลายครั้ง เราก็เล่าให้เขาฟังว่าโครงการเรากำลังทำอะไร โครงการเราสนใจอยากรู้จักชุมพร ทุมไมยมากขึ้น บางครั้งก็เป็นการโทรไปถามสารทุกข์สุกดิบ

อีกครอบครัวค่อนข้างหายากเพราะไม่มีข้อมูลในสมุดหน้าเหลือง เราเริ่มต้นจากเสิร์ชหาคนนามสกุลนี้ว่ามีที่ไหนบ้าง ก็เจอหลายคน ลองสุ่มโทรไปแล้วถามเขาว่ารู้จักวิชัยมั้ย บางคนก็บอกไม่รู้จัก ต้องลองกลับไปถามพ่อถามแม่ให้ก่อนเพราะตอนที่เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาเขายังไม่เกิด พอกลับไปถามพ่อแม่ก็ไม่มีใครรู้จัก

บังเอิญโชคดีโทรไปที่โรงเรียนหนึ่งซึ่งมีครูผู้หญิงนามสกุลนี้ ผอ.เป็นคนรับสาย และบอกว่าจริงๆ ครูผู้หญิงไม่ได้นามสกุลนี้แต่แต่งงานกับคนที่นามสกุลนี้ ซึ่งบังเอิญผอ.ก็รู้จักผู้ชายคนนี้ ก็เลยติดต่อให้ เลยได้คุยกับเขา เขาบอกเขาไม่แน่ใจ แต่จะไปถามญาติให้และเขาก็ช่วยตาม ในที่สุดเราก็ได้เบอร์โทรศัพท์ของพี่ชายของวิชัย เกษศรีพงษา ซึ่งอยู่ที่บุรีรัมย์ ก็โทรไปแล้วเริ่มคุยเหมือนเดิม

คุยกันจนในที่สุดครอบครัวแรกยินดีให้เราไปสัมภาษณ์ แต่ครอบครัวที่สองเขามีสถานภาพทางสังคม มีตำแหน่งทางราชการ เขาค่อนข้างมีความกังวล แต่ในที่สุดเขาก็ยินดีให้เราไปสัมภาษณ์

ตอนที่เราสัมภาษณ์ครอบครัวที่อุบลฯ เราก็เล่าให้เขาฟังว่าพรุ่งนี้เราจะไปสัมภาษณ์อีกบ้านที่บุรีรัมย์ เขาก็ถามเราว่าเขาไปด้วยได้ไหม เขาอยากไปเยี่ยมเยียน อยากไปทำความรู้จักกับอีกครอบครัวหนึ่ง ไม่เคยเจอกันแต่เขารู้ว่าน้องชายเขามีเพื่อนสนิทชื่อนี้ แล้วก็ตายพร้อมกัน เคยใช้ชีวิตเรียนด้วยกัน เล่นด้วยกัน แล้วก็ไปมาหาสู่กันตลอด

เราก็โทรศัพท์ไปหาครอบครัวที่บุรีรัมย์ว่าโอเคมั้ย เขาก็โอเค ก็ได้เจอกัน ซึ่งก็เอาไปใส่ในหนังด้วย

การเปลี่ยนแปลงของครอบครัวหลังจากเข้าไปสัมภาษณ์?

ครอบครัววิชัยเราไม่แน่ใจ แต่ครอบครัวของชุมพล เราคิดว่าเราเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเขา

เขาเห็นความหมายของการบันทึกมากขึ้น เขาเห็นความหมายของการเผยแพร่ข้อมูล การบอกเล่าข้อมูลมากขึ้น เพราะเขานำหนังสือพิมพ์ที่เขาเก็บมามอบให้กับโครงการ เขาเก็บหนังสือพิมพ์ช่วงเวลานั้นเอาไว้ทุกฉบับ เขาเก็บไว้อย่างนั้นไม่ว่าเขาจะย้ายบ้านไปที่ไหนเขาก็เอาไป มันคือของที่มีค่า มัน represent น้องชายเขา เป็นความเชื่อมโยงระหว่างเขากับน้องชาย แต่เขามอบให้กับโครงการฯ ให้คนได้อ่าน ได้ศึกษาเรื่องของน้องชาย ศึกษาเหตุการณ์ สถานการณ์จากหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ไม่ได้เป็นสมบัติส่วนตัวแล้ว มันกลายเป็นของสาธารณะ และเราคิดว่าเขาตระหนักว่าความเป็นสาธารณะของเรื่องน้องชายเขามันเป็นยังไง

แล้วการเปลี่ยนแปลงของคุณล่ะ?

เราคิดว่าเราไม่ได้เปลี่ยนอะไร แต่เรามีความมั่นใจมากขึ้นกับสิ่งที่เราลงมือทำตั้งแต่ปีที่แล้ว เรามั่นใจมากขึ้นว่าเรามาถูกทาง อยู่ในแนวทางที่ใช่ มั่นใจในการทำงานของตัวเองมากขึ้น

ประตูแดง หาเจอได้ยังไง?

เราโชคดีที่ตอนทำงานเรามีน้องฝึกงานชื่อฝ้าย เขาเป็นคนหาข้อมูลซึ่งละเอียดมาก แล้วเขาก็อ่านหนังสือพิมพ์หลายฉบับในช่วงนั้นแล้วเขาก็เปรียบเทียบ สโคปมากขึ้นว่ามันน่าจะอยู่บริเวณไหน บางฉบับเขียนว่าทางเข้าหมู่บ้านจัดสรร บางฉบับเขียนว่าทางเข้าที่ดินจัดสรร อยู่หมู่ 2 ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ปากทางเข้ามีอู่ 'ซุ่นชัย'

ซึ่งตอนที่ไปเซอร์เวย์ครั้งแรกมีพี่เหน่ง (พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ) ช่วยขับรถให้ มีเรา มีพี่เปีย ธีรวัฒน์ (ผู้กำกับ) มีพี่เอก (ช่างภาพ) แล้วก็ ฝ้าย น้องฝึกงาน ก็เริ่มต้นจากขับรถไปที่อู่ซุ่นชัย ไปถามที่อู่สองสาขา เขาก็บอกไม่รู้ไม่เคยได้ยิน ตอนแรกคิดว่าประตูนั้นอาจจะไม่มีแล้ว เพราะถนนขยาย พื้นที่แถวนั้นก็เปลี่ยนไป และเราคิดไปด้วยว่าสถานที่เกิดเหตุน่าจะเป็นหน้าถนน ที่คนพลุกพล่าน เพราะคิดว่าการแขวนคอคือการขู่ การประจาน การทำให้หวาดกลัว มันน่าจะอยู่ในที่ที่คนเห็นได้ง่าย แต่หลังจากขับรถไปทั่วก็ไม่มีร่องรอยของประตูนั้นริมถนนเพชรเกษม

เราลองขับรถเข้าไปข้างใน พอเห็นประตูที่คล้ายกันก็ตื่นเต้นว่าอันนี้ใช่รึเปล่า อันนั้นใช่รึเปล่า ขับวนไปละแวกนั้นแล้วขับผ่านบ้านผู้ใหญ่บ้าน เราเลยลองเข้าไปถาม ผู้ใหญ่บ้านแนะให้ไปถามผู้ใหญ่บ้านคนเก่า พอเข้าไปคุยเขาก็บอกทันทีว่า "อ๋อ ประตูแดง" แล้วเขาก็เล่าให้ฟังว่าตอนนั้นเขายังอายุ 17-18 ตอนเช้าของวันที่ 24 กันยา คนในหมู่บ้านพูดกันว่ามีคนถูกแขวนคออยู่ที่ประตู เขาก็วิ่งไปดู และตอนนี้ประตูก็ยังอยู่นะ เราเลยถามเขาว่ารบกวนช่วยขับพาไปได้ไหม เขาก็ขับมอเตอร์ไซค์พาเราไป

เขาพาเราไปที่ที่หนึ่งซึ่งเป็นที่ดินกว้างๆ แล้วจากไกลๆ ก็จะเห็นมีประตูรั้วของที่ดิน พอรถเลี้ยวเข้าไปที่ตรงนั้นเห็นจากไกลๆ ประมาณสองสามร้อยเมตร เห็นประตูแล้วพวกเราก็แบบ นี่แหละ! อันนี้! ทุกคนอุทาน คือผ่านไป 41 ปีมันยังอยู่ตรงนั้น มันไม่น่าเชื่อ ทุกคนที่อยู่ในรถห้าคน รู้สึกเหมือนกันว่าเราค้นพบหลักฐาน ประจักษ์พยาน นี่แหละคือจุดเกิดเหตุจริงๆ ที่สำคัญสภาพมันเหมือนเดิมแบบ 80 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม

ประตูเดิมมันเป็นสีฟ้าๆเขียวๆ แต่พอเวลาผ่านไปมันเป็นสนิม มันคือสีสนิม ชาวบ้านก็เลยเรียกกันว่าประตูแดง สิ่งที่เปลี่ยนไปมีแค่บานประตูเล็กๆ ถูกขโมยเอาไปขาย เจ้าของที่เลยเปลี่ยนเป็นบานไม้ และที่มีการถมให้สูงขึ้น ประตูและรั้วก็เลยจะดูต่ำกว่าในอดีต

และพอเราถามก็ได้รู้ว่าที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินจัดสรร ครอบครัวของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งซื้อที่ดินตรงนั้นไว้ และเขาเป็นเจ้าของที่ดินคนเดียวที่ทำประตูรั้วนี้ ปัจจุบันที่ดินตรงนี้ก็ยังไม่ได้พัฒนาทำอะไรในช่วง 41 ปีที่ผ่านมา

"ประตูแดง" ภาพโดย ภัทรภร ภู่ทอง

ทำไมสถานที่เกิดเหตุจึงอยู่ในที่ของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และไม่ใช่สถานที่ที่คนทั่วไปจะเห็นได้ง่าย?

เราสนใจเรื่องการแขวนคอ เราคิดว่าการแขวนคอมันไม่ใช่วัฒนธรรมไทย เราไม่ค่อยเห็นการถูกฆ่าแขวนคอเท่าไหร่นัก มันคืออะไร คือการข่มขู่ การประจาน และการส่งสารบางอย่างถึงอีกฝ่ายหนึ่งว่า ระวังนะ เอาจริงนะ อย่าเหิมเกริม มันมีข้อความ ไม่ยังงั้นเขาคงไม่เอามาแขวน เขาคงเอาไปฝัง เอาไปทำลาย อันนี้เป็นข้อสันนิษฐาน อาจจะผิดก็ได้

เราได้คุยกับลูกเจ้าของที่ดิน ตอนเกิดเหตุเขาอ่านหนังสือพิมพ์แล้วก็จำได้ว่านี่คือประตูรั้วของที่ดินเขา ซึ่งเขาก็ไม่รู้เหตุผลว่าทำไมต้องเอามาแขวนในที่ดินของเขา เลยคิดว่ายังอยากทำต่อ เรายังไม่ได้ฟังเรื่องจากฝ่ายตำรวจ ฝายผู้กระทำ ตอนนั้นเกิดขึ้นยังไง เกิดอะไรขึ้น พยายามหาข้อมูลจากฝ่ายตำรวจแต่หาได้น้อย เคยได้คุยกับญาติของตำรวจคนหนึ่ง เมื่อเขารู้ว่าเรากำลังทำเรื่องนี้ เขาก็ปฏิเสธทันทีว่าไม่ได้ติดต่อกันแล้ว

นอกจากเสียงเหยื่อแล้ว เราอยากฟังเรื่องของคนที่อยู่ฝ่ายขวา อยากฟังเสียงอีกฝ่าย และอยากฟังคนที่มีประสบการณ์ร่วมในวันนั้น คนที่มุงดู หรือพยาบาล หมอ ตำรวจ นักข่าว เห็นอะไรบ้าง จำอะไรได้บ้าง เป็นยังไง

ที่ผ่านมาโครงการได้มีโอกาสคุยกับคนจากมูลนิธิร่วมกตัญญูซึ่งลำเลียงคนตาย คนเจ็บไปโรงพยาบาลในวันนั้น สำหรับเรามันทำให้เราเห็นเหตุการณ์จากหลายมุมมากขึ้น ประมาณสัปดาห์หน้าน่าจะอัพโหลดคลิปของเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูที่เราไปสัมภาษณ์

ข้อมูลสูญหายหรือจงใจทำให้สูญหาย?

เราไม่แน่ใจว่าเป็นความจงใจหรือปัญหาที่ระบบ เช่น ตำรวจ 5 นายที่นครปฐม ที่เป็นผู้ต้องหา เรามีรายชื่อทั้งหมด พบว่ามีการดำเนินการแง่ของการสืบสวนสอบสวน แต่การดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างการขึ้นศาลไม่เคยไปถึงขั้นนั้น หลัง 6 ตุลา คดีนี้ก็เงียบ ตำรวจทั้งห้าก็ถูกย้ายออกจากพื้นที่ และมีบางคนถูกย้ายกลับมาหลังจากนั้นอีก 10-20 ปี

เราไปที่โรงพัก ถามหาคนเหล่านี้ ปรากฏว่าสำนักงานตำรวจภูธรที่เราไป 2-3 แห่งไม่มีข้อมูลของ 5 คนนี้ ที่โรงพักมีสมุดเล่มเล็กๆ ซึ่งเป็นบัญชีของนายตำรวจ แต่ก็ไม่เจอชื่อของ 5 คนนี้ ตำรวจให้เหตุผลว่า ตำรวจที่เป็นชั้นประทวน ยศจ่า นายสิบ พลตำรวจ เขาจะไม่มีการเรคคอร์ดข้อมูล ตอนดูบันทึกที่เราเห็นก็จะมีแต่รายชื่อของ คนที่เป็นผู้กำกับ หรืออะไรแบบนี้ แต่เราก็ยังต้องทำการบ้านต่อว่ามันมีระบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการโยกย้ายตำรวจยังไงบ้าง ซึ่งอันนี้ก็ไม่รู้ว่าเป็นความจงใจหรือมีข้อบกพร่องของการทำข้อมูลกันแน่

แล้วถ้าตามหาจากสมุดหน้าเหลืองล่ะ?

ในตำรวจ 5 คนนี้ ค้นเจอคนที่นามสกุลเหมือนอยู่แค่ 3 นามสกุล ซึ่งมีนามสกุลหนึ่งมีคนใช้ประมาณ 300-400 คน เราพยายามจะสุ่มโดยเริ่มต้นจากคนนามสกุลนี้ที่นครปฐม แต่ตอนนี้ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าหลายบ้านก็ยกเลิกโทรศัพท์บ้านแล้ว เขาใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะฉะนั้นเบอร์บ้านหลายเบอร์ใช้ไม่ได้ หรือไม่มีคนรับสาย เราก็ลองดูแอเรียใกล้เคียงเช่น ราชบุรี สุพรรณบุรี บางบัวทอง แอเรียใกล้ๆ นี้ก็ยังไม่เจอ ก็ต้องไล่โทรต่อไป แล้วก็ต้องคิดว่าจะหาจากทางอื่นได้อีกไหม เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญของตำรวจ

แล้วถ้าเป็นรายชื่อที่รัฐบาลสมัยนั้นประกาศนิรโทษกรรมจากเหตุการณ์ 6 ตุลา*ล่ะ?

คดีของ 2 คนที่ตาย ไม่ได้นับรวมกับคดีของ 6 ตุลา ไม่ได้เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับคอมมิวนิสต์หรือการหมิ่นฯ รายชื่อของตำรวจ 5 คนจริงไม่ได้อยู่ในนั้น

สำนวนคดี?

สำนวนคดีเราก็ถามที่โรงพักนครปฐมว่าขอดูสำนวนได้ไหม เขาก็บอกว่าเอกสารที่อายุมากกว่า 25 ปีเขาทำลายไปหมดแล้ว

หลักฐานจากหนังสือพิมพ์?

ข่าวช่วงนั้นเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน แล้วอีกอย่างข้อจำกัดของหนังสือพิมพ์บ้านเราคือข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนน้อยมาก เพราะนักข่าวต้องเกาะติดอยู่กับเรื่องนั้น ซึ่งงบประมาณและทรัพยากรมันมีจำกัด และเราก็ไม่รู้ว่าธรรมชาติของคนไทยอยากอ่านไหมแบบนี้ ข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน

เราพบว่าหลังจากที่ตามอ่านข่าวช่วงนั้น ข่าวมันจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะตอนนั้นสถานการณ์มันร้อนมาก ถนอมกลับมาวันที่ 19 (ก.ย.) มีการประท้วง 24 (ก.ย.) ช่างไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอ วันที่ 4 (ต.ค.) นักศึกษาเล่นละคร ข่าวไม่ได้เป็นเกี่ยวกับสองคนนี้แล้ว แต่กลายเป็นข่าวนักศึกษา วันที่ 5 หมิ่นพระบรมฯ วันที่ 6 เกิดเหตุ วันที่ 7-8 หนังสือพิมพ์ไม่มี พอถึงวันที่ 9 วันที่ 10 มันเอาท์แล้ว เรื่องของหนุ่มสองคนนั้น

หมดหวังไหม?

มันก็มีบางช่วงที่มันตามยังไงก็ตามไม่เจอ ไม่รู้จะตามจากใคร ไม่มีใครรู้จักคนๆนี้ สมัยก่อนเพื่อนๆกันก็จะรู้จักกันแต่ชื่อเล่น หรือบางทีเขาอาจจะไม่บอกชื่อจริงด้วยความหวาดกลัวไม่รู้ว่าคนนี้เป็นใคร อยู่ฝั่งไหนแน่ อันนี้จากที่ฟังจากคนสมัยนั้น อย่างเช่นคนที่ถูกแขวนคอ เรารู้ชื่ออยู่ 3 คน คนหนึ่งครอบครัวไม่ขอพูด อีกสองคนเราตามหาครอบครัวเขาไม่ได้ หานามสกุลนี้ก็ไม่มี มีคนรู้จักเขาว่าเขาชื่ออะไร ทำอะไร แต่ก็ไม่รู้แม้แต่เพื่อนสนิทว่าเขาเรียนที่ไหน มันไม่ได้ทำให้เราท้อ แต่บางทีเราต้องหยุดแล้วคิดว่าจะมีวิธีการยังไงในการหาคนให้ได้มากขึ้น

 

*ขอบคุณข้อมูลส่วนหนึ่งจากเว็บไซต์ โครงการบันทึก 6 ตุลา 

 

สำหรับผู้ที่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือรู้จักกับครอบครัวของผู้เสียชีวิต สามารถติดต่อได้ที่เพจเฟสบุ๊ก บันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6

 

 

*นิรโทษกรรม 6 ตุลา

24 ธ.ค. 2519 รัฐบาลธานินทร์ออก พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 โดยสาระสำคัญของ พรบ. ฉบับนี้อยู่ในมาตรา 3 ซึ่งระบุว่า

"บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว ซึ่งได้กระทำไปด้วยความมุ่งหมายที่จะให้บังเกิดความมั่นคงของราชอาณาจักร ของราชบัลลังก์และเพื่อความสงบสุขของประชาชนก็ดี และการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือของผู้ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอันได้กระทำไปเพื่อการที่กล่าวนั้นรวมถึงการลงโทษและการกระทำอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่นก็ดี การกระทำดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่ากระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง"

ปี 2521 รัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ออก พรบ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องในการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 โดยสาระสำคัญของ พรบ. ฉบับนี้มี 3 มาตราคือ

"มาตรา 3 บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใด ๆ ที่เกิดขึ้นในหรือเกี่ยวกับการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และได้กระทำในระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ไม่ว่าจะได้กระทำในหรือนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง  
มาตรา 4 ให้ศาลทหารกรุงเทพดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 253ก/2520 ของศาลทหารกรุงเทพ (ใช้กฎ 6 ต.ค. 19) และให้ศาลอาญาดำเนินการปล่อยตัวจำเลยทั้งหมดซึ่งถูกฟ้องในคดีหมายเลขดำที่ 4418/2520 ของศาลอาญา

บรรดาการกระทำที่เป็นเหตุให้จำเลยถูกฟ้องในคดีตามวรรคหนึ่งถ้ามิได้รับนิรโทษกรรมตามมาตรา 3 และการกระทำนั้นผิดกฎหมาย ก็ให้จำเลยพ้นจากความผิดและความรับผิดด้วย

มาตรา 5 การนิรโทษกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ได้รับนิรโทษกรรมในอันที่จะฟ้องร้องเรียกสิทธิหรือประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น"

 

*แก้ไขเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 61 เวลา 15.00 น.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net