Skip to main content
sharethis

ปริญญา ระบุรำลึกถึงเพื่อไม่ให้คนไทยต้องเข่นฆ่ากันอีก ชี้ประชาธิปไตยคือวิถีที่ให้คนเห็นต้างอยู่ร่วมกันได้โดยไม่ใช้ความรุนแรง ย้ำเบื่อนักการเมือง แต่เบื่อประชาธิปไตยไม่ได้

6 ต.ค. 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ต.ค.60) เมื่อเวลาประมาณ 7.00 น.ที่ผ่านมา ที่ ลานประติมากรรม 6 ตุลา ข้างหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดกิจกรรม "41 ปี 6 ตุลา ปกป้องประชาธิปไตยประชาชน" เนื่องในวาระครบรอบ 41 ปีการสังหารหมู่นักศึกษาและประชาชน โดยมีการตักบาตร  วางพวงมาลา กล่าวไว้อาลัย อ่านบทกวีรำลึก

วรรณภา ติระสังขะ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ. กล่าวว่าวันนี้เป็นวันครบรอบ 41 ปีเหตุการณ์นองเลือดที่เกิดขึ้นใน มธ. ในวันที่ 6 ต.ค.2519 มธ.จัดงานรำลึกวีระชนทุกปี ตั้งแต่ปี 2546 ได้สร้างประติมากรรม 6 ตุลา การจัดงานรำลึกก็ได้จัดมาตั้งแต่ตอนนั้น โดยสภามหาวิทยาลัยได้มีมติเห็นชอบในการสร้างประติมากรรมนี้ ได้ใช้งบประมาณจากการระดมทุนจากผู้ผ่านเหตุการณ์และประชาชนทั่วไป ภายใต้คำขวัญของการรำลึก 6 ตุลา ว่า "ขบวนการนักศึกษาประชาชนเดือนตุลากล้าต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีงาม"
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ. กล่าวเปิดกิจกรรม
 
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มธ. กล่าวเปิดกิจกรรมว่า สมัยที่ตนเป็นนักศึกษา ตนเป็นธรรมศาสตร์ รังสิต รุ่นที่ 1 ในปี 2529 นั่นคือปีที่เหตุการณ์ 6 ตุลา ครบ 10 ปี สมัยก่อนมหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นผู้จัด แค่ให้สถานที่คนจัดคือนักศึกษา องค์การนักศึกษาเป็นคนจัด ดังนั้นอย่างน้อยเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่เรื่องนี้ถูกทำให้เป็ฯทางการและเป็นที่ยอมรับ จากการที่สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีมติให้วันนี้เป็นวันที่มีความสำคัญ ประติมากรรมนี้ไม่ได้เป็นแค่ประติมากรรมนี้ เพราะว่า 41 ปี ผ่านไปเรายังไม่มีอนุสาวรีย์ให้กับวีรชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์นั้น ดังนั้นประติมากรรมนี้คืออนุสาวรีย์ให้กับวีรชนที่เสียชีวิต
 
"เรามารำลึกเพื่อที่จะช่วยกัน ไม่ทำให้เหตุการณ์ที่เพียงเพราะเห็นคิดที่แตกต่างกันต้องมาเข่นฆ่าเกิดขึ้นอีกในประเทศไทยของเรา" ปริญญา กล่าว พร้อมเล่าด้วยว่าในช่วงที่ตนเป็นนักศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลา แม้จะผ่านไปแค่ 10 ปี แต่มันราวกับเป็นตำนานเป็นรูปภาพ ไม่มีใครคิดว่าเหตุการณ์ที่คนไทยฆ่ากันจะเกิดขึ้นอีก เช่นเดี่ยวกับเหตุการณ์ 14 ตุลา ที่คนเป็นแสนมาเรียกร้อง ก็ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นอีก เช่นเดียวกับการปฏิวัติรัฐประหารก็นึกว่าจะไม่เกิดขึ้นอีก 
 
"สิ่งที่เราคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกมันเกิดขึ้นทุกอย่าง และยังไม่มีทีท่าว่าจะเป็นครั้งสุดท้ายในทุกเรื่องที่เกิดขึ้นและหมุนเวียน หมุนวนกันมาตลอด 85 ปี ของประชาธิปไตย ดังนั้นประโยชน์ของการจัดงานนี้ เรารำลึกถึงผู้ซื่งถูกกระทำความรุนแรงเพียงเพราะอุดมการณ์ที่แตกต่างออกไปกับผู้ที่มากระทำกับเขาที่บุกเข้ามาในธรรมศาสตร์ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันที่ 6 ตุลาคม เรามีรำลึกถึงพวกเขาเหล่านั้นแล้วมาหาหนทางเพื่อไม่ให้คนไทยต้องเข่นฆ่ากันแบบนั้นจะต้องไม่เกิดขึ้นอีก" ปริญญา กล่าว
 
"ไม่มีวิถีทางใดที่จะให้คนที่คิดเห็นที่แตกต่างกัน อยู่ร่วมกันโดยไม่ใช้ความรุนแรงได้ดีไปกว่าวิถีทางแห่งประชาธิปไตย มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่เบื่อนักการเมือง แล้วพาลมาเบื่อประชาธิปไตย เราเบื่อนักการเมืองได้ แต่เราเบื่อประชาธิปไตยไม่ได้ เพราะประชาธิปไตยมันคือระบอบการปกครองที่ประชาเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย คือระบอบการปกครองตนเองของประชาชนเจ้าของประเทศ ถ้าหากประชาธิปไตยที่ผ่านมาจะมีปัญหา นั่นคือเรื่องของตัวบุคคลที่อาจมีการใช้ประชาธิปไตยที่คลาดเคลื่อนไป แต่หลักการสำคัญคือการปกครองตนเองของประชาชน และแม้ว่าเราจะคิดเห็นแตกต่างกัน แต่เราจะคุยกันไม่ได้ใช้กำลังมาเข่นฆ่ากัน" ปริญญา กล่าว
 
นอกจากนี้ยังมีตัวแทนอื่นๆ เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มคนงาน สมัชาคนจน และผู้เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ร่วมกล่าวรำลึก โดย ช่วงหนึ่ง วิภา ดาวมณี ขณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 กล่าวรำลึกถึง สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่เพิ่งเสียชีวิตไป ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญของการเก็บข้อมูลในคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ด้วย
 
ภาพบรรยากาศกิจกรรมรำลึก :
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net